โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ยุโรปยุครุ่งเรืองยังขับถ่ายเรี่ยราด ค้นหลักฐานวังถึงอวัยวะเหม็นหมักหมม สู่กำเนิด "ส้วม"

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 16 พ.ค. 2566 เวลา 04.49 น. • เผยแพร่ 13 พ.ค. 2566 เวลา 09.47 น.
ภาพปก-ขี้
(ซ้าย) บีเด (bidet) ของฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ขวา) การถ่ายทุกข์หลังพระราชวังแวร์ซายส์

ประวัติของ “ส้วม” เริ่มมาตั้งแต่ยุคเมืองโมเฮนโจ ดาโร (Mohenjo-Daro) อยู่ที่ปากแม่น้ำสินธุในปากีสถาน อายุประมาณ 2,600 ปีก่อนคริสตกาล แต่เราจะไม่ลากกลับไปถึงขนาดนั้น เพราะยังไงๆ ก็ไม่สนุก จึงจะเริ่มตั้งแต่ยุคโรมันพอหอมปากหอมคอ

อันว่าเรื่องกิน-ขี้-ปี้-นอน นั้นเป็นกิจวัตรจำเป็นของมนุษยชาติ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาปิดบังซ่อนเร้นประการใด เรื่องนี้ชาวโรมันก็เห็นเช่นกันว่า ไหนๆ เราก็จะต้องปฏิบัติกันอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่มองกิจกรรมเหล่านั้นให้เป็นเรื่องธรรมดา จนบางกรณีก็ถึงกับยกระดับให้เป็นศิลปะไปเสียเลย แต่ในเมื่อบทความนี้เกี่ยวกับส้วมเท่านั้น จึงจะไม่ขอ เหวง ไปเป็นอื่น ชาวโรมันไม่เห็นว่าการอุจจาระเป็นเรื่องอุจาดที่จะต้องปกปิด อีกทั้งตามบ้านของคนธรรมดาส่วนใหญ่ก็ไม่มีส้วม รัฐจึงสร้างส้วมสาธารณะขึ้นรองรับเพื่อความเป็นสุขลักษณะ

“ส้วม” ของชาวโรมัน

ส้วมสาธารณะของชาวโรมันที่ยังเหลือเป็นหลักฐานนั้น มีกระจัดกระจายอยู่ตามมุมต่างๆ ของอาณาจักรโรมัน แต่ละแห่งก็มีลักษณะคล้ายกัน โดยทำเป็นฐานหินอ่อนยกระดับขึ้นมาประมาณศอกคืบ คือเท่ากับเก้าอี้ เจาะรูเพื่อถ่ายทั้งหนักและเบาไว้กว้างพอประมาณ

ส่วนทางด้านหน้าก็มีร่องยาวๆ ลงมา ทั้งนี้ก็เพื่อสำหรับสอดท่อนไม้ยาวๆ พันที่ปลายไว้ด้วยฟองน้ำ จุ่มน้ำที่ร่องน้ำเล็กๆ ข้างหน้า เพื่อสอดเข้าไปชำระล้างเวจมรรคหรือรูอุจจาระเมื่อสำเร็จกิจ ภายในฐานหินอ่อนจะมีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำพาเอาอุจจาระออกไปตามร่องอีกต่อหนึ่ง

ผู้ที่มีฐานะก็จะส่งทาสตัวอ้วนๆ ตูดใหญ่ๆ ไปจองที่นั่งไว้ก่อน เพื่อเมื่อถึงคราวเจ้านายไปนั่ง หินอ่อนก็จะอุ่น ทุกคนที่ไปใช้บริการ (ซึ่งต้องบอกก่อนว่าเขาแบ่งส้วมสำหรับชายหญิง ไม่ปนกัน คือไม่เป็นสหส้วม) จะนั่งเรียงหน้ากระดานกันเหมือนพระอันดับ ที่รู้จักกันก็ทักทายถามสารทุกข์สุกดิบ สำหรับส้วมชายก็คงไม่แคล้วที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการเมือง มุมมองทางปรัชญา หรือบ้างก็ใช้เป็นตลาดหลักทรัพย์ย่อยๆ โดยมีการตกลงซื้อขายสินค้าค่างวดกัน ส้วมยุโรป

