โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตำนานเจ้าแม่เซ็กซ์ช้อปแห่งเยอรมนี ‘เบอาเท อูห์เซ’

The Momentum

อัพเดต 06 ธ.ค. 2562 เวลา 12.40 น. • เผยแพร่ 06 ธ.ค. 2562 เวลา 12.40 น. • บุญโชค พานิชศิลป์

In focus

  • ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยถ้าจะกล่าวว่า เบอาเท อูห์เซคือผู้นำปฏิวัติในเรื่องเพศช่วงหลังสงครามโลก และเธอน่าจะเป็นเฟมินิสต์คนแรกๆ หลังปี 1945 ที่เรียกร้องและต่อสู้ เพื่อให้ผู้หญิงได้มีบทบาทตัดสินใจในการนำพาครอบครัวให้รอดพ้นจากความหิวโหยหรือยากจนจากการมีบุตร
  • แม้จะเป็นที่รู้กันว่าเธอไม่ได้ฝักใฝ่ในตัวอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อีกทั้งไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคนาซี ทว่าเธอก็ยังปฏิบัติหน้าที่รับใช้รัฐบาลนาซี เป็นนักบินหญิงในโฆษณาชวนเชื่อให้กับพลพรรคนาซี

เมื่อสงครามยุติ เบอาเทกลายเป็นเชลยศึกในเรือนจำของฝ่ายอังกฤษ หลังจากพ้นโทษออกมาแล้วเธอก็พบรัก แต่งงาน อยู่กินกับโรเทอร์มุนด์ ทั้งสองทำธุรกิจร่วมกัน และจัดพิมพ์สื่อแผ่นพับ Schrift Xออกมา ประกาศตนเป็นตัวแทนสตรี เรียกร้องเสรีภาพและความเสมอภาค ทั้งที่ความจริงแล้วมันอาจเป็นเพียงแนวความคิดทางธุรกิจเท่านั้น

“ฉันเป็นเจ้าของธุรกิจ ไม่ใช่พระเยซู” เป็นคำประกาศชัดเจนของหญิงแกร่ง ต่อคำกล่าวหาว่าเธอประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเซ็กซ์ โดยใช้คำว่า ‘เฟมินิสต์’ และเธอคือสตรีที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกและทำลายกำแพงศีลธรรมของเยอรมนี

จักรวรรดิเซ็กซ์ที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นขึ้นจากน้ำยาปลูกผมซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีใครต้องการอยากซื้อน้ำยาที่ เบอาเท อูห์เซ (Beate Uhse) และสามีของเธอ-แอร์นสฺต์-วอลเทอร์ โรเทอร์มุนด์ (Ernst-Walter Rothermund) ผลิตออกสู่ท้องตลาด ปี 1947 อูห์เซจึงหันมาเขียน Schift Xสื่อแผ่นพับที่โด่งดัง เล่าความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัฏจักรและประจำเดือน ซึ่งเธออ้างถึงวิธีของ คเนาส์-โอกิโนะ (แผนการคุมกำเนิดโดยวิธีการนับวันก่อน-หลังประจำเดือนของผู้หญิง ที่คิดค้นโดยแฮร์มันน์ คเนาส์ (Hermann Knaus) ชาวออสเตรเลียน และคาซากุ โอกิโนะ (Kjasaku Ogino) นรีแพทย์ชาวญี่ปุ่น) ที่เธอซึมซับรับรู้รับฟังจากแม่ซึ่งเคยเป็นหมอ

“เรื่องการตั้งครรภ์ควรเป็นสิทธิและการตัดสินใจของทุกคน ไม่ใช่ของใครหรือองค์กรไหน” อูห์เซเขียนแสดงทัศนะของเธอใน Schrift Xที่กลายเป็นสื่อขายดี ในปีแรก เธอและสามีสามารถขายแผ่นพับสองหน้าขนาด A6 ได้ถึง 32,000 ฉบับ และบริการจัดส่งให้ถึงบ้านด้วยในราคาฉบับละ 2 มาร์ก 70 เพนนี

 

ไม่ช้า ผู้คนเริ่มต้องการแผ่นพับนี้มากขึ้น รวมทั้งข้อมูลและข่าวสารความเป็นไปได้อื่นๆ เกี่ยวกับแนวทางการคุมกำเนิด คู่สามีภรรยา-อูห์เซและโรเทอร์มุนด์จึงเริ่มมีอุปกรณ์การคุมกำเนิดออกจำหน่าย ก่อนจะตามมาด้วยเซ็กซ์ทอย กระทั่งในปี 1962 ทั้งสองก็เปิดกิจการ ‘Beate Uhse – Fachgeschäft für Ehehygiene’ (ร้านค้าพิเศษเพื่อสุขอนามัยของคู่แต่งงาน) ในเมืองเฟลนสบวร์ก ซึ่งนับเป็นเซ็กซ์ช้อปแห่งแรกของโลก

ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยถ้าจะกล่าวว่า เบอาเท อูห์เซคือผู้นำปฏิวัติในเรื่องเพศช่วงหลังสงครามโลก และเธอน่าจะเป็นเฟมินิสต์คนแรกๆ หลังปี 1945 ที่เรียกร้องและต่อสู้ เพื่อให้ผู้หญิงได้มีบทบาทตัดสินใจในการนำพาครอบครัวให้รอดพ้นจากความหิวโหยหรือยากจนจากการมีบุตร

เบอาเท อูห์เซ นามสกุลเดิม เคิสต์ลิน (Köstlin) เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1919 ในปรัสเซียตะวันออก มีพี่น้องสองคน แม่เป็นหมอ พ่อเป็นเกษตรกร เธอใช้ชีวิตวัยเด็กที่ดื้อรั้นในบ้านไร่ และมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักบินหญิง

ตั้งแต่เด็กแล้ว เธอมักต่อต้านขนบธรรมเนียมเดิมๆ ที่ไม่ถูกจริต ครั้งหนึ่งเธอเคยถูกพี่สาวกักขังไว้ในห้องน้ำ เพื่อดัดนิสัยให้เธอทำตัว ‘เรียบร้อยเหมือนเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ’ ที่ชอบเล่นตุ๊กตามากกว่าเที่ยวเล่นซน หรือฝันอยากขับเครื่องบิน ครั้งนั้นเบอาเทถึงกับเอาตุ๊กตาถมลงในอ่างที่ปริ่มน้ำ

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง เธอค่อยๆ เริ่มเข้าสู่วงจรการบิน ที่โรงเรียนการบินเบอาเทได้รู้จักกับสามีคนแรก ฮานส์-เยือร์เกน อูห์เซ (Hans-Jürgen Uhse) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเธอปฏิบัติหน้าที่เป็นนักบินให้กับกองทัพอากาศเยอรมัน ในการเคลื่อนย้ายเครื่องบินรบไปยังฐานทัพ

ระหว่างทำหน้าที่เป็นแม่ ความจริงแล้วเธอไม่จำเป็นต้องบิน แต่เธอก็ยังอยากบิน และแม้จะเป็นที่รู้กันว่าเธอไม่ได้ฝักใฝ่ในตัวอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อีกทั้งไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคนาซี ทว่าเธอก็ยังปฏิบัติหน้าที่รับใช้รัฐบาลนาซี เป็นนักบินหญิงในโฆษณาชวนเชื่อให้กับพลพรรคนาซี

ครั้นเมื่อสงครามยุติ เบอาเทกลายเป็นเชลยศึกในเรือนจำของฝ่ายอังกฤษ หลังจากพ้นโทษออกมาแล้วเธอก็พบรัก แต่งงาน อยู่กินกับโรเทอร์มุนด์ ทั้งสองทำธุรกิจร่วมกัน และจัดพิมพ์สื่อแผ่นพับ Schrift Xออกมา ประกาศตนเป็นตัวแทนสตรี เรียกร้องเสรีภาพและความเสมอภาค ทั้งที่ความจริงแล้วมันอาจเป็นเพียงแนวความคิดทางธุรกิจเท่านั้น

ทุกอย่างคือภาพลักษณ์ที่เธอพยายามสร้างผ่านสื่อ โดยเฉพาะในช่วงสองทศวรรษแรกของกิจการบริษัท เบอาเท อูห์เซพยายามจัดฉากให้ผู้หญิงเป็นองค์ประกอบใหม่ที่สำคัญของการถกเถียงเรื่องเพศในสหพันธ์สาธารณรัฐ (เยอรมนีตะวันตก) เธอเน้นย้ำอยู่บ่อยครั้งในหนังสือแคตตาล็อก “แน่นอน-คุณสามารถจินตนาการได้ว่า มันเป็นไปไม่ได้สำหรับฉันในฐานะผู้หญิง หากปราศจากอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ ในการสนับสนุนให้ผู้หญิงความสุขในชีวิตและการแต่งงาน” ยุคสตรีนิยมใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว และในจุดสูงสุดนั้นคือเธอ…Erotic Queen

