โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตามหานิยามของสิ่งมหัศจรรย์ที่นครวัด-นครธม เสียมเรียบ

FWD

อัพเดต 19 ต.ค. 2561 เวลา 08.50 น. • เผยแพร่ 19 ต.ค. 2561 เวลา 08.50 น. • FWD Thailand

ผมว่าบางครั้งชีวิตคนเราก็ขับเคลื่อนด้วยความสงสัย…นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบทฤษฎีใหม่ๆ ก็เริ่มจากความสงสัย นักบวชก็ออกตามหาความหมายของชีวิตจากความสงสัย เหมือนกับการเดินทางครั้งนี้ของผมที่เริ่มต้นด้วยความสงสัยว่า "สิ่งมหัศจรรย์ของโลก…นิยามมาจากอะไร" จากความใหญ่โต จากความสวยงาม ต้องสร้างยากๆ หรือต้องมีอายุเก่าแก่นับพันปี?

ผมเลยจะพาทุกคนออกเดินทางไปหาคำตอบที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ที่ตั้งของ “นครวัด - นครธม” 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด

เปิดหู เปิดตา กับกัมพูชาครั้งแรก

เตรียมตัวเดินทาง

-       คนไทยพก Passport ไม่ต้องใช้ Visa

-       คนกัมพูชาพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว

-       ใช้เงิน USD ไม่จำเป็นต้องแลกเงินเรียล (KHR) ก็ได้

-       แนะนำให้มีไกด์ จะทำให้การชมปราสาทของเราสนุกขึ้น

-       ทั่วทั้งกัมพูชามีปราสาทเยอะถึง 5,000 แห่ง

-       ที่กัมพูชาขับรถเลนขวา พวงมาลัยซ้ายต่างจากบ้านเรา

-       อากาศค่อนข้างร้อนจัดและบางครั้งก็มีฝนตก เตรียมครีมกันแดด ร่ม หมวกไว้นะครับ

-       ค่าเข้าชมปราสาทมีให้เลือก 3 แบบ วันเดียว 37$ สามวัน 62$ เจ็ดวัน 72$

-       ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน ใกล้หรือไกล ต่างประเทศหรือในประเทศ ประกันชีวิตคือสิ่งจำเป็นที่สุด เพื่อให้การท่องเที่ยวสนุกได้เต็มที่ ผมเลือกทำประกันชีวิตคนกล้าเอ็กซ์ตร้า ของเอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต (https://www.fwd.co.th/th/protect/accident/prakan-kon-kla-extra/) เพราะว่าสบายใจเรื่องเคลมที่ไม่ยุ่งยาก จะไปเที่ยวที่ไหน ทำกิจกรรมผาดโผนขนาดไหน ก็คุ้มครองครบ แค่ไม่ใช่กรณีทะเลาะวิวาทเท่านั้น นี่แหละครับเคล็ดลับการท่องเที่ยวอย่างสบายใจไร้ขีดจำกัดของผม

คนไทยเข้าประเทศกัมพูชาเป็นเรื่องง่ายมากครับ ไม่ต้องทำวีซ่า พกแค่พาสปอร์ตก็เข้ากัมพูชาได้สบายๆ และเพื่อความสบายมากยิ่งขึ้น ผมเลือกเดินทางโดยเครื่องบินครับเพราะรวดเร็วทันใจ บินแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ทริปนี้ผมไปกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เพราะประทับใจเรื่องการบริการแบบฟลูเซอร์วิส มีเที่ยวบินหลากหลายถึง 4 เที่ยวต่อวัน เรื่องอาหารการกินก็มีพร้อมทั้งบนเครื่องบิน และในเลาจน์ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินเสียมเรียบ

การเดินทางในเสียมเรียบ

วิธีที่สะดวกที่สุดคือตุ๊กตุ๊ก ชื่อเรียกเหมือนบ้านเราแต่หน้าตาไม่เหมือนกัน แถมยังคิดค่าโดยสารรายหัวไปหลายคนก็จ่ายเยอะเหมือนรถสองแถว ไม่เหมือนตุ๊กตุ๊กหรือแท็กซี่ไทย ส่วนเรื่องการสื่อสาร คนกัมพูชาพูดภาษาอังกฤษได้ครับ

อาหารการกิน

อาหารกัมพูชาทานไม่ยาก วัตถุดิบและวิธีปรุงคล้ายๆ ของไทย แต่รสชาติอาจจะไม่คุ้นลิ้น ราคาอยู่ที่ประมาณ 3 - 5 USD ที่นี่ใช้เงิน USD ได้นะครับ ไม่จำเป็นต้องแลกเงินเรียล (KHR) ส่วนเครื่องดื่มมักจะขายนักท่องเที่ยวราคา 1 USD เท่ากันหมด จะน้ำเปล่า น้ำปั่น เครื่องดื่มชูกำลัง ชา น้ำอัดลม ราคาเดียว

ไกด์ เพื่อนใหม่คนท้องถิ่น

สิ่งที่ผมกำลังค้นหาอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ผมต้องการไกด์ท้องถิ่นไว้เป็นผู้ช่วย และพาไปยังจุดสำคัญๆ ของเมืองเสียมเรียบ เราจ้างไกด์ในราคาวันละ  40 USD เขาเริ่มต้นด้วยการพาเราไปซื้อบัตรเข้าชมปราสาทเป็นสิ่งแรก ซึ่งมีให้เลือก 3 แพ็คเกจ แบบวันเดียว 37 USD แบบสามวัน 62 USD และแบบเจ็ดวัน 72 USD  ไกด์แนะนำให้เราซื้อบัตรเข้าชมแบบวันเดียวสำหรับใช้ในวันรุ่งขึ้น แต่ให้เราซื้อบัตรในตอนเย็นนะ เพราะสามารถใช้เข้าชมปราสาทในตอนเย็นวันนี้ก่อนได้เลยเหมือนเป็นของแถม เราตกลงตามนั้น

แสงสุดท้ายที่ “ปราสาทพนมบาเค็ง”

เย็นวันแรก ไกด์พาผมเริ่มต้นเข้าใกล้ความมหัศจรรย์ของเสียมเรียบที่ปราสาทพนมบาเค็ง ปราสาทที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในลิสต์  5 ปราสาทที่ผมอยากไป แถมที่นี่ยังเป็นเป็นจุดชมวิวมุมสูงและจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยแห่งหนึ่งของเสียมเรียบ ปราสาทพนมบาเค็งเป็นเทวสถานฮินดู ตั้งอยู่บนยอดเขาบาเค็งที่มีความสูงราว 60 เมตร ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่การเดินขึ้นเขา แต่เป็นแถวยาวๆ ของนักท่องเที่ยวที่มาต่อคิวรอขึ้นชม

ไม่ใช่ว่าอยากขึ้นก็ขึ้นได้เลยนะครับ เจ้าหน้าที่จะคอยควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวให้ขึ้นไปบนตัวปราสาทฯ ได้ครั้งละไม่เกิน 100 คน ต้องมีคนเก่าลงมา คนใหม่จึงจะได้ขึ้นไป หมายความว่าถ้าเรามาเร็วเกินไป ก็จะโดนเจ้าหน้าที่ไล่ลงก่อนพระอาทิตย์ตก แต่ถ้ามาช้า ปราสาทฯจะปิด พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้าโดยที่เราไม่มีโอกาสเห็น นี่แหละความท้าทาย

โชคยังเข้าข้าง…ผมคือนักท่องเที่ยวคนเกือบสุดท้ายที่ได้ขึ้นมาบนตัวปราสาทฯ ในช่วงเวลาที่ท้องฟ้ากำลังสวย ปราสาทพนมบาเค็งอาจจะไม่ใช่จุดชมวิวที่สวยสุดยอด เพราะอยู่บนภูเขาที่ไม่สูงมากนัก ออกแรงเดินขึ้นมาแค่พอให้หัวใจได้ทำงาน แต่คือผมมีแค่เป้หนึ่งใบนะ ลองจินตนาการถึงคนโบราณที่ขนก้อนหินขึ้นมาสร้างปราสาทบนภูเขานี้เมื่อพันกว่าปีสิครับ เขาทำได้อย่างไร?

ถึงแม้ว่าปราสาทพนมบาเค็งจะไม่ใหญ่โต และลวดลายแกะสลักก็ไม่ได้วิจิตรตระการตา แต่ก็มีเรื่องน่าทึ่งคือปราสาทฯ นี้ถูกสร้างอย่างสอดคล้องกับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ในวันแรกของปีที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก (21 มีนาคม) หรือที่ศัทพ์ดาราศาสตร์เรียกวสันตวิษุวัต ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงหน้าประตูปราสาทฯ พอดี นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ๆ

ถ้าหากเราจะเที่ยวชมปราสาทโดยไล่อายุจากเก่าที่สุดไปหาใหม่ที่สุด “ปราสาทบันทายศรี” คือปราสาทที่มีอายุเก่าแก่ลำดับที่สองถัดจากพนมบาเค็ง แต่ไกด์บอกว่าพรุ่งนี้คุณไม่ควรพลาดการไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ “ปราสาทนครวัด” ผมแอบคิดในใจว่าภารกิจที่ผมกำลังตามหาไม่จำเป็นต้องรีบตื่นตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางมั้ง!

“ปราสาทนครวัด” เทวาลัยนี้เป็นสุสาน

เช้ามืดของวันใหม่ ผมตัดสินใจเดินทางมาที่ปราสาทนครวัดตามคำแนะนำของไกด์ และเตรียมใจไว้แล้วว่าสิ่งมหัศจรรย์ระดับโลกแบบนี้ต้องมีฝูงชนไปรอชมพระทิตย์ขึ้นกันเยอะแน่ๆ แล้วก็เป็นอย่างที่คิด นักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติมายืนออกันอยู่ริมสระน้ำหน้าปราสาทฯ และเมื่อดวงอาทิตย์ที่โผล่ขึ้นหลังยอดปรางค์ แสงแรกของวันสาดส่องมา ทุกสายตาก็จับจ้องไปที่จุดเดียวกัน

ผมขอบคุณไกด์และบอกตัวเองว่าคิดถูกแล้วที่มา! เพราะแม้ว่าคุณจะเคยเห็นภาพถ่ายพระอาทิตย์ขึ้นที่นครวัดที่สวยจับใจมาจากที่ไหน ผมก็กล้ายืนยันว่ามันไม่งดงามเท่ากับได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง เพราะความงามนี้ไม่ใช่แค่สิ่งที่อยู่ในเฟรม แต่มันคือทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รายรอบ แม้แต่เสียงรัวชัตเตอร์ของนักท่องเที่ยวก็สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของปราสาทฯ และต่อให้คุณไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับนครวัดมาก่อนเลย ผมก็เชื่อว่าคุณจะไม่ละสายตา

ฟ้าสว่าง เราเริ่มเดินเข้าสู่ปราสาทฯ พร้อมกับฟังไกด์เล่าให้ฟังว่า อาณาจักรขอมโบราณได้รับอิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาจากอินเดีย ซึ่งยกย่องว่ากษัตริย์คือพระวิษณุอวตารลงมาเพื่อปกครองดูแลโลกมนุษย์ กษัตริย์จึงต้องสร้างเทวสถานประจำรัชกาลเพื่อบูชาพระวิษณุและใช้เป็นสุสาน โดยสร้างตามคติฮินดูว่าปราสาทนี้คือเขาพระสุเมรอันเป็นที่ประทับของพระวิษณุ เพราะเชื่อว่าเมื่อสวรรคตแล้ววิญญาณของพระองค์จะเสด็จสู่เขาพระสุเมรอีกครั้ง

เช่นเดียวกับปราสาทนครวัดที่สร้างขึ้นรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (ประมาณ 900 กว่าปีก่อน) ก็เป็นเทวสถานฮินดูเพื่อบูชาพระวิษณุ และเตรียมไว้เป็นสุสานของพระองค์เอง ผมเลยฉุกคิดขึ้นมาว่า ชื่อเดิมของปราสาทนี้ไม่น่าจะมีคำว่า “วัด” เพราะไม่ใช่พุทธสถานแต่อย่างใด ผมถามไกด์ว่าปราสาทนี้มีชื่อเก่ามั้ย ไกด์บอกว่า “ มีครับ จารึกที่ระเบียงคตบันทึกไว้ว่า กมรเตงชคตปรมวิษณุโลก หรือเรียกสั้นๆ ว่า วิษณุโลก” นั่นไงผมว่าแล้วเชียว ส่วนเพราะอะไรจึงเปลี่ยนมาเรียก “นครวัด” เป็นสิ่งที่ผมต้องหาคำตอบต่อไป

หินทรายคือวัสดุหลักในการสร้างปราสาทฯ หินนับล้านก้อนถูกตัดและลำเลียงมาจากเขาพนมกุเลนที่ห่างออกไปกว่า 50 กิโลเมตร แล้วขนส่งมาทางเรือ แต่ถ้าเป็นฤดูแล้งจะเปลี่ยนเป็นวิธีลากด้วยช้าง ซึ่งมีหลักฐานระบุว่าการก่อสร้างใช้ช้างถึง 40,000 เชือก และแรงงานคนอีกนับแสน ไกด์บอกผมว่าหินก้อนใหญ่ๆ มีน้ำหนักสูงสุดถึง 1.5 ตัน ถ้าคุณนึกไม่ออก มันคือน้ำหนักของรถกระบะหนึ่งคันเลยทีเดียว ชวนให้สงสัยว่าคนโบราณยกหินหนักๆ สร้างปราสาทนครวัดที่มียอดสูงถึง 60 เมตรได้ยังไง

ไกด์อธิบายแนวคิดเรื่องวิธีการลำเลียงหินขึ้นที่สูงว่า คนโบราณใช้วิธีถมดินเป็นทางลาดชันให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้ทั้งคนและช้างสามารถเดินขึ้นไปยังตำแหน่งความสูงต่างๆ ได้จนถึงยอดปราสาท เมื่อสำเร็จแล้วจึงโกยดินทั้งหมดออกไป ผมคิดเล่นๆ ว่าถ้าให้ลองท้านักวิทยาศาสตร์ในยุคนี้ว่า ยูสร้างนครวัดได้ไหม คงได้คำตอบว่าง่ายมาก แต่คงโดนถามกลับมาว่า ยูจะสร้างไปเพื่ออะไร?

เพราะวิทยาการตะวันตกมุ่งจะเอาชนะกฏของธรรมชาติ สร้างเครื่องบิน สร้างตึกสูงเสียดฟ้า ไปเหยียบดวงจันทร์ ตัดต่อพันธุกรรม สร้างหุ่นยนต์ที่ฉลาดกว่ามนุษย์ ตักตวงทรัพยากร และปล่อยมลพิษสู่ธรรมชาติ แต่การสร้างปราสาทที่ใหญ่โตอย่างนครวัดไม่ใช่ความอหังการ์ของมนุษย์ เราสร้างเพื่อบูชาจักรวาล นอบน้อมต่อธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณ และไม่ได้ต้องการครอบครองโลก

เพราะถ้านครวัดสร้างขึ้นเพื่อเอาชนะธรรมชาติหรือเย้ยหยันจักรวาล คงไม่จำเป็นต้องแกะสลักลวดลายอันวิจิตรบรรจงลงบนหินทุกๆ ก้อน ไม่ว่าจะเป็นการแกะสลักภาพเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่องรามายณะ แกะสลักภาพกวนเกษียรสมุทร หรือนางอัปสรถึง 1,796 องค์โดยไม่ซ้ำกันเลย ขนาดที่ใหญ่โตและความสมบูรณ์ทางกายภาพของตัวปราสาท อาจจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้นครวัดได้รับการยกย่องว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในฐานะหลักฐานทางอารยธรรมที่เคยรุ่งเรืองในอดีตซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้

ตามบันทึกระบุว่าปราสาทนครวัดใช้เวลาก่อสร้างร่วม 100 ปี ไม่มีหลักฐานใดบอกได้ว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้ดำริสร้างปราสาทฯ มีโอกาสได้เห็นการก่อสร้างคืบหน้าไปถึงขั้นไหนก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคต อย่างไรก็ตาม 30 กว่าปีต่อมา อาณาจักรจามปาได้บุกเข้าโจมตีเมืองพระนครอันเป็นที่ตั้งของนครวัด จนเกิดการต่อสู้ยืดเยื้อยาวนานถึง 4 ปี โดยที่อาณาจักรเขมรไม่มีกษัตริย์ผู้ครองนคร จนกระทั่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงกอบกู้เอกราชขึ้นมาและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ พร้อมกับสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ขึ้นมาในชื่อ  “นครธม”

“นครธม” ราชธานีของพระโพธิสัตว์

 ราชธานีแห่งใหม่นี้อยู่ห่างจากปราสาทนครวัดเพียงแค่ 1 กิโลเมตร เรานั่งรถมาแค่อึดใจก็เริ่มเห็นซุ้มประตูทางเข้านครธมอยู่ลิบๆ ไกด์บอกให้ผมลองสังเกตซุ้มประตูทางเข้านครธมว่ามีศิลปะอะไรแตกต่างจากนครวัด ผมบอกว่าที่นครวัดไม่มีการแกะสลักหินเป็นรูปใบหน้าขนาดใหญ่สี่ทิศแบบนี้ ไกด์ยิ้มแล้วบอกว่าผมมาถูกทางแล้ว 

นี่คือพระพักตร์ของพระอวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์องค์สำคัญของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สถาปนานครธมทรงนับถือพุทธมหายาน และทรงใช้พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเพื่อสื่อถึงตัวพระองค์เองว่าเปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์ที่ดูแลสรรพสัตว์ และปัดเป่าทุกข์ภัยให้แก่ราษฎร

บรรดาปราสาทต่างๆ ที่สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงมีรูปพระพักตร์ของพระอวโลกิเตศวรอยู่มากมาย โดยเฉพาะที่ปราสาทบายน ซึ่งเป็นปราสาทหลักของนครธม ปรางค์ปราสาททั้ง 54 ปรางค์ถูกสลักเป็นภาพพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหันออกไปทั้งสี่ทิศ นับรวมได้ถึง  216 พระพักตร์ และมีความเชื่อกันว่าเป็นการตั้งใจแกะสลักให้เหมือนกับพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้วย

พระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนี้จะทอดสายตามองลงต่ำ และมีรอยยิ้มระเรื่อที่เป็นสุข เปี่ยมด้วยความเมตตา เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นจนถูกเรียกว่า “ยิ้มแบบบายน” นอกจากนี้สถาปัตยกรรมของตัวปราสาทฯ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะเขมรและพุทธมหายาน ก็เป็นรูปแบบเฉพาะตัวที่แตกต่างจากศิลปะเขมรในยุคอื่นๆ จนสามารถเรียกได้ว่าเป็น “ศิลปะแบบบายน”  

“ปราสาทตาพรหม” ไม่ใช่วัดทูมไรเดอร์

ถัดจากปราสาทบายน ไกด์พาเรามาชมปราสาทตาพรหมซึ่งอยู่ห่างออกมาเพียง 5 กิโลเมตร เป็นปราสาทที่สร้างในยุคเดียวกับปราสาทบนยน ยุคที่พุทธศาสนาเจริญถึงขั้นสูงสุด ปราสาทตาพรหมจึงสามารถเรียกได้ว่าเป็นวัดของศาสนาพุทธมหายานได้อย่างเต็มปาก แต่จุดเด่นที่คนทั่วไปจะจำได้ก็คือปราสาทตาพรหมมีต้นไม้ใหญ่อายุหลายร้อยปีขึ้นปกคลุมบนตัวปราสาท และเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องทูมไรเดอร์

บางทีผมก็แอบใจหายนะครับ ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จดจำเพียงว่าที่นี่เป็นฉากในภาพยนตร์ และมองหาแต่มุมรากไม้เพื่อถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก โดยลืมชื่นชมความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ความงามของศิลปกรรม และเรื่องราวน่าสนใจที่ไม่ได้ซ่อนอยู่อย่างลึกลับอะไรเลย มันอยู่ระหว่างทางที่คุณเดินผ่านไปนั่นเอง 

อย่างในภาพข้างล่างนี้คุณเห็นอะไรมั้ย? ถ้าสังเกตดีๆ คุณจะเห็นว่ามีบางสิ่งถูกสะกัดหายไปจากผนัง

ผมถามไกด์ว่ามันคืออะไร ไกด์บอกว่าบริเวณที่ถูกสะกัดออกไปนั้นเคยเป็นรูปแกะสลักของพระพุทธเจ้าปราสาทตาพรหมเคยมีรูปเคารพของพุทธศาสนาอยู่มากมาย แต่ภายหลังเมื่อเข้าสู่รัชสมัยของกษัตริย์ที่กลับไปนับถือฮินดู มีการทำลายรูปแกะสลักที่เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพุทธให้หมดไปจากปราสาทตาพรหม รวมถึงทำลายรูปแกะสลักพระโพธิสัตว์ที่มีใบหน้าคล้ายกษัตริย์องค์เก่าด้วย

ผมติดคุณไว้เรื่องหนึ่ง…จำได้มั้ย? เพราะอะไรจึงเปลี่ยนชื่อจาก “ปราสาทวิษณุโลก” มาเรียกว่า “ปราสาทนครวัด” ผมขอสรุปเป็นภาษาง่ายๆ ว่า กษัตริย์ของอาณาจักรขอมมีทั้งที่นับถือฮินดูและนับถือพุทธ บางครั้งจึงมีการเปลี่ยนศาสนาของปราสาทที่มีอยู่เดิมให้ใช้ได้เลยโดยไม่ต้องสร้างใหม่ และในช่วงท้ายๆ ของอาณาจักรเขมร ปราสาทวิษณุโลกก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นวัดของพุทธ เป็นที่มาของชื่อ “นครวัด” นั่นเอง  

“ปราสาทบันทายศรี” อัญมณีแห่งเสียมเรียบ

ถ้าคุณจำได้ ที่นี่คือปราสาทที่เก่าแก่เป็นอันดับสองในลิสต์ของผม มีอายุมากกว่าพันปี เก่ากว่าปราสาทนครวัด ปราสาทบายน และปราสาทตาพรหม และถ้าคุณคิดว่าปราสาทบันทายศรีคงจะทรุดโทรม รูปแกะสลักเลือนลาง หรือถูกทำลายจนไม่เห็นความงามแล้วล่ะก็ คุณคิดผิดถนัดเลย! ผมกล้าพูดว่านี่คือปราสาทที่มีลวดลายสวยที่สุดในเสียมเรียบ!

แม้ว่าปราสาทบันทายศรีจะไม่ใหญ่โต แถมยังเล็กที่สุดในบรรดาปราสาทอื่นๆ ที่เราไปกันมา แต่ความวิจิตรบรรจงของการแกะสลักทำให้เราเกิดคำถามว่า นี่คือปราสาทของใคร? ทำไมละเอียดลออขนาดนี้ เทคนิคการแกะลวดลายก็ไม่ธรรมดา จนผมไม่อยากจะเรียกว่านี่คือการแกะสลักภาพนูนต่ำ อยากจะเรียกว่าการเจียรไนซะมากกว่า

ปราสาทแห่งนี้สร้างตามคติแบบฮินดูเพื่อบูชาพระศิวะ ซึ่งเป็นเทพสูงสุดในตรีมูรติ สร้างด้วยหินทรายสีชมพูซึ่งหายาก สลักเสลาเป็นภาพเทพองค์ต่างๆ เช่น พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระศิวะทรงโค พระนารายณ์อวตารเป็นนรสิงห์ ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะมีเทคนิคการแกะสลักที่สุดยอดแล้ว ท่วงท่าของเทพเจ้าและเส้นสายประดับยังดูมีลีลาอ่อนช้อยผิดแปลกจากที่อื่นๆ ที่สำคัญลวดลายยังดูคมชัดราวกับเพิ่งสร้างเมื่อไม่นาน ทั้งที่ผ่านเวลามากว่าพันปี

การเดินทางเยี่ยมชมปราสาทของผมครบทั้ง 5  ปราสาทตามที่ตั้งใจ เรื่องราวที่เคยสงสัยค่อยๆ คลายออกไปทีละเรื่อง

