โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จีน "เรียนวิทยาการฝรั่งเพื่อควบคุมฝรั่ง" ย้อนความเน่าเฟะในสงครามฝิ่นสู่ยุคอุตสาหกรรม

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 28 ม.ค. 2565 เวลา 09.21 น. • เผยแพร่ 26 เม.ย. 2564 เวลา 04.52 น.
สงครามฝิ่น-ทำลายฝิ่น-จีน
ภาพวาดเหตุการณ์ข้าหลวงหลิน ทำลายฝิ่น เมื่อ ค.ศ. 1839 (ไม่ปรากฏชื่อผู้วาด และปี / ภาพจาก visualizingcultures.mit.edu)

กว่าที่จีนจะมาลงเอยในระบอบการปกครองตามรูปแบบของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่าจีนผ่านการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอก ในห้วงหนึ่ง จีนก็เป็นเช่นเดียวกันหลายประเทศในเอเชียซึ่งเผชิญหน้ากับวิทยาการสมัยใหม่ของโลกตะวันตกแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัว พัฒนาการในการปรับตัวนั้นเกิดขึ้นเด่นชัดในช่วงเวลา 3 ทศวรรษหลังเกิดสงครามฝิ่น

ในบรรดาเหตุการณ์สำคัญซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของจีนนั้น ย่อมต้องมีเรื่องสงครามฝิ่นเข้ามาด้วย แม้ว่าก่อนหน้านั้นก็มีเหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างจีนกับมหาอำนาจตะวันตกอย่างอังกฤษเกิดขึ้นก่อนจนเกือบมีสงครามกันก่อนแล้ว แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งยึดช่วงเวลาสงครามฝิ่นเป็นอีกหนึ่งช่วงเริ่มต้นประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของจีน

สงครามฝิ่น

ช่วงทศวรรษ 1840 ที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ ประมาณค.ศ. 1837-1838 อังกฤษประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจฉับพลัน เหล่านายทุนจำเป็นต้องขยายอำนาจไปยังประเทศอื่นเพื่อให้ตัวเองรอดพ้นจากวิกฤต อังกฤษหวังให้จีนกลายเป็นตลาดขายสินค้าและแหล่งวัตถุดิบของตัวเอง ขณะเดียวกัน จีนที่อยู่ในช่วงปลายของยุคราชวงศ์ เคยผ่านการปิดประเทศมาเป็นระยะก็เผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องการรับมือกับพ่อค้าและชาวต่างชาติ

เมื่อ ค.ศ. 1833 ขุนนางจีนคนสำคัญคือหลินเจ๋อสวี และเถาซู่ ถวายฎีกาแด่องค์จักรพรรดิเสนอให้ปราบฝิ่น แต่ก็มีเสียงทัดทานออกมา กระทั่ง ค.ศ. 1838 จักรพรรดิเต้ากวงทรงแต่งตั้งหลินเจ๋อสวี เป็นผู้แทนพระองค์ไปปราบฝิ่น

การทำลายฝิ่นครั้งสำคัญโดยหลินเจ๋อสวี เกิดขึ้นที่หู่เหมิน มณฑลกวางตุ้ง เมื่อค.ศ. 1839 ฝิ่นที่ยึดได้กว่า 2 ล้านชั่งถูกเททิ้งลงในบ่อทำลาย ฝิ่นดิบถูกทำลายในเวลาไม่นานนัก (เทเกลือทะเลผสม และโรยหินปูนดิบตามลงในบ่อ คนแรงๆ แล้วให้ทหารเปิดร่องน้ำระบายสู่ทะเล เมื่อฝิ่นลงในทะเลก็ทำปฏิกิริยาจนอุณหภูมิเพิ่มสูงทำให้ฝิ่นไหม้ ทั้งที่ไม่ได้จุดไฟ) เส้าหย่ง และหวังไห่เผิง ผู้เขียนหนังสือ “หลังสิ้นบัลลังก์มังกร” บรรยายว่า การทำลายฝิ่นครั้งนี้ใช้เวลา 23 วัน ฝิ่นถูกทำลายไปมากกว่า 2 ล้านชั่ง ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ในการทำลายฝิ่น อีกทั้งยังเป็นการประกาศเจตนารมณ์ว่าพวกเขาไม่ยอมแพ้ต่อผู้รุกราน

แต่การทำลายฝิ่นที่หู่เหมิน กลับเป็นอีกหนึ่งข้ออ้างที่ทำให้เกิดสงครามฝิ่น โดยช่วงกลางปีค.ศ. 1840 อังกฤษมีนโยบายขยายอำนาจและเลือกใช้กำลังทหารเข้าเปิดประตูโอกาสแล้วก่อสงครามกับจีน กองทัพเรืออังกฤษปิดล้อมน่านน้ำของมณฑลกวางตุ้ง และปิดล้อมเมืองกวางเจา

จีนซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลราชวงศ์ชิงพ่ายแพ้ศึกติดต่อกันหลายครั้ง นักประวัติศาสตร์มองว่า ช่วงเวลานั้นชนชั้นนำผู้ปกครองจีนยังอ่อนแอ ประกอบกับผลกระทบจากการปิดประเทศเป็นเวลานานมีขุนนางกังฉินเกิดขึ้นมากมาย นอกจากนี้ยังมีสภาพเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือเทคโนโลยีที่ด้อยกว่า เรื่องเล่าอันลือลั่นที่สุดคือหยางฟาง แม่ทัพอาวุโสใช้กระโถนผู้หญิงที่ผ่านการใช้งานมาแล้วใส่อุจจาระวางไว้บนแพหวังรับมือกับกองทัพอังกฤษที่รุกเข้ามาในน่านน้ำ เมื่อค.ศ. 1841 เพราะคิดว่า พวกฝรั่งใช้มนต์คาถาจนยิงปืนใหญ่ทำลายล้างได้อย่างแม่นยำ เขาเชื่อว่าอุบาย “กองทัพกระโถน” ใช้สิ่งสกปรกเผากองทัพเรือต่างชาตินี้ช่วยทำลายมนต์ดำได้

เมื่อแพ้ศึกหลายครั้งติดต่อกันจนยากแก้ไข อังกฤษรุกเข้ามาถึงน่านน้ำอำเภอเซี่ยกวาน เมืองนานกิง รัฐบาลจำต้องส่งผู้แทนไปเจรจาสงบศึกที่เมืองนานกิง ฝั่งอังกฤษก็บีบกดดันโดยขู่ว่าจะโจมตีเมืองนานกิงทำให้คณะผู้แทนรัฐบาลต้องยอมรับเงื่อนไขเจรจาสงบศึก

สนธิสัญญานานกิงถูกลงนามร่วมกันระหว่างผู้รุกรานกับจีนเมื่อ ค.ศ. 1842 นอกจากที่จีนต้องยกฮ่องกงให้อังกฤษแล้ว ยังต้องเปิดท่าเรือพาณิชย์ 5 แห่ง (กวางเจา, เซี่ยเหมิน, ฝูโจว, หนิงปัว และเซี่ยงไฮ้) ชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม 21 ล้านหยวน เมื่อกำหนดภาษีสินค้าผ่านด่านก็ต้องปรึกษาร่วมกับอังกฤษ และยกเลิกระบบผูกขาดการค้าโดยรัฐบาลจีน พ่อค้าอังกฤษสามารถทำการค้ากับพ่อค้าจีนได้อย่างเสรี

เส้าหย่ง และหวังไห่เผิง อธิบายว่า สนธิสัญญานี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้จีนต้องลงนามสัญญาที่ไม่เป็นธรรมอีกหลายฉบับในเวลาต่อมา สภาพของประเทศจีนจึงเริ่มกลายสภาพเป็นเสมือนกึ่งอาณานิคมกึ่งศักดินาไปด้วย

ความล้มเหลวในช่วงสงครามฝิ่นทำให้ขุนนางและประชาชนผู้รักชาติเศร้าโศกเจ็บแค้นกันอย่างมาก แน่นอนว่า ชาวจีนรับรู้และเรียนรู้ได้อย่างแจ่มแจ้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติรอบพันปี รัฐบาลส่วนกลางและบุคลากรฝ่ายปกครองเห็นตรงกันว่า การปฏิรูปและการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไปจนถึงการทหารแบบตะวันตกเป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยรักษาอำนาจการปกครองของราชวงศ์ชิงได้ ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิรูปและการเรียนรู้วิทยาการตะวันตกจะเป็นวิธีที่ทำให้จีนเข้มแข็งขึ้นในขณะที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวต่างชาติ (ผู้รุกราน) ได้

“เรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่ของฝรั่งเพื่อควบคุมฝรั่ง”

