โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ดีอีเดินหน้าเวิร์คช้อปคิดโครงการรับอนาคต

Manager Online

อัพเดต 15 ก.ค. 2561 เวลา 02.05 น. • เผยแพร่ 15 ก.ค. 2561 เวลา 02.05 น. • MGR Online

รมว.ดีอีเผยอันดับนวัตกรรมไทยดีขึ้น 7 อันดับ สะท้อนการนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เห็นผล เร่งเวิร์คช้อปตามแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ใน 6 ด้าน ของกระทรวงดิจิทัลฯ หวังเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า Global Innovation Index (GII) 2018 ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยขึ้นจากอันดับที่ 51 เป็นอันดับที่ 44 ทำให้เชื่อได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังเดินหน้านโยบายไทยแลนด์ 4.0 หรือแม้แต่การขับเคลื่อนของเอกชนในแนวทางดังกล่าวได้เห็นผลแล้ว แม้ว่าจะเห็นผลช้าหน่อยก็ตาม

“ประเทศไทยมีดิจิตอล แบงก์กิ้ง ประกอบกับสนับสนุนสตาร์ทอัป ในหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน ขณะที่การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาโดยภาคเอกชนเองนั้นก็มีมากขึ้นกว่า 70% แล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงเดินหน้าแผนปฏิรูปประเทศ โดยภายหลังที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนปฎิรูปประเทศเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2561 ทุกหน่วยราชการต้องทำแผนให้เกิดเป็นโครงการรูปธรรมที่สอดคล้องกับแผนปฏิรูปดังกล่าว

กระทรวงดีอีจึงได้เร่งปฎิบัติการเวิร์คช้อปทุกหน่วยงานในกระทรวงให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยโครงการที่คิดมีทั้งโครงการเก่า และโครงการใหม่ที่ต้องทำให้ได้ในแผน 5 ปี และมองถึงอนาคต 20 ปีข้างหน้าด้วย เพื่อให้สามารถสรุปได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ ในการนำเสนอรัฐบาลเดือน ต.ค. ซึ่งโครงการระยะสั้นจะมีผลต่อการของบประมาณในปี 2563

“โครงการที่ได้ในการประชุมครั้งนี้ หากโครงการไหนยังดูไม่เป็นรูปเป็นร่าง เราก็จะหาที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างชาติมาช่วยตบๆให้โครงการเข้าที่เข้าทางมากขึ้น การประชุมครั้งนี้ค่อนข้างท้าทายให้กับคนกระทรวงดีอี เพราะการคิดโครงการต้องคิดถึงอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้าด้วย แต่ก็ต้องยอมรับว่าการคิดนอกกรอบอาจจะน้อยเพราะด้วยกฎระเบียบทางราชการ ทำให้บางอย่างอาจทำไม่ได้ การประชุมครั้งนี้อาจจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์เพราะต้องมีการคิดต่อเนื่องจนกว่าจะเป็นรูปธรรมและพร้อมเสนอรัฐบาลภายในกำหนดเวลา”

สำหรับสำหรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ มีแผนงานโครงการสำคัญต่างๆ ที่รองรับตามยุทธศาสตร์ชาติ ดังนี้ 1. ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ดำเนินการพัฒนา ปรับปรุงกฎหมายที่สำคัญในการผลักดันด้านเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงโครงการด้านการจัดหาระบบ วิเคราะห์ข้อมูลด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

2.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งนอกจากการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องแล้ว กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ EECโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและส่งเสริมการเติบโตของ Digital Startup (NDSP)

โครงการจัดตั้งสถาบันไอโอที (IoT Institute) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต โครงการดิจิทัลชุมชนด้านe-Commerce โครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (กิจกรรมการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและปรับปรุงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่เป็นเทคโนโลยีแบบเก่าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยสายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ไปยังโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสุขศาลาพระราชทาน)

โครงการจัดทำแผนแม่บทด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ ระยะ 5 ปี โครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ Smart City จังหวัดภูเก็ต โครงการพัฒนาศูนย์พัฒนานโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy Policy Unit) นอกจากโครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการแล้ว กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินการต่อยอดการเรียนรู้ให้กับประชาชน อาทิ แผนการสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์โครงข่ายและส่งเสริมการใช้งานแก่ประชาชน และโครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (ศูนย์ดิจิทัลชุมชน)

3. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ซึ่งกระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และกำลังคน โดยจะเห็นได้จากโครงการต่างๆ ที่กระทรวงฯ ได้ผลักดัน เช่น โครงการ Coding Nation และโครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (ศูนย์ดิจิทัลชุมชน)

4.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมสังคม ได้แก่ โครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (กิจกรรมการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและปรับปรุงโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ที่เป็นเทคโนโลยีแบบเก่าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยสายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ไปยังโรงเรียน

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสุขศาลาพระราชทาน) แผนการสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์โครงข่ายและส่งเสริมการใช้งานแก่ประชาชน โครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล (ศูนย์ดิจิทัลชุมชน) และโครงการสร้างความตระหนักในการใช้อินเทอร์เน็ตให้เสริมสร้างรายได้และรู้เท่าทันภัยคุกคามไซเบอร์ (Internet for Better Life)

5. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงฯ ได้มีโครงการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อเตือนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ รับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น โครงการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อบริหารจัดการน้ำ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งเน้นความเป็นเมืองที่เติบโตอย่างยั่งยืน

และ 6. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับปรุงสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยกระทรวงดิจิทัลฯ พยายามผลักดันนโยบายรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการบริการของภาครัฐนำไปสู่การก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาพิสูจน์ยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อป้องกันและลดปัญหาการปลอมแปลง หลอกลวง และฉ้อโกง (พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล Digital Identity) โครงการศึกษารูปแบบการบูรณาการข้อมูลสถิติและฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) เพื่อการสนับสนุนการตัดสินใจ โครงการจัดทำระบบประมวลผลข้อมูลดิจิทัลอัจฉริยะสำหรับศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัลอัจฉริยะแห่งชาติ ตลอดจนการพัฒนาด้านกฎหมาย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0