โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ตำรวจติดกล้อง

The101.world

เผยแพร่ 22 ม.ค. 2563 เวลา 18.21 น. • The 101 World
ตำรวจติดกล้อง

     ปกป้อง ศรีสนิท เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

*“คอร์รัปชันหรือการกระทำที่มิชอบเกิดในที่มืด *

การบันทึกภาพและเสียงเปรียบเสมือนการเปิดแสงสว่างไปยังการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่”

กล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ (police body-worn camera หรือ BWC) คือ อุปกรณ์ติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อบันทึกภาพและเสียงขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังปฏิบัติหน้าที่ ในปี ค.ศ. 2016 มีการศึกษาวิจัย เรื่อง “Contagious Accountability”: A Global Multisite Randomized Controlled Trial on the Effect of Police Body-Worn Cameras on Citizens’ Complaints Against the Police โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

งานวิจัยดังกล่าวศึกษาจำนวนเรื่องร้องเรียนของประชาชนต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เหมาะสมของตำรวจอังกฤษและสหรัฐอเมริกาภายในระยะเวลา 12 เดือน ก่อนติดกล้อง เปรียบเทียบกับ ภายใน 12 เดือน หลังติดกล้อง โดยศึกษาจากตำรวจเกือบ 2,000 คน จาก 4 แห่งในอังกฤษ และ 2 แห่งในสหรัฐอเมริกา ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ก่อนที่ตำรวจจะติดกล้องมีการร้องเรียนว่าตำรวจกระทำโดยมิชอบ 1,539 เรื่อง ภายในระยะเวลา 12 เดือน แต่เมื่อมีการติดกล้องให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเวลาปฏิบัติหน้าที่ ภายในระยะเวลา 12 เดือนเช่นเดียวกัน การร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยไม่ชอบลดลงเหลือเพียง 113 เรื่อง เท่ากับว่าการติดกล้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้การร้องเรียนลดลงถึง 93 %[1]

หัวหน้าทีมผู้วิจัย คือ Barak Ariel กล่าวว่า “ในประวัติศาสตร์ของกิจการตำรวจ ไม่มีมาตรการใดที่มีประสิทธิผลเท่ากับเรื่องนี้”[2]

การติดกล้องขณะปฏิบัติหน้าที่ ในมุมหนึ่งช่วยลดโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นผลดีกับประชาชน ในอีกมุมหนึ่ง การติดกล้องยังคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่สุจริตอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถูกร้องเรียนเท็จจากประชาชน ทั้งๆ ที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง

เมื่อพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย การติดกล้องขณะปฏิบัติหน้าที่มีประเด็นทางกฎหมายให้พิจารณา 3 เรื่อง ดังนี้

 

1

ตำรวจติดกล้องในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย

 

หน้าที่ประการหนึ่งของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ คือ การรักษาความสงบเรียบร้อย[3] การออกกฎเกณฑ์ให้ตำรวจทุกคนติดกล้องขณะปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในที่สาธารณะและกำหนดให้นำภาพและเสียงอัพโหลดไว้ในอุปกรณ์บันทึกข้อมูลที่สามารถนำมาเปิดดูและตรวจสอบได้ในภายหลัง น่าจะเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับสังคมได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันสถานที่สาธารณะในเมืองต่างๆ มีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่แล้ว การให้ตำรวจติดกล้องขณะปฏิบัติหน้าที่เปรียบเสมือนมีกล้องวงจรปิดเคลื่อนที่เพิ่มขึ้นอีกหลายเครื่องตามจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ การดำเนินการดังกล่าวสามารถทำได้โดยนโยบายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยไม่ต้องออกหรือแก้ไขกฎหมาย แต่เรื่องดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการลงทุนซื้อกล้องและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระตำรวจผู้ปฏิบัติงานซื้อกล้องมาติดไว้ที่หมวกกันน็อคของตัวเอง

 

2

ตำรวจติดกล้องในการจับกุมหรือการค้นตามกฎหมาย

 

ประชาชนผู้บริสุทธิ์ส่วนหนึ่งคงรู้สึกกังวลเวลาเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจว่าอาจจะมีการยัดของผิดกฎหมาย ยัดข้อหา หรือกระทำมิชอบรูปแบบอื่นๆ กับประชาชน ประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ทำผิดกฎหมายก็อยากจะติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อแลกความสะดวกสบาย ฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบก็กังวลว่าอาจจะมีประชาชนบางคนไปร้องเรียนเท็จ ทำให้ต้องถูกดำเนินคดีวินัยหรืออาญา การติดกล้องให้กับตำรวจที่ทำการจับกุมและค้นตัวบุคคลหรือค้นสถานที่น่าจะช่วยคลายกังวลกับเหตุการณ์ทั้งสามได้ ภาพและเสียงที่ถูกบันทึกไว้โดยไม่มีการแก้ไขดัดแปลงจะเป็นหลักฐานที่เป็นกลางที่น่าเชื่อถือในการพิสูจน์การกระทำของทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายประชาชน

การจับและการค้นในปัจจุบันดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อ พ.ศ. 2477 โดยมาตราที่เกี่ยวข้องกับวิธีการจับและการค้นในหลายมาตราไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่เริ่มใช้ประมวล

ในมาตรา 93[4] เมื่อมีเหตุสงสัยว่ามีสิ่งของผิดกฎหมาย ตำรวจสามารถขอค้นตัวบุคคลในที่สาธารณะได้ (เราตีความขยายมาตรานี้ไปถึงการค้นรถยนต์ในที่สาธารณะด้วย) โดยการตั้งด่านหรือการตรวจค้นในกฎหมายปัจจุบันไม่มีการกำหนดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการค้นไว้  เป็นที่เข้าใจได้ว่าในปี พ.ศ. 2477 ทั้งประเทศคงมีกล้องแบบนับชิ้นได้ แต่ในปี พ.ศ. 2563 แทบทุกคนมีกล้องติดมือถือ ถึงเวลาที่ควรจะแก้ไขมาตรานี้ให้มีการบันทึกภาพและเสียงขณะทำการค้นได้แล้ว

ในมาตรา 85[5]  เมื่อตำรวจจับผู้ต้องหาได้แล้ว  ตำรวจมีอำนาจค้นตัวผู้ต้องหาเพื่อหาพยานหลักฐาน กฎหมายปี พ.ศ. 2477 บอกขั้นตอนเพียงว่าให้ทำโดยสุภาพ และให้ผู้หญิงค้นผู้หญิงเท่านั้น เช่นเดียวกัน ปี พ.ศ. 2563 เราคงอยากเห็นการแก้ไขกฎหมายให้การค้นตัวผู้ถูกจับต้องมีการบันทึกภาพและเสียงเพื่อความโปร่งใส

ในมาตรา 102[6] การค้นบ้าน กฎหมายปี พ.ศ. 2477 แค่บอกว่าให้ตำรวจแสดงความบริสุทธิ์ก่อนค้น และค้นต่อหน้าเจ้าของบ้านหรือผู้ครอบครองบ้าน หรือค้นต่อหน้าพยานสองคน และสิ่งของที่ยึดได้ให้แสดงกับเจ้าของบ้านหรือพยานเพื่อให้รับรอง ซึ่งจะรับรองหรือไม่ก็ได้ หากมีการบันทึกภาพและเสียงขณะทำการค้นที่แสดงความบริสุทธิ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและแสดงภาพสิ่งของที่ยึดได้จากการค้น คงมีน้ำหนักน่ารับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีมากขึ้นกว่าตัวอักษรในกระดาษลอยๆ ที่ใครอาจเขียนขึ้นมาอย่างไรก็ได้

ในปี พ.ศ. 2547 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 84 วรรคท้าย[7] ด้วยความไม่ไว้ใจตำรวจผู้จับกุม โดยกำหนดให้คำรับสารภาพของผู้ถูกจับกุมที่พูดกับตำรวจที่จับกุมไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้เลย แม้ว่าตำรวจที่จับกุมจะสุภาพอ่อนโยนขนาดไหน ได้แจ้งสิทธิให้ผู้ถูกจับทราบตามกฎหมายครบถ้วน และผู้ถูกจับได้สารภาพโดยสมัครใจก็ตาม ดูเหมือนการแก้ไขกฎหมายในครั้งนั้นทำให้เกิดผลแปลกประหลาดไปอีกทางหนึ่ง คือ ศาลไม่สามารถรับฟังคำรับสารภาพของผู้ถูกจับที่พูดไว้กับตำรวจผู้จับกุมได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายว่าคำรับสารภาพโดยสมัครใจที่ไม่มีใครบังคับและผ่านการรับรู้ถึงสิทธิที่จะไม่พูดและสิทธิต่างๆ แล้ว น่าจะมีคุณค่าในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ เพราะเป็นคำรับสารภาพที่ใกล้ชิดเวลาเกิดเหตุและไม่ได้มีเวลานึกคิดปรุงแต่ง หากมีการแก้ไขมาตรา 84 วรรคท้ายใหม่ ด้วยการคำนึงถึงเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยกำหนดให้คำรับสารภาพโดยสมัครใจของผู้ถูกจับที่ตำรวจบันทึกภาพและเสียงไว้โดยไม่มีการตัดต่อให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้[8] น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่า

