โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"ตะบันน้ำ" นวัตกรรมชาวบ้าน ดันน้ำที่ต่ำขึ้นสู่พื้นที่สูง

Thai PBS

อัพเดต 14 พ.ย. 2561 เวลา 06.14 น. • เผยแพร่ 14 พ.ย. 2561 เวลา 06.14 น. • Thai PBS

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่ ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ เพื่อร่วมกิจกรรมสาธิตการสร้าง นวัตกรรมตะบันน้ำ แก้ปัญหาการจัดการน้ำบนพื้นที่สูง ภายใต้โครงการ “พลิกไทย ด้วยมือคุณ” ซึ่งจัดโดยสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ (สอพ.) ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ 

ระหว่างนั่งรถอีแต็กลงพื้นที่ห้วงวังแข้ แหล่งน้ำเป้าหมายในการติดตั้งเครื่องตะบันน้ำ นายจิระศักดิ์ ตรีเดช นายก สอพ. ชี้ให้ผู้สื่อข่าวเห็นสภาพไม้ดอก ไม้ผลที่แห้งเหี่ยว ต้นข้าวที่อุ้มท้องแต่ไม่ออกรวง เนื่องจากวิกฤตแหล่งน้ำในพื้นที่เทือกเขาเพชรบูรณ์ที่มีต้นน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ ต้นน้ำป่าสัก ต้นน้ำพอง และต้นน้ำเลย เกิดน้ำท่วมเป็นประจำในช่วงฤดูฝน ส่งผลให้เกิดดินถล่มอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่ในช่วงฤดูร้อนก็เกิดปัญหาน้ำแล้ง โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่ภูเขา ที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำได้ เนื่องจากแหล่งน้ำอยู่ต่ำกว่าพื้นที่เกษตรกรรม ดังนั้น การนำน้ำจากที่ต่ำขึ้นสู่ที่สูงจึงเป็นปัญหาและอุปสรรคมาก

คนอาจมองว่าเราอยู่ในพื้นที่เขตต้นน้ำ ไม่น่าจะขาดแคลนน้ำ แต่จริงๆ แล้ว เราเข้าไม่ถึงน้ำเลย เพราะเป็นต้นน้ำ น้ำไหลลงที่ต่ำทำให้ชาวบ้านเข้าถึงน้ำไม่ได้ จึงเริ่มพัฒนานวัตกรรมตะบันน้ำหรือที่เรียกกันว่าแลมป์ปั๊มขึ้นมา

นายก สอพ. เล่าว่า เครื่องตะบันน้ำถูกพัฒนามานานกว่า 200 ปีแล้ว โดยมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ และมีการส่งต่อนวัตกรรมนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณปี 2516 ซึ่งมีมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนพัฒนาเครื่องตะบันน้ำจำหน่ายเป็นจำนวนมาก แต่ละเครื่องก็จะมีราคาที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 20,000 - 50,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ยาก

สมาคมจึงร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน พัฒนานวัตกรรมเครื่องตะบันน้ำขึ้นภายในชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของเทคโนโลยีอย่างแท้จริงและสามารถใช้งานได้จริง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อนำไปจดสิทธิบัตรคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน 

เช็กอุปกรณ์ ประดิษฐ์เครื่องตะบันน้ำ

ด้านนายอุดม อุทะเสน หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องตะบันน้ำ สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ ระบุว่า ตะบันน้ำ คือ เครื่องส่งน้ำจากที่ต่ำขึ้นสู่ที่สูง โดยอาศัยกลไกจากแรงธรรมชาติ ซึ่งอาศัยน้ำเป็นแรงดันให้เครื่องตะบันน้ำทำงาน ซึ่งการติดตั้งเครื่องตะบันน้ำ ต้นน้ำที่ไหลลงสู่ที่ต่ำต้องไม่ต่ำกว่า 1 เมตร จึงจะส่งน้ำจากที่ต่ำขึ้นสู่ที่สูงได้

