โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตำนาน "สังข์ทอง" วรรณกรรมทรงคุณค่า สู่การพัฒนาวนอุทยานเขานางพันธุรัต

NATIONTV

เผยแพร่ 18 ม.ค. 2562 เวลา 05.11 น. • กรมอุทยานแห่งชาติ​ สัตว์ป่า​ และพันธุ์พืช
ตำนาน สังข์ทอง วรรณกรรมทรงคุณค่า สู่การพัฒนาวนอุทยานเขานางพันธุรัต
ตำนาน สังข์ทอง วรรณกรรมทรงคุณค่า สู่การพัฒนาวนอุทยานเขานางพันธุรัต

จากกระแสพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จากตำนาน "สังข์ทอง" วรรณกรรมอันทรงคุณค่า สู่การพัฒนาวนอุทยานเขานางพันธุรัต ให้กลายเป็นแหล่งศึกษาทางธรรมชาติของคนไทย

จากกระแสพระราชดำริ เมื่อปี พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้แม่ทัพภาคที่ 1 ดำเนินการฟื้นฟูบริเวณที่เกิดการถล่มของเขานางพันธุรัต (เขาเจ้าลาย) พื้นที่บริเวณใกล้เคียงและอนุรักษ์พื้นที่บริเวณเขานางพันธุรัต เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงตำนานที่ได้เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับนางพันธุรัตในวรรณคดีไทย เรื่อง "สังข์ทอง" ซึ่งเป็นวรรณกรรมอันทรงคุณค่ายิ่งต่อประเทศไทย

เนื่องมาจากในช่วงระหว่างเดือน มิถุนายน สิงหาคม 2539 พระสมบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และในวันที่ 18 กรกฎาคม 2539 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งผ่านเทือกเขาเจ้าลายหรือเขานางพันธุรัต ทรงมีพระราชดำรัสถามถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการระเบิดหินในพื้นที่ เขานางพันธุรัตแห่งนี้เป็นพื้นที่สัมปทานระเบิดหินและพระองค์ได้ทรงมีรับสั่งว่า "ใครเป็นเจ้าของการระเบิดภูเขา จะขอยกเลิกการระเบิดหินได้ไหม อยากจะรักษาโกศนางพันธุรัตไว้"

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2541 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ วังไกลกังวล และได้ทรงพระราชทานพระราชดำริแก่พลโทนิพนธ์ ภารัญนิตย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในขณะนั้นว่า ให้อนุรักษ์สภาพพื้นที่บริเวณที่มีการทรุดตัวของภูเขา โดยการปลูกต้นไม้เพื่อป้องกันการพังทลายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน 2541 พลโทนิพนธ์ ภารัญนิตย์ ได้เชิญนายสมเจตน์ นวาวัตน์ ป่าไม้เขตเพชรบุรีไปหารือ เพื่อวางแนวทางการดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่บริเวณเขานางพันธุรัต ที่เกิดการถล่มลงมาเมื่อปี 2537 แต่ด้วยสภาพของพื้นที่ในขณะนั้นยังมีปัญหาและอุปสรรคในการเข้าไปปฏิบัติงาน เนื่องจากบริเวณภูเขาที่ถล่มยังมีหินที่ผุร่อนกระจายเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก และพร้อมที่จะร่วงหล่นลงมาได้ตลอดเวลาอันจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่เข้าไปดำเนินการได้

คณะผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคือ แม่ทัพภาคที่ 1 ป่าไม้เขตเพชรบุรี และบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด(มหาชน) ได้ร่วมกันกำหนดและวางแผนการฟื้นฟูเขานางพันธุรัต ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยการลำเลียงดินที่บรรจุใส่ถุงปูนซีเมนต์จำนวน 4,500 ถุง และเมล็ดพันธุ์ไม้ (กระถิ่นยักษ์,สีเสียด,ขี้เหล็ก) จำนวน 235 กิโลกรัม เมล็ดพืชคลุมดิน (ถั่วไมยรา และถั่วฮามาด้า) จำนวน 100 กิโลกรัม ที่ได้รับการผสมดินแล้ว โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากแม่ทัพภาคที่ 1 ลำเลียงไปทิ้งยังจุดเป้าหมาย

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2541 ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี (อธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้น) และคณะได้เดินทางมาตรวจราชการในท้องที่ป่าไม้เขตเพชรบุรี กรณีเขานางพันธุรัตถล่มและมอบนโยบายให้ป่าไม้เขตเพชรบุรีดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานโดยด่วน ทั้งนี้เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่มีพระราชประสงค์ที่ทรงจะอนุรักษ์ป่าแห่งนี้ให้เป็นมรดกของชาติ และพัฒนารักษาเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวของประชาชนต่อไป

วนอุทยานเขานางพันธุรัต จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 ในเนื้อที่ประมาณ 1,562 ไร่ โดยบริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด (มหาชน) ยังได้มอบคืนพื้นที่เขตประทานบัตรบริเวณติดต่อกับพื้นที่วนอุทยานเขานางพันธุรัต เนื้อที่ 170 ไร่ ทั้งนี้เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา และสืบสานพระราชปณิธานตามแนวทางการอนุรักษ์เขานางพันธุรัต

วนอุทยานเขานางพันธุรัต ยังพบชนิดของสัตว์ป่า แบ่งเป็น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประกอบด้วย ค่างแว่น เม่น อีเห็น ลิง ค้างคาว เป็นต้น สัตว์ปีก ประกอบด้วย นกกางเขนดง กาถ้ำ นกกินปลี นกกระรางหัวขวาน นกเหยี่ยว ไก่ป่า เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วย เต่า กิ้งก่า ตุ๊กแก งู เป็นต้น และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ประกอบด้วย เขียด คางคก อึ่งอ่าง กบ ปาด เป็นต้น และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีจุดเด่นทางธรรมชาติ ได้แก่ กระจกนางพันธุรัต ยอดเมรุนางพันธุรัต สระเจ้าเงาะ(บ่อชุบตัว) หุบวังเรือ จุดชมวิวคอกช้าง จุดชมวิวทุ่งเศรษฐี ที่พร้อมให้ทุกท่านได้เข้ามาเยี่ยมชมความสวยงามของธรรมชาติ และศึกษาตำนานวรรณกรรมอันทรงคุณค่าของไทย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0