โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ดึง 200 หมู่บ้านจัดสรรร่วมขับเคลื่อนโซลาร์ประชาชน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 16 ก.พ. 2563 เวลา 04.08 น. • เผยแพร่ 16 ก.พ. 2563 เวลา 05.00 น.
2.ตร.น.5

กกพ.หนุนมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย “AEITF” ลุยโครงการ Solar Move ดึงอสังหาฯ 200 หมู่บ้านร่วมพลังงานสะอาดตามแผนโซลาร์ประชาชน 1,000 MW 2 แสนครัวเรือน 

นายสุเมฆ ปัณฑรานุวงศ์ ประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย (AEITF) กล่าวว่า เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน (Solar Move ) ภาคประชาชน จะมีการเริ่มนำร่องพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลในหมู่บ้านจัดสรรประมาณ 200 โครงการ ประมาณ 10,000 ครัวเรือน ให้มีความรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ และเพื่อร่วมกันลดภาวะโลกร้อนจากการลดการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตโดยเชื้อเพลิงที่เป็นฟอสซิล ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 75% (ก๊าซธรรมชาติ 58% และถ่านหิน/ลิกไนต์ 17%) เทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีสัดส่วนเพียง 10% ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2561-2580 (PDP 2018) จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปี 2580 ด้วย

โดยโครงการนี้มูลนิธิได้รับการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้าตามมาตรา 97(5) ผ่านการดำเนินโครงการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Solar Rooftop เข้าสู่ชุมชน เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้มีแนวทางในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้า สามารถทดลองใช้งานจริงผ่านรถนิทรรศการเคลื่อนที่ในรูปแบบ Active Learning 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสาขาครัวเรือนหรือกลุ่มที่อยู่อาศัยมีอัตราการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าถึง 10.1% (พิจารณาจากตัวเลขการใช้ไฟฟ้าเมื่อ พ.ย. 2562) โดยมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าถึง 26% หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้ไฟมากเป็นอันดับ 2 รองจากสาขาอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 45% และหากมีการรณรงค์หรือส่งเสริมให้ภาคครัวเรือน รวมทั้งหมู่บ้านจัดสรรได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) จะสอดคล้องกับโครงการโซลาร์ภาคประชาชนของ กกพ.ที่ส่งเสริมให้มีการติดตั้งปีละประมาณ 100 เมกะวัตต์ (MW) หรือเป็นการติดตั้งปีละ 10,000-20,000 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าได้ 4,000 ล้านบาท/ปี และหากมีการติดตั้งครบ 10 ปี ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) ก็จะมีกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดถึง 1,000 MW ซึ่งกระทรวงพลังงานคาดว่าจะมีประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนประมาณ 200,000 ครัวเรือนต่อไป

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทกานดาฯได้ติดตั้งเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านจัดสรรร่วมกับกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าเก็บไว้ที่แบตเตอรี่แล้วนำมาใช้ในตอนกลางคืน นอกจากนั้นมีการทดลองติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่สำนักงานขายขนาด 10 KW ทำให้ประหยัดไฟเดือนละหลายพันบาท สำหรับโครงการหมู่บ้านจัดสรรประเภทบ้านเดี่ยวที่เข้าร่วมโครงการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Solar Rooftop เข้าสู่ชุมชน เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนประมาณ 3 โครงการ รวมกันประมาณกว่า 1,000 ครัวเรือน  

ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทได้ร่วมออกบูทจัดกิจกรรมเคลื่อนที่สำหรับโครงการ Solar Move ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41 (Motor Show 2020) จัดทำโครงการ Solar Move เข้ากับกระแส PM 2.5 ซึ่งประเทศเราไม่เคยพบมาก่อน ประกอบกับช่วงปีหลัง ๆ นี้ ฝุ่นและมลพิษต่างมีส่วนทำลายในชั้นบรรยากาศของโลกมาก ดังนั้น มีความจำเป็นหรือถึงเวลาแล้ว เนื่องจากเราปล่อยปละละเลยเรื่องของพลังงานสะอาดหลายประเภท 

ด้านนายกิตติพงษ์ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า ยอมรับว่าอุปสรรคของการกระตุ้นให้มีการใช้โซลาร์เซลล์คือความเข้าใจที่ถูกต้อง และการมีส่วนร่วม ซึ่งหากคำนวณต้นทุนปัจจุบันราคาแผงโซลาร์ถูกลง 5,000 บาทต่อแผง 300 วัตต์ รวมถึงโซลาร์ประชาชน แม้จะยังเริ่มต้นได้ไม่มาก แต่ยังคงเดินหน้าตามเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มติดตั้งแล้ว ประชาชนยังสามารถสมัครได้ที่เรกูเลเตอร์ และ กกพ. หรือร่วมผลักดันการใช้โซลาร์ให้มากขึ้น เช่น โครงการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในการกระตุ้นให้ครัวเรือนใช้พลังงานทางเลือกที่ประหยัดขึ้น ขณะเดียวกันก็จะช่วยอนุรักษ์พลังงานอีกด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0