โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตายแล้ว! พจนานุกรมสะกดผิด! ราชบัณฑิตยังมึน! ประชาชนจะไม่งงได้ไง?

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 18 ก.ค. 2561 เวลา 11.00 น.

ตายแล้ว! พจนานุกรมสะกดผิด! ราชบัณฑิตยังมึน! ประชาชนจะไม่งงได้ไง?

สวัสดีค่ะคุณผู้ชม มาเจอกับเจ้อีกแล้วนะคะ คือเมื่อวันเสาร์เจ้ไปดูทอล์กโชว์ "ทอมขึ้นคูล" ของ "คูลทอม" ที่เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์มาค่ะ ไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรทำให้มั่นหน้าคิดว่าตัวเองคูลขนาดนั้น แต่ก็เอาเถอะค่ะ อยากทำอะไรก็ทำ 

คือทอล์กโชว์ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของอีตาครูทอม ก็เลยจัดซะเหมือนกับว่าคงจะไม่ได้จัดอีกแล้ว จัดเพื่อสนองความอยากของตัวเองล้วน ๆ ที่เจ้กรี๊ดสุดก็เห็นจะเป็นช่วงโต้วาที ที่เชิญ "อาจารย์กรรณิกา ธรรมเกษร" พิธีกรรายการ "โต้คารมมัธยมศึกษา" ตั้งแต่สมัยเจ้ยังสาว ๆ มาเป็นแขกรับเชิญด้วย แล้วก็แข่งโต้วาทีกันสด ๆ บนเวที แล้วคือแข่งกับ "ทีมเจ้าขุนทอง" ค่าาาาา คนบ้าอะไร โต้วาทีแข่งกับหุ่นเจ้าขุนทอง ขนกันมาทั้งขุนทอง ทั้งฉงน ทั้งขอนลอย คือบับ น้ำตาเจ้จะไหลจริง ๆ เหมือนได้ย้อนอดีตกลับไปสมัยที่ยังเป็นเด็กไม่ประสาวิชารัก แอร๊ยยย 

แต่ที่เจ้ว่าพีคแบบพีค ๆ พีคแบบไม่ไหวแล้วก็คือช่วงที่ครูทอมแกพูดถึงพจนนุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ ค่ะคุณ 

แกเล่าประสบการณ์การหาความหมายในพจนานุกรมไง อย่างคำว่า "ถ้วย-ชาม" เนี่ย คือเราก็รู้กันอยู่แล้วใช่มะว่าถ้วยเป็นยังไง ชามเป็นยังไง แต่อย่างเจ้เองก็ไม่เคยคิดจะไปเปิดพจนานุกรมหรอกว่ามันจะแปลว่ายังไง แต่ครูทอมทำค่ะคุณ แกบอกว่าว่าง ๆ ชอบเปิดพจนานุกรมเล่น บ้าบอ

แล้วแกก็เล่าเรื่องความหมายของคำว่า "ถ้วย-ชาม" ในทอล์กโชว์ ดีค่ะดี จ่ายตังค์มานั่งดูคนเล่าเรื่องพจนานุกรมเนาะ 

คือตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า "ถ้วย" แปลว่า "ภาชนะก้นลึก มีรูปต่าง ๆ สำหรับใส่น้ำหรือของบริโภค เป็นต้น" โอเค ชัดเจน เข้าใจได้

พอไปเปิดคำว่า "ชาม" ก็เจอความหมายว่า "ภาชนะรูปคลุ่ม ๆ ชนิดหนึ่ง" เอ่อ ราชบัณฑิตฯ คะ "คลุ่ม" คืออะไรคะ ทานโทด! คืออยากจะรู้ว่าชามเป็นยังไง แต่ดันไปเจอบอกว่าชามเป็นคลุ่ม ๆ

ครูทอมงง เจ้ก็งงค่ะ อะ แต่ครูทอมแกก็ไม่หยุดนะคะ แกไปเปิดหาคำว่า "คลุ่ม" ต่อ แล้วก็เจอว่าในพจนานุกรมระบุว่า "คลุ่ม" แปลว่า "ลักษณะของปากภาชนะที่งุ้มหรือโค้งเข้าอย่างปากตะลุ่ม" เอ้า! แล้วตะลุ่มคือไรคะพี่ขา

และแน่นอนค่ะ ครูทอมก็ยังงงอยู่ เจ้ก็ยังงงตามไปด้วย ตาครูทอมก็ไปเปิดพจนานุกรมต่อ หาคำว่า "ตะลุ่ม" เจอความหมายว่า "ภาชนะมีเชิงคล้ายพาน แต่ปากคลุ่ม"
โอ้โหหหหหห ทำไมวนเป็นงูกินหางขนาดนี้ล่ะคะพี่ขา ตาครูทอมก็ขยันขยี้จั๊ง ชามเป็นคลุ่ม ๆ คลุ่ม ๆ แบบเดียวกับตะลุ่ม ตะลุ่มที่มันเป็นคลุ่ม ๆ 

อันนี้เจ้ถามว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยังจำเป็นอยู่ไหมคะ สำหรับการหาความหมายคำว่า "ถ้วย-ชาม" คือเจ้เห็นด้วยกะครูทอมนะว่าพจนานุกรมควรจะให้ความหมายเป๊ะ ๆ หน่อย ไม่ใช่ว่าต้องไปเปิดต่อหลาย ๆ คำจนกว่าจะเจอความหมาย นี่ขนาดเปิดไปตั้ง 3 คำแล้วยังแทบไม่รู้เลยค่ะว่าตกลงแล้วชามมันเป็นยังไง

แต่ยังไงซะ ถ้าจะอ้างอิงการสะกดคำก็ต้องเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนั่นแหละค่ะ ก็หวังว่าการแก้ไขพจนานุกรมครั้งต่อไป จะทำให้อะไร ๆ มันชัดเจนถูกต้องขึ้นกว่าเดิมด้วย คิดซะว่าเจ้ขออออออออ

แต่เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวก๊อนนนนนนนนนน ถึงแม้ว่าจะเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่เราก็ต้องใช้วิจารณญาณเหมือนกัน อย่าแบบเอะอะเชื่อ เอะอะเชื่อ เพราะเคยมีเคสนึงที่ครูทอมเล่าในโชว์นี่แหละ คำว่า "แซว" คือเมื่อก่อนนี้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานไม่เคยมีคำว่า "แซว" มาก่อนเลย เพิ่งจะมามีในพจนานุกรมฉบับล่าสุดนี่แหละ เป็นฉบับพ.ศ. 2554 (แต่วางขายในปี 2556) ซึ่งในพจนานุกรมนี่ไม่ได้สะกดว่า "แซว" นะคะ แต่เขียนว่า "แซ็ว" ค่ะคุ้ณณณณ แอร๊ยยยย เกิดมาจนอายุจะ 50 ไม่เคยเขียนว่า "แซ็ว" เลยค่าาาา ไม่เคยคิดจะเอาไม้เลขแปดไปไว้บน ซ โซ่ ในคำนี้เลยอะ 

แซ็ว แซ็ว แซ็ว คือแบบดูยังไงมันก็ไม่ใช่มะ แต่ก็ต้องทนใช้ไป เพราะว่าราชบัณฑิตยสถานเขาบัญญัติไว้แบบนี้เนาะ

จนกระทั่งเมื่อเดือนมีนาคม 2561 หรือพูดง่าย ๆ คือ 5 ปีผ่านไปหลังจากการวางขาย ราชบัณฑิตยสภาก็ได้ออกประกาศนี้มาจ้าาาาา

ย่อหน้าแรกไม่ต้องไปสนใจค่ะ ดูย่อหน้าที่ 2 เลย อ่านชัด ๆ เน้น ๆ ไปเล้ยยยย นางบอกว่า "พิมพ์คำผิดเป็น แซ็ว จึงทำให้มีคำว่า แซ็ว ปรากฎอยู่ในพจนานุกรมฯ และทำให้เกิดข้อสงสัย"

โอ๊ยยยยยย เจ๊จะบ้าตายยยยย นี่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนะคะคุณ ไม่ใช่หนังสือทำมือของเด็กประถม ทำไมไม่ตรวจตราให้มันเรียบร้อยก่อนจะวางขาย พอชาวบ้านชาวช่องเห็นว่าในพจนานุกรมเขียนแบบนี้ เขาก็เขียนผิดกันไปเป็นสี่ซ้าห้าปี วางขายตั้งแต่ 5 ปีก่อน ทำไมไม่ออกมาบอกว่าผิดตั้งแต่ตอนนั้น นี่ผ่านไป 5 ปี ค่อยคิดจะแก้ไข เจ้ว่าไม่ไหวนะ ทำแบบนี้ แล้วต่อไปจะเชื่อถือได้ไหม แล้วในพจนานุกรมนี้จะมีคำผิดคำอื่นอีกไหมเนี่ย งงเวอร์ คือไรอะ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน สะกดผิด แล้วปล่อยให้คนใช้ผิดอยู่ตั้งนาน

สมแล้วที่เขาว่ากันว่า "สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง" แต่อย่าพลั้งอย่าพลาดให้มันมากนักนะคะ เดี๋ยวจะไม่มีใครเขาเชื่อถือเอา! 

ที่เจ้เอามาเล่าต่อนี่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งจากในโชว์ของครูทอมอะนะ ใครได้ดูเจ้ก็ดีใจด้วย ใครไม่ได้ดูไปดู เจ้ก็ขอแสดงความเสียดายตรงนี้เลยละกัน บอกเลยว่าพลาด!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0