โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ดื่มด่ำกับรูปถ่ายมากกว่าของตรงหน้า Instagrammable เทรนด์ที่เปลี่ยนวิถีท่องเที่ยวของคน

The MATTER

เผยแพร่ 29 ม.ค. 2563 เวลา 10.31 น. • Lifestyle

เดี๋ยวนี้ เวลาจะเลือกร้านอาหารสักร้าน ไม่ใช่แค่ต้องดูที่บริการดี อาหารอร่อย ราคาน่าประทับใจเพียงเท่านั้น เพราะอีกสิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มองหาเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ นั่นก็คือ ‘มุมถ่ายรูปสวยๆ’ หรือ ‘การตกแต่งจานเก๋ๆ’ ที่เมื่อเวลาอัพรูปลงอินสตาแกรมแล้ว จะต้องเรียกยอดไลค์ได้ถล่มทลายอย่างแน่นอน

เพราะเรากำลังอยู่ในยุคที่อะไรๆ ก็ต้องถ่ายลงอินสตาแกรม หรือที่เรียกว่า ‘Instagrammable Culture’

instagrammable เกิดจากคำว่า ‘อินสตาแกรม’ ที่เราใช้พูดกันติดปากเพื่อแทน ‘การถ่ายรูป’ เนื่องจากอินสตาแกรมเป็นแอพพลิชั่นถ่ายและแชร์รูปยอดฮิตในปัจจุบัน จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้ใช้งานถึง 800 ล้านยูสเซอร์ และกว่า 60% เป็นชาวมิลเลนเนียล ซึ่งจะมีพฤติกรรมไปไหนมาไหนก็จะชอบถ่ายรูปลงอินสตาแกรม จึงทำให้มีการคิดค้นคำใหม่ขึ้นมาเพื่อเรียกสิ่งที่เราถ่าย นั่นก็คือ instagrammable หรือที่มีความหมายว่า สิ่งนี้อัพลงอินสตาแกรมได้

เมื่อวัฒนธรรมนี้เกิดขึ้น จึงทำให้ธุรกิจหลายประเภทต้องปรับตัวตาม เนื่องจากอินสตาแกรมไม่ได้เป็นเพียงแค่แอพพลิเคชั่นถ่ายและแชร์รูปธรรมดาๆ แบบเมื่อก่อน แต่เป็นเครื่องมือการตลาดขนาดใหญ่ ที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจได้มหาศาล โดยเฉพาะธุรกิจคาเฟ่ ร้านอาหาร โรงแรม และงานอีเวนต์ต่างๆ ที่อาศัยการโปรโมตอย่างกว้างขวางเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ

Group of friends taking pictures of food on the table with smartphones during party
Group of friends taking pictures of food on the table with smartphones during party

ซึ่งการทำธุรกิจให้มีความ instagrammable คือจะต้องมีการจัดหรือตกแต่งสถานที่หรือสิ่งของอย่างสวยงาม เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการรู้สึกอยากถ่ายรูป และเมื่ออัพรูปลงโซเชียลมีเดีย ก็จะทำให้ผู้ติดตามคนอื่นๆ เกิดความสนใจ อยากเข้ามาใช้บริการตาม เป็นการเล่นกับความกลัวที่จะตกข่าว/ตกกระแส หรือ fear of missing out ของผู้คน ทำให้ instagrammable เป็นการโปรโมตธุรกิจทางอ้อม โดยการยืมมือของผู้บริโภคในการสร้างแรงกระเพื่อมนั่นเอง เพราะชาวมิลเลนเนียลมีแนวโน้มที่จะเชื่อใจเพื่อนหรือคนใกล้ตัว มากกว่าการโฆษณาจากทางแบรนด์

นอกจากนี้ instagrammable ยังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว อย่างการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวในเมืองวานาคา ประเทศนิวซีแลนด์ หลังจากมีการโปรโมตลงโซเชียลเดีย ก็ทำให้มีผู้เข้ามาเยี่ยมชมเพิ่มขึ้นถึง 14%

ดูแล้วก็เหมือนจะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดทั่วๆ ไป แต่เทรนด์ instagrammable ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราหลายอย่าง ทั้งการกิน การเที่ยว และการออกแบบ จากที่เคยกินอาหารหน้าตายังไงก็ได้ ก็ต้องหาเมนูสวยๆ เพื่อจะได้ถ่ายรูป และพ่อครัวแม่ครัวเองก็ต้องเน้นการจัดแต่งมากขึ้น ให้มีสีสันน่ากิน เพื่อจะได้ให้ลูกค้าถ่ายและนำรูปไปลงโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่วงการสถาปัตยกรรมเองก็ตาม ที่จำเป็นจะต้องออกแบบตึก อาคาร หรือการตกแต่งภายในให้มีความสะดุดตา แปลก และดึงดูดผู้คนให้มาถ่ายรูป

