โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ดีอีจุดพลุคลาวด์ภาครัฐดัน กสท โทรคมนาคม สร้างรายได้

Manager Online

อัพเดต 25 พ.ค. 2562 เวลา 02.28 น. • เผยแพร่ 25 พ.ค. 2562 เวลา 02.28 น. • MGR Online

กระทรวงดีอี เปิดตัว “โครงการ GDCC ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ” หนุน กสท โทรคมนาคม ให้บริการ หลัง ครม.อนุมัติให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินทำโครงการ 3 ปี จำนวน 4,000 ล้านบาท เริ่มปีงบประมาณ 2563-2565 คาดลดต้นทุนการตั้งงบประมาณเอง 30-50 % เหตุไม่ต้องลงทุนทั้งระบบ สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ ลั่น ลูกค้าภาครัฐมารอแล้วเริ่มดีเดย์โครงการตั้งแต่วันนี้-สิ้นปี ด้วยงบประมาณกองทุนดีอี 900 ล้านบาท รองรับได้ 2,000 วีเอ็ม คาดทั้งโครงการมีหน่วยงานรัฐใช้กว่า 10,000 วีเอ็ม

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี ) กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา เรื่องการทำคลาวด์ภาครัฐให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ ปี 2563-2565 ให้กระทรวงดีอีการทำคลาวด์ภาครัฐ นั้น กระทรวงได้มอบหมายให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการโดยเริ่มได้ทันที ซึ่งหน่วยงานรัฐมีความต้องการมาใช้งานแล้ว ทำให้ในปีนี้กระทรวงต้องใช้งบประมาณจากกองทุนคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) จาก สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) ไปก่อนประมาณ 900 ล้านบาท

สำหรับโครงการดังกล่าว กระทรวงจะให้กสท โทรคมนาคม ทำหน้าที่เก็บข้อมูล พร้อมทั้งให้คำแนะนำหากหน่วยงานยังไม่มีความรู้ หรือสามารถเลือกใช้ระบบคลาวด์ของ กสท โทรคมนาคม เป็นศูนย์สำรองข้อมูลก็ได้ กระทรวงจะไม่บังคับ หากบางหน่วยงานมีความพร้อมใช้ของตนเอง ซึ่งการทำงานนี้ กระทรวงได้รับงานส่งต่อมาจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ ดีจีเอ ซึ่งเขาจะมีภารกิจในการสร้างมาตรฐานต่างๆต่อไป โดยหลังจากนี้กระทรวงก็จะทำงานร่วมกับดีจีเอในการกำหนดมาตรฐานใหม่ๆร่วมกันด้วย

“สิ่งที่โครงการนี้ทำให้สำนักงบประมาณได้ประโยชน์จากการที่ไม่ต้องจัดสรรงบประมาณซ้ำซ้อน และบางครั้งลงทุนสร้างศูนย์เก็บข้อมูลแต่ใช้งานได้ไม่เต็มที่กับเงินที่ลงทุนไป การที่กระทรวงทำโครงการนี้จะสามารถช่วยลดงบประมาณโดยรวมได้ 30-50 % อีกทั้งยังตรวจสอบความโปร่งใสของเงินลงทุนได้จากแหล่งเดียว ที่สำคัญคือ กสท โทรคมนาคม ก็จะมีรายได้และมีมูลค่ามากขึ้นสำหรับการควบรวมกิจการในอนาคตกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)”

นายพิเชฐ กล่าวว่า GDCC ออกแบบสอดคล้องกับโครงสร้างภาครัฐเพื่อรองรับความต้องการการใช้งานต่างระดับ ด้วยแนวคิด House Model ซึ่งให้ความสำคัญกับการบูรณาการตั้งแต่ระดับโครงสร้างพื้นฐาน และจัดทำเป็นคลาวด์ 3 ระดับ ได้แก่ คลาวด์ระดับกระทรวง (Ministry Cloud) คลาวด์ระดับกรม (Agency Cloud) คลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC)

โดยหน่วยงานที่มีระบบคลาวด์มาตรฐานใช้งานอยู่แล้ว สามารถใช้ระบบคลาวด์ปัจจุบันของหน่วยงานเองต่อไปได้ แต่หากหน่วยงานใดไม่ต้องการลงทุนระบบ ก็สามารถมาใช้งาน GDCC ได้ นอกจากนี้ หากหน่วยงานใดที่มีความจําเป็นต้องใช้คลาวด์แบบเร่งด่วน หรือเป็นระบบสํารอง (DR Site) ก็สามารถมาใช้งาน GDCC ได้ด้วย

GDCC ประกอบด้วยการออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ (Cloud Infrastructure) และระบบสื่อสารโทรคมนาคม ที่ได้มาตรฐานสากล ISO 27001, ISO 20000-1 มีความมั่นคงด้านเสถียรภาพและความปลอดภัยสูง พร้อมทั้งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ GDCC ใช้เทคโนโลยี VMware และ Openstack มาพร้อมกับ SLA Cloud System Uptime 99.99% และภายใน 3 ปี มีเป้าหมายพัฒนาระบบคลาวด์ GDCC ให้มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ SLA 99.999 % (Five Nines) โดย 3 บริการหลักของระบบคลาวด์ GDCC ได้แก่ บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เสมือน (Virtual Machine หรือ VM) (GDCC Cloud)

บริการย้ายโอนระบบงานขึ้นมาอยู่บน GDCC (GDCC Migration Service)

บริการฝึกอบรม (GOCC Training & Certification)

ด้าน พ.อ.สรรพชัย หุวนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า บริษัทได้สอบถามความต้องการการใช้คลาวด์กับหน่วยงานภาครัฐแล้วพบว่าขณะนี้มีความต้องการเกือบ 6,000 วีเอ็ม แต่เนื่องจากปีนี้กระทรวงต้องใช้งบประมาณจากกองทุนดีอีก่อนจึงคาดว่าจะสามารถสร้างบริการให้หน่วยงานภาครัฐได้ 2,000 วีเอ็ม

จากนั้นในปี 2563 จะรองรับได้ 4,000 วีเอ็ม คาดว่าจะสามารถรองรับความต้องการได้ 10,000 วีเอ็มภายในปี 2565 ซึ่งโครงการนี้จะทำให้รายได้ดาต้า เซ็นเตอร์ของบริษัทในปีนี้เตะระดับพันล้านบาทได้ และจะเพิ่มขึ้นตามลำดับตามจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0