โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตกหลุมความรัก ในโลกทุนนิยม กับ รศ.สรวิศ ชัยนาม

The MATTER

เผยแพร่ 23 ก.พ. 2562 เวลา 06.46 น. • Pulse

ฟังเพลงรัก ดูหนังรัก อ่านหนังสือความรักหวานแหวว ปัจจุบัน จะมองไปทางไหน หรือแม้แต่จะทำอะไรก็ล้วนแต่มีเรื่องความรักเข้ามาแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันเราไปได้ซะแทบทุกเรื่อง

เราอยู่ในโลกทุนนิยม ที่เต็มไปด้วยสินค้า ตัวเลือกมากมายที่ล้วนเกี่ยวกับความรัก เสื้อผ้า ร้านอาหาร ขนม เพลง หนัง หรือแม้กระทั่งแอปพลิเคชันหาคู่ นัดเดทมากมาย ซึ่งบางครั้ง คนก็มองความรักในโลกทุนนิยมเป็นเพียงแค่โรแมนซ์ ที่สร้างความสำราญให้เราได้

เราได้มาพูดคุุยกับ รศ.สรวิศ ชัยนาม อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  แต่วันนี้โจทย์ของเราไม่ใช่เรื่องความสัมพันธ์ของโลก หรือระหว่างประเทศไหน แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์และความรักของผู้คนในโลกทุนนิยม รวมไปถึงการเปลี่ยนโฉมความรักในโลกทุนนิยม พร้อมทั้งคำตอบจากอาจารย์ว่า การเมืองแบบไหนจะไปได้ดีกับรักแท้กัน

ความรักมาเกี่ยวข้องกับการเมือง หรือสังคมได้อย่างไร

ในกรอบกว้างๆ หลายๆ ครั้งไม่ว่าสังคม การเมือง หรือเศรษฐกิจ มันพยายามจะสร้างกฎว่า ใครรักใครได้ รักได้มากน้อยแค่ไหน รักได้อย่างไร เช่นเพศเดียวกันรักกันได้ไหม ต่างวรรณะ ต่างศาสนาได้ไหม ถ้ารักแล้วต้องแอบหรือเปล่า หรือถ้ารักแค่ไหนคือลึกซึ้ง จะแต่งงานกันได้ไหม ต่างๆ นาๆ บางประเทศก็มีกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้

แทบทุกสังคม อาศัยทั้งกฎทางสังคมที่เป็นและไม่เป็นทางการ วัฒนธรรม การเมืองที่พยายามเข้ามาเกี่ยวข้อง และควบคุมความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับมนุษย์

*แล้วในเรื่องของทุนนิยม ทำไมถึงมาเกี่ยวกับความรักได้ *

ทุนนิยม คือภัยหรือศัตรูลักษณะใหม่กับความรัก ก่อนยุคทุนนิยมเอง ความรักก็ต้องเผชิญกับภัยจำนวนนึงที่ยังพอเห็นและมีอิทธิพลมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือสิ่งที่กำหนดว่าใครรักใครได้ รักได้มากน้อยแค่ไหน เช่น ครอบครัว เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว บางประเทศอย่างอินเดีย ก็มีวรรณะ

แต่ทุนนิยมไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ มันคือสังคม ดังนั้นระบบคุณค่า ตรรกะของมันก็แทรกซึมไปในที่อื่นๆ มันพยายามยามทำให้สังคมทุกๆ มิติดำเนินความสัมพันธ์แบบตลาด ทั้งการศึกษา การปกครอง ศีลธรรม รวมถึงความรัก

ในด้านนึง เราใช้ตรรกะตลาดแบบตลาดมากขึ้น ในการแสวงหาความรัก เราต้องเป็นตัวแสดงที่มีเหตุผล ต้องรู้จักลงทุนกับชีวิต แล้วก็ฉลาดในการลงทุน ฉะนั้นความรักต้องคุ้มค่า ประหยัดเวลา มีประสิทธิภาพ มีผลิตผลสูง ขอชั่วโมงเดียวกันต้องรู้แล้วว่า เข้ากันได้หรือไม่ แต่เราก็ใส่กระบวนการของตลาดมันจึงทำให้ความรักกลายเป็นกระบวนการที่มีเหตุผลเกินไป

อย่างที่สอง ทุนนิยมทำให้ความรักกลายเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง สินค้าที่ปลอดภัย และสร้างความสำราญให้กับคุณได้ เพราะด้านนึงทุนนิยมบอกว่า คุณต้องเป็นตัวเองตลอดเวลา เหมือนเราคือปลอดภัย แตกต่างจากเราคือไม่เป็นตัวเองแล้ว ต้องปฏิเสธออกไป ทุนนิยมจึงกลายเป็นสินค้าที่ปลอดภัยไว้ก่อน อย่างที่ Todd McGowan กล่าวไว้ว่า “ทุนนิยมเปลี่ยนความรักให้กลายเป็นโรมานซ์” โรมานซ์ก็เลยจะกลายเป็นสิ่งที่แพร่หลายในทุนนิยมที่ซื้อขายได้