สภาพข้างต้นทำให้ชาวจีนเริ่มนำแนวคิด “เรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่ของฝรั่งเพื่อควบคุมฝรั่ง” มาใช้ แนวคิดที่ว่านี้มาจากเว่ยหยวน เพื่อนผู้รู้ใจของหลิวเจ๋อสวี และนักคิดในยุคประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ “เปิดหูเปิดตา” คนแรกๆ ของจีนผ่านหนังสือชุดที่เขาเรียบเรียงขึ้นในชื่อ“ไห่กั๋วถูจื้อ” ในค.ศ. 1842

หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงมาจากเอกสารข้อมูลภาษาต่างประเทศและหนังสือ “ซื่อโจวจื้อ” โดย “ไห่กั๋วถูจื้อ” ของเว่ยหยวน ประกอบด้วยข้อมูลเรื่องสภาพประเทศต่างๆ ในโลก ถือเป็นหนังสือชุดแรกที่มีข้อมูลลักษณะนี้และเรียบเรียงโดยชาวจีนเอง ในหนังสือยังมีส่วนที่วิจารณ์รัฐบาลราชวงศ์ชิงว่าปิดประเทศยาวนาน แน่นอนว่า เนื้อหาย่อมมีลักษณะแหวกขนบธรรมเนียมเดิมที่แบ่งแยกชาวจีนกับต่างชาติ

เว่ยหยวน แจกแจงวัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ว่า “เรียนรู้วิธีฝรั่งเพื่อโจมตีฝรั่ง เรียนรู้วิธีฝรั่งเพื่อรับมือฝรั่ง เรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่ของฝรั่งเพื่อควบคุมฝรั่ง” ซึ่งผู้เรียบเรียงหวังว่าชาวจีนจะเรียนรู้ และรู้จักโลกภายนอกจากหนังสือชุดนี้ เขาเชื่อว่า ไม่เพียงต้องเรียนรู้การฝึกทหารแบบตะวันตก ยังต้องพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ตั้งโรงงานผลิตเรือและอาวุธ อนุญาตให้ชาวบ้านตั้งโรงงานได้อย่างอิสระ

อย่างไรก็ตาม ผลตอบรับกลับตรงกันข้าม หนังสือที่ตีพิมพ์ในประเทศได้รวมแล้วประมาณ 1,000 ชุดเท่านั้น ไม่ได้สร้างกระแสความสนใจ แต่กลับตามมาด้วยเสียงตำหนิจากขุนนางหัวโบราณที่มองว่าเป็นผลงานที่ขัดหลักคุณธรรม แต่เมื่อหนังสือชุดนี้เผยแพร่ไปที่ญี่ปุ่นหลังจากที่ขุนนางในรัฐบาลโชกุนและนักวิชาการซื้อไปอ่าน (แม้ว่าจะเป็นหนังสือต้องห้ามเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหนังสือแล้ว) กลับได้รับความสนใจอย่างมาก สมกับประโยคว่า “ทองอยู่ที่ไหนย่อมเป็นทอง” ชาวญี่ปุ่นตีพิมพ์หนังสือนี้เองเมื่อ ค.ศ. 1854 อีก 5 ปีต่อมา ราคาหนังสือเล่มนี้พุ่งสูงอีก 3 เท่าในค.ศ. 1859 เรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นรู้จักโลกภายนอกขึ้นหลังจากปิดประเทศมายาวนาน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสมัยราชวงศชิง เกิดขบวนการเรียนรู้วิทยาการตะวันตกเกิดขึ้น เกิดโรงงานผลิตอาวุธอันชิ่งเมื่อค.ศ. 1861 ถือเป็นกิจการการทหารอันดับแรกที่กลุ่มดำเนินการภายใต้การนำโดยเจิงกั๋วฟาน ปัญญาชนที่สุภาพเรียบร้อย ขุนนางเอกที่ปฏิรูปฟื้นฟูประเทศ และภายหลังกลับได้เป็นแม่ทัพสูงสุด บัญชาการกองทัพขนาดใหญ่

ขบวนการเรียนรู้วิทยาการตะวันตกไม่ได้ดำเนินกิจการด้านการทหารอย่างเดียว ยังมีกิจการด้านอื่น อาทิ ตั้งหน่วยงานด้านทูต หน่วยกิจการต่างประเทศรับผิดชอบกิจการเกี่ยวกับการต่างประเทศต่างๆ มีกิจการสมัยใหม่อีก อาทิ เหมืองแร่ จราจร โรงเรียน มีส่งนักเรียนไปศึกษาในต่างประเทศ และการโทรคมนาคม

