โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ติดหวานฟังทางนี้ ! เคล็ดลับกินหวานไม่ให้แก่ก่อนวัย แถมไกลโรค

LINE TODAY

เผยแพร่ 13 พ.ย. 2562 เวลา 17.13 น.

ใครที่ชื่นชอบรสชาติหวาน ๆ ปลื้มน้ำอัดลม เทใจให้ชานมไข่มุก ตักน้ำตาลใส่ก๋วยเตี๋ยว 3 ช้อนขึ้นไป ต้องระวังให้ดี ! แม้คนกินหวานทุกคนจะไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน แต่การกินหวานมากไปก็ทำร้ายร่างกายทางอ้อมและก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ได้อีกเพียบ ทั้งโรคอ้วน หลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ

นอกจากโรคต่าง ๆ ที่มากันเป็นแพ็กเกจสุดคุ้มแล้ว ความหวานยังมีส่วนทำให้ผิวพรรณผิดปกติจนเรานึกไม่ถึงเลยทีเดียว ทั้งผิวหนังหย่อนคล้อย ก่อนวัยอันควร หน้ามัน เป็นสิว เป็นผื่นง่าย รวมถึงผิวแห้งขาดน้ำส่วนหนึ่งก็มาจากน้ำตาลตัวร้ายเนี่ยแหละ

ทำไมกินหวานแล้วหน้าแก่

ปกติผิวหนังจะมีโปรตีนคอลลาเจนและอีลาสตินเป็นองค์ประกอบหลักเพื่อช่วยให้ผิวแข็งแรงและยืดหยุ่น แต่ถ้าเรากินหวานมากเกินไป เจ้าน้ำตาลตัวร้ายก็จะไปจับกับโปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจนที่อยู่บนผิวหนัง จนเกิดเป็นสารประกอบชนิดหนึ่งที่มีความแข็ง แตกเปราะได้ง่าย ซึ่งสารประกอบตัวนี้จะส่งผลให้เซลล์เสื่อมสภาพ สูญเสียคอลลาเจน เกิดการหย่อนคล้อย เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นได้ง่าย เนื่องจากผิวไม่ยืดหยุ่นได้เหมือนเดิม จึงส่งผลทำให้หน้าไม่เด้ง หน้าแก่ รวมไปถึงทำให้ข้อต่อแข็ง เป็นสาเหตุทำให้แก่ก่อนวัย

โดยทั่วไปถึงแม้จะไม่มีความหวานเป็นตัวเร่งสารประกอบดังกล่าว ด้วยอายุที่มากขึ้นก็ทำให้ผิวหนังหย่อนคล้อยเป็นเรื่องปกติ แต่การแก่ก่อนวัยไม่ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เราควรยอมรับกันได้ง่าย ๆ เพราะฉะนั้นการลดปริมาณน้ำตาลเพื่อไม่ให้เป็นตัวเร่งปฏิกริยาดังกล่าวน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

กินหวานยังไงให้ไม่แก่ ไม่เป็นโรค

สำหรับคนติดหวาน จะให้เลือกหวานแบบเด็ดขาดไปเลย คงลงแดงตายพอดี เพราะฉะนั้นลองค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปเรื่อย ๆ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายด้วย ถ้ากินหวานซะจนได้โรคมาเป็นของแถมแล้ว การหักดิบไปเลยย่อมดีที่สุด ลองมาดูกันว่าเราจะค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมการกินหวานอย่างไรกันดีกว่า

1. รู้ตัวว่าติดหวาน ต้องอ่านให้เยอะ

อย่างที่รู้กันว่าปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสำหรับคนทั่วไปก็คือ 6 ช้อนชา ถ้าไม่อ่านฉลากโภชนาการก็ไม่มีวันรู้เลยว่าอาหารและเครื่องดื่มที่กินเข้าไปนั้นมีน้ำตาลอยู่เท่าไหร่ เพราะฉะนั้นรู้ตัวว่าติดหวาน ต้องอ่านให้เยอะ ดูให้ละเอียดว่าข้อมูลโภชนาการที่ระบุมานั้นมีอะไรบ้าง น้ำตาลเท่าไหร่ โซเดียมเท่าไหร่ การดูแบบนี้จะทำให้เราเกิดความแขยงกับปริมาณน้ำตาลจนอาจไม่อยากกินไปเลยก็ได้

แต่ข้อมูลโภชนาการบอกในอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ไม่มีระบุไว้เป็นช้อนชา ทำให้บางคนเกิดอาการงงเล็กน้อยว่าอันไหนกินได้ อันไหนหวานไป เอาสูตรการคิดไปเลยดีกว่า น้ำตาล 1 ช้อนชา = 4 กรัม เพราะฉะนั้นปริมาณเหมาะสมสำหรับการกินน้ำตาลต่อวันก็คือ 24 กรัม ซึ่งรวมถึงความหวานจากอาหารและผลไม้ที่กินเข้าไปด้วย ดังนั้นจะกินอะไรก็ต้องเลือกให้มาก เพราะยังไงเราก็ต้องกินข้าว ซดต้มยำ ตามด้วยผลไม้หรือของหวานตบท้ายอยู่ดี ของพวกนี้มีน้ำตาลรวมอยู่ด้วยทั้งนั้น