ยกตัวอย่างเช่น การคลุมถุงชนที่มีมาอย่างยาวนาน และก็ยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน หรือมีรูปแบบที่เปลี่ยนโฉมไปให้ไปได้ดีกับทุนนิยม กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมๆ เช่น บริษัท หรือแอปพลิเคชันจัดหาคู่ แทนที่จะให้ผู้ใหญ่ หรือผู้ปกครอง คัดเลือกคนที่ดีกับลูกของเรา ก็กลายเป็นการให้ data หรืออัลกอริทึ่มหาคนที่จะปลอดภัยกับเรา เข้ากับเราได้ โดยอาศัยโครงสร้าง ตรรกะเดียวกัน โดยใช้ความเหมือนเป็นตัวตั้ง

กระบวนการนี้ ทำให้เราต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นสินค้า สร้างโปรไฟล์ สร้างแบรนด์ให้กับตัวเราเอง จะเน้นจุดไหน ข้อดีของเราคืออะไร ทุกคนที่สมัครก็เป็นสินค้า ซึ่งเมื่อเป็นสินค้า ทุกคนก็สามารถทดแทนกันได้ ทุกคนมีราคา และแลกเปลี่ยนได้ แล้วมันเป็นภัยกับความรัก เพราะในทุนนิยม มันไม่มีอะไรที่ประเมินค่าไม่ได้ แต่ในความรัก มีคำว่า ‘dearest’ ที่มีความหมายว่ามีคุณค่าสูงสุดจนประเมินไม่ได้ ทุนนิยมจะไม่ชอบสิ่งนี้ เพราะมันมาทดแทนไม่ได้ หาสิ่งอื่นแทนไม่ได้

ปัจจุบัน คำว่า enjoyment หรือความสำราญในทุนนิยมร่วมสมัยมันต่างไปจากก่อนหน้านี้ มันไม่มีข้อห้ามต่างๆ เช่น สมัยก่อนถ้าคุณจะซื้อของ คุณต้องเก็บเงินให้ครบก่อน แต่ปัจจุบันคุณไม่ต้องทำอย่างนั้น คุณผ่อนได้ มีบัตรเงินสด ไม่มีอุปสรรค หรือข้อห้ามในการมีความสุข แต่คุณถูกสั่งให้ enjoy ตลอดเวลา ต้องวิ่งหาความสุขสำราญตลอดเวลา โดยที่หวังว่าจะมีอะไรบางอย่างที่เติมเราเต็ม และสินค้าที่สมบูรณ์แบบที่สุด ที่ทุกคนพยายามลอกเลียนก็คือโรแมนซ์ เพราะโรแมนซ์สัญญาว่าจะเติมเต็มชีวิตเรา

คนส่วนใหญ่คิดว่า ถ้ามีความรักแล้วต้องเจอเนื้อคู่ ชีวิตฉันจะดีขึ้น ชีวิตจะสมบูรณ์ขึ้นมา โรแมนซ์กลายเป็นฟอร์มภายใต้สินค้ามากมาย รวมถึงโรแมนซ์เองก็เป็นสินค้าอันนึงที่ทุนนิยมพยายามจะขาย และสอดแทรกอยู่ในสินค้าต่างๆ

แต่โรแมนซ์จะไม่ใช่รักแท้ รักแท้มันรบกวนชีวิตมากกว่านั้น เราชอบบอกกันว่าความรักเป็นเรื่องสวยงาม แต่เราลืมอะไรบางอย่างไปว่ามันมากกว่านั้น มันรบกวนใจคุณ ทำให้คุณทนทุกข์ทรมานได้ กระวนกระวาย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบของความรักทั้งสิ้นเลย ถ้าคุณพยายามกำจัดสิ่งเหล่านี้ไป คุณจะไม่ได้ความรักที่สมบูรณ์ คุณจะสูญเสียความรักไปทั้งหมด

แต่โรแมนซ์คือความรักที่ปราศจากความทนทุกข์ทรมาน และการรบกวนชีวิต รักที่ปลอดภัย โรแมนซ์ก็คือความรักที่กินง่ายถ่ายคล่อง ความรักที่ดีกับคุณ มันคือน้ำอัดลมที่ปราศจากน้ำตาล ไม่อ้วน ดีต่อสุขภาพ

นักปรัชญา Slavoj Žižek บอกว่า ‘รักแท้คือหายนะ’ เพราะมันรบกวนชีวิตคุณมาก พิกัดชีวิตคุณเปลี่ยนไปเลย ถ้าคุณอยากอยู่สงบๆ อย่ามีความรัก คุณก็อยู่ของคุณไป เที่ยว ดื่มเบียร์กับเพื่อน หรือหาคู่นอน นั่นคือความสงบที่คาดเดาได้ แต่วันดีคืนดีมีคนยิ้มให้คุณที ชีวิตคุณแกว่งไปเลย พิกัดชีวิตของคุณเปลี่ยนอย่างที่ว่าคุณไม่สามารถกลับไปก่อนหน้าที่ไม่มีความรักได้ คุณกระวนกระวาย ว้าวุ่น ทำไมไม่ตอบ ไม่โทรกลับ นี่คือความวุ่นวายที่อยู่ๆ ก็ถูกรบกวนโดยสิ้นเชิง

