โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตำนานวัดพระธาตุศรีจอมทอง ศรัทธาพระบรมสารีริกธาตุ ความพิเศษที่ต่างจากองค์อื่น

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 30 ธ.ค. 2566 เวลา 13.48 น. • เผยแพร่ 28 ธ.ค. 2566 เวลา 05.56 น.
ภาพปก-วัดศรีจอมทอง
วัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

วัดพระธาตุศรีจอมทอง หรือที่ภาษาเหนือออกเสียงว่า “จ๋อมตอง” เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญมากวัดหนึ่งใน จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นพระอารามหลวง และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่ที่บ้านลุ่มใต้ ถนนสายเชียงใหม่-ฮอด หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ประมาณ 58 กิโลเมตร

มีตำนานที่กล่าวถึงความเป็นมาของพระบรมธาตุศรีจอมทองว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธพยากรณ์ไว้กับพญาอังครัฏฐะ ผู้ครองอังครัฏฐะ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณดอยจอมทองว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปภายหน้าจะเป็นที่ประดิษฐานพระทักษิณโมลีธาตุ (พระเศียรเบื้องขวา) ของพระองค์

ต่อมาเมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว โทณพราหมณ์ได้จัดแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้แก่กษัตริย์ทั้ง 8 นคร ซึ่งในครั้งนั้น มัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราทรงได้พระทักษิณโมลีธาตุไว้ พระมหากัสสปะเถระเจ้าประธานฝ่ายสงฆ์ได้กราบทูลเรื่องพุทธพยากรณ์ที่พุทธองค์เคยตรัสไว้ มัลลกษัตริย์จึงถวายพระบรมธาตุแด่พระมหากัสสปะเถระ ซึ่งท่านได้อัญเชิญพระบรมธาตุวางไว้บนฝ่ามือ แล้วอธิษฐานอาราธนาพระบรมธาตุไปยังดอยจอมทอง เพื่อประทับอยู่ในโกศแก้วอินทนิลภายในเจดีย์ทองคำที่พญาอังครัฏฐะได้สร้างถวาย

ในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ลำดับที่ 14 แห่งราชวงศ์มังราย (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2038-2068) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารจตุรมุขขึ้น โดยมีมณฑปปราสาทตั้งอยู่กลางวิหารจตุรมุขนั้น เพื่อใช้ประดิษฐานพระบรมธาตุ

ในตำนานของพระบรมธาตุ นอกจากจะกล่าวถึงความเป็นมาของพระบรมธาตุแล้ว ยังได้กล่าวถึงการอัญเชิญพระบรมธาตุจอมทองไปเชียงใหม่หลายครั้ง รวมทั้งภารกิจของกษัตริย์เชียงใหม่อีกหลายพระองค์ที่ได้ทำนุบำรุงและถวายเครื่องสักการะสืบมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยพระราชศรัทธาที่มีต่อพระบรมธาตุ เช่น ในสมัยพระเมกุฏิสุทธวงศ์ ได้อัญเชิญพระบรมธาตุมายังเชียงใหม่ครั้งหนึ่ง

ต่อมาในรัชสมัยของเจ้าหลวงสุภัทระ (คำฝั้น) พระองค์ได้อัญเชิญพระบรมธาตุเข้าสู่เมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง และทรงสร้างโกศถวายพระบรมธาตุ เมื่อล่วงมาถึงสมัยเจ้าอินทวิชยานนท์ (พ.ศ. 2416-2439) เมื่อพระองค์ทรงสร้างหอพระธรรมขึ้นใหม่ ทรงอัญเชิญพระบรมธาตุไปเมืองเชียงใหม่ เพื่อทำการสักการะเช่นกัน

นอกจากตำนานจะปรากฏว่ามีการอัญเชิญพระบรมธาตุไปยังเมืองเชียงใหม่แล้วหลายครั้ง วัดแห่งหนึ่งในอำเภอหางดง ชื่อ วัดต้นเกว๋น (อินทราวาส) ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวสมัยของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ (พ.ศ. 2399-2413) ก็ได้รับกล่าวถึงในตำนานว่า เคยใช้เป็นที่หยุดพักของขบวนแห่พระบรมธาตุศรีจอมทองไปยังเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากที่วัดนี้ มีมณฑปจัตุรมุขแบบพื้นเมืองล้านนาที่เหมาะแก่การบูชาและสรงน้ำพระบรมธาตุ ก่อนที่จะนำเข้าไปในตัวเมืองเชียงใหม่

ตราบถึงรัชสมัยของเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองเชียงใหม่คือ เจ้าแก้วนวรัฐ (พ.ศ. 2454-2482) ก็ยังมีการบอกเล่าไว้ในตำนานถึงการปฏิสังขรณ์วัดศรีจอมทอง รวมถึงการฉลองครั้งยิ่งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2465

ปูชนียสถานที่สำคัญของวัดได้แก่ มณฑปปราสาทก่ออิฐถือปูน ฝีมือสล่า (ช่าง) ชาวพม่า ซึ่งอยู่ในวิหารของวัด วิหารหลวง พระอุโบสถ และเจดีย์ซึ่งมีลักษณะองค์เจดีย์เป็นแบบที่ตั้งอยู่ฐานบัวลูกแก้ว 2 ชั้น ชนิดฐานย่อเก็จ แต่ชั้นฐานที่รองรับองค์ระฆังเป็นบัวฐานปัทม์ชนิดกลมเช่นเดียวกับเจดีย์ของวัดพระธาตุแช่แห้ง วัดพระธาตุดอยสุเทพ และวัดพระธาตุหริภุชัย เป็นต้น

หากนับเวลาการสร้างวัดพระธาตุศรีจอมทอง ซึ่งกล่าวในตำนานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1995 จนถึงปัจจุบัน วัดพระธาตุศรีจอมทองก็มีอายุมากกว่า 500 ปีแล้ว

ปัจจุบัน วัดพระธาตุศรีจอมทอง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2470 และได้รับการสถปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหารเมื่อ พ.ศ. 2506

ในทุกๆ ปีทางวัดจะจัดงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุจอมทอง 2 ครั้ง คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ตรงกับวันวิสาขบูชา และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เหนืออีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่ถือได้ว่าเป็นความพิเศษของพระบรมสารีริกธาตุองค์นี้ คือสามารถเชิญพระธาตุออกมาสรงน้ำได้โดยตรง ต่างจากพระบรมสารีริกธาตุองค์อื่นที่มักบรรจุอยู่ในผอบฝังอยู่ใต้พระธาตุเจดีย์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ที่มา :

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 9กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0