สื่อบางฉบับขานรับ เรียกขานเธอเป็นผู้หญิงยุคใหม่ ซึ่งเข้าทางเบอาเท เพราะถึงตอนนั้นเธอสามารถต่อยอดยุทธศาสตร์การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านพื้นที่สื่อเหล่านั้น ไม่ใช่แค่เพียงในแคตตาล็อกของตนเอง ช่วงทศวรรษ 1950s บริษัทเริ่มเผยแพร่เรื่องราวของเธอต่อสื่อ ที่กำลังรอรับอยู่อย่างกระหายอยาก

แต่เบอาเท อูห์เซต้องเผชิญหน้ากับคดีความหลายครั้ง เฉพาะช่วงสิบปีแรกของการก่อตั้งบริษัท เธอต้องขึ้นศาลมากกว่า 25 ครั้ง “ไปยืนออกัสซัมต่อหน้าศาล” เคยเป็นประโยคที่พาดหัวข่าวจนดังไปทั่วเยอรมนี คณะศาลมีสำนวนฟ้องเอาผิดจักรวรรดิอูห์เซราว 400 คดี ส่วนใหญ่แล้วเป็นคดี ‘ให้ความช่วยเหลือการกระทำผิดประเวณี’ ซึ่งเป็นโทษทางอาญาตามกฎหมายปี 1919

เบอาเท โรเทอร์มุนด์-อูห์เซ ได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงที่ถูกฟ้องร้องมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ นอกจากเธอจะฟันฝ่า ต่อสู้จนหลุดพ้นจากคดีความได้แล้ว ปี 1976 เธอยังได้รับชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ นั่นคือ ใบอนุญาตการเปิดตัวสื่อลามก

ส่วนชีวิตคู่ ภายหลังอยู่กินกันมานาน 20 ปี สามีของเธอก็ขอหย่า เพื่อไปสร้างครอบครัวใหม่กับอดีตแม่บ้านของเบอาเท ครั้งนั้นเธอต้องทุกข์ทรมาน ‘ราวกับสุนัขถูกรุมกัด’ ไม่ช้าต่อมา เบอาเทเดินทางไปพักฟื้นหัวใจที่เกาะบาฮามาส์ ที่นั่นเธอได้รู้จักกับจอห์น ฮอลแลนด์ (John Holland) ชายหนุ่มวัยอ่อนกว่าจากนิวยอร์ก ความสัมพันธ์ของเธอกับหนุ่มคนใหม่สร้างความไม่พอใจให้กับโรเทอร์มุนด์-อดีตสามี ถึงกับทำสงครามสาดโคลนผ่านสื่อ สร้างความอับอายให้กับเบอาเท ส่งผลให้เธอต้องปิดปากเงียบกับสื่ออยู่นานถึงห้าปี

แม่ลูกสามมีภาระงานแน่น หนัก ถึงกระนั้นเธอก็ยังมีเวลาเหลือพอให้เล่นกีฬา และเธอเล่นอย่างจริงจัง ทั้งเทนนิส สกี กระโดดร่ม รวมทั้งกอล์ฟ ตอนอายุ 76 เธอยังเติมเต็มฝันด้วยการไปเรียนดำน้ำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การขับเครื่องบินยังเป็นสิ่งที่เธอโปรดปรานเสมอมา

กระทั่งเมื่อทศวรรษ 1990s เบอาเท อูห์เซถึงเริ่มเป็นที่ยอมรับนับถือของสาธารณชน ในวาระครบรอบ 50 ปีของบริษัทเธอเปิดพิพิธภัณฑ์เพื่อวัฒนธรรมกามารมณ์ของตนเองในกรุงเบอร์ลิน และช่วงนั้นเองที่สื่อหันมารายงานความสำเร็จของนักธุรกิจหญิงวัย 76 ปีขณะนั้นอีกครั้ง 

หญิงสูงวัย ที่บ่อยครั้งชอบพูดแทนตัวเองเป็นบุคคลที่สาม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2001 ด้วยวัย 81 ปี และไม่มีโอกาสได้อยู่เพื่อรับรู้ว่า กิจการที่เธอสร้างขึ้นมากับมือนั้น ล้มละลายไปเมื่อปี 2017 ได้อย่างไร

 

อ้างอิง:

-บุญโชค พานิชศิลป์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0