โจทย์ก็คือ ถ้าไม่ต้องการที่จะถูกรบกวนคุณจะไม่ได้ความรัก แต่โรแมนซ์มันสัญญาว่า คุณจะได้ความรักที่ไม่รบกวนชีวิตคุณ ดูเหมือนว่าในโลกทุนนิยมหลายๆ คนหวาดกลัวที่จะตกหลุมรัก ซึ่งนี่คือสิ่งที่น่าสนใจเพราะว่า นี่คือส่วนหนึ่งที่บริษัทจัดหาคู่เสนอว่า คุณไม่ต้องตกหลุมรัก เพราะมันวุ่นวายกับชีวิตเกินไป แค่ดูโปรไฟล์อัลกอริทึ่มก็จะจัดคู่ให้คุณเลย ผมว่านี่คือรูปแบบที่ความรักเปลี่ยนโฉม หรือคนเข้าใจว่าโรแมนซ์คือความรักมากขึ้น

อีกอย่างหนึ่งที่เหมือนจะเกี่ยวกับทุนนิยมด้วย คือถ้าเป้าหมายของทุนนิยมคือ enjoy ความรักก็เป็นเหมือน enjoyment อย่างนึง กลายเป็นแค่ส่วนนึงของอุดมการณ์สุขนิยม ความรักก็ไม่ได้ต่างไปจากการดื่มชานมไข่มุกอร่อยๆ หนึ่งแก้ว นี่ก็เป็นภัยของความรักที่ถูกครอบด้วยสภาวะสุขนิยมที่มากับทุนนิยม

*กลายเป็นว่า ทุนนิยมทำให้ความรักตอบสนองต่อคนๆ เดียว ไม่ใช่คนสองคนหรือเปล่า  *

ใช่ ถ้าเราต้องเป็นตัวของเราเองตลอดเวลา ต้องเน้นความเป็นปัจเจกนิยม หมายความว่าสิ่งที่แตกต่าง คุณจะยอมรับไม่ได้ ดังนั้นคู่รักของคุณก็จะเป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนคุณ และนี่คือสิ่งที่แฝงอยู่ในอัลกอริทึ่มจัดหาคู่ เพราะมันถูกสร้างจากพื้นฐานของความเหมือน ถ้าเหมือนกันก็จะไปด้วยกันได้ดี ถ้าไม่เหมือนกัน แตกต่างกันมากเกินไป ก็จะถูกตัดออกไป

มันเป็นความสัมพันธ์ที่เน้นความเหมือน เพราะความเหมือนปลอดภัย แน่นอน มันทำให้เรายึดความเป็นศูนย์กลางของเรา หลงในรูปลักษณ์ด้วยความสนิทใจมากยิ่งขึ้น เราจมอยู่ในตัวเอง แทนที่มันจะดึงเราออกไปจากตัวเองบ้าง ซึ่งรักแท้มันทำได้ มันสั่นคลอนชีวิตคุณ มันทำลายความเป็นศูนย์กลางของคุณอย่างน้อยก็บางส่วน

แต่ว่าทุนนิยม  ดูเป็นอะไรที่เสรี เปิดกว้าง ทำให้เรามีทางเลือกมากขึ้น สำหรับเรื่องความรักมันเป็นผลดีหรือผลเสีย

ทุนนิยมเป็นเรื่องของความหลากหลายของสินค้าที่มีตัวเลือก และเปิดโอกาสให้คุณเลือก ในกรอบใหญ่ ความหลากหลายและสินค้ามากมายแทบจะล้นเกิน สุดท้ายแล้วมันผลิตความขาดพร่อง มันมาคู่กัน เพราะมันสร้างความขาดพร่องให้เรารู้สึกขาดและต้องวิ่งไปหาสินค้าที่ล้นเหล่านี้ มันถูกขับเคลื่อนได้เพราะว่าเราขาดพร่อง และเราต้องการมันมาเติมเต็ม

ประเด็นที่ 2 สินค้ามากมายที่ล้นเกิน ที่ซ่อนอยู่ภายใต้สิทธิในการเลือกของทุนนิยม สุดท้ายแล้วมันสร้างความซึมเศร้าให้กับเรา เราเป็นกังวลตลอดเวลาว่า สิ่งที่เราเลือกมันใช่หรือเปล่า ตัดสินใจถูกไหมที่ซื้อของรุ่นนี้ ยิ่งตัวเลือกมาก เรายิ่งเป็นกังวลมากว่าเราตัดสินใจถูกต้องไหม และมันยิ่งทำให้เราซึมเศร้ามาก เพราะว่าทั้งชีวิตของเรา เราจะวิ่งไล่หาความสุขอย่างเดียว ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้เลย นอกจากหาสิ่งที่มาเติมเต็ม

แต่ถึงอย่างงั้นก็ตาม สิทธิในการเลือกของทุนนิยมก็ขึ้นอยู่กับเงิน ว่าคุณมีหรือเปล่า พร้อมที่จะเป็นหนี้หรือเปล่า ก็ต้องคิดดูให้ดี สุดท้ายสิทธิในการเลือกก็ไม่เท่ากันเมื่อขึ้นอยู่กับเงิน

เมื่ออิงกับความรัก อย่างเช่นในอเมริกา เมื่อเริ่มมีประเพณีออกเดท ในชนชั้นกลาง ถ้าผู้ชายอยากรู้จักผู้หญิง ต้องไปที่บ้านของผู้หญิง อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ และถ้าเกิดนานเข้า อาจจะได้รับความไว้ใจให้ไปนั่งคุยกันในสวน แต่ประมาณต้นๆ ถึงกลางๆ ทศวรรษที่ 20 ผู้หญิงก็เริ่มออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นงานเลขา หรืองานที่เงินเดือนไม่ค่อยสูง แต่จะต้องใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าการออกเดท ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อคู่รัก แต่เพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิและโอกาสได้ออกไป enjoy กับแสงสีของเมืองใหญ่ ไปคลับ ไปกินอาหารดีๆ เพราะลำพังเงินเดือนของพวกเธอไม่เพียงพอที่จะหรูหราได้

ในภาพใหญ่ผู้ชายจะเป็นคนเลือก เพราะเงินเดือนสูงกว่า ชั้นไปกับ A วันนี้ วันต่อไปกับ B เพื่อลอง และเป็นการขยายตัวเลือกให้กับผู้ชายมากมาย ว่าเขาสามารถออกเดทได้หลายคน ซึ่งถ้าผู้หญิงหน้าตาไม่ดีมาก ก็จะไม่สามารถมีสิทธิออกเดทได้เยอะเทียบเท่าผู้ชาย

ถ้าเอาตรรกะของตัวเลือกมาใช้กับความรัก เอาเข้าจริงๆ เราไม่ได้เลือกคนที่เรารัก แต่เพราะเราตกหลุมรักเขาจึงไม่สามารถถอนตัวออกจากคนๆ นึงได้ เราไม่มานั่งสร้างลิสต์คุณสมบัติ 10 ประการ ถ้าใครมีฉันก็จะชอบคนๆ นั้น และหลายๆ ครั้งเราก็ชอบคนที่ตรงกันข้าม หรือแทบจะไม่ตรงกับสเป็คของเราอย่างไม่มีเหตุผล

เราไม่สามารถสร้างลิสต์ได้ เพราะเราต้องเจอคนรักก่อน เราถึงจะรู้ว่าเราต้องการอะไร ไม่ใช่ว่าเราสร้างลิสต์ว่าเราต้องการอะไร แล้วเราค่อยไล่หา อย่างมือถือ หรือสินค้าต่างๆ เราเทียบสเป็คได้ ดูได้ว่ามันคุ้มไหม แต่กับคนรัก เราไม่สามารถเทียบได้ เพราะคือคนสำคัญที่สุด เราไม่สามารถไม่รักคนนี้ได้ เพราะฉันตกหลุมรักไปแล้ว แล้วคนรักของฉันก็ประเมินค่าไม่ได้

ในกระบวนการของความรัก จริงๆ เราก็รู้น้อยมากว่าทำไมเราถึงชอบคนๆ นี้ ผมคิดว่าถ้าเรามีเหตุผลว่าทำไมเราถึงชอบคนๆ นึงนั่นไม่ใช่ความรักแล้วหละ เพราะความรักไม่ต้องการเหตุผลว่าทำไมเรารักคนๆ นึง

สุดท้ายเราก็คงสร้างเหตุผลมา ที่คนก็จะมาถาม หรือแม้แต่คู่รักของคุณเองนี่แหละก็จะมาถามว่า ‘ทำไมรักฉันหรอ?’ ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหาโลกแตก ตอบว่า ‘กูไม่รู้’ ไม่ได้

แต่จริงๆ มันคือกูไม่รู้อะ และกูไม่รู้นี่เองก็เป็นตัวชี้วัดว่ากูรักมึงจริงๆ เพราะถ้ากูรู้ กูอาจจะใช้เหตุผลมากเกินไป สุดท้ายเราอาจจะบอกว่า เพราะเธอเป็นคนดี หรือเธอใจเย็น แต่เหตุผลมันมาทีหลัง เรียกง่ายๆ ว่า ความรักทำให้คนที่เรารัก ดูน่ารักขึ้นมา ความรักทำให้เราเห็นว่าคนๆ นึงดี และมีคุณค่ามากมาย ทำให้เราอาจจะเห็นอะไรบางอย่างที่คนอื่นไม่เห็น พูดทางจิตวิเคราะห์ได้ว่า สิ่งที่อยู่ในตัวเขา แต่มากกว่าตัวเขา แต่คนอื่นจะเห็นไม่ได้ ถ้าไม่ได้ตกอยู่ในพะวงแห่งความรัก

แน่นอนว่า ข้อด้อยเกือบทุกอย่างของเขา คุณก็สามารถเปลี่ยนเป็นข้อดีได้ แต่งตัวเซอร์ๆ ก็มีแนวทางเป็นของตัวเอง หรือพูดจาไม่เข้าหู ก็เป็นคนตรงไปตรงมา ชอบแสดงออกก็เป็นคนร่าเริง และเมื่อคุณเริ่มออกจากความรัก สิ่งที่ทำให้คุณหลงรักคนๆ นึง และทำให้คุณมองว่าน่ารักก็จะย้อนกลับมาทิ่มแทงคุณ เราเคยมองว่าเธอร่าเริง แต่ตอนนี้กลายเป็นเรียกร้องความสนใจตลอดเวลา ก็คุณสมบัติเดิมนั่นแหละ แต่เรามองเปลี่ยนไป

แต่ทุนนิยมก็เรียกร้องให้คนต้องทำงานหนักมากขึ้น แล้วทิศทางของความรักไปอยู่ตรงไหน

เรากลายเป็นสังคม อารยธรรมที่บ้างาน ในระดับใหญ่ผมไม่รู้ว่าเราให้คุณค่ากับงานมากเกินไปหรือเปล่า แน่นอนว่า ไม่มีงานก็อดตาย แต่งานก็ฆ่าคนได้ งานก็ทำให้คนซึมเศร้า เหนื่อยล้า และไม่มีเวลากับอะไรอีกมากมาย โดยเฉพาะงานแย่ๆ ที่ไม่ควรมีอยู่ด้วยซ้ำ

มีคำกล่าวว่าจริงๆ คุณไม่ได้เกลียดวันจันทร์ คุณเกลียดทุนนิยม เพราะมันบังคับให้คุณไปทำงาน คุณไม่มีสิทธิที่จะไม่ทำงาน และต้องแสร้งว่ากระตือรือร้น รักงานที่ทำ งานเหล่านั้นก็กินเข้ามาในชีวิตเรา ที่สำคัญคือทุนนิยมนิยามงานว่า ‘งานต้องเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดรายได้เท่านั้น’ เป็นความหมายที่แคบมาก ดังนั้นการพาลูก และหมาไปเดินในสวน การสอนการบ้านลูก หรือการรีดผ้าให้คนที่คุณรักไม่ใช่งาน แต่คนเราก็ทำงานหนักมากขึ้น ซึ่งผมจะขอตอบ 3 รูปแบบ

ในแบบแรก เราชอบบอกว่า นายทุนเห็นแก่ตัว แต่ก็มีนายทุนรูปแบบนึงที่ทั้งชีวิตทุ่มเทให้กับการแสวงหาผลกำไร และสะสมทุน ไม่ห่วงใยตัวเองเลย ทิ้งครอบครัว ลูก ทำงานอย่างเดียว เพื่อสะสมทุนให้ตัวเองหรือบริษัท คนเหล่านี้เห็นแก่ตัวยังไม่เพียงพอ เพราะถ้าเค้าเห็นแก่ตัว เค้าต้องมองว่า ไม่ไหวแล้ว ยังไม่ได้พาลูกๆ หรือครอบครัวไปไหนเลย ทั้งชีวิตเค้าทุ่มเทให้กับทุน ชีวิตเลยไม่มีเวลาให้กับเรื่องส่วนตัว รวมถึงเรื่องความรักด้วย

แต่ที่เด่นขึ้นมาในช่วงหลังคือ เราต้องรู้จักทำตัวเป็นผู้ประกอบการที่ลงทุนกับชีวิต วิ่งหาความสำเร็จ เพราะว่าเราหวังพึ่งใครไม่ได้นอกจากตัวเราเอง ล้มเหลว หรือสำเร็จก็มาจากตัวเรา ต้องแสวงหาความสมบูรณ์แบบ ทั้งจิต ร่างกาย  และสถานะทางสังคม

อิงกับงานปรัชญาของนักปรัชญาชาวเกาหลี-เยอรมันที่ชื่อว่า Byung-Chul Han เค้าบอกว่า เราเป็น ‘achievement subject’ คือเราเป็นตัวแสดงที่วิ่งหาความสำเร็จตลอดเวลา คนมักพูดกันว่า ‘ไม่ได้แข่งกับใครแต่เราแข่งกับตัวเอง’ แต่ Han บอกว่า คุณไม่สามารถชนะตัวคุณเองได้ คุณจะกระโดดข้ามเงาของตัวเองได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ เพราะคุณจะสั่งตัวเองตลอดเวลา ถ้าเจ้านายสั่งคุณ คุณยังรู้สึกต่อต้านได้ แต่ถ้าคุณเป็นเจ้านายตัวเอง พรุ่งนี้ต้องดีกว่านี้ ต้องเก่งขึ้น เก่งขึ้น และมันก็ไม่มีวันสิ้นสุดได้ จนคุณล้า Han เลยบอกว่าสังคมที่คนวิ่งหาความสำเร็จตลอดเวลา มันเป็นสังคมของสารกระตุ้น วิ่งหากาแฟ M150 แต่สุดท้ายแล้วมันเป็นสังคมที่ทุกคนหมดไฟ เพราะเราล้าเหลือเกินที่ไม่สามารถเอาชนะตัวเองได้

และแน่นอน ถ้าเราเป็นตัวแสดงที่วิ่งหาความสำเร็จตลอดเวลา โอกาสที่จะมองความรักในแบบโรแมนซ์ก็จะสูงมาก ว่าความรักต้องเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนฉันสิ เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของฉัน หรือไม่ก็หมดไฟและเหนื่อยล้าเกินกว่าที่จะแสวงหาความรักได้

แบบสุดท้ายก็จะมีอารมณ์กลิ่นอายของแรงงานขึ้นมาหน่อย แรงงานที่เปราะบาง มีความไม่มั่นคงสูง ถูกกดขี่ขูดรีดในระบบทุนนิยม ทั้งปัจจุบันมีระบบสัญญาจ้างแบบชั่วโมง ที่มีงานทำ และจะได้รายจ่ายเป็นชั่วโมง แต่ผู้ประกอบการไม่สัญญาว่าสัปดาห์นึงจะได้ทำงานกี่ชั่วโมง ซึ่งเมื่อเค้าโทรเรียก คุณต้องพร้อมเสมอ ดังนั้นคุณจะไม่สามารถหางานใหม่ได้ สัญญาแบบนี้เราก็เห็นได้ในแม่บ้านเครือโรงแรม เรียกเข้ามาทำงานเมื่อฤดูท่องเที่ยว แต่โจทย์ก็คือคุณมีงานทำ แม้ว่าจะเปราะบาง และเงินเดือนน้อย

ประเด็นก็คือ เวอร์ชันของแรงงานที่ชีวิตเปราะบางไม่มั่นคง ชีวิตรักที่ต้องลึกซึ้ง ต้องอาศัย commitment สูงๆ ก็อาจจะเป็นภาระและเหนื่อยมากเกินไป ทุกอย่างต้องพึ่งเงิน ความรักจึงกลายเป็นความเสี่ยงที่ไม่พร้อมจะแบกรับ เพราะชีวิตหนักหนาเกินพอแล้ว ทั้งบ้าน พ่อแม่ ครอบครัว งานก็ไม่มั่นคง มีความรักก็อาจจะวุ่นวายเกินไป งานก็จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์

ปัจจุบันมีคนที่ไม่แต่งงาน หรือนิยมอยู่คนเดียวมากขึ้น ทุนนิยมมองการที่คนอยู่คนเดียวมากขึ้นยังไง

มีปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ คือการแต่งงานกับตัวเอง สวมแหวนให้ตัวเอง แล้วบอกว่าฉันดีพอสำหรับตัวเอง จะไม่ทอดทิ้งตัวฉันเอง หรือการแต่งงานกับตุ๊กตา แต่งงานกับอนิเมะ แต่หลักๆ ก็คืออยู่กับตัวเอง ในลักษณะนี้ก็คงจะเป็นภาพหรือตัวชี้วัดของการหลงในรูปลักษณ์ หรือติดอยู่กับตัวเองที่เด่นชัดมากขึ้น เพราะถ้าฉันต้องเป็นตัวของตัวเองตลอดเวลา ก็เอาอนิเมะตัวนี้แหละ เพราะมันพูดไม่ได้ มันก็จะเป็นไปตามจินตนาการของฉัน ถ้าเทียบกับภาพยนตร์ก็คงเหมือนความสัมพันธ์ของธีโอดอร์ที่มีกับซาแมนธาในเรื่อง HER แต่สุดท้ายธีโอดอร์ก็รับไม่ได้เมื่อซาแมนธาเปลี่ยนไป

มีตัวอย่างน่าสนใจของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์เรื่องเพศ (Sexual Economic) ของ  ‘Austin Institute For The Study Of Family And Culture’ ที่สถาบันฝ่ายขวาในอเมริกา โดยโจทย์ของเขาคือ ‘ทำไมคนหนุ่มสาวในสหรัฐฯ นิยมแต่งงานกันน้อยลง’ และเขาก็สรุปว่าที่แต่งงานกันน้อยลง เพราะเซ็กส์มีราคาถูกลง โดยส่วนนึงของแนวคิด Sexual Economic บอกว่าเซ็กส์เป็นเหมือนทรัพยากรหนึ่งที่ผู้หญิงมี ถือเป็น supply และการที่ผู้ชายต้องการเซ็กส์ เป็น demand

ถ้าผู้หญิงเรียกราคาสูง คือถ้าเธอจะนอนกับฉัน ต้องจริงจัง ไม่ฉาบฉวย และต้องแต่งงาน อันนี้ทำให้เซ็กส์มีราคาแพง ยิ่งถ้ามีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ ผู้ชายก็ต้องทำงาน หาเงิน และจบที่การแต่งงาน เพื่อจะได้เข้าสู่ทรัพยากรที่ตัวเองต้องการ แต่สถาบันนี้ก็บอกว่า ปัจจุบันเซ็กส์มีราถูกลง เพราะผู้หญิงสามารถเข้าถึงสินค้าคุมกำเนิดมากมาย บางรัฐอาจจะทำแท้งได้ โอกาสที่จะมีเซ็กส์แล้วตั้งครรภ์ก็มีโอกาสลดลง เซ็กส์จึงมีราคาถูกลงมาก ผู้ชายก็จะสามารถเข้าถึงทรัพยากร คือการหลับนอนกับผู้หญิงได้ง่ายขึ้น เช่นนี้แล้ว เขาจึงไม่คิดที่จะแต่งงาน เพราะว่าได้สิ่งที่ตัวเองต้องการแล้ว เป็นต้น

แน่นอนบทสรุปของสถาบันคือ เราแทบจะต้องทำลายผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดทั้งหมดทิ้งไป ยกเลิกกฎหมายการทำแท้งเสรีเป็นต้น รวมถึงบอกว่าผู้หญิงไม่ควรมีการศึกษาสูง เพื่อที่จะพึ่งพิงผู้ชายด้วย เมื่อต้องพึ่งพิงผู้ชายจะได้ใช้ทรัพยากรที่เธอมี ซึ่งก็คือเพศของเธอ และเอาเป็นตัวผูกมัดผู้ชาย

แต่ผมคิดว่าโดยส่วนนึง ในโลกทุนนิยมอาจจะสอดคล้องกับเรื่องงานก็ได้ คนทำงานกันเยอะขึ้น และผู้หญิงเองก็มีการศึกษา อาจจะเป็นตัวชี้วัดว่ามันแทบไม่มีความสมดุลระหว่างงานกับโลกส่วนตัว เพราะงานกินชีวิตเข้าไปขนาดนั้นแล้ว ยังเอาตัวไม่รอดเลย หรือถ้าต้องเลือกระหว่างงานและครอบครัว ถ้าเราเลือกจะให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น งานก็จะแป้ก เพราะทุนพยายามจะขูดรีดทุกหยาดเหงื่อของคุณ ในด้านนึงก็เลยเลือกที่จะอยู่คนเดียวเพราะว่าไม่สามารถสร้างความสมดุลได้ แต่ความรักบทสรุปของมันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นการแต่งงาน มันไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ว่านั่นคือรักแท้

มีโพลจากปี 2011 ที่น่าสนใจในประเทศจีน โดยโพลเลือกกลุ่มตัวอย่างประมาณ 50,000 คน และ92% ของผู้หญิงในกลุ่มนี้ตอบว่า ผู้ชายควรจะมีรายได้ที่มั่นคงก่อนแต่งงาน อันนี้อาจจะเป็นตรรกะของทุนที่เข้ามาในสังคมคอมมิวนิสต์ ว่าคุณมีรายได้ที่มั่นคงหรือเปล่า ถ้ามีไม่ถึงไม่แต่งด้วย และ 2 ใน 3 ยังบอกว่า ผู้ชายควรที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองก่อนแต่งงาน ส่วนอีก 50%  ยืดหยุ่นหน่อยว่า ดาวน์งวดแรกก็พอแล้ว ค่อยๆ เก็บเงินไป

อีกโพลนึงในปีเดียวกัน น่าสนใจว่า 80% ของผู้หญิงที่เป็นกลุ่มสำรวจบอกว่า ก่อนออกเดท ผู้ชายควรจะมีรายได้ 4,000 หยวนต่อเดือน (ประมาณ 20,000 บาทไทย) งั้นกลายเป็นว่าตรรกะเงิน และตลาดเข้ามามีส่วนแม้แต่การเลือกคนที่จะไปออกเดทด้วย ในโลกเช่นนี้ ก็อยู่คนเดียวดีกว่าหรือเปล่า หรือถ้าเงินเดือนไม่ถึง 2 หมื่นก็อาจจะต้องอยู่คนเดียวไปตลอดชีวิต

แล้วอย่างงี้ ระบบการเมืองหรือเศรษฐกิจอะไร ที่จะเอื้อต่อความรักแท้ที่สุด

เมื่อความรักเป็นพลังบางอย่างที่รบกวน หลายๆ ครั้งมันก็ไม่สามารถไปด้วยดีกับบรรทัดฐานในสังคม หลายๆ ครั้งความรักทำให้ปรับตัวเข้ากับสังคมไม่ได้ดีเท่าเดิม เช่นถ้าสังคมคาดหวังให้เรารักคนที่ชนชั้น วรรณะ ศาสนาเดียวกับเรา ความรักมันก็จะปฏิเสธตรงนี้ อย่างเช่นโรมิโอ จูเลียต ที่ปฏิเสธความคาดหวังของครอบครัวที่ต้องการให้เกลียดกัน เป็นต้น

