โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ดิว ไปด้วยกันนะ : ยูโทเปียชำรุด

The Momentum

อัพเดต 11 พ.ย. 2562 เวลา 15.09 น. • เผยแพร่ 11 พ.ย. 2562 เวลา 08.04 น. • Filmsick

In focus

  • ดิว ไปด้วยกันนะโดย มะเดี่ยว ชูเกียรติ ดัดแปลงจากหนังเกาหลีมาเป็นหนังไทย เป็นการกลับหัวกลับหางเชิงความสัมพันธ์และเพศสภาพของตัวละครที่ท้าทาย และช่วยไม่ได้ที่มันจะก่อปัญหาให้กับเรื่องเล่าในเวลาต่อมา 
  • Bungee Jumping of Their Own(2001) เป็นหนังที่ไปได้ไกลเท่าที่หนังกระแสหลักในช่วงเวลานั้นจะไปได้ ในการพูดเรื่องเกย์ในเกาหลีซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเกลียดเกย์ แต่คงไม่อาจบอกได้ว่ามันเป็นหนังเกย์หัวก้าวหน้า เพราะมันถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบรักชายหญิง เกย์ถูกยอมรับได้เพราะถูกสวมเสื้อซ่อนไว้ใต้ความสัมพันธ์แบบชายหญิง 
  • ดิว ไปด้วยกันนะกลับเริ่มต้นจากเรื่องของคนรักเพศเดียวกันในประเทศที่เกลียดเกย์น้อยกว่า ในยุคสมัยที่เปิดกว้างต่อเกย์มากกว่า มันจึงท้าทายหน่อยๆ ที่ความสัมพันธ์ของรักต่างเพศในครึ่งหลัง ยืนอยู่บนความเชื่อในรักแท้ของคนรักเพศเดียวกัน 
  • หากแต่หนังสองเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจจึงไม่ใช่การเปรียบความระหว่างหนังสองเรื่องที่อาจจะมาจากเรื่องเดียวกัน หากคือการเปรียบความภายในหนังเรื่องเดียวกันระหว่างครึ่งแรกกับครึ่งหลัง

บทความเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

ดิวเพิ่งย้ายมาปางน้อย ระหว่างทางไปโรงเรียน ขณะกำลังฟังเพลงเพลินๆ เขาก็ได้เจอกับภพ ภพเป็นเด็กหนุ่มลูกครึ่งจีนในหมู่บ้าน เขาชวนดิวซ้อนท้ายไปโรงเรียน ระหว่างทางฝนดันตกลงมา และด้วยความไม่ตั้งใจ ดิวทำให้มอเตอร์ไซค์ของภพตกข้างทาง ไปถึงโรงเรียนเปียกมะล่อกมะแล่กทั้งคู่ 

ที่โรงเรียนเทอมใหม่ ครูน้อยครูใหญ่ร่วมกับค่ายทหารมีโครงการแก้กะเทยให้เป็นชาย โดยจับตัวตุ๊ดเด็กทุกคนส่งเข้าค่ายทหารทุกเย็น ดิวพยายามทำตัวปกติไม่บอกใคร แม้เขาจะต้องอึดอัดตลอดเวลา 

จากการซักเสื้อนักเรียนมาคืนให้กัน ดิวกับภพก็สนิทกันมากขึ้นเรื่อยๆ ดิวซ้อนมอเตอร์ไซค์ภพไปไหนมาไหนด้วยกัน เขาพาดิวไปยังที่ที่เขาจะมาเมื่อทุกข์ใจ ดิวสอนให้เขาดูรูปสามมิติ ตอนปิดเทอมพวกเขาเข้าไปเรียนซัมเมอร์ในเชียงใหม่ นอกเมืองที่ทุกคนรู้จักกันและซุบซิบกัน เมืองที่ทหารจับตุ๊ดเด็กไปปรับทัศนคติ เมืองที่พ่อแม่ไม่ได้เข้าอกเข้าใจลูกของตน ในเชียงใหม่ ภพกับดิวรู้ตัวว่าพวกเขาเป็นมากกว่าเพื่อน แต่ภพไม่อาจยอมรับตัวเองได้ เขาหนีกลับมาบ้าน  พยายามออกให้ห่างจากดิว แต่นั่นยิ่งทำให้ทั้งคู่ทรมาน ถึงที่สุดก็ชกต่อยกัน ที่สุดไปกว่านั้นก็คือการยอมรับกันและกันและยอมรับว่าโลกใบนี้ไม่ใช่ที่ของพวกเขา มีทางเดียวคือหนีไปให้ไกลจากที่นี่ แต่คืนนั้น ดิวไม่เคยมา

หลายปีต่อมา ภพกลับมาเยือนปางน้อยอีกครั้งพร้อมกับภรรยา หนีชีวิตธุรกิจล้มเหลวมาเป็นครูในโรงเรียนที่ตัวเองเคยเรียน ราวกับทุกอย่างผ่านพ้นไปแล้ว 

เขาได้รับการทดสอบให้ดูแลเด็กหลิว เด็กสาวแรกรุ่นดื้อรั้นแก่แดดที่คบหาอยู่กับเพื่อนรุ่นพี่ แต่ยิ่งดูแลชิดใกล้ ครูภพยิ่งพบว่าเด็กหลิวมีบางอย่างที่เชื่อมโยงไปถึงดิว รักแรกและรักเดียวของเขา ยิ่งนานวันยิ่งชัดเจน เขายิ่งหมกมุ่นหลงใหลในตัวเด็กสาวที่ก็รู้สึกเหมือนมีบางอย่างเชื่อมโยงกับอดีตในตัวของครู ความสัมพันธ์ต้องห้ามของจากเด็กนักเรียนชายสองคนไปเป็นครูหนุ่มกับศิษย์สาว ที่อาจจะเป็นคนรักเก่ากลับชาติมาเกิด 

หนังดัดแปลงจาก Bungee Jumping of Their Ownหนังเกาหลีปี 2001 ที่หลายคนเคยดู หากไม่เคยดูก็ต้องเคยได้ยินชื่อ หรือรู้เรื่องราวของหนังมาก่อน หนังว่าด้วยเรื่องของคู่รักมหาวิทยาลัย เด็กหนุ่มเรียนภาษา เด็กสาวเรียนศิลปะ ทั้งคู่เจอกันเหมือนพรหมลิขิต เธอบังเอิญ (หรืออาจจะไม่บังเอิญ) มาขอติดร่มเขาเดินไปป้ายรถเมล์ เขาตกหลุมรักเธอตั้งแต่วันนั้น เฝ้าคอยแอบมองเธอติดตามเธอ ในที่สุดเธอก็เปิดเผยว่าเธอก็รักเขา ความรักครั้งแรกของหนุ่มสาวคู่หนึ่งงดงามอ่อนหวาน คืนหนึ่งเขาขอนอนกับเธอทั้งคู่เดินตากฝนหาโรงแรมจิ้งหรีด ใช้จ่ายค่ำคืนเคอะเขินอ่อนหวานด้วยกัน เธอสัญญาจะมาส่งเขาไปเป็นทหารที่สถานีรถไฟ แต่เธอไม่เคยมา

หลายปีต่อมาเขากลายเป็นคุณพ่อลูกหนึ่งที่มาเป็นครูมัธยมปลาย ในนักเรียนที่เขาเป็นครูประจำชั้นเขาพบเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเด็กหนุ่มธรรมดา มีแฟนแล้วเป็นเด็กสาวร่วมห้อง เด็กหนุ่มพูดบางอย่าง ทำบางสิ่งที่ทำให้เขาคิดถึงเธอ เขาให้ความใกล้ชิดกับเด็กหนุ่มมากกว่าเด็กคนอื่น เด็กหนุ่มก็มองเห็นบางอย่างในตัวอาจารย์ แต่เขาพยายามปฏิเสธว่าเขาไม่ได้เป็นเกย์ แต่ยิ่งนับวันสองคนยิ่งใกล้ชิด ข่าวลือก็สะพัดออกไป ครูหนุ่มทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ตัวเองเชื่อว่ายังเป็นปกติ ถึงขนาดปลุกปล้ำภรรยาตัวเอง แต่ทุกอย่างกลับพาเขากลับไปหารักเดียวของเขา ในที่สุดทั้งคู่ก็ละทิ้งทุกอย่างและหนีไปด้วยกัน ไปกระโดดบันจี้จัมพ์ ตามที่เด็กสาวครั้งหนึ่งเคยฝันเอาไว้ บันจี้จัมพ์ไปเสียจากโลก 

ที่น่าสนใจมากๆ คือการดัดแปลงจากหนังเกาหลีกลับมาเป็นหนังไทยกลายเป็นการกลับหัวกลับหางเชิงความสัมพันธ์ของตัวละครที่ท้าทาย และช่วยไม่ได้ที่มันจะก่อปัญหาให้กับเรื่องเล่าในเวลาต่อมา 

เราอาจบอกได้ว่า Bungee Jumping of Their Ownเป็นหนังที่ไปได้ไกลเท่าที่หนังกระแสหลักในช่วงเวลานั้นจะไปได้ ในการพูดเรื่องเกย์ในเกาหลีซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเกลียดเกย์ ความรักของคนหนุ่มสองคนถูกซ่อนเอาไว้ภายใต้กรอบคิดของรักโรแมนติกของการที่จะรักใครสักคนไปจนแม้แต่ความตายไม่อาจมาพราก จนเราอาจบอกได้ว่ามันไม่ได้เป็นหนังเกย์หัวก้าวหน้าเพราะมันถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบรักชายหญิง เกย์เป็นเพียงร่างทรงของเพศวิถีแบบรักต่างเพศ เกย์ถูกยอมรับได้เพราะถูกสวมเสื้อซ่อนไว้ใต้ความสัมพันธ์แบบชายหญิง มันจึงน่าสนใจว่า ดิว ไปด้วยกันนะกลับเริ่มต้นจากเรื่องของคนรักเพศเดียวกันในประเทศที่เกลียดเกย์น้อยกว่า ในยุคสมัยที่เปิดกว้างต่อเกย์มากกว่า มันจึงท้าทายหน่อยๆ ที่ความสัมพันธ์ของรักต่างเพศในครึ่งหลัง ยืนอยู่บนความเชื่อในรักแท้ของคนรักเพศเดียวกัน 

หากด้วยตัวบทสองช่วงชีวิต ความสัมพันธ์ในอดีตจึงกลายเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ในอนาคต และการณ์กลายเป็นว่าในความไม่ก้าวหน้าของ Bungee Jumping มันกลับถูกจดจำในฐานะของการท้าทายความโรแมนติกของรักต่างเพศ การหลบหนีไปด้วยกันของครูกับนักเรียนหนุ่มกลายเป็นการปลดปล่อยตัวเองทั้งจากกรอบคิดเรื่องรักต่างวัยและรักต่างเพศ ในทางตรงกันข้าม ดิว ไปด้วยกันนะเรากลับพบว่า หนังค่อยๆ เลือนภาพการต่อสู้ของรักร่วมเพศลงแล้วปล่อยให้กรอบความคิดแบบรักโรแมนติกข้ามภพข้ามชาติข้ามเวลามาพบกันทรงพลังกว่า เพียงเพราะการสลับเพศตัวละคร ภายใต้ความท้าทายของตัวละครกับสังคม หนังกลับไปสู่การเป็นหนังรักโรแมนติกเพียงเพราะอำนาจของความสัมพันธ์ในอดีตถูกสลับตำแหน่งแห่งที่ 

หากแต่หนังสองเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจจึงไม่ใช่การเปรียบความระหว่างหนังสองเรื่องที่อาจจะมาจากเรื่องเดียวกัน หากคือการเปรียบความภายในหนังเรื่องเดียวกันระหว่างครึ่งแรกกับครึ่งหลัง

พล็อตของหนังครึ่งแรกอาจจะเป็นเพียงพล็อตสามัญดาษดื่นของหนังเกย์มัธยมกับการเปิดเผยตัวตน มันอาจเป็นหนังที่มีการสร้างมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่ในส่วนนี้หนังกลับงดงามอย่างยิ่ง เจ็บปวดอย่างยิ่ง เมื่อเราพบว่า หนังส่วนนี้ทั้งส่วนแทบจะไม่เคลื่อนย้ายออกจากตัวละครหลักทั้งสองตัว ราวกับว่า นี่คือโลกยูโทเปียของคนสองคน

ในขณะที่หนังทำให้ตัวละครอื่นๆ เป็นเพียงฉากหลังเลือนราง ในส่วนนี้หนังกลับกดตัวละครด้วยสิ่งที่เรามองไม่เห็น มองเห็นเป็นเพียงองค์ประกอบ ตั้งแต่การเกณฑ์ตุ๊ดไปปรับทัศนคติ  การต่อสู้กับพ่อที่ไม่ยอมรับ หรือแม่ที่ไม่อยากพรากจากลูกไป ราวกับว่าสังคมปางน้อย สังคม ‘ชนบท’ ไทย เป็นโลกอาจชั่วร้ายที่กดขี่ผู้คน และ ‘เมือง’ อย่างเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่ไกลจากหูตาอันประชิด เป็นที่ที่พวกเขาจะได้เป็นตัวเอง 

ในขณะที่ครึ่งหลัง หนังเต็มไปด้วยตัวละครรายรอบ เต็มไปด้วยบรรทัดฐานทางสังคมของครูกับลูกศิษย์ กล้องเคลื่อนหาคนอื่นๆ จำนวนมาก แต่ในภาคนี้หนังกลับหัวปักหัวปำมุ่งไปในฐานะยูโทเปียของคนสองคนอย่างยิ่ง จนกลายเป็นว่าบรรทัดฐานทางสังคมที่เป็นเพียