โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ตัวแบบ”วัฏจักรทางการเงิน” อีกเครื่องมือ ชี้ความเสี่ยงเศรษฐกิจ

Money2Know

เผยแพร่ 17 ส.ค. 2561 เวลา 09.17 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
ตัวแบบ”วัฏจักรทางการเงิน” อีกเครื่องมือ ชี้ความเสี่ยงเศรษฐกิจ
นักเศรษฐศาสตร์พยายามหาโมเดลในการพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจในอนาคต แต่ส่วนมากมักไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งทุกวันนี้ยังมีความพยายามหา "โมเดล" ที่ใช้ในการอธิบาย หรือ ทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อหาทางป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

ข้อมูลที่ใช้ในการ"วิเคราะห์"ส่วนมากเป็นข้อมูลในอดีต หรือ ดังที่มีคำกล่าวว่า "นักเศรษฐศาสตร์ ก็คือ นักประวัติศาสตร์"นั่นแหละ เพราะข้อมูลที่ใช้ส่วนมากเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ความพยายามหาโมเดลเพื่อใช้ในการอธิบายภาวะเศรษฐกิจก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา โดยล่าสุด เป็นงานวิจัยของ ทีมวิจัย ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในชื่อว่า"มิติใหม่ของนโยบายการเงินและ การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน" 

ทีมวิจัยจะมีการนำเสนองานวิจัยในงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2561 ในหัวข้อ “สู่ยุคใหม่ของระบบการเงินและธนาคารกลาง” วันที่ 24-25 ก.ย. 2561 ที่โรงแรม Centara Grand at Central World

ใครสนใจบทสรุปติดตามได้ที่นี่ 

ประเด็นของงานวิจัยชิ้นนี้ มีการนำเสนอเรื่อง "วัฏจักรทางการเงิน" ซึ่งคนทั่วๆไปอาจจะไม่คุ้นเคยนัก เพราะส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับคำว่า "วัฎจักรเศรษฐกิจ" โดยเชื่อกันว่าเศรษฐกิจมีขึ้นมีลงจากหลายปัจจัย

งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษา‘แนวคิดใหม่ในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นที่นำประเด็นด้านเสถียรภาพระบบการเงินเข้ามาพิจารณาร่วมอย่างเป็นระบบ’ โดยเริ่มจากการสร้างเครื่องชี้สำหรับวัดความเสี่ยงของระบบการเงินในภาพรวม

โดยจะพิจารณาจากวัฏจักรการเงิน (Financial Cycles) ซึ่งช่วยสะท้อนภาพการก่อตัวของสินเชื่อและราคาสินทรัพย์ทั้งระบบว่ามากจนเกินไปหรือไม่

ในกรณีของไทย พบว่า (1) วัฏจักรการเงินมีรอบที่ยาวและใหญ่กว่าวัฏจักรเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ซึ่งสะท้อนว่าความเปราะบางในภาคการเงินมีการสะสมตัวอย่างช้า

(2) เมื่อความเปราะบางสูงขึ้นมากจนเกินไป ซึ่งวัฏจักรการเงินขาขึ้นนี้อาจช่วยชี้นำการเกิดวิกฤติได้ เช่น ในช่วงปี พ.ศ. 2538-2539 วัฏจักรการเงินของไทยอยู่ในระดับสูงมาก ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ตามมา

(3) วัฏจักรทั้งสองส่งผลกระทบต่อกันและกัน โดยภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะทวีความรุนแรงขึ้น หากเกิดขึ้นพร้อมกับช่วงขาลงของวัฏจักรการเงิน

คณะผู้วิจัยยังได้ออกแบบ Financial Stability Dashboard ขึ้นมาควบคู่กับการวิเคราะห์วัฏจักรการเงิน เพื่อติดตามความเปราะบางเฉพาะจุด ให้การเฝ้าระวังความเสี่ยงในระบบการเงินเป็นไปอย่างครบถ้วนใน 7 ด้านสาคัญ คือ อสังหาริมทรัพย์ ครัวเรือน ธุรกิจ สถาบันการเงิน ต่างประเทศ การคลังและตลาดการเงิน

รวมทั้ง มีการจัดกลุ่มตัวชี้วัดตามประเภทของความเสี่ยงให้เอื้อต่อการพิจารณาใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่เหมาะสม เนื่องจากนโยบายการเงินอาจสามารถดูแลความเสี่ยงที่สะสมขึ้นอันเป็นผลพวงจากวัฏจักรขาขึ้นของภาคการเงินหรือเศรษฐกิจ ได้ดีกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างของภาคการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความเชื่อมโยงของผู้เล่นในตลาดที่ซับซ้อนขึ้นและไม่ชัดเจนนัก

อย่างไรก็ตาม "วัฏจักรทางการเงิน"จะมีการนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายหรือไม่นั้น ยังต้องติดตามกันต่อไป แต่อย่างน้อยจากข้อมูลของทีมวิจัยชี้ใ้เห็นว่าในคราววิกฤติต้มยำกุ้งที่ถือเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจที่รุนแรงในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย "วัฎจักรทางการเงิน" และ "วัฏจักรเศรษฐกิจ"มาพร้อมๆกันนั่นเอง

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0