หลังจากอาณาจักรโรมันล่มสลาย ฝรั่งทั่วไปในยุโรปยุคกลาง (middle age) ซึ่งเป็นชาวไร่ชาวนาก็จะไปทุ่งกัน ส่วนเจ้าขุนมูลนายที่อยู่ในป้อมปราการ (ดูรูปด้านล่าง) ก็จะถ่ายอุจจาระลงมาตรงช่องเชิงเทินที่ยื่นออกมาจากตัวป้อมที่เรียกว่า corbel (ในรูปบริเวณสัญลักษณ์ G) ซึ่งในเวลาศึกเหนือเสือใต้ก็จะทิ้งหินก้อนใหญ่ๆ ลงมาบนหัวกระบาลปัจจามิตร ฉะนั้นในยามสงบ ที่ตีนป้อมปราการนั้นก็จะส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งตลบอบอวล ส่วนในยามรบ เหล่าข้าศึกก็ต้องลุยกองขี้เข้าไปให้ถึงแนวกำแพง ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง

พัฒนาการของ “ส้วม” ในยุโรป

ส้วมสาธารณะก็ยังคงมีกันอย่างประปรายอยู่บ้างตามบางเมืองที่เจริญในยุโรป แต่ก็จำกัดไว้สำหรับอภิสิทธิ์ชน ส่วนสามัญชนก็คงยังไปทุ่ง กันอยู่ ตามบ้านเรือนในเมือง เขาจะอุจจาระหรือขี้ใส่กระโถน เมื่อถึงเวลาเขาก็จะเทกระโถนออกจากหน้าต่างลงบนถนน โดยร้องคำว่า ลู ดังๆ ยาวๆ (loo มาจากคำภาษาฝรั่งเศษว่า gardyloo = ระวังน้ำ) เพื่อเป็นสัญญาณให้คนที่เดินอยู่บนถนนหลีกหนี สิ่งปฏิกูลทั้งหลายจะถูกล้างออกลงท่อไปในเวลากลางคืน ครั้งนั้นตามเมืองใหญ่ๆ ก็จะอบอวลไปด้วยกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนา

เพื่อแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นในระยะนั้น พวกแหม่มไฮโซในยุโรปก็นิยมเอามะนาว (lemon) มาทิ่มเป็นรูๆ เพื่อทิ่มกานพลูเข้าไป ครั้นเมื่อมะนาวเริ่มเน่าและแห้ง กานพลูก็จะส่งกลิ่นหอมออกมา พวกเจ้าหล่อนก็จะเอามะนาวห่อนี้ผ้า ใช้เป็นยาดมขนานวิเศษเพื่อบรรเทากลิ่นจากบรรยากาศ

ในยุโรป ส้วมไม่มีการพัฒนาเอาเสียเลย แม้กระทั่งในยุคที่ยุโรปเจริญรุ่งเรือง เช่น ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส (ครองราชย์ ค.ศ. 1643-1715) ร่วมสมัยกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ของเรา เมืองฝรั่งเศสก็ยังไม่มี “ส้วม” เป็นกิจจะลักษณะ พวกผู้ลากมากดีตามปราสาทราชวังก็จะใช้เก้าอี้เจาะรูและเอากระโถนมารองไว้ข้างใต้ เมื่อสำเร็จเจ้าพนักงานชาวที่บ่าวไพร่ก็จะนำไปเททิ้ง และนี่ก็เป็นบันไดขั้นแรกของชักโครกในปัจจุบัน

บีเด (bidet)

อยากจะกล่าวไว้ในที่นี้ว่า ตู้ที่วางขนาบข้างหัวนอนของเตียงในปัจจุบัน ที่เราใช้ตั้งโคมไฟไว้อ่านหนังสือก่อนนอนนั้น ก็เริ่มมีขึ้นในระยะนี้ โดยแรกเริ่มมีหน้าที่สำหรับวางกระโถนฉี่ไว้ข้างใน ที่เมืองฝรั่งเศสในระยะนี้ก็เริ่มที่จะมีการรักษาความสะอาดที่ส่วนของอวัยวะสตรีเพศ ภาชนะเฉพาะกิจนี้เรียกว่า บีเด (bidet) ส่วนใหญ่จะทำด้วยไม้ กรุไว้ด้วยแผ่นทองแดงเพื่อใส่น้ำ ผู้ใช้จะนั่งคร่อมดังในภาพ

สาเหตุของการบังเกิดภาชนะดังกล่าว ก็เป็นเพราะความสุดแสนจำทนของฝ่ายบุรุษเพศ อันกลิ่นนรกจากอวัยวะที่หมักหมมไม่ได้ล้าง แต่ผลิตภัณฑ์นี้ก็ไม่เป็นที่แพร่หลายกันนักนอกเมืองฝรั่งเศส

ปัจจุบัน บีเดดังกล่าวจะมีอยู่ตามโรงแรมที่มีระดับ มีคนไทยที่ไม่เคยชินกับอุปกรณ์ห้องน้ำฝรั่ง พานเข้าใจไปว่าบีเดเป็นอ่างล้างหน้าสำหรับลูกๆ เคยได้ยินมาว่า (ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์) มีสาวไทยไฮโซต้องการที่จะอวดรู้ข่มเพื่อนสาวด้วยกัน โดยสาธิตถึงวิธีการใช้อุปกรณ์บีเดที่ว่านี้ ครั้นเมื่อหล่อนขึ้นไปนั่งคร่อมเรียบร้อย ก็เปิดก๊อกเพื่อฉีดน้ำขึ้นมา และทันทีทันใดหล่อนก็กรีดร้อง เพราะหล่อนดันไปไขเอาก๊อกน้ำร้อนเข้า

ในพระราชวังแวร์ซายส์

เชื่อไหมว่า ครั้นเมื่อฝรั่งเศสอยู่ในยุคเพื่องฟูในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายส์ (Versailles) อันหรูหรานั้น ไม่มีส้วม พระเจ้าหลุยส์ทรงลงพระบังคนหนักโดยประทับบนพระเก้าอี้เจาะรู ตามที่ได้กล่าวแล้ว ส่วนเจ้าขุนมูลนายคุณข้าหลวงต่างๆ ก็จะไปถ่ายทุกข์ตามสุมทุมพุ่มไม้หลังพระราชวังเอากันตามยถากรรม นานเข้าก็หมักหมม จนส่งกลิ่นคลุ้งกระจายออกไปไกลนอกพระราชวังเป็นหลายโยชน์ จนถึงกับมีคำว่า กลิ่นของแวร์ซายส์

ครั้งนั้นการอาบน้ำเป็นเรื่องที่ไม่พึงปรารถนา เพราะความขี้เกียจที่จะต้องมาเสียเวลาแต่งองค์ทรงแป้งกันใหม่ทีละเป็นหลายๆ ชั่วโมง ความหมักหมมเป็นบ่อเกิดของโรคและกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ เช่น เหา ก็ถูกแก้ปัญหาด้วยการตัดผมให้สั้น บ้างถึงกับโกนหัวเอาเสียเลย

ด้วยเหตุนี้การสวมวิก (wig) จึงเป็นที่นิยมในทั้งชายและหญิง ส่วนในเรื่องของกลิ่นขี้เต่าก็ถูกแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมของน้ำหอม โดยจะเห็นว่าน้ำหอมของฝรั่งจะมีกลิ่นแหลมและฉุนกว่าน้ำอบน้ำปรุงของไทย ทั้งนี้ก็เพราะมีหน้าที่การใช้สอยที่ต่างกัน

ชักโครก-โถส้วม มาจากไหน?

ชักโครก เริ่มมีแต่ ค.ศ. 1596 แล้วด้วยซ้ำ เป็นสิ่งประดิษฐ์ของ เซอร์จอห์น แฮริงตัน (Sir John Harington) โดยติดตั้งไว้ที่บ้านของตัวเอง และประกอบถวายพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 (ครองราชย์ ค.ศ. 1558-1603) ที่พระราชวังริชมอนด์ (Richmond Palace) แต่พระนางไม่โปรดที่จะใช้ เพราะบ่นว่าเสียงมันดังน่ากลัว เราไม่มีทางรู้เลยว่ามันหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะไม่มีแบบทิ้งไว้นอกจากบันทึกทางประวัติศาสตร์

ส่วน โถส้วม ที่เราใช้กันในปัจจุบันได้ถูกพัฒนาขึ้นมาจากประกายความคิดริเริ่มของ นายอเล็กซานเดอร์ คุมมิ้งส์ (Alexander Cummings) ชาวอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. 1776 ด้วยนวัตกรรม คอห่าน ที่มีน้ำขังหล่อเลี้ยงไว้ในท่อโถส้วม เพื่อไม่ให้กลิ่นจากบ่อเกรอะย้อนกลับขึ้นมาได้ แต่กว่าโถส้วมในลักษณะนี้จะเป็นที่แพร่หลายก็กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเปิดตัวที่งานนิทรรศการสินค้านานาชาติโลก (the Great Exhibition) ที่กรุงลอนดอน ค.ศ. 1851 ตรงกับปีขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพอถึงปลายศตวรรษก็กลายเป็นสินค้าโรงงาน (mass produced) เช่น ในแค็ตตาล็อกโฆษณาของบริษัทโดลตั้น (Doulton) ค.ศ. 1898 ส้วมไทยและเพื่อนบ้านในเอเชีย

สำหรับส้วมของไทย ไม่มีหลักฐานเหลือไว้มากนัก เพราะที่เคยมีอยู่ก็แห้งเป็นปุ๋ย หรือถูกกินด้วยหมูหมาไปจนสิ้นแล้ว จะมีอยู่ก็ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง เมืองสุโขทัย เป็นแผ่นหินเพื่อนั่งยองๆ เจาะรูไว้เพื่ออุจจาระหรือขี้ และมีร่องข้างหน้าไว้เพื่อรองรับปัสสาวะหรือเยี่ยว แผ่นหินดังกล่าวใช้สำหรับสงฆ์โดยเฉพาะ ซึ่งสงฆ์ไทยได้รับมาจากสงฆ์ลังกา เพราะผู้เขียนได้เห็นแผ่นหินลักษณะเดียวกันเป็นจำนวนมากในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา

ผู้เขียนเคยสงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงต้องแยกอุจจาระออกจากปัสสาวะ เรื่องนี้ ดร. ฮันส เพนธ์ (Dr. Hans Penth) ท่านได้อธิบายไว้ให้ฟังว่า หากปล่อยให้ปัสสาวะลงไปเจือบนกับอุจจาระ ก็ยิ่งจะเพิ่มกลิ่นให้รุนแรงขึ้น หากปล่อยให้อุจจาระย่อยสลายไปตามความสบายใจ (ท่านหมายถึงอัตภาพ) ของมัน ไม่นานนักก็จะแห้งไปเอง

ส่วนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยก็เห็นจะมีเพียงแห่งเดียวที่กล่าวไว้ในชินกาลมาลีปกรณ์ ถึงครั้งเมื่อ พระเจ้าอาทิจราช เสด็จสู่เวจศาลา เมื่อไทยเรารับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา เริ่มแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แต่กว่าโถส้วมจะตกมาถึงเมืองไทยก็ในรัชกาลที่ 5 แล้ว

อันเรื่องประวัติศาสตร์ของส้วม หรือห้องน้ำแบบฝรั่งในประเทศไทย คงจะต้องแยกเป็นบทความอีกต่างหาก มิฉะนั้นก็คงจะลากยาวไปจนเต็มเล่ม ด้วยแต่เดิมนั้น ประชากรไทยเกือบจะทั้งหมดเป็นเกษตรกร จึงเป็นการสะดวกและธรรมชาติที่จะไปทุ่ง กัน โดยไปนั่งหลบตามสุมทุมพุ่มไม้ แต่สำหรับการ ไปเบา ผู้ชายก็จะนิยมนั่ง ส่วนฝ่ายหญิงนั้นยืน เรื่องนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปก่อนที่เราจะรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา

เรื่องที่ฝ่ายหญิงยืนเยี่ยวหรือปัสสาวะนี้ก็พอจะเข้าใจ เพราะตามสุมทุมพุ่มไม้นั้นชุกชุมไปด้วยทากด้วยปลิง หากไม่จำเป็น หล่อนก็จะไม่ไปอ้ารับสัตว์หน้าไม่มีขนเหล่านี้ให้กระโดดเข้าไป ผู้หญิงยืนเยี่ยวนี้มิได้ถูกจำกัดไว้เพียงแต่ในเมืองไทย หญิงแขกทั้งที่อินเดีย ลังกา บาหลี ก็ปฏิบัติเยี่ยงกัน

