โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ดูดส้วม บริการที่มีความจำเป็นต่อบ้าน

DDproperty

เผยแพร่ 24 พ.ค. 2563 เวลา 11.02 น.
ดูดส้วม บริการที่มีความจำเป็นต่อบ้าน
ดูดส้วม บริการที่มีความจำเป็นต่อบ้าน

ดูดส้วม หรือ สูบส้วม นับเป็นบริการที่หลายคนอาจจะหลงลืมไป เพราะว่าซื้อบ้านเดี่ยว หรือซื้อทาวน์เฮ้าส์ / ทาวน์โฮม แล้ว กว่าจะได้ใช้บริการดูดส้วมก็อีกสักระยะหนึ่ง และบางคนที่ซื้อคอนโดจึงไม่ต้องดูดส้วม เพราะมีนิติบุคคลจัดการให้เรียบร้อย

หลายคนคงจะมีคำถามในใจว่าแล้วเมื่อไหร่คือเวลาที่เหมาะสมในการดูดส้วม เพราะถ้าปล่อยไว้นอกจากจะสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตของคนในบ้านแล้วยังส่งผลต่อสุขลักษณะที่ไม่ดีด้วย ลองมาดูรายละเอียดของการดูดส้วมกัน

 

ดูดส้วมคืออะไร

ดูดส้วม คือ การกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ออกมาจากร่างกายของบ้านคุณที่อยู่ในบ่อพัก ซึ่งส่วนมากแล้วจะอยู่ใกล้บริเวณห้องน้ำ รอบ ๆ ตัวบ้าน บ้านแต่ละหลังจะมีบ่อพักสิ่งปฏิกูลที่ต่างกันกันออกไป ทั้งเรื่องของขนาด และจำนวนที่มีภายในบ้าน

โดยบ่อพักจะฝังอยู่ในดิน เห็นได้เพียงฝาขนาดกลม ๆ ไม่ใหญ่เท่าจานกินข้าวเห็นจะได้ โดยส่วนมากจะเป็นแบบบ่อซึม คือ น้ำซึมออกตามร่อง และพื้นดิน เหลือเพียงกากเอาไว้ โดยน้ำบางส่วน มีโอกาสเต็มได้หลายกรณี ทั้งใช้งานมานาน หรือน้ำฝนเข้า แต่หากเป็นกรณีน้ำฝนเข้า ไม่นานก็จะแห้งไปเองได้ เพราะน้ำซึมออกไปตามพื้นดินนั่นเอง

อาการที่บ่งบอกว่าส้วมเต็มก็คือ ความผิดปกติของการใช้งานชักโครกที่อาจจะราดหรือกดแล้วลงช้า หรือไม่ลงเลย ถือเป็นสัญญาณที่ควรเรียกใช้บริการดูดส้วม

 

ชักโครกตันมีหลายสาเหตุ
ชักโครกตันมีหลายสาเหตุ

ชักโครกตันมีหลายสาเหตุ

 

ชักโครกตันมีหลายสาเหตุ

แม้ว่าอาการข้างต้นจะเป็นหนึ่งอาการที่บ่งบอกถึงอาการส้วมเต็ม แต่จริง ๆ แล้วการที่ชักโครกเมือราดหรือกดแล้วทำงานช้ากว่าปกติ หรือที่เรียกว่า "ชักโครกตัน" นั้น ที่นอกเหนือจากการที่ส้วมเต็มแล้ว มีด้วยกันหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่ก็คือมีสิ่งของหล่นเข้าไปอุดตันในชักโครก เช่น สบู่ ผ้าอนามัย หรือกระดาษชำระ ทำให้เกิดการขวางทางน้ำ

วิธีแก้ไขชักโครกตันเบื้องต้น

1. ลูกยางปั๊ม

เป็นวิธีเบื้องต้นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด วิธีใช้ให้สวมหัวลูกยางลงในคอชักโครก จากนั้นออกเเรงกดปั๊มเป็นจังหวะ แรงอัดของลูกยางจะช่วยดันสิ่งที่อุดตันอยู่ในท่อให้ไหลออกไป

