โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ติวเตอร์แบบ "วิรินทร์พรรณ์" ลุยเดี่ยว-เรียนลัด-ประหยัดเวลา

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 28 ม.ค. 2563 เวลา 08.50 น. • เผยแพร่ 28 ม.ค. 2563 เวลา 04.01 น.
01‘วิรินทร์พรรณ์’
“วิรินทร์พรรณ์ ตันติวัตนะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตสื่อการเรียนการสอน จำกัด

เมื่อการเรียนในคลาสปกติไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนในยุคนี้ โรงเรียนกวดวิชาจึงเป็นหนึ่งทางเลือก เพื่อสร้างความมั่นใจในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการ จนทำให้ธุรกิจการศึกษาในรูปแบบกวดวิชาได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม แม้ปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาต้องเจอคู่แข่งที่น่ากลัวอย่าง “ติวเตอร์รายย่อย” ที่นักเรียนเลือกวิชา วัน เวลา และสถานที่ที่ต้องการได้เอง ทั้งยังขยายไปสู่ธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ จนสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์“วิรินทร์พรรณ์ ตันติวัตนะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตสื่อการเรียนการสอน จำกัด ผู้บริหารที่ผ่านประสบการณ์จากอดีตติวเตอร์แบรนด์ดังต่าง ๆ ทั้งยังเคยรับติวน้อง ๆ นักเรียนตามโต๊ะกาแฟของร้านต่าง ๆ กระทั่งปัจจุบันก้าวข้ามสู่เจ้าของกิจการผลิตสื่อการเรียนการสอนในที่สุด

“วิรินทร์พรรณ์” เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่าก่อนจะมาเป็นเจ้าของกิจการในวันนี้ เธอเรียนจบนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก่อนที่จะจบเธอเคยติวให้กับรุ่นน้องตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ และหลังจากที่เรียนจบแล้วก็เข้ามาเป็นติวเตอร์ให้กับโรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง ด้วยค่าตอบแทนที่ค่อนข้างน้อย จึงตัดสินใจลาออกมาตั้งบริษัท และรับติวแบบตัวต่อตัว โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ สำหรับผู้ที่ต้องการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ เช่น TOEFL และ IELTS รวมไปจนถึงการสอบอื่น ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

“ปัจจุบันรายใหญ่ที่ครองตลาดในธุรกิจกวดวิชาภาษาอังกฤษ คือ บริติช เคานซิล (British Council) และบริษัท แนะแนวศึกษาต่อต่างประเทศ (IDP) นอกจากจะกวดวิชาภาษาอังกฤษแล้ว ยังจัดทำศูนย์สอบเพื่อวัดระดับภาษาอังกฤษด้วย ฉะนั้น หากจะเข้ามาในธุรกิจนี้จะต้องมีความแตกต่างเฉพาะตัว เช่น มีราคาคอร์สที่ถูกกว่า ในขณะที่คุณภาพไม่แพ้กับกวดวิชาชื่อดัง และโจทย์สำคัญที่สุด คือ การออกแบบคอร์สให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนให้ได้มากที่สุด”

“90% ของนักเรียนที่สนใจกวดวิชาภาษาอังกฤษจะเรียนแบบตัวต่อตัวกับผู้สอน คิดค่าเรียนอยู่ที่ 1,000 บาทต่อชั่วโมง (เทียบเคียงราคาจากโรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง) อย่างเช่น การเรียนเพื่อสอบ IELTS ก็ต้องใช้ราคาของบริติช เคานซิล เป็นตัวเทียบ อย่างค่าเรียน บริติช เคานซิล เป็นราคาในแบบ global เมื่อเทียบกับราคา local ก็ต้องแพงกว่าอยู่แล้ว แต่ก็ยังเป็นที่นิยมแม้ว่าจะแพง เพราะความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ในขณะที่การเรียนเป็นกลุ่มที่ไม่ถึง10 คน จะมีราคาที่แตกต่างออกไป ส่วนใหญ่เลือกเรียนแบบ 1.30-2 ชั่วโมง ในการเรียน 1 วิชา บางรายจองเรียนทั้งวันเพื่อเรียนให้ครบรายวิชาที่จะต้องใช้สอบ แต่การสอนในแบบกวดวิชา เนื้อหาสำเร็จรูปออกมาโดยอาจจะไม่ใช่สิ่งที่นักเรียนสนใจ”

เมื่อเป็นน้องใหม่ในตลาดจะดึงดูดให้นักเรียนเข้ามาเรียนได้อย่างไรนั้น “วิรินทร์พรรณ์” ระบุว่า “สไตล์การสอน”แบบเฉพาะตัว ที่เธอใช้ดึงดูดนักเรียน ทั้งนี้ ความคิดของครูที่เป็นชาวต่างชาติที่สอนภาษาอังกฤษ จะสอนแบบธรรมชาติ เริ่มต้นจากการ “คุยเล่น” กับนักเรียนก่อนหลังจากนั้นจึงค่อย ๆ ไต่ระดับชั่วโมงของการเรียนตั้งแต่ 10 ชั่วโมงไปจนถึง 70 ชั่วโมงเพื่อไม่ให้นักเรียนเครียดจนเกินไป แม้ว่าจะวางแผนการสอนอย่างไรก็ตาม แต่ในสภาพความเป็นจริงสำหรับนักเรียน คือ ต้องการเรียนเพื่อสอบ โดยมีเวลาเป็น “ตัวบีบ” จึงส่งผลให้การเรียนกับกวดวิชาที่มีชื่อเสียงกลับ“ไม่ตอบโจทย์” แต่เราตอบโจทย์ได้ทุกความต้องการ

