โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตัวตนของพี่คนโต เมื่อตำแหน่งแห่งที่ในครอบครัวมีผลต่อตัวตนเรา

The MATTER

อัพเดต 21 ก.ย 2561 เวลา 11.51 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2561 เวลา 11.27 น. • Pulse

คำว่าการเมืองในความหมายกว้างๆ หมายถึงการที่เรามีความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่อกัน ดังนั้นแล้วเลยดูเหมือนว่าพวกเราเองก็จะรับรู้และ ‘เล่นการเมือง’ กันตั้งแต่ในบ้าน เรารู้ว่าเราอยู่ตรงไหนในครอบครัว คุณอาจจะเป็นพี่ชายคนโตที่เป็นที่โปรดปราน เป็นน้องคนกลางที่หาแนวทางของตัวเอง หรือน้องคนเล็กที่ใครๆ ก็คอยปกป้อง ทำอย่างไรเราถึงจะได้รับความสนใจ หรือได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการ

ในสังคมตะวันออกแบบเราๆ ประเด็นเรื่องการสืบทอดสายเลือด—การสืบทอดมรดกทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมเช่นเกียรติและนามสกุลเป็นประเด็นที่ยังคงหลงเหลือกันอยู่บ้าง ส่วนหนึ่งคือเราอยู่กับวิธีคิดที่สืบทอดสิ่งต่างๆ ผ่านลูกชายคนโตในฐานะทายาท (primogeniture) จากวัฒนธรรมการสืบทอดนี้ก็เลยส่งผลกับทัศนคติและวิธีการเลี้ยงดูภายในครอบครัว ซึ่งแน่นอนว่าครอบครัวและประสบการณ์วัยเด็กเป็นพื้นที่และช่วงเวลาที่ตัวตนของเราค่อยๆ ก่อตัวขึ้น

ความสนใจเรื่องลำดับในการเกิดว่าการเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ในครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาและนักจิตวิทยาให้ความสนใจ งานศึกษาชิ้นแรกๆ ที่พูดเรื่องอิทธิพลของการเป็นคนลูกคนโตเริ่มถูกพูดถึงในช่วงศตวรรษที่ 19 โดย Sir Francis Galton นักมานุษยวิทยา นักสถิติ และอีกสารพัดนัก แกพูดไว้ในงานศึกษาเรื่องวิวัฒนาการมนุษย์ว่า นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของอังกฤษล้วนเป็นลูกคนแรกทั้งนั้น จากข้อสังเกตในศตวรรษที่ 19 นักคิดในยุคต่อๆ มาก็พากันสนใจและเข้าไปสังเกตศึกษาอิทธิพลของครอบครัวที่มีต่อตัวตนของเรา

sanook.com
sanook.com

ภาพจาก : sanook.com

Primogeniture พรและภาระของลูกคนแรก

จากข้อสังเกตของ Sir Francis Galton เหตุผลสำคัญที่ลูกคนโตกลายมาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จก็ด้วยวัฒนธรรมการตกทอดทรัพย์สินและชื่อเสียงให้กับลูกชายคนแรก ผลของความคิดนี้ก็เลยส่งอิทธิพลทั้งที่เป็นรูปธรรม—คือแน่ละว่าลูกคนโตก็จะได้รับทรัพย์สิน ได้รับโอกาสและความไว้เนื้อเชื่อใจ—ไปจนถึงในทางภาระหน้าที่ที่ลูกคนโตจะต้องแบกรับชื่อและความคาดหวังของครอบครัวเอาไว้

แนวคิด Primogeniture ส่วนใหญ่หมายถึงการให้สิทธิสืบทอดกับลูกคนแรก ส่วนใหญ่ตามกฎหมายและประเพณีมักจะเป็นลูกชายในฐานะผู้สืบทอดสายสกุล ในบางวัฒนธรรมหรือบางโอกาสก็อาจจะสืบทอดให้กับลูกสาวได้บ้าง แต่หลักๆ หมายถึงการให้ลูกคนโตที่สุด วิธีแบบนี้พบได้ตั้งแต่ในสังคมกสิกรรม มาจนถึงวิธีการสืบทอดตำแหน่งและฐานะของชนชั้นสูง

การที่ต้องสืบทอดให้กับลูกคนโตที่สุดคนเดียว เกิดจากความจำกัดของทรัพย์สิน ในสังคมเกษตรกรรมต้องการการเก็บที่ดินขนาดใหญ่ไว้ การสืบทอดให้กับพี่คนโตดูแลและรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวก็เป็นการป้องกันการแบ่งสรรที่ดินให้ยิบย่อยจนไม่สามารถใช้ทำงานได้อย่างเพียงพอ ในขณะเดียวกัน ยศหรือฐานันดรเองก็มีตำแหน่งที่จำกัด การสืบทอดจึงทำได้เพียงแค่มอบต่อให้ทายาทได้เพียงคนเดียว

หลักการง่ายๆ ของการให้สิทธิกับลูกคนแรกคือ ลูกคนแรกมีแนวโน้มที่จะเติบโต แข็งแรงเข้มแข็งเพียงพอเมื่อเทียบกับน้องๆ คนอื่นๆ ที่อาจจะยังเด็กและอ่อนแอกว่า แต่ก็มีบ้างที่จะตกทอดสิทธิให้กับน้องคนเล็ก (ultimogeniture) เช่นบางครั้งลูกคนโตต้องออกไปทำกิจการนอกบ้าน ออกไปรบ ไปค้าขาย ลูกคนเล็กก็อาจจะเป็นผู้รับหน้าที่ดูแลพ่อแม่ จัดการควบคุมจัดการกิจการในบ้านต่อ ซึ่งลูกคนเล็กเป็นคนที่มีแนวโน้มจะมีชีวิตที่ยืนยาว เป็นคนที่จะใช้เวลาดูแลพ่อแม่ได้นานที่สุด ติดบ้านมากที่สุด

