โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ตอบโจทย์คนรักโลก ‘ซีโร่โมเมนต์’ ร้านค้าแนวใหม่อยากซื้ออะไร ต้องพกภาชนะมาใส่เอง

เส้นทางเศรษฐี

อัพเดต 26 ธ.ค. 2561 เวลา 03.59 น. • เผยแพร่ 19 ธ.ค. 2561 เวลา 10.26 น.
ซีโร่โมเมนต์

ตอบโจทย์คนรักโลก ‘ซีโร่โมเมนต์’ ร้านค้าแนวใหม่อยากซื้ออะไร ต้องพกภาชนะมาใส่เอง

จะดีแค่ไหนหากมีธุรกิจที่ช่วยใส่ใจโลก รักษาสิ่งแวดล้อม ให้ทุกคนลดการใช้ขยะในชีวิตประจำวันได้อย่างสนุก เพียงแค่นำบรรจุภัณฑ์มาซื้อของตัก ตวง เติม แบบรีฟิลได้ตามใจชอบ โดยที่ไม่ต้องหมดเงินจำนวนมากไปกับการซื้อของชิ้นใหญ่ที่ไม่รู้ว่าจะใช้หมดเมื่อไหร่

เจ้าของไอเดียดังกล่าว ชื่อ คุณเมี่ยว-ฤดีชนก จงเสถียร สาวสวยวัย 30 ปี ดีกรีปริญญาโทบริหารธุรกิจ Master of Management Studies Duke University Fuqua School of Business สหรัฐอเมริกา เธอเปิดร้าน “ซีโร่โมเมนต์ รีฟิลเลอรี่ (ZeroMoment Refillery)” ร้านรักษ์โลก บนเนื้อที่ประมาณ 30 ตารางเมตร

ร้านนี้ก่อตั้งขึ้นมาได้เพียง 1 เดือน จากจุดเริ่มต้นของคุณเมี่ยวที่อยากทำธุรกิจเพื่อสังคมอยู่แล้ว ซึ่งในต่างประเทศเองมีไอเดียธุรกิจร้านขายของชำแนวนี้อยู่จำนวนมาก การพกภาชนะมาซื้อของเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ต่างจากในประเทศไทยซึ่งยังไม่เป็นที่แพร่หลาย

“เมืองไทยยังไม่มีร้านแบบนี้ให้ลูกค้า เลยนำแนวคิดตรงนี้มาปรับรูปแบบให้เข้ากับคนไทยมากขึ้น สร้างทางเลือกใหม่ให้ลูกค้าได้มีช่วงเวลาสั้นๆ มาที่นี่ เป็นช่วงเวลาที่ไม่สร้างขยะ สอดคล้องกับชื่อร้าน ZeroMoment ที่มาจาก Zero Waste หรือแนวคิดขยะเหลือศูนย์”

โดยคอนเซ็ปต์ของซีโร่โมเมนต์ รีฟิลเลอรี่ คือร้านขายของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยลูกค้าสามารถนำภาชนะมาได้เองแล้วมาเลือกเติมสินค้าในปริมาณที่ต้องการ ใช้แค่ไหนก็ซื้อแค่นั้น ได้ลดทั้งขยะจากบรรจุภัณฑ์ และขยะจากของเหลือทิ้ง

ก่อนมาเปิดร้าน คุณเมี่ยวเคยทำงานบริษัทเอกชนอยู่นาน โดยไม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่โดยส่วนตัวแล้ว เธอแอบสนใจด้านสิ่งแวดล้อมอยู่พอควร อย่างเช่น เวลาซื้อของจะไม่รับถุงพลาสติก หรือนำบรรจุภัณฑ์ไปเองบ้าง จนเรื่องการพกบรรจุภัณฑ์ไปซื้อของเป็นเรื่องใกล้ตัวโดยปริยาย

กลับมาในส่วนของร้าน ถึงขั้นตอนการซื้อไม่ยากเกินความเข้าใจ เจ้าของร้านสาว อธิบายว่า ก่อนมาร้านให้ลูกค้านำภาชนะมาด้วยตัวเอง หากลืมหรือเป็นลูกค้าหน้าใหม่ที่ยังไม่รู้คอนเซ็ปต์ทางร้านจะมีถุงกระดาษไว้บริการฟรีหรือสามารถเลือกซื้อภาชนะของร้านได้ในราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 15 บาท ไปจนถึงหลักร้อย จากนั้นให้นำภาชนะไปชั่งน้ำหนักกับพนักงาน เลือกเติมสินค้าตามปริมาณที่ต้องการ เขียนรหัสสินค้าไว้บนภาชนะ นำไปชำระเงินที่แคชเชียร์โดยจะหักลบน้ำหนักของภาชนะออกแล้วจ่ายเพียงค่าสินค้าจริงเป็นอันเสร็จ