2. โซดาไฟ

โซดาไฟนั้นมีฤทธิ์กัดกร่อน ช่วยขจัดสิ่งที่อุดตันภายในชักโครกได้ วิธีใช้ให้ผสมโซดาไฟกับน้ำอุ่น จากนั้นค่อย ๆ เทลงไปในชักโครก ไม่นานสิ่งอุดตันก็จะหลุดไป แต่วิธีนี้ต้องระมัดระวังในการใช้งาน โดยใส่ถุงมือป้องกันขณะใช้งาน และระวังควันจากโซดาไฟเข้าตา

3. น้ำยาล้างท่ออุดตัน

น้ำยาประเภทนี้มักจะมีสารละลายไขมัน ช่วยละลายสิ่งอุดตันให้หลุดออกไปจากท่อชักโครกได้ แต่วิธีนี้ก็ต้องระมัดระวังในการใช้งานเช่นกัน เพราะเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง ข้อเเนะนำคือระมัดระวังในการใช้งาน เพราะสารเคมีประเภทนี้มักมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง ดยใส่ถุงมือป้องกันขณะใช้งาน 

4. สายงูเหล็ก

ลักษณะเป็นเส้นโลหะยาว พร้อมหัวจับ วิธีใช้คือให้สอดสายโลหะลงไปในชักโครกให้ลึกที่สุด จากนั้นหมุนด้ามจับไปมา แรงหมุนจะช่วยทำให้สิ่งที่อุดตันหลุดออกไป

ทั้งนี้ หากลองวิธีทั้งหมดแล้วยังไม่สามารถแก้ปัญหาชักโครกตันได้ แสดงว่าส้วมเต็มแน่นอน ให้มองหาสาเหตุในขั้นต่อไป

หลากวิธีแก้ “ท่อตัน” จากของใช้ในบ้าน ทั้งง่ายและประหยัดสุด ๆ

 

ส้วมเต็มทำอย่างไร

เมื่อส้วมเต็ม สิ่งแรกที่ต้องทำคือ สำรวจว่าสาเหตุที่ทำให้ส้วมเต็มเกิดจากอะไร เช่น ใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน ไม่ได้สูบส้วมมานานแล้ว มีฝนตก มีน้ำขังบริเวณรอบ ๆ บ่อพักหรือไม่ เพราะว่าไม่ใช่ทุกสาเหตุที่จะใช้วิธีดูดส้วมแก้ปัญหาได้ 

- หากสำรวจแล้วพบว่าส้วมเต็มจากการที่ใช้งานมานาน ก็สามารถเรียกใช้บริการดูดส้วมได้เลย 

- หากสำรวจแล้วพบว่าเกิดจากฝนตก น้ำขัง จะต้องรอให้น้ำ หรือฝนหยุดตกสักพักก่อน เพราะว่าเมื่อน้ำแห้งไป ส้วมอาจจะกลับมาใช้งานได้ตามปกตินั่นเอง แต่ถ้าหากว่าเวลาผ่านไปนานพอสมควรแล้วส้วมยังเต็มอยู่ จึงค่อยเรียกใช้บริการดูดส้วม

ประโยชน์ของถังดักไขมัน ทำไมทุกบ้านถึงจำเป็นต้องมี

 

บริการดูดส้วมมีหลายระดับราคา
บริการดูดส้วมมีหลายระดับราคา

บริการดูดส้วมมีหลายระดับราคา

 

ดูดส้วมราคาเท่าไหร่

บริการดูดส้วมมีหลายระดับราคาให้เลือกใช้บริการ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และระยะทางจากผู้ให้บริการไปยังบ้านของคุณ โดยมีระดับราคาดังนี้

- เขตกรุงเทพ ระดับราคาอยู่ที่ประมาณ 700 บาท/รอง

- ปริมณฑล ระดับราคาอยู่ที่ประมาณ 500 บาท/รอง ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และระยะเดินทาง

- ต่างจังหวัด ระดับราคาอยู่ที่ประมาณ 300 บาท/รอง

 

ดูดส้วมต้องทำบ่อยแค่ไหน

เคยสงสัยไหมว่าการดูดส้วมต้องทำบ่อยแค่ไหน เพราะบางบ้านอาจต้องทำทุก 6 เดือน บางบ้านอยู่นานเป็นสิบ ๆ ปี ยังไม่เคยต้องดูดส้วมสักครั้ง สาเหตุที่ส้วมเต็มนั้นมีด้วยกันดังนี้

1. ถังมีขนาดเล็กเกินไป ผู้ใช้งานอาจมีจำนวนมากเกินไปไม่พอเหมาะกับขนาดถังเก็บ ทำให้ส้วมเต็มเร็ว

2. มีน้ำซึมเข้าไป เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ส้วมเต็มเร็ว

สมัยก่อนหรือกระทั่งในปัจจุบัน ระบบบ่อเกรอะ บ่อซึม มีลักษณะเป็นบ่อคอนกรีต 2 ถัง ขึ้นรูปจากปลอกวงแหวนซีเมนต์มาเรียงซ้อนกัน บ่อแรกเราจะเรียกว่า บ่อเกรอะ จะรับสิ่งปฏิกูลจากภายในบ้านโดยตรง มีหน้าที่กักเก็บสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยสลายและตกตะกอนตามธรรมชาติ กากปฏิกูลจะตกตะกอนไปอยู่ที่ก้นบ่อ

ส่วนน้ำที่อยู่ด้านบนจะไหลลงสู่ บ่อซึม โดยน้ำที่ผ่านจากบ่อเกรอะจะค่อย ๆ ซึมลงไปในดินและชั้นหินด้านล่างอย่างช้า ๆ ถ้าทั้งสองบ่อทำงานได้ดี ทำให้บางบ้านอยู่มาเป็นสิบ ๆ ปีแล้วไม่ต้องดูดส้วมเลยก็ได้

แต่ปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึมก็คือ สิ่งปฏิกูลในบ่อเกรอะย่อยสลายไม่หมด น้ำในบ่อซึมไม่สามารถซึมผ่านเนื้อดินลงไปได้ เนื่องจากดินโดยรอบเป็นดินเหนียว หรือระดับน้ำใต้ดินซึมเข้าบ่อซึม ส่งผลให้ส้วมเต็มนั่นเอง

 

แก้ปัญหาส้วมเต็มบ่อยด้วยถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป

ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป เป็นระบบที่รวมบ่อเกรอะและบ่อซึมไว้ในถังเดียวกัน น้ำที่ผ่านกระบวนการในถังบำบัดน้ำเสียจะมีความสะอาดเพียงพอที่จะปล่อยลงสู่รางระบายน้ำสาธารณะได้ แทนการซึมลงสู่ดิน

ถังบำบัดน้ำเสียประเภทนี้มีให้เลือกใช้งานทั้งแบบไม่เติมอากาศ และแบบเติมอากาศ (Aerobic Bacteria) ซึ่งจะใช้ออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงแบคทีเรียเพื่อช่วยเร่งปฏิกิริยาทางชีวเคมี ทำให้กระกวนการย่อยสลายสารอินทรีย์มีประสิทธิภาพมากกว่าระบบธรรมชาติ เหมาะสำหรับใช้ในพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีสภาพดินเป็นดินเหนียว น้ำซึมลงดินได้ยาก

อย่างไรก็ตาม เพื่อยืดอายุการใช้งานของถังประเภทนี้ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดตะกอนตกค้างมากเกินไปจนเกินคราบฝังแน่นในถัง จึงต้องสูบกากของเสียออกด้วยเช่นกัน เฉลี่ยประมาณ 3-5 ปี/ครั้ง

 

ดูดส้วม คืออีกหนึ่งการดูแลบ้าน และที่พักอาศัยของคุณ หากหมั่นทำความสะอาดและให้ความใส่ใจ นอกจากจะช่วยให้บ้านน่าอยู่แล้ว ยังเสริมสุขลักษณะที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยด้วย

 

สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0