โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“ต่างชาติ” ซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยครึ่งปีแรก 7.34 หมื่นล้านบาท...แนวโน้มยังต่อเนื่องครึ่งปีหลัง !!!

Wealthy Thai

อัพเดต 15 ก.พ. 2565 เวลา 07.53 น. • เผยแพร่ 08 ก.ค. 2564 เวลา 16.45 น. • สรวิศ อิ่มบำรุง

แม้จะมีการระบาดของ COVID-19“ระลอก 3” ในช่วงไตรมาสที่2/21 แต่ภาพรวมของ“ตลาดตราสารหนี้ไทย” ยังขยายตัวได้ 2% จากสิ้นปี20 โดยมีมูลค่าตราสารหนี้คงค้างเพิ่มเป็น 14.41 ล้านล้านบาท จากการระดมทุนที่เพิ่มขึ้นของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
โดยมองหนี้สาธารณะของไทยตามนิยามของสากลยัง ‘ไม่ถึง 60%’ ของ GDP และไม่กระทบอันดับเครดิตของประเทศที่ BBB+ แต่ประการใด
ในขณะที่“นักลงทุนต่างชาติ” กลับเข้าซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยตั้งแต่เดือนมี.ค. เป็นต้นมา ทำให้ในครึ่งแรกของปี21 มียอดซื้อสุทธิสะสม 73,437 ล้านบาท
ด้านการออก “หุ้นกู้” ก็คึกคัก โดยมียอดออก ‘หุ้นกู้ระยะยาว’ ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 5.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ “สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)” ต้องปรับเป้าหมายการออกทั้งปีขึ้นเป็น 9 แสนล้านบาท จากเดิม 7.5 แสนล้านบาท
วันนี้ ทีมงาน ‘Wealthythai’ มีข้อมูลและมุมมองที่น่าสนใจของตลาดตราสารหนี้ไทยในครึ่งปีแรกมาฝากกัน

“เงินกู้ภาครัฐ” ไม่กระทบยีลด์ในตลาด…ส่วน “หนี้สาธารณะ” ไม่น่ากังวลนับตามสากลยังต่ำกว่า 60% ของ GDP

โดย “ธาดา พฤฒิธาดา” กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) บอกว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญการแพร่ระบาดของ COVID-19 “ระลอก 3” ตั้งแต่ไตรมาสที่2/21ที่ผ่านมา แต่มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยในครึ่งปีแรกขยายตัว 2% มาอยู่ที่ 14.41ล้านล้านบาทโดยเป็นการเพิ่มขึ้นในตราสารหนี้ที่ออกโดย ‘รัฐบาล’ในขณะที่ตราสารหนี้ที่ออกโดย ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ ลดลง

(ธาดา พฤฒิธาดา)

“การที่รัฐต้องระดมทุนเพื่อใช้ดูแลเศรษฐกิจและผลกระทบจาก COVID-19 จำนวนมากกว่า 2 ล้านล้านบาท นั้น จะไม่ทำให้อัตราผลตอบแทนในตลาดปรับตัวขึ้นมามากแต่ประการใด เพราะสภาพคล่องในระบบยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก เฉพาะ ‘เงินฝาก’ ในระบบธนาคารก็มีมากกว่า 16-17 ล้านล้านบาท จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพันธบัตรออมทรัพย์ที่เพิ่งออกมาจึงขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว”
ส่วน “หนี้สาธารณะ” ของภาครัฐนั้น หากนับตามนิยามสากลที่ใช้กันทั่วโลก ตัวเลขจะ ‘ไม่ถึง 60%’ ของ GDP แต่ตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยเองนั้นนับไม่เหมือนประเทศอื่นๆ เขา เพราะไปรวมเอาหนี้รัฐวิสาหกิจเข้ามาด้วย และเรื่องนี้คงไม่กระทบ “อันดับเครดิต” ของประเทศที่ปัจจุบันอยู่ที่ BBB+ แต่ประการใด ในอดีตก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งปี1997 นั้น อันดับเครดิตไทยเคยสูงกว่านี้อยู่ที่ A ซึ่งไทยมีเรทติ้ง BBB+ มานานมากแล้วมีแต่รอว่าเมื่อไรจะได้ปรับขึ้นเท่านั้นเอง

ปรับเป้ายอดออก “หุ้นกู้ระยะยาว” ทั้งปี21 ขึ้นเป็น 9 แสนล้านบาท…คาดครึ่งหลังมีออกไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท

ณ สิ้นไตรมาสที่2/21 มูลค่า “ตราสารหนี้ภาคเอกชน” อยู่ที่ 4.01 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2% จากสิ้นปี20 โดยแบ่งเป็น ‘ตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น’ 0.26 ล้านล้านบาท และ ‘ตราสารหนี้เอกชนระยะยาว’3.76 ล้านล้านบาท
ส่วนมูลค่าการออก ‘ตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว’ เพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วโดยมีมูลค่าการออก 522,070ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี2019 ซึ่งเป็นปีที่มียอดการออกทั้งปีสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1.08 ล้านล้านบาท โดยตัวเลขยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนเม.ย.-มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการระบาด “ระลอก3” โดยการออกหุ้นกู้ระยะยาวของผู้ออก Real Sector เพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่มเรทติ้ง ซึ่งส่วนใหญ่ที่ออกจะอยู่ในกลุ่ม A และ BBB

“นั่นทำให้ทางสมาคมฯ มีการปรับเป้าการออกหุ้นกู้ระยะยาวทั้งปี21 ขึ้นเป็น 9 แสนล้านบาท จากเดิม 7.5 แสนล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงปีหลังนั้นจะมีการออกหุ้นกู้ระยะยาวอีกไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งได้รวมเอาผลกระทบจาก COVID-19 เอาไว้แล้ว เพราะคาดว่าบริษัทเอกชนไทยยังคงต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาวเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการ refinance สินเชื่อที่กู้มาในช่วงก่อนหน้านี้ของบริษัทขนาดใหญ่เพื่อการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ด้วย”
กรณี COVID-19 “ระลอก3”นี้ ไม่ได้กระทบตลาดหุ้นกู้ในภาพรวม ยังไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ (Default) แต่ประการใด มีเพียง 9 บริษัทในกลุ่ม High Yield ที่ขอยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเดิมที่เคยยืดเวลามาแล้วจากครั้งก่อน เพียงแต่ COVID-19 อาจจะยืดเยื้อกว่าที่คาด จึงต้องขยายระยะเวลาชำระคืนหนี้ออกไปเท่านั้นเอง

“ต่างชาติ” ซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยครึ่งปีแรก 7.34 หมื่นล้านบาท…ส่วนใหญ่ลงทุนระยะยาว-คาดยังต่อเนื่องช่วงครึ่งปีหลัง

ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ในครึ่งแรกของปี21“นักลงทุนต่างชาติ” มีการซื้อสุทธิรวม 73,437 ล้านบาท เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ระยะสั้นและซื้อสุทธิตราสารหนี้ระยะยาว เป็นการกลับเข้าซื้อตั้งแต่เดือนมี.ค. เป็นต้นมา ทำให้ยอดการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นไตรมาสที่2/21 อยู่ที่ 908,386 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 849,081 ล้านบาท ณ สิ้นปีก่อนหน้า โดยมากกว่า 90% เป็นการถือครองในตราสารหนี้ระยะยาว และมีอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ถือครองอยู่ที่ 9.33 ปี
“โดยทิศทางการเข้าลงทุนของต่างชาติในช่วงไตรมาสที่3 น่าจะยังซื้อต่อเนื่อง ส่วนในไตรมาสที่4 คงต้องจับตาดูเรื่องข่าวการทำ QE Tapering ของสหรัฐ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติได้เช่นกัน แต่ปัจจุบันเงินต่างชาติที่ลงทุนอยู่นั้นเป็นเงินลงทุนระยะยาวจริงๆ ไม่ใช่เงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรแต่ประการใด”

Bond Yield” ของไทยในครึ่งปีแรกมีความสัมพันธ์กับสหรัฐมากขึ้น…คาดครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับขึ้นตามสหรัฐได้

ส่วนเส้น “อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Yield Curve)” ในช่วงครึ่งปีแรกมีการปรับตัวในทิศทางขาขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในเดือนก.พ.และมี.ค.ที่ปรับตัวขึ้นค่อนข้างมากตาม “อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ” ที่มีปัจจัยกดดันจากความกังวลด้านเงินเฟ้อ จากนั้นปรับตัวลงเล็กน้อยในไตรมาสที่2/21 จากการระบาดของ COVID-19 “ระลอก 3” เมื่อสิ้นไตรมาสที่2/21 เส้น Bond yield จึงมีลักษณะชันขึ้น (Steepen)จากสิ้นปีที่แล้ว
โดย Bond yield ปรับตัวสูงขึ้นจากสิ้นปีก่อนในทุกช่วงอายุ ซึ่งรุ่นอายุ 2 ปี เพิ่มขึ้น13 bps. และรุ่นอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้น 50 bps. จากปลายปีที่แล้วมาอยู่ที่ระดับ 0.51% และที่ 1.78% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาสที่2/21ทั้งนี้ยังพบว่าช่วงครึ่งปีแรกนี้ เส้น Bond Yield ของไทยและสหรัฐมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น โดยรุ่น 5 ปี มีค่า Correlation อยู่ที่ 0.82 ในขณะที่รุ่น 10 ปี อยู่ที่ 0.95

“ดังนั้นทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่ามีโอกาสจะ ‘ขยับขึ้น’ ตาม Bond yield ของสหรัฐจากการที่ FED จะเริ่มส่งสัญญาณการทยอยถอนมาตรการการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) เมื่อตัวเลขต่างๆ สะท้อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ในขณะที่อัตรา ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ ของไทยนั้น จะยังอยู่ที่ 0.50%ไปจนถึงสิ้นปี22”
ทั้งหมดนี้เป็นบทสรุปเพียงบางส่วนของ “ตลาดตราสารหนี้ไทย” ในช่วงครึ่งแรกของปี21 ที่ผ่านมา และมุมมองการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0