“ราคาสินค้าแต่ละชนิดไม่เท่ากัน เพราะบางอย่างมีต้นทุนสูง ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 0.03 บาท/กรัม เป็นสินค้าประเภทน้ำส้มสายชู”

 

โดยสินค้าในร้านจะคล้ายกับร้านขายของชำทั่วไป มีหลากประเภท เช่น อุปกรณ์ทำความสะอาด ของใช้ส่วนตัว เมล็ดพืช/ธัญพืช สมุนไพร/เครื่องเทศ น้ำมัน/ซอส ของทานเล่น ชาและเมล็ดกาแฟหลายชนิด ทั้งหมดนี้คัดสรรจากหลายที่ อย่างสินค้าของต่างประเทศจะมีซัพพลายเออร์ ส่วนสินค้าไทยจะพยายามติดต่อกับฟาร์มท้องถิ่นที่มีกระบวนการผลิตแบบออร์แกนิก

นำสินค้าบรรจุในภาชนะขวดโหลหลายรูปทรง ถัง กล่อง วางเรียงเป็นหมวดหมู่ เน้นสะอาดตา พร้อมแปะรหัสสินค้าสำหรับชำระเงิน และข้อมูลทั้งหมดของสินค้าที่ลูกค้าจำเป็นต้องรู้ไว้ชัดเจน เช่น วันหมดอายุ ส่วนผสม ฯลฯ ตามรายละเอียดของบรรจุภัณฑ์เดิม

“กระแสตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นจากโซเชียลเสียงตอบรับดีมาก ทุกคนให้กำลังใจ อย่างช่วง 2 สัปดาห์แรกคนจะงงกับการใช้บริการ ไม่ชินกับรูปแบบนี้ ช่วงหลังมานี้คนนำภาชนะมาซื้อมากขึ้น มาสนุกกับการตัก ตวง เติม ในแบบที่อยากได้ ลูกค้าซื้อต่ำสุด 2 บาท” คุณเมี่ยว เล่าปนหัวเราะ

ก่อนเล่าต่อว่า เป็นเรื่องน่าดีใจเพราะลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมีครบทุกกลุ่มวัย ในตอนแรกเป็นชาวต่างชาติส่วนใหญ่ เพราะร้านแบบนี้ที่ต่างประเทศมีมากจึงเข้าใจวิธีการใช้บริการ ตอนหลังกลายเป็นว่าคนไทยเริ่มสนุกกับการใช้บริการ ปัจจุบันมีสัดส่วน คนไทย 90 เปอร์เซ็นต์ ต่างชาติเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ในช่วงวันเทศกาล อย่างเช่น วันสิ่งแวดล้อมไทย ทางร้านจะมีกิจกรรมโปรโมชั่นส่วนลด เป็นการเชิญชวนให้ลูกค้าที่ไม่เคยใช้บริการเข้ามาลอง ทั้งนี้ ไม่ได้เน้นว่าต้องเป็นวันสิ่งแวดล้อมเท่านั้น คุณเมี่ยว บอกว่า แล้วแต่โอกาสเหมาะสม

ถามถึงความคาดหวังและการพัฒนาร้าน นักธุรกิจสาว บอกว่า ยังไม่คาดหวังเรื่องตัวเงินขนาดนั้น อยากทำงานที่พอดีทั้งเรื่องเงินและประโยชน์ ณ ตอนนี้ยังไม่ชัวร์เรื่องผลตอบแทนเพราะยังเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ในไทย อยากทำร้านให้ดีที่สุดก่อน

ส่วนการพัฒนาร้าน คุณเมี่ยว บอกว่า ต้องเพิ่มสินค้าให้มากกว่าที่มีอยู่ ถ้าทุกคนให้การตอบรับดี มีโอกาสขยายสาขาแน่นอน แต่อาจจะอีกพักใหญ่ เพราะการทำร้านแนวนี้มีรายละเอียดยิบย่อย ไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องทำและพัฒนาไปพร้อมๆ กัน

“หากจะไม่ให้สร้างขยะเลยในชีวิตหลายคนคงบอกว่าเป็นเรื่องยากเกินไป อย่างน้อยเรามีทางเลือกให้ลูกค้า หากมาใช้บริการที่ร้านนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่สร้างขยะค่ะ” คุณเมี่ยว ทิ้งท้ายไว้น่าสนใจ

อ่านแล้วสนใจอยากใช้บริการ ร้านตั้งอยู่พระรามเก้า 41 (เส้นทะลุไปรามคำแหง) มีที่จอดรถบริการ เปิด 10.00-19.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์) เฟซบุ๊ก ZeroMoment Refillery

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0