โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตรวจ Calcium Score ประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 17 ต.ค. 2562 เวลา 13.41 น. • เผยแพร่ 17 ต.ค. 2562 เวลา 13.41 น.
dlf06171062p1

ปัจจุบันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและตันเฉียบพลันเป็นการเจ็บป่วยที่สำคัญของคนไทย โดยมีอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคนี้มากขึ้น อาการที่สำคัญที่เกิดขึ้นคือ เจ็บหน้าอกและเหนื่อย ไม่สามารถออกกำลังหรือปฏิบัติภารกิจทางกายได้ ซึ่งมักจะเกิดจากหลอดเลือดที่ตีบ และการเสียชีวิตก็มักจะเกิดมาจากมีภาวะการตายเฉียบพลันของกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดจากหลอดเลือดที่อุดตันโดยไม่มีอาการเตือนมาก่อน

พญ.พิชชญา บุญดี แพทย์ด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า การตีบของหลอดเลือดหรือการตันของหลอดเลือดนั้น มักเกิดจากการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นภาวะเสื่อม (degenera-tive change) อย่างหนึ่งของร่างกาย โดยไขมันในผนังหลอดเลือดนี้ก็จะมีแคลเซียมหรือหินปูนสะสมร่วมไปด้วย จนทำให้หลอดเลือดมีลักษณะแข็ง การตรวจวัดหินปูนหรือแคลเซียมที่เกาะอยู่กับหลอดเลือดหัวใจ ก็เปรียบเสมือนการตรวจวัดการเกาะหรือสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดนั่นเอง

ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจเพื่อประเมินโอกาสที่จะเกิดปัญหาจากโรคหลอดเลือดหัวใจหลายอย่าง เช่น การตรวจระดับไขมันในเลือด การวัดความดันโลหิต

การเดินสายพาน (exercise stress test) และการตรวจแคลเซียมหลอดเลือดหัวใจ (coronary calcium detection) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งมีหลักฐานการศึกษาวิจัยรองรับมากมายว่า ระดับหรือค่า CT coronary calcium score ที่ตรวจพบ สามารถทำนายโอกาสที่จะเกิดการเจ็บป่วยจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้ชัดเจน

พญ.พิชชญาบอกอีกว่า CT coronary calcium score สามารถตรวจวัดระดับแคลเซียมที่ผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ และสามารถตรวจวัดได้ก่อนมีอาการของโรคหัวใจนานหลายปี ค่าที่วัดได้จาก CT coronary calcium score นี้ จะนำไปใช้เพื่อการบอกโอกาสการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบในอนาคตได้

ผู้ที่ควรตรวจ CT calcium score คือ ผู้ป่วยทั่วไปที่อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางของการเกิดโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ป่วยโรคไตวาย เป็นต้น รวมถึงผู้ที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือสูบบุหรี่ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากขึ้นหลายเท่าตัว จึงควรได้รับการตรวจเพื่อที่จะนำข้อมูลไปประกอบการคำนวณอัตราเสี่ยง และมาตรการตรวจรักษา ป้องกัน ที่เหมาะสมกับบุคคลได้

หากทุกคนให้ความใส่ใจดูแลร่างกายและหัวใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไขมันต่ำ หวานน้อย เค็มน้อย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เข้ารับการตรวจเช็กสุขภาพร่างกายทุกปี ก็จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและตันเฉียบพลันได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0