โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ตู่-จตุพร"วันที่เลือกยืนด้วยลำแข้งจะก้าวข้าม"ทักษิณ"!?

Manager Online

อัพเดต 15 พ.ย. 2561 เวลา 22.01 น. • เผยแพร่ 15 พ.ย. 2561 เวลา 22.01 น. • MGR Online

เมืองไทย 360 องศา

หากเทียบวันนี้กับเมื่อตอนปี 2552 หรือ 2553 ในช่วงที่กล่ม นปช.หรือ"กลุ่มคนเสื้อแดง"ที่เป็นกลุ่มมวลชนทางการเมืองที่เริ่มจัดตั้งและเริ่มมีบทบาทตั้งแต่นั้นมา หลังจากก่อตั้งเมื่อราวปี 2550 หลังการรัฐประหารรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อปี 2549

จากนั้นกลุ่มมวลชนการเมืองกลุ่มนี้ก็เติบใหญ่เนื่องจากแฝงไปด้วยฐานมวลชนที่เคยสนับสนุนพรรคไทยรักไทยต่อเนื่องมาทุกพรรคจนถึงพรรคเพื่อไทยของครอบครัว ทักษิณ ชินวัตร ที่ชื่นชอบนโยบายประชานิยม สรุปง่ายๆก็คือมวลชนหลักของกลุ่มนี้คือกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลและพรรคของ ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นชื่อพรรคใดหรือจะให้ใครมาเป็นผู้นำก็ตาม

อย่างไรก็ดีหากโฟกัสเฉพาะ จตุพร พรหมพันธุ์ ที่ถือว่าเป็นแกนหลักสำคัญในกลุ่ม นปช.คนหนึ่งนาทีนี้ถือว่า"น่าสนใจ"และน่าจับตากว่าใคร เพราะนอกเหนือจากเรื่องชะตาชีวิตที่โลดโผนกว่าใครในกลุ่มแล้ว มาในวันนี้เขากลับมี"แนวทาง"และปรับท่าทีโดยเฉพาะมีมุมมองทางการเมืองที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

แม้ว่าในทางการเมืองจะต้องมองกันยาวๆ ที่เห็นในวันนี้อาจยังไม่ใช่ของจริง อาจเป็น"เรื่องหลอก"ให้ตายใจ หรืออีกฝ่ายหลงเชื่อ เพื่อให้ตัวเองไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ก็ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ยังถือว่าบทบาทของ จตุพร พรหมพันธุ์ นั้นไม่ธรรมดาทีเดียว

เป็นที่รับรู้กันไปแล้วว่า จตุพร ถูกตัดสินจำคุก ไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำมาพักหนึ่ง และพ้นโทษออกมาแล้วในบางคดี แต่ก็ยังมีอีกหลายคดีที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาล ซึ่งถือว่าเป็นคดีสำคัญมีอัตราโทษสูง ซึ่งก็เหมือนกับอีกหลายคนที่เป็นแกนนำของกลุ่มมวลชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตาม และแม้ว่าจะยังต้องใช้เวลาในการพิจารณาคดีกันอีกพักใหญ่ แต่มันก็เหมือนกันมีพันธนาการเคลื่อนไหวไม่สะดวก

แต่ที่พิเศษแตกต่างไปจากแกนนำ นปช.อีกหลายคนที่เป็นแกนนำหลัก เช่น เมื่อเปรียบเทียบกับ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เนื่องจากนาทีนี้ จตุพร กำลังถูกตัดสิทธิ์ ทางการเมืองถึง 10 ปี ไม่สามารถเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงโดยเฉพาะการลงสมัคร สส.หรือรับตำแหน่งทางการเมืองก็ยาวไป