ผู้เขียนเคยไปแอบดู (ชำเลืองหางตา) แม่หญิงแขกอ้วนๆ ยืนเยี่ยว โดยหล่อนจะถลกผ้าส่าหรีขึ้นเป็นอันดับแรก จากนั้นก็ (ดูเหมือนจะ) เอานิ้วหัวแม่โป้งจิ้มไว้ที่หว่างขา ในขณะที่นิ้วชี้กางออก ดังนี้น้ำปัสสาวะหรือเยี่ยวจะไหลออกไปตามนิ้วโป้งสู่นิ้วชี้ ที่จับได้ก็เพราะเมื่อเสร็จกิจ หล่อนก็ยังเอานิ้วโป้งและนิ้วชี้ที่ยังกางอยู่นั้นออกมาสะบัดอยู่ไปมา

เรื่องของการถ่ายหนักถ่ายเบานี้ ชนชาติทางเอเชียไม่ค่อยจะมีการพัฒนานัก แต่บางครั้งก็ได้มีการแก้ปัญหาได้อย่างแยบยล ดังที่ข้าพเจ้าได้ประสบพบมากับตัวเองในเมืองอินเดีย ที่ครั้งพวกเราจำเป็นต้องเดินข้ามลัดทุ่งไปชมเทวาลัยแห่งหนึ่ง แต่ตามคันนาก็มีหญิงแขก ทั้งสาวทั้งแก่ นั่งอุจจาระอยู่กันเป็นทิวแถว พวกเราก็ไม่กล้าไป ด้วยเพราะความกระดากอายเป็นเจ้าเรือน แต่ผู้นำทางก็ให้ความมั่นใจกับเราว่าไม่มีอะไรที่น่ากลัว เราจึงก้มหน้าก้มตาเดินกันไป

แล้วบัดดลจึงได้บังเกิดอภินิหารปรากฏไว้ให้เป็นหลักฐาน เพราะไม่ว่าหญิงแขกคนใดที่เราเดินผ่าน หล่อนก็จะถลกยกผ้าส่าหรีขึ้นไปคลุมหน้าไว้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ชมจึงไม่มีโอกาสที่จะรู้ได้เลยว่า กระแบะที่เราเห็นเต็มตาอยู่ตรงหน้าเรานั้น ผู้ใดเป็นเจ้าของ

ส่วนผู้ชายนั่งเยี่ยวก็คงปฏิบัติกันอยู่ทั่วเอเชีย ก่อนที่จะไปรับเอาวัฒนธรรมการนุ่งกางเกงของฝรั่งเข้ามา แต่ดูเหมือนจะมีประเทศเดียวในเอเชีย ที่แม้ว่าจะรับวัฒนธรรมนุ่งกางเกงของฝรั่ง ผู้ชายก็ยังนั่งปัสสาวะกันอยู่ดี นั่นก็คือที่เมืองอิหร่าน

ครั้นเมื่อผู้เขียนไปเมืองอิหร่าน ระหว่างการเดินทางไปเที่ยว คนขับรถของสถานทูตก็ขออนุญาตหยุดรถเพื่อยิงกระต่าย

ผู้เขียนจึงถือโอกาสบ้าง ที่เห็นก็คือ คนขับรถนั้นลงไปนั่งคุกเข่าโดยที่หัวเข่าไม่แตะลงถึงพื้นดินในขณะปฏิบัติการ สวนผู้เขียนก็ยืนสำเร็จกิจไปตามความเคยชินเยี่ยงคนไทยที่มีวัฒนธรรมอันดีงาม สังเกตได้ว่าผู้คนในรถที่ขับผ่านไปมานั้นพร้อมใจหันกันมามองกันเป็นตาเดียว บางคันก็ถึงกับบีบแตร ทั้งนี้คงไม่เคยเห็นคนยืนเยี่ยว

จากนั้น เพื่อมิให้เป็นเป้าสายตา ผู้เขียนจึงได้พยายามที่จะนั่งลงปฏิบัติกิจตามประเพณีนิยม แต่แล้วก็ต้องเลิกล้มโครงการ เพราะนอกจากการนั่งในกิริยาดังกล่าวที่จะต้องระวังไม่ให้หงายหลังคะมำหน้าแล้ว ก็ยังไม่สามารถที่จะควักออกมาให้พ้นได้ จึงสรุปได้ว่า นอกจากชายชาติอิหร่านจะต้องมีความชำนาญในการนั่งเยี่ยงนี้เป็นพิเศษแล้ว ก็ยังจะต้องมีความยาวอันเป็นเลิศอีกต่างหาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เรื่องของส้วม” เขียนโดย พิทยา บุนนาค ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2553

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 เมษายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0