นอกจากการทำหน้าที่ของตำรวจแล้ว ประเทศไทยยังมีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (law enforcement officer) ที่มีอำนาจจับกุม ตรวจค้น ตามกฎหมายเฉพาะอีกหลายตำแหน่ง ที่กฎหมายเรียกรวมว่า 'พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ'[9] เช่น เจ้าพนักงานศุลกากร เจ้าพนักงานป่าไม้ เจ้าพนักงานสรรพสามิต เจ้าพนักงานขนส่ง หากมีการติดกล้องให้กับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ขณะปฏิบัติหน้าที่น่าจะเป็นการสร้างความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมายอย่างครบถ้วนทั้งระบบ และช่วยแก้ไขสถานการณ์ที่ชอบพูดกันว่า "ประเทศไทยมีกฎหมายที่ดี  แต่การบังคับใช้กฎหมายแย่" ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

 

3

ตำรวจติดกล้องในการสอบสวนคดีอาญา

 

ในปัจจุบันพนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน สอบปากคำผู้ต้องหาหรือพยาน โดยคำพูดของผู้ต้องหาหรือพยานจะถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในสำนวนสอบสวน โดยไม่มีการบันทึกภาพและเสียงไว้ ยกเว้นในกรณีเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี พนักงานสอบสวนต้องบันทึกภาพและเสียงของเด็กไว้ขณะสอบปากคำ[10]

ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือพยานพูดกับตำรวจอย่างหนึ่งในชั้นสอบสวน  แต่ต่อมาในชั้นศาลกลับไม่ยอมมาพูด หรือมาพูดอีกอย่างหนึ่งที่ตรงข้ามกัน ศาลจะเชื่อถ้อยคำใด เรื่องดังกล่าวเป็นดุลพินิจของศาลโดยแท้ หากศาลไม่เชื่อถ้อยคำที่บันทึกไว้ในสำนวนสอบสวนของตำรวจ ศาลจะให้เหตุผลว่าถ้อยคำในสำนวนสอบสวนดังกล่าวเป็นพยานบอกเล่า ไม่มีเหตุจำเป็น จึงรับฟังไม่ได้ [11] หรือรับฟังได้ แต่น้ำหนักน้อย ไม่น่าเชื่อถือ[12] แต่หากศาลเชื่อถ้อยคำที่บันทึกไว้ในสำนวนสอบสวน ศาลจะให้เหตุผลอีกอย่างหนึ่ง เช่น แม้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่า แต่ก็น่าเชื่อพิสูจน์ความจริงได้ ถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายประกอบพยานอื่นได้[13]

การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยการให้พนักงานสอบสวนบันทึกภาพและเสียงในการสอบสวนผู้ต้องหาหรือพยานทุกปากและรวมไว้ในสำนวนให้ศาลเปิดดูได้ ศาลที่เปิดดูจะเห็นภาพ เสียงกริยาอาการ รวมทั้งพิรุธของผู้ต้องหาหรือพยานทั้งหมด ซึ่งน่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ศาลในการใช้ดุลพินิจค้นหาความจริงได้อย่างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเมื่อศาลต้องชั่งน้ำหนักคำพูดของพยานคนเดียวกันที่พูดแต่ละครั้งไม่ตรงกัน

ตำรวจติดกล้อง แม้จะมีต้นทุนด้านงบประมาณที่รัฐต้องดำเนินการและต้นทุนของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้านความสะดวกสบายที่อาจลดลงไปบ้างที่ต้องปรับตัวในระยะแรก แต่เมื่อแลกกับประโยชน์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนทั้งประเทศจะได้รับ ทั้งในเรื่องการเพิ่มความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ การป้องกันคอร์รัปชันหรือการกระทำที่มิชอบอื่นๆ การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การคุ้มครองเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และที่สำคัญที่สุด คือ การเพิ่มความน่าเชื่อถือ (trust) ของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม ผมว่า 'คุ้มค่ายิ่ง'

 

[1] Criminal justice behavior, https://journals.sagepub.com/doi/full/10.1177/0093854816668218 ; see also https://www.independent.co.uk/news/uk/home-news/police-body-cameras-complaints-93-per-cent-dr-barak-ariel-cambridge-a7338851.html, retrieved 18 January 2020.

[2] “No other intervention 'in the history of policing' has had such a profound effect”, in https://www.independent.co.uk/news/uk/home-news/police-body-cameras-complaints-93-per-cent-dr-barak-ariel-cambridge-a7338851.html, retrieved 18 January 2020.