ผมเชื่อได้เลยว่าทุกคนอยากได้เครื่องตะบันน้ำ เพราะนอกจากจะได้น้ำใช้แล้ว ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์น้ำและอนุรักษ์ป่าซึ่งเป็นต้นน้ำด้วย เพื่อให้มีน้ำใช้ได้ตลอดปี เนื่องจากเครื่องตะบันน้ำไม่ใช้น้ำมันและไฟฟ้า

หากถามว่าตะบันน้ำช่วยอะไรได้บ้าง นายอุดม ตอบกลับทันทีว่า ผมว่าช่วยได้มาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่มีทุนทรัพย์ แล้วต้องซื้อเครื่องปั๊มน้ำ เครื่องสูบน้ำ และต้องจ่ายค่าไฟ แต่เครื่องตะบันน้ำชาวบ้านลงทุน 5,000 บาท เพียงแค่ครั้งเดียว 

สำหรับขั้นตอนในการผลิตเครื่องตะบันน้ำ ต้องเตรียมวัสดุสำคัญ คือ ถังแก๊ส 2 ใบ หรือวัสดุอุปกรณ์ที่คล้ายกับถังแก๊ส เช็กวาร์ล 2.5 นิ้ว 1 ตัว เช็กวาล์ว 2 นิ้ว 1 ตัว พร้อมเกลียวนอก 2 ตัว ส่วนการประกอบเครื่องตะบันน้ำ ต้องเจาะรูบนฝาถังใบแรกเพื่อติดวาล์ว 2.5 นิ้ว ใช้ในการปิด-เปิด ระบบการทำงาน และเจาะรูข้างถังใบเดียวกันใส่วาล์วขนาด 2 นิ้ว เพื่อส่งน้ำไปยังถังใบที่ 2 ซึ่งถังใบที่ 2 นี้ เป็นตัวกำหนดการปิด-เปิด พร้อมกับแอร์โอแอร์ มีระบบลม

ถ้ามีความต่างระดับของต้นน้ำอยู่ที่ 1 เมตร เครื่องตะบันน้ำจะสามารถดันน้ำสู่ที่สูงได้ไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ลิตร โดยส่งน้ำได้สูง 10 เมตร

 

ตะบันน้ำ เปลี่ยนชีวิต

ขณะที่ นางประสิทธิ์ แก้วรักษา ชาวบ้านในชุมชน เล่าว่า ปกติต้องหาบน้ำจากคลองขึ้นมาใช้ได้แค่วันละ 3 หาบ เพราะอายุมากแล้ว น้ำที่หาบมาก็ใช้ได้แค่ล้างถ้วยชามเท่านั้น เวลาอาบน้ำต้องลงไปอาบในคลองอย่างเดียว ปลูกผัก ปลูกผลไม้ไว้ก็ไม่มีน้ำให้รด แต่เมื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ถึงปัญหาดังกล่าว 2 วันก่อนก็ได้มีการต่อท่อน้ำจากเครื่องตะบันน้ำที่ห้วยวังแข้เข้ามาให้ใช้ในบ้าน ทำให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้ลำบากมาก บางวันต้องนำเสื้อ-ผ้าไปซักที่คลอง ไปอาบน้ำที่คลอง แต่หลังจากเจ้าหน้าที่ต่อน้ำมาให้ 1 ชั่วโมง ก็ได้น้ำถังใหญ่ประมาณ 100 ลิตร 1 ถัง วันหนึ่งจะเก็บน้ำไว้ในถังและในโอ่งใหญ่ 2 โอ่ง ทำให้มีน้ำมาใช้ในบ้านมากพอ และแบ่งมารดพืชผัก ทั้งลำไย มะเขือ ต้นพริก พร้อมวางแผนไว้ว่าจะปลูกหอม กระเทียม และปลูกอะโวคาโด ลำไย น้อยหน่าเพิ่มด้วย เพื่อนำไปขายสร้างรายได้ให้ครอบครัว

 

 

 

 

 

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0