โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ตำรวจมีสิทธิ์ขอตรวจและยึดบัตรประชาชนหรือไม่

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดต 15 ต.ค. 2562 เวลา 01.07 น. • เผยแพร่ 15 ต.ค. 2562 เวลา 00.50 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่ถูกตำรวจเรียกตรวจบัตรประจำตัวประชาชน และขอตรวจปัสสาวะ ในขณะที่กำลังนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อกลับที่พัก แต่เนื่องจากชายคนดังกล่าวไม่ได้พกบัตรประจำตัวประชาชนมาด้วย และไม่ยินยอมให้ตรวจปัสสาวะ โดยเห็นว่าตำรวจไม่มีสิทธิ์ขอตรวจบัตรประชาชน และไม่มีสิทธิ์ตรวจปัสสาวะ จึงเกิดการโต้เถียงกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัคร ชายคนดังกล่าวจึงหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ทั้งหมด และได้นำไปโพสต์ขอความเป็นธรรมจากสื่อสังคมออนไลน์จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง

จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ตำรวจมีสิทธิ์ขอตรวจบัตรประจำตัวประชาชน และมีอำนาจยึดบัตรประจำตัวประชาชนของผู้อื่นไว้หรือไม่

ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนพุทธศักราช 2526 กำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 7 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี จะต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน

แม้หลักกฎหมายข้างต้นจะกำหนดให้ผู้ที่อายุตั้งแต่ 7 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี จะต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนก็ตาม แต่กฎหมายกำหนดให้บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่จะต้องพกบัตรประชาชน เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงาน ดังนั้นผู้ที่มีอายุระหว่าง 7 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี แต่ไม่ได้พกบัตรประชาชนก็ไม่มีความผิด

ส่วนผู้ที่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่สามารถแสดงบัตรประจำตัวประชาชนให้เจ้าพนักงานตรวจสอบได้ มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน มาตรา 17 ผู้ถือบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ผู้ใดไม่สามารถแสดงบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ เมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

ส่วนในกรณีที่เจ้าพนักงานหรือตำรวจยึดบัตรประจำตัวประชาชน โดยไม่มีเหตุสงสัยตามสมควร และชอบด้วยเหตุผล ไม่แจ้งข้อกล่าวหา และไม่ดำเนินคดีอย่างใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เป็นเจ้าของบัตร กรณีนี้จึงถือว่าเป็นการยึดเอาบัตรประชาชนไว้โดยลุแก่อำนาจ และมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้เป็นเจ้าของบัตรได้รับความเดือดร้อนเสียหาย การกระทำของเจ้าพนักงานหรือตำรวจจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เป็นเจ้าของบัตร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 15366/2557

จากอุทาหรณ์ครั้งนี้ทำให้ชายคนดังกล่าวนั้นต้องถูกเชิญตัวไปสถานีตำรวจเพื่อเปรียบเทียบปรับกรณีไม่พกบัตรประจำตัวประชาชน และไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งมีตัวอย่างหลายกรณีที่มีการโต้เถียงกับเจ้าพนักงานหรือตำรวจ และบันทึกภาพเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน แต่มีการใช้คำพูดที่รุนแรงจนทำให้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาอื่นๆ ตามมา เช่น ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน หรือต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน เป็นต้น

ดังนั้น การโต้เถียงเจ้าพนักงาน หรือตำรวจ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นผลดีนะครับ ทางที่ดีควรปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน หรือตำรวจไปก่อน หากมีสิ่งใดที่ไม่ถูกต้อง หรือสงสัยก็ปรึกษาผู้รู้กฎหมายครับ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลล์มาหาผมที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ หรือ Facebook: ทนายเจมส์ LK Instagram : james.lk

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0