ในช่วงแรกการเรียนรู้วิทยาการตะวันตกเป็นไปเพื่อทำให้ประเทศเข้มแข็งผ่านการฝึกซ้อมกองทัพแบบใหม่ และอุตสาหกรรมการทหาร แต่ในช่วงหลัง เป็นไปเพื่อทำให้ประเทศมั่งคั่ง ดำเนินกิจการพลเรือนเพื่อแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ของอุตสาหกรรมการทหาร เช่น เงินทุน เชื้อเพลิง และการขนส่ง

เส้าหย่ง และหวังไห่เผิง บรรยายว่า แก่นของขบวนการเรียนรู้วิทยาการตะวันตกคือเรียนรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ทันสมัยของตะวันตกโดยไม่กระทบการปกครองแบบศักดินา เพื่อสร้างเสถียรภาพแก่การปกครองแบบศักดินา แม้จะไม่ได้ทำให้จีนเข้มแข็งหรือมั่งคั่งโดยตรง แต่ก็ถือว่าทำให้มีอุตสาหกรรมสมัยใหม่กลุ่มแรกในจีน สะสมเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสมัยใหม่อันจะบุกเบิกให้จีนก้าวสู่โลกสมัยใหม่

ขบวนการเรียนรู้วิทยาการแบบตะวันตกดำเนินการยาวต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ทศวรรษ ระหว่างนั้นจีนต้องรับมือกับมหาอำนาจจากตะวันตกหลายครั้ง เกิดสงครามเจี๋ยอู่ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ฝ่ายรัฐบาลราชวงศ์ชิงก็รบแพ้ต่อเนื่องและถูกบีบให้เจรจาสงบศึกอีกครั้ง จีนพ่ายแพ้ญี่ปุ่นในสงครามเจี๋ยอู่ ค.ศ. 1895 ขบวนการเรียนรู้ฯก็เป็นอันสิ้นสุดลง

ธุรกิจอุตสาหกรรม

ค.ศ. 1898 จักรพรรดิกวงซวี่ ประกาศพระราชโองการว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ แต่ก็ยังถูกต่อต้านโดยกลุ่มอำนาจหัวโบราณอันนำมาโดยซูสีไทเฮา ช่วงเดือนกันยายนปีเดียวกัน พระนางกักขังจักรพรรดิกวงซวี่ การปฏิรูปที่ถูกเรียกว่า “การปฏิรูป 100 วัน” ก็ยุติลงอีกครา

เรียกได้ว่า ช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของจีน หลากหลายชนพยายามเสาะหาหนทางต่างๆ ที่จะช่วยชาติและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงเสมอมา ช่วงทศวรรษ 1870 ที่วิกฤตชาติรุนแรงขึ้น คหบดีหัวก้าวหน้าที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิทุนนิยมและขบวนการเรียนรู้วิทยาการตะวันตก เริ่มมาสู่อีกหนทางหนึ่ง นั่นคือริเริ่มดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรม บางรายพยายามก่อตั้งโรงงานแม้ว่าจะเผชิญอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุน และการต่อต้านจากชาวจีนด้วยกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ จางเจี่ยน ขุนนางในกรุงปักกิ่งเมื่อเห็นจีนลงนามสนธิสัญญากับญี่ปุ่น ก็หันมาดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อช่วยชาติ เขาก่อตั้งโรงงานปั่นด้าย “ต้าเซิง”

เมื่อผ่านช่วงยากลำบากมาแล้วก็เริ่มขยายกิจการมาสู่ด้านการเกษตร เดินเรือ โดยใช้กำไรจากบริษัทปั่นด้ายมาขยายธุรกิจ กลายเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ขณะที่จางเจี่ยน เองก็ก้าวเข้าสู่ชนชั้นนายทุน แนวคิดเรื่อง “ลัทธิฝ้ายเหล็กนิยม” ของจางเจี่ยน คือใช้ปุยฝ้ายและเหล็กกล้ามาต่อต้านการรุกทำลายตลาดสินค้าจีนโดยสินค้าต่างประเทศ ถึงธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อช่วยชาติจะไม่สามารถกอบกู้วิกฤตได้ แต่อย่างน้อยยังช่วยต่อต้านการรุกรานทางเศรษฐกิจของตะวันตกได้ระดับหนึ่ง

อ้างอิง :

เส้าหย่ง, หวังไห่เผิง. หลังสิ้นบัลลังก์มังกร : ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤษภาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0