ส่วนพวกน้ำหวานชงตามร้านที่ไม่มีข้อมูลโภชนาการก็ต้องสั่งแบบหวานน้อยให้เคยชิน และดูปริมาณน้ำตาลให้ดี เพราะส่วนใหญ่น้ำหวานพวกนี้อัดแน่นไปด้วยน้ำตาลจำนวนไม่น้อยอยู่แล้ว ถ้าอยากก็แนะนำให้สั่งหวานน้อยและไม่ควรกินทุกวัน นาน ๆ ทีพอให้หายอยากก็พอแล้ว

2. ลาขาดน้ำอัดลมไปเลย

สำหรับคนติดหวานแล้ว ส่วนใหญ่น้ำอัดลมจะเป็นเพื่อนข้างกายที่ขาดไม่ได้ แต่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าน้ำประเภทนี้ไม่มีประโยชน์ใด ๆ กับร่างกายเลย ดังนั้นถ้าอยากลดหวาน สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการโบกมือบ๊ายบายน้ำอัดลมแบบถาวรไปเลย เพราะลำพังแค่น้ำหวานอื่น ๆ ก๋วยเตี๋ยว และอาหารอื่นที่กินเข้าไป ก็หวานซะจนไม่รู้จะหวานยังไงแล้ว

3. น้ำหวานทำเอง เวิร์คสุด

เนื่องจากเราไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มนอกบ้านได้ ดังนั้นการทำเองจึงเป็นวิธีที่เวิร์คที่สุด ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละควรเป็นเท่าไหร่ ก็ทำเองซะเลยหมดเรื่องหมดราว

ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ น้ำเขียว น้ำแดง และอีกสารพัดน้ำที่มีขายนอกบ้าน เราสามารถทำเองได้ทั้งนั้น สูตรเครื่องดื่มพวกนี้ก็มีในเว็บไซต์เพียบ แค่ใส่น้ำตาลให้น้อยลง คัดสรรวัตถุดิบที่ดีขึ้น แค่นี้ก็ได้เครื่องดื่มสำหรับตัวเองที่ปลอดภัยที่สุดแล้ว

4. หญ้าหวานหรือสารทดแทนความหวานอาจจะเป็นคำตอบ

สำหรับคนติดหวาน น้ำตาลก็คือวายร้ายดี ๆ นี่เอง แต่จะให้โบกมือบ๊ายบายไม่กินหวานเลยแบบหักดิบก็ทำไม่ได้ ดังนั้นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลน่าจะเป็นคำตอบดีที่สุด แต่เนื่องจากสารให้ความหวานเหล่านี้มีมากมายหลายรูปแบบ คนติดหวานจึงควรศึกษาให้ดีว่าแบบไหนเหมาะกับตัวเองมากที่สุด

สารให้ความหวานแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. แบบให้พลังงาน แต่น้อยกว่าน้ำตาลทั่วไป เป็นความหวานที่ได้จากน้ำตาลผลไม้ เช่น ฟรุกโทส มอลทิซอล ซอร์บิทอล ไซลิทอล ซึ่งแม้จะมาจากธรรมชาติแต่ก็ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องควบคุมน้ำหนัก หรือกินหวานเป็นประจำ เพราะแม้จะให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาล แต่หากกินในปริมาณมากก็ไม่ต่างจากน้ำตาลจริง ๆ ซักเท่าไหร่

2. แบบพลังงานต่ำหรือไม่ให้พลังงาน เช่น หญ้าหวาน ซูคราโลส แอสปาแตม เป็นสารให้ความหวานที่เหมาะกับคนกินหวานแต่กลัวโรคมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมค่อนข้างมาก คนติดหวาน คนที่ควบคุมน้ำหนัก รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถกินได้สบายใจ

ข้อควรระวังก็คือ สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเหล่านี้ แม้จะมีประโยชน์และนำมาใช้แทนที่น้ำตาลได้ แต่ถ้ากินในปริมาณมาก เกินไปก็ถือเป็นการทำร้ายร่างกายทางอ้อมได้เหมือนกัน สารเหล่านี้เป็นแค่ทางเลือกเพื่อบรรเทาให้การติดหวานคดีขึ้น แต่สิ่งที่ควรทำมากกว่าก็คือการค่อย ๆ ลดความหวานลงควบคู่กับการดูแลสุขภาพร่างกายไปด้วย

5. ออกกำลังกายสำคัญสุด

ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยก็คือการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะติดหวานหรือไม่ การออกกำลังกายก็เป็นทางออกที่ดีเสมอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการค่อย ๆ ลดความหวานลงทีละน้อยก็คือการมีวินัยกับการออกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

อย่างที่รู้กันว่าประโยชน์ของน้ำตาลก็มี ทั้งให้พลังงานแก่ร่างกาย เป็นแหล่งอาหารของเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะภายในร่างกาย แถมยังมีส่วนช่วยคลายเครียดได้ด้วย แต่ทั้งหมดนี้ต้องกินน้ำตาลในปริมาณที่พอเหมาะพอดีกับร่างกาย ถ้ากินมากเกินไปจากประโยชน์ก็กลายเป็นโทษได้เหมือนกับของทุกอย่างบนโลกนี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0