อย่างไรก็ดีจากการใช้ชีวิตอยู่ในคุกระยะหนึ่ง ซึ่งในนั้นจะเป็นอย่างไรบ้างมีการพบปะพูดคุยกับใครบ้าง มีการบอกเล่าออกมาเป็นระยะ แต่มีแต่เขาเท่านั้นที่รู้ แต่พลันที่เขาเดินออกมาจากเรือนจำออกมาข้างนอก กลับมีท่าทีที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด อย่างน้อยทัศนคติในทางการเมืองก็เปลี่ยนไป นั่นคือมีมุมมองที่"ประนีประนอม" ในทำนองที่ว่าพร้อมที่จะร่วมกับทุกฝ่ายด้วยการใช้คำว่า "เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า"

จากความเคลื่อนไหวล่าสุดก็มีการแสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจกันระหว่าง จตุพร พรหมพันธุ์ กับ"อดีตพระพุทธอิสระ"ถึงขนาดเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนยอมเปิดใจยอมรับอีกฝ่าย โดยจับคำฑุดบางตอนของจตุพร ที่ว่า "เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีฝ่ายใดถูกหรือผิดทั้งหมด ทุกคนมีส่วนทำให้เกิดขึ้น แต่หนทางข้างหน้า เราต้องเอาเรื่องของชาติบ้านเมืองเป็นหลักมากกว่าเรื่องของตัวเอง"

ก็ต้องบอกว่าแทบจะไม่เชื่อว่านี่คือคำพูดของ จตุพร พรหมพันธุ์ ที่เมื่อก่อนฝ่ายตรงข้ามทั้งโกรธทั้งเกลียด แต่มาวันนี้กลับมีท่าทีที่ดูแล้วอ่อนลง มีการประนีประนอมมากขึ้นจนน่าแปลกใจ

อย่างไรก็ดีหากให้วิเคราะห์ท่าทีดังกล่าวของ จตุพร พรหมพันธุ์ อาจจะมาจากส่วนลึกในใจของเขาก็ได้ เพราะหลังจากที่ต้องเดินเข้าคุก และมีเวลาครุ่นคิดทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมาเขาอาจได้ค้นพบอะไรบางอย่างก็ได้

แน่นอนว่าหากเปรียบเทียบกันแบบ"สั้นๆ"ไม่ต้องมีอะไรซับซ้อน ระหว่างเขากับ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช.อีกคนหนึ่งที่จะว่าไปแล้ว"กระดูก"หรือชื่อชั้นต่างกันลิบ จตุพร เริ่มเคลื่อนไหวการเมืองระดับชาติมาตั้งแต่ยุคเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เคยร่วมต่อสู้กับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในครั้งนั่นเขาเริ่มฉายแววนักปราศัยให้โดดเด่นมาแล้ว ขณะที่ ณัฐวุฒิ ยังเป็นวุ้น และเพิ่งมาร่วมใน"สภาโจ๊ก"โปกฮาทางจอทีวี เรียกว่าคนละระดับ

แต่ด้วยลีลาและท่าทีทำให้เส้นทางของทั้งสองคนต่างกันยังกะฟ้ากะเหว ณัฐวุฒิ ได้รับบำเหน็จเป็นถึงรัฐมนตรีในกระทรวงเกรดเอ เริ่มจากรมช.เกษตรฯจนมาถึงรมช.พาณิชย์ และไม่เคยติดคุก ไม่เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ว่ากันว่าในยุคที่ ณัฐวุฒิ เป็นรัฐมนตรีเขาได้สร้างเครือข่าย บารมีเอาไว้ไม่น้อยประเภทที่ว่ามีข้าราชการหลายคนหลายตำแหน่งทั้งตำรวจและพลเรือนในหลายกระทรวงเติบโตขึ้นเพราะเขา ขณะที่ จตุพร สูงสุดก็เพียงแค่ตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อกับศัตรูรอบทิศทาง

อย่างไรก็ดีมาถึงวันนี้มาถึงจุดที่ต้องจับตามองกันอีกครั้งว่าอนาคตของสองคนนี้รวมไปถึงแกนนำนปช.คนอื่นๆจะไปทางไหน โดยเฉพาะในช่วงการเมืองยุคใหม่ ภายใต้กฎกติกาใหม่ ในการเลือกตั้งใหม่