Sir Francis Galton, The Galton Institute
Sir Francis Galton, The Galton Institute

Sir Francis Galton, ภาพจาก : The Galton Institute

ลูกคนโตเนี้ยบที่สุด ยึดมั่นต่อกฎมากที่สุด และเมื่อลูกคนโตเป็นผู้หญิง

Alfred Adler นักจิตวิทยาคนสำคัญบอกว่าตัวตนของเราในช่วงวัยเด็กเป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบกับเราตลอดชีวิต และแอดเลอร์เชื่อว่าตัวตนของเราในตอนเด็กก็สัมพันธ์กับการที่เด็กคนนั้นเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ของครอบครัว เพราะว่าพ่อแม่มีแนวโน้มที่จะปฏิบัติต่อลูกแต่ละคนต่างกัน แหละเหล่าเด็กๆ เองก็จะเรียนรู้ที่จะวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองท่ามกลางพี่น้องคนอื่นๆ

ลูกคนแรกมักจะรู้สึกว่าตัวเองต้องเพอร์เฟ็กต์ เป็นคนที่ต้องรับผิดชอบทุกอย่าง ในด้านหนึ่งลองนึกภาพพ่อแม่ที่กำลังจะมีลูกคนแรก ลูกคนแรกจึงเป็นเสมือนพร เป็นความหวัง และเป็นผู้ที่จะสืบทอดทุกอย่างให้กับครอบครัว ดังนั้นทรัพยากร การดูแล ความเอาใจใส่จึงมักถูกทุ่มลงไปให้กับลูกคนแรก

ด้วยความที่เป็นลูกคนโตที่สุด เมื่อครอบครัวมีลูกคนต่อๆ ไป ครอบครัวก็มักจะมีแนวโน้มมอบหน้าที่ดูแลน้องให้กับพี่คนโต งานศึกษาทั่วไปจึงมักพูดถึงลูกคนโตในฐานะสมาชิกที่มีอำนาจและทรงอิทธิพลมากที่สุดในบรรดาพี่น้อง พี่คนโตจึงมักจะถือตนเป็นผู้มีอำนาจจัดการเรื่องต่างๆ ภายในครอบครัว ดังนั้นลูกคนโตจึงมักจะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง ต้องทำทุกอย่างได้ ในขณะเดียวกันก็มักเป็นคนที่ยึดมั่นและยินยอมต่อกฎระเบียบต่างๆ

ประเด็นเรื่องผู้ชายผู้หญิงดูจะเป็นอีกหนึ่งอิทธิพลสำคัญ ในปี 2014 มีงานศึกษาที่พบว่าลูกคนโตที่เป็นลูกสาวมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จและมีความมุ่งมั่นทะเยอทะยาน ตัวเลขสถิติในงานศึกษานั้นบอกว่าลูกสาวที่เป็นพี่คนโตมีความทะเยอทะยานกว่าลูกชายคนโต งานศึกษานี้ทำการวิจัยโดย Feifei Bu ซึ่งเธอเองก็มาจากครอบครัวจีน และเธอบอกว่าตัวเธอเองก็เป็นลูกสาวคนโต (ที่คงจะต้องพิสูจน์อะไรบางอย่างกับครอบครัวด้วย) คงด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้เธอทำปริญญาเอกอยู่ที่อังกฤษตอนนี้

Vision.org
Vision.org

ภาพจาก : Vision.org

เหล่าลูกคนรองๆ เองฟังแล้วก็อย่าเพิ่งน้อยใจ เพราะว่างานศึกษา—และพวกเราเองก็คงพอจะเข้าใจตัวเองว่า ถ้าในพี่คนโตเป็นกฎ เป็นระเบียบของบ้าน ลูกคนต่อๆ มาก็มักจะหาแนวทางของตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจของพ่อแม่ ดังนั้นลูกคนรองจึงมีแนวโน้มจะเป็นอิสระ เป็นคนที่สามารถหาแนวทางและหาความโดดเด่นเฉพาะทางตัวเอง ถ้าพี่คนโตฉลาดเฉลียว น้องคนต่อๆ มาอาจจะไปหาทางเก่งเรื่องกีฬา เรื่องบันเทิง เรื่องศิลปะ

ข้อสังเกตข้างต้นของเหล่านักจิตวิทยาก็เป็นความพยายามอธิบายพฤติกรรมมนุษย์จากสิ่งแวดล้อม ทำไมคนเราถึงมีลักษณะคล้ายๆ กัน งานศึกษาบางชิ้นก็พยายามจับเอาแนวคิดนี้มาอธิบายและแก้ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ต่างๆ เช่น เราเป็นลูกคนแรก มีทัศนคติแบบนี้ มีแนวโน้มจะเข้ากับคนแบบเดียวกันได้ แต่ในที่สุดตัวตนของเราก็มีความซับซ้อนเนอะ ก็เป็นการวิเคราะห์ทำความเข้าใจแบบคร่าวๆ

อ้างอิงข้อมูลจาก

britannica.com

theguardian.com

enotes.com

alfredadler.edu

blogs.scientificamerican.com

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0