ถ้าตอบกว้างๆ ผมคาดว่าการเมืองที่ไปกับความรักได้ ต้องเป็นการเมืองที่ cosmopolitan มีความเป็นสากลที่ไม่คับแค้นด้วย เชื้อชาติ ชาตินิยม ศาสนา และจารีต ไปพ้นข้อจำกัดของสิ่งเหล่านี้ เป็นการเมืองที่เน้นความสมัยใหม่ที่จะเป็นตัวเลือกที่มาชดเชยความสมัยใหม่แบบทุนนิยม คงจะต้องต่อต้านทุนนิยม และต้องพยายามทำอะไรกับมัน

ต้องเป็นการเมืองที่เน้นความเสมอภาค ความเท่าเทียมในด้านผลลัพธ์ ไม่ใช่ความเท่าเทียมในแง่ของโอกาส เพราะถ้าผลลัพธ์เท่ากัน โดยเฉพาะระหว่าง 2 เพศ ก็จะเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับผู้หญิง จะไม่ใช่ผู้ชายเป็นฝ่ายเลือกเท่านั้น ผู้หญิงจะมีโอกาสที่ไม่ต้องติดอยู่ในความสัมพันธ์ที่ตัวเองไม่ชอบ ไม่รัก หรือต้องอยู่แค่เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ทั้งในระดับสากล ทิศทางของโลกใน 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา สวิงไปทางขวาเป็นอย่างมาก ดังนั้นต้องเป็นการเมืองที่จะต้องขัดกับสิ่งนี้แล้วพยายามจะตีมันกลับไปอีกทิศทาง

ตอนได้เห็นโจทย์คำถามนี้ครั้งแรก ผมคาดเดาว่าผู้ถามต้องการให้ผมตอบว่า ‘ประชาธิปไตย’ แต่จริงๆ แล้วคุณค่าแบบประชาธิปไตยที่ดี ไม่จำเป็นต้องไปด้วยกันกับความรักเลย

อย่างเช่นว่า ถ้าในประชาธิปไตย เราต้องเคารพเสียงและความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ ในความรักมันไม่ใช่ มันจะมาเกี่ยวอะไรกับความรักกูวะ ความคิดเห็นของคนที่เรารักสำคัญที่สุด เสียงส่วนใหญ่จะว่ายังไง แต่ขอแค่เธอรักฉัน ยอมรับฉัน

ประชาธิปไตยยังบอกว่า ‘ทุกคนเป็นปัจเจกที่เท่าเทียมกัน’ แต่ในความรักไม่ใช่ คนรักกูไม่เท่ากับคนอื่นนะ คนที่ฉันรักย่อมสำคัญที่สุดอยู่แล้ว มากกว่าคนอื่นเป็นไหนๆ Todd McGowan บอกไว้ว่า ‘ในความรักคุณต้องปฏิเสธ 99% เพื่อ 1%’ คุณต้องทำตัวไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่อที่จะเข้าถึงความรักได้

หรืออย่างในประชาธิปไตย พูดถึงการมีส่วนร่วม ทำไมคนอื่นจะต้องมามีส่วนในความรักเรา หรือโปร่งใสตรวจสอบได้ ความรักมันไม่ไม่ใช่ความรู้สึกที่โปร่งใสตรวจสอบได้เลย คุณแทบจะตอบไม่ได้ และก็ไม่มีเหตุผลด้วยซ้ำว่าทำไมคุณถึงรักคนๆ นึง ดังนั้นการเรียกร้องว่าความรักต้องโปร่งใส หลักๆ คือคุณกำลังไม่ไว้ใจคนอีกคนนึง และนี่ไม่เป็นส่วนดีต่อความรักเลย

ผมคิดว่าในภาพใหญ่คุณค่าแบบทุนนิยมมันก็ไม่จำเป็นต้องเอื้อต่อความรัก หลายๆ ครั้งมันก็ขัดและไม่สามารถไปได้ด้วยดีกับความรัก เพราะจริงๆ มันก็รบกวนแทบจะหลายๆ ตรรกะแนวตคิดทางการเมือง หรือระบอบด้วยซ้ำ

นักปรัชญาชื่อ Alain Badiou กล่าวถึงอะไรที่น่าสนใจว่า ‘ความรักคือรูปแบบของคอมมิวนิสต์ที่จำกัด’ เพราะว่า มันจำกัดความรักในลักษณะของ 2 คน สำหรับ Badiou เราสร้างตัวแสดงใหม่ที่เรียกว่า ‘เรา’ ขึ้นมา และความรักไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนใดคนนึงเหนืออีกฝ่าย แต่คือผลประโยชน์ร่วมกัน นี่ก็เป็นคอมมิวนิสต์ในแบบจำกัดที่เห็นความสำเร็จ ความสำคัญของคำว่า ‘เรา’ เหนือกว่าความต้องการของแต่ละคน และถ้ามองเช่นนี้ และมองว่าความรักเป็นคอมมิวนิสต์แบบจำกัดก็จะตอบได้ว่า การเมืองไหนที่ไปได้ดีกับความรักก็คงเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ถ้ามันแสลงหูไป ก็หาคำอื่นมาทดแทนได้ ว่าเป็นการเมืองเพื่อเน้นการปลอดปล่อยอะไรก็ว่ากันได้

photo by. Asadawut Boonlitsak

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0