Instagrammable อาจทำให้เราลืมโลกกว้างข้างหลังกล้อง

ถึงแม้ instagrammable จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่นที่กำลังซบเซาได้เป็นอย่างดี แต่มันก็อาจทำให้หลายคนลืมที่จะโฟกัสความสวยงามที่แท้จริงข้างหลังเลนส์ เช่น วัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์เก่าแก่ของสถานที่เที่ยว ซึ่งถือเป็นคุณค่าหลักของสถานที่นั้นมากกว่าภาพถ่ายสวยๆ

ผลที่ตามมาจากการแห่เยี่ยมชมเป็นจำนวนมากที่แวะเวียนมาถ่ายรูป ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อสถานที่ท่องเที่ยวได้เช่นกัน เพราะไม่ใช่ทุกสถานที่จะสามารถรองรับคนได้เป็นจำนวนมาก อย่างซานโตรินี ประเทศกรีซ ที่ต้องเตรียมเรือสำราญสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวถึง 8,000 คนต่อวัน จึงทำให้นำไปสู่ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมในที่สุด 

Maya Beach, Thailand, August 19th 2017: Over crowded and polluted Maya Beach
Maya Beach, Thailand, August 19th 2017: Over crowded and polluted Maya Beach

และมีกรณีตัวอย่างที่ใกล้ตัว นั่นก็คือ อ่าวมาหยา ประเทศไทย ที่ต้องปิดให้เข้าชมเป็นเวลานาน 2 ปี เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศใหม่ หลังจากภาพยนตร์ ‘The Beach’ ที่นำแสดงโดยนักแสดงชื่อดัง ลีโอนาโด ดิคาปริโอ (Leonardo DiCaprio) เข้าฉายในปี ค.ศ.2000 ซึ่งทำให้มีคนแห่มาตามรอยเป็นจำนวนมาก เพื่อมาว่ายน้ำและถ่ายรูป 2-3 รูป แล้วก็จากไป

ในแง่ของธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ การเข้ามาเป็นจำนวนมากของลูกค้า จะทำให้เกิดความวุ่นวายในการบริหารจัดการ หากธุรกิจนั้นยังมีการรับมือกับการเข้ามาของผู้คนไม่ได้ อย่างที่จะเห็นร้านกาแฟบางแห่งปิดตัวลง เช่น เมื่อปลายปี ค.ศ.2019 ที่ผ่านมา มีร้านกาแฟแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ประกาศปิดกิจการ เนื่องจากความตั้งใจของผู้ประกอบการต้องการให้ร้านเป็นพื้นที่เงียบสงบ ทำให้มีโต๊ะรองรับลูกค้าเพียงแค่ 1-2 โต๊ะ แต่เมื่อมีการรีวิวและบอกต่อกันไปเรื่อยๆ ก็ทำให้มีคนแห่มารอคิวเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกินกว่าที่ผู้ประกอบการจะจัดการไหว

เหนือสิ่งอื่นใด การหลงลืมคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งที่อยู่หลังเลนส์ต่างหากที่อาจจะน่ากังวล ทั้งในแง่ของผู้ประกอบการที่เน้นการขายภาพลักษณ์มากกว่าคุณภาพ ผลิตเพื่อให้ถ่ายรูปออกมาสวยเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้ให้ความใส่ใจกับรสสัมผัสเท่าไหร่นัก เพราะรู้ว่าคนส่วนใหญ่มักจะเน้นถ่ายรูปมากกว่าชิม หรือในส่วนของผู้บริโภค ถึงแม้เราได้ภาพแสงสวยๆ คอมโพสดีๆ ลงอินสตาแกรมก็ตาม แต่การที่เราลืมดื่มด่ำกับรสชาติและความหอมของกาแฟตรงหน้าปล่อยให้เย็นชืดไร้รสชาติ ก็นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างหนึ่ง เพราะคุณค่าของสินค้าที่เราจะได้สัมผัสและลิ้มลองนั้นวางอยู่แค่ตรงหน้า ซึ่งก็คงหาไม่ได้จากภาพสองมิติในจอกล้อง

แม้ Instragrammable จะเป็นอีกไลฟ์สไตล์หนึ่งของผู้คน แต่ก็มีอีกหลายกรณีที่เป็นบทเรียนให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจที่คิดจะปรับตัวเข้ากับ 'กระแส instagrammable' ซึ่งโจทย์ก็คือจะทำยังไงให้ธุรกิจของเราสามารถรองรับกระแสนี้ได้ โดยที่ผู้บริโภคเองก็ยังคงมองเห็น 'คุณค่า' ที่แท้จริงของธุรกิจ ซึ่งควรจะมาควบคู่กัน

อ้างอิงข้อมูลจาก

neworld.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0