[3] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(16) ““พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ” หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้รวมทั้งพัศดี เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า พนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าพนักงานอื่นๆ ในเมื่อทำการอันเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องจับกุมหรือปราบปราม”

[4] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93  “ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด”

[5] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85  “เจ้าพนักงานผู้จับหรือรับตัวผู้ถูกจับไว้ มีอำนาจค้นตัวผู้ต้องหา และยึดสิ่งของต่างๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้

การค้นนั้นจักต้องทำโดยสุภาพ ถ้าค้นผู้หญิงต้องให้หญิงอื่นเป็นผู้ค้น

สิ่งของใดที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่น ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น”

[6] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102  “การค้นในที่รโหฐานนั้น ก่อนลงมือค้นให้เจ้าพนักงานผู้ค้นแสดงความบริสุทธิ์เสียก่อน และเท่าที่สามารถจะทำได้ให้ค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้น หรือถ้าหาบุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน

การค้นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งถูกควบคุมหรือขังอยู่ให้ทำต่อหน้าผู้นั้น ถ้าผู้นั้นไม่สามารถหรือไม่ติดใจมากำกับจะตั้งผู้แทน หรือให้พยานมากำกับก็ได้ ถ้าผู้แทนหรือพยานไม่มี ให้ค้นต่อหน้าบุคคลในครอบครัวหรือต่อหน้าพยานดังกล่าวในวรรคก่อน

สิ่งของใดที่ยึดได้ต้องให้ผู้ครอบครองสถานที่ บุคคลในครอบครัว ผู้ต้องหา จำเลยผู้แทนหรือพยานดูเพื่อให้รับรองว่าถูกต้อง ถ้าบุคคลเช่นกล่าวนั้นรับรองหรือไม่ยอมรับรองก็ให้บันทึกไว้”

[7] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตร 84 วรรคท้าย “ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือตามมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี”

[8] ดู สุภิดา ดวงไสว, ปัญหาการรับฟังถ้อยคำรับสารภาพในชั้นจับกุมอันเกิดจากการบันทึกเสียงและภาพด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. 2562.

[9] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(16), อ้างแล้ว เชิงอรรถ 3

[10] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 133 ทวิ วรรค 4 “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 139 การถามปากคำเด็กตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน”

[11] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7013/2556 “ผู้เสียหายยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะสามารถติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานได้ แต่หาได้ดำเนินการไม่ จึงมิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (2) แม้โจทก์จะมี จ. ที่ทราบเหตุการณ์จากผู้เสียหาย และพันตำรวจโท ส. พนักงานสอบสวนที่เบิกความยืนยันตามเหตุการณ์ที่ได้ทราบจากผู้เสียหายประกอบคำให้การของผู้เสียหายล้วนแต่เป็นเพียงพยานบอกเล่า เมื่อจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ พยานหลักฐานของโจทก์ย่อมไม่พอให้รับฟังลงโทษจำเลยทั้งสามได้”, deka.supremecourt.or.th

[12] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3225/2557 “แม้ผู้เสียหายและ อ. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานไม่ได้มาเบิกความ อันเป็นเหตุจำเป็นให้ศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายและ อ. ซึ่งเป็นพยานบอกเล่าได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (2) ก็ตาม แต่การที่ศาลจะวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานดังกล่าว ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 บัญญัติให้ศาลต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพัง เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่นดังนี้ เมื่อคำให้การของผู้เสียหายและ อ. ที่ว่าจำเลยใช้ขวดเบียร์ตีศีรษะผู้เสียหาย แต่ตามใบนำส่งผู้บาดเจ็บให้แพทย์ตรวจชันสูตร ไม่ปรากฏบาดแผลที่ศีรษะของผู้เสียหายระบุไว้ และบันทึกคำให้การของ อ. ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อ. เองก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์โดยตลอดเพราะหลังจาก อ. เข้าไปห้ามระงับเหตุและถูกถีบออกมาแล้ว อ. ก็วิ่งหนีไปบ้านญาติ ประกอบกับได้ความจากพยานโจทก์ปาก อ. ภริยาของผู้เสียหายว่า คืนเกิดเหตุผู้เสียหายดื่มสุราในงานศพจนมีอาการมึนเมา และสภาพภายในร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุที่พยานเคยไปเที่ยวนั้นจะเปิดไฟสลัวแสงสว่างไม่ชัดเจนซึ่งก็ขัดกับคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย จึงเป็นพยานบอกเล่าที่ไม่มีน้ำหนักหนักแน่นเพียงพอที่จะใช้รับฟังลงโทษจำเลย”, deka.supremecourt.or.th

[13] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2561 “แม้ในชั้นพิจารณาผู้เสียหาย ส. ร. และ พ. เบิกความว่าจำหน้าคนร้ายไม่ได้เพราะเกิดเหตุมานานสิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็มีคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ส. ร. และ พ. ซึ่งคำให้การดังกล่าวระบุรายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องต้องกัน โดยเฉพาะผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนแต่ก็ให้การถึงรูปพรรณสัณฐานของจำเลยไว้โดยละเอียด อีกทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ร. และ พ. พนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ยากที่พนักงานสอบสวนจะปั้นแต่งขึ้นเอง แม้บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) …” , deka.supremecourt.or.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0