บริษัท ผลิตสื่อการเรียนการสอน ของ “วิรินทร์พรรณ์” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีวิธีวัดความสำเร็จในการทำธุรกิจการศึกษา คือ ผู้เรียนที่นำความรู้ที่ได้ไปสอบหรือไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองได้หรือไม่ แต่ในแง่ความสำเร็จเชิงธุรกิจแล้ว จะต้องมี “margin” ที่ 20% หรือในระดับที่ “พออยู่ได้” เพราะปัจจุบันมีติวเตอร์จากโรงเรียนกวดวิชาดังต่าง ๆ ออกมาตั้งบริษัทเองไม่ต่ำกว่า 100 บริษัททั่วประเทศเพื่อเป็นติวเตอร์รายย่อย ทั้งนี้ หากมองในแง่ของการวางหลักสูตรนั้น

“วิรินทร์พรรณ์” ระบุว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นเรื่องแรก คือ ต้องดู “ผู้รับสาร” เป็นหลักว่าเขาถนัดที่จะเรียนรู้แบบไหนจากนั้นจึงดีไซน์ให้ตอบโจทย์มากที่สุด เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ “หลักสูตรสั่งตัด” เพื่อให้มีความเฉพาะของผู้เรียน

“วิรินทร์พรรณ์” แนะนำว่า สำหรับครู-อาจารย์ที่สนใจจะทำติวเตอร์รายย่อย อยาก “ขอเตือน” ติวเตอร์ใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในตลาดเลยว่าการเป็นติวเตอร์ แล้วคิดจะเอาติวเตอร์หลาย ๆ คนมารวมกันนั้น จะส่งผลให้ทำการตลาดยาก เพราะหากเราใช้สื่อในการทำตลาด เวลาที่ลูกค้ารับรู้แล้วว่ามีติวเตอร์มากกว่า 2 คนในการเรียนการสอน ก็จะเกิดคำถามว่าจะเรียนกับใครดี ใครสอนอะไร รวมถึงติวเตอร์แต่ละคนมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน รวมไปจนถึงการอบรม และการสัมมนาต่าง ๆ ควรจะมีแค่ 1 แบรนด์ 1 สไตล์ เพื่อทำให้แบรนด์ไปในทิศทางเดียวกัน การทำงานของครูอาจจะลองเปรียบเทียบกับภาพของวงดนตรี ที่มีเครื่องดนตรีที่แตกต่างกัน ทั้งยังต้องคัดสรรว่าจะเลือกใครสักคนเข้ามาเป็นสมาชิกของวงต้องมีคอนเซ็ปต์ และการแต่งตัวไปในธีมเดียวกันด้วย

สำหรับอนาคตของบริษัท ผลิตสื่อการเรียนการสอน ของ “วิรินทร์พรรณ์” นั้น เธอบอกว่า บริษัทดังกล่าวไม่ได้มีเพียงการบริการติวเตอร์ภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังให้บริการในรูปของการออกแบบคอร์สการสอนปกติ ออกแบบคอร์สการสอนในรูปแบบออนไลน์ การอบรมสัมมนา พิธีกรงานอีเวนต์ และในขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมที่จะเปิดการสอนเพื่อ “พัฒนาบุุคลิกภาพ” เนื่องจากมีนักเรียนหลายคนที่ต้องการอยากเป็นคนมั่นใจอย่างที่เธอเป็น

“มีลูกค้าอยากให้เราทำหลักสูตรพัฒนาบุคลิกภาพมาตั้งแต่ 5 ปีก่อนหน้านี้แล้ว เดิมจะเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน แต่ช่วงหลังมานี้ีนักศึกษาสนใจเข้ามาสอบถามด้วยว่าอยากให้เปิดคอร์ส ซึ่งคาดว่าจะต้องเปิดคอร์สแน่นอนในอนาคต”

“วิรินทร์พรรณ์” ระบุเพิ่มเติมถึงระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันว่า “สิ่งแรก” ที่ระบบการศึกษาไทยต้องอัพเดต คือ ต้องปรับหลักสูตร และเนื้อหาในแบบเรียนก่อน เนื่องจากการเรียนการสอนจะต้องทันสมัย จะให้นักเรียนสมัยนี้เรียนแบบเดิมที่มีมานานมากไม่ได้ ต้องมองให้ทะลุว่านักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพในอนาคตได้หรือไม่

ทั้งนี้ หากมองอย่าง“เป็นกลาง” ปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาการศึกษาของไทย คือ “ระบบ” ครูในโรงเรียนต้องทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น การทำเอกสาร,การทำสื่อ, โครงงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่ปัจจุบันหลักสูตรถูกล็อกมาจากกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้วต้องสอนโดยยึดแบบเรียนที่กำหนดไว้แล้วไม่สามารถออกนอกกรอบได้

“มีครูเก่ง ๆ จำนวนมากเอามาไว้ในองค์กร แต่หลักสูตรยังเหมือนเดิม ทุกอย่างต้องเดินไปด้วยระบบเดิม ๆ ค่อนข้างเห็นใจครูตามโรงเรียนต่าง ๆ ระบบเป็นแบบนี้ ต้องอัพเดต เพราะนักเรียนในโลกปัจจุบันอาจจะมองไม่เห็นภาพ เปิดขึ้นด้วยเรื่องของ “ปัญหา” และให้นักเรียนคิด วิเคราะห์ว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร โดยใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ซึ่งทำให้นักเรียนเข้าถึงเนื้อหาได้มากกว่า”

“วิรินทร์พรรณ์” ย้ำในตอนท้ายว่า อยากให้อาชีพครูเป็นอาชีพที่ใคร ๆ ก็ฝันถึง อีกทั้งครูจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อพร้อมกับหน้าที่ปั้นคนเก่ง คนดี ให้กับประเทศต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0