แน่นอนว่าสำหรับ จตุพร พรหมพันธุ์ที่แม้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี และแยกตัวออกมาจากพรรคเพื่อไทย มาร่วมก่อตั้งพรรคเพื่อชาติร่วมกับ ยงยุทธ ติยะไพรัช ที่ถูกตัดสิทธิ์การเมืองเหมือนกัน โดยลักษณะแบบ"ผู้สนับสนุน"พรรค โดยในช่วงแรกอาจถูกมองว่าเป็นพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อเกิดพรรค"ไทยรักษาชาติ"ที่เต็มไปด้วย"ลูกท่านหลานเธอ"ในครอบครัวชินวัตรและอดีต สส.ขาใหญ่ในพรรคเพื่อไทยที่ถูกเกลี่ยกันมาหรือ"อยู่ร่วมกันไม่ได้"ก็เฮโลกันมา

ทำให้ภาพของพรรคเพื่อชาติ ที่จตุพร สนับสนุน ต้องแยกออกไปอย่างชัดเจน หากไปเปรียบเทียบกับ"พรรคเพื่อธรรม"ที่มีสองผัวเมีย สมชาย-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นคนผลักดัน

ดังนั้นหากให้สรุปอีกทีสำหรับพรรคเพื่อชาติ นาทีนี้ก็เป็นได้แค่"แนวร่วม"ของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่พรรคในเครือญาติที่เป็นพรรคสาขาอย่างพรรคไทยรักษาชาติหรือแม้แต่พรรคเพื่อธรรม

และหากพรรคเพื่อชาติยืนระยะได้นานก็จะยิ่งห่างออกไป เพราะแม้ว่าในระยะแรกอาจต้องใช้ฐานมวลชนสนับสนุนจากกลุ่มเดียวกับที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาก่อน แต่จะโฟกัสไปที่กลุ่ม นปช.ที่มีสายสัมพันธ์ที่มีความนิยมชมชอบส่วนตัวกันมานาน และบางทีอาจต้องถึงเวลาที่ต้อง"แยกกันเดิน"ของจริงแล้ว ขณะเดียวกันด้วยท่าทีใหม่ของ จตุพร พหมพันธุ์ ที่เปิดรับกับทุกกลุ่มเพื่อพยายามขยายฐานปรับทิศทางให้กว้างในระยะยาว

แม้ว่าตอนนี้เป็นช่วงที่เขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่เวลาที่เขาได้เลือกเส้นทางเดินทางการเมืองในระยะยาวแล้วเหมือนกัน เพื่อ"ยืนบนลำแข้ง"ตัวเอง และถึงเวลาที่ต้องปรับตัวให้"ก้าวข้ามทักษิณ ชินวัตร" ก่อนใครก็ได้

ขณะที่แกนนำนปช.คนอื่น อย่างเช่น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่เวลานี้ยังละล้าละลัง จะอยู่ที่เดิมก็ลำบากหาทางเบียดลงสมัคร สส.เขตได้ยาก ขณะเดียวกันหากโยกมาพรรคไทยรักษาชาติก็เต็มไปด้วย"ไฮโซ"รุ่นเล็กรุ่นใหญ่"เต็มพรืดไปหมด และครั้นจะหันมาที่พรรคเพื่อชาติก็หมางเมินกันมาตั้งแต่ต้น ขยับเดินหน้าถอยหลังลำบาก

ดังนั้นหากให้สรุปในเวลานี้คนที่จับตาที่สุดสำหรับพวกนปช.ก็น่าจะเป็น จตุพร พรหมพันธุ์ เท่านั้นที่ไม่มีอะไรจะเสีย และค้นพบเส้นทางข้างหน้าด้วยตัวเอง แต่ถึงอย่างไรก็ต้องรอดูว่าเขาจะไปได้สักกี่น้ำเท่านั้นเอง !!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ดูเพิ่มเติม Manager Online