*“Pub Street” ชีวิตหลังพระอาทิตย์ตกดิน *

ผมพาตัวเองมาพักสมองที่ Pub Street ถนนสายสั้นๆ ที่มีผับ บาร์ ร้านอาหาร และร้านขายของฝากคล้ายกับถนนข้าวสารของบ้านเรา เป็นแหล่งแฮงก์เอ้าท์หลังพระอาทิตย์ตกดินของบรรดานักท่องเที่ยวทุกชนชาติ สำหรับคนไทยนี่คงไม่ใช่บรรยากาศที่แปลกตา แต่สิ่งที่สะดุดใจผมมากกว่าก็คือร้านขายของฝากทุกร้านจะต้องมีสินค้าที่เกี่ยวกับนางอัปสร ทั้งตุ๊กตา โปสการ์ด ลายเสื้อ ลายแก้ว ฯลฯ จนผมรู้สึกว่าตอนเดินชมปราสาท ผมให้ความสำคัญกับนางอัปสรน้อยเกินไปหรือเปล่า

ไกด์บอกผมว่า จริงๆ แล้วตามร้านอาหารใหญ่ๆ ในเสียมเรียบจะมีโชว์รำนางอัปสรในช่วงหัวค่ำเป็นประจำทุกวัน แต่ผมรู้ช้าไป..การแสดงรอบสุดท้ายเพิ่งจบลงไปเมื่อไม่กี่นาที และคืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของเราที่เสียมเรียบ ผมคงหมดโอกาสได้เห็นนางอัปสรร่ายรำแล้ว

*ประสบการณ์ใหม่ ไปลองเป็น “นางอัปสร” *

โชคดีเป็นของเราอีกครั้ง! ไกด์บอกผมว่า แฟนของเขาเป็นครูสอนรำอัปสร ถ้าเราอยากดู พรุ่งนี้เราสามารถไปดูตอนที่เธอกำลังสอนเด็กๆ ได้ อาจจะไม่ใช่โชว์แบบเต็มรูปแบบ แต่ก็ได้ใกล้ชิดกว่าดูบนเวที เพื่อนผมรีบถามไกด์ทันทีว่า ถ้าอยากลองเรียนรำจะได้ไหม? ไกด์บอกว่าได้สิ และยินดีมากๆ ผมนั่งมองเพื่อนเรียนรำแล้วก็รู้สึกว่า เออมันดีนะ ถ้าเราอยากทำอะไรแล้วลองทำมันดูเลย โดยไม่กังวลว่าผลลัพธ์มันจะออกมาเป็นยังไง จะชอบจริงหรือไม่ จะทำได้ดีหรือเปล่า เพราะถ้าลองแล้วมันออกมาดี ก็เท่ากับว่าเราได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ให้ตัวเอง

ทริปนี้กำลังจะจบลง ผมนั่งมองพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าอยู่ที่เลาจน์ของบางกอกแอร์เวย์ระหว่างรอขึ้นเครื่องบินกลับ ทุกเรื่องราวค่อยๆ คลี่คลายและตกตะกอน

ผมว่าผมได้คำตอบแล้วว่า สิ่งมหัศจรรย์คืออะไร? สำหรับนครวัด-นครธม ผมว่าความมหัศจรรย์ไม่ใช่เรื่องของความเจริญทางวัตถุที่วัดกันที่ความใหญ่โต หรือต้องเอาชนะกฎเกณฑ์ของโลกอะไรเลย แต่มันคือความกล้าของมนุษย์ ที่กล้าฝัน กล้าลงมือทำ ไม่ว่ามันจะยากเย็นแค่ไหน และแม้ว่ามันจะยังไม่สำเร็จในขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่ก็ตาม นั่นแหละความมหัศจรรย์

คุณเองก็เช่นกัน คุณอาจจะมี Passsion ที่คุณหลงใหล และวันหนึ่งที่คุณกล้าที่จะเริ่มต้นทำมัน นั่นก็เท่ากับว่าคุณได้สร้าง “สิ่งมหัศจรรย์” ให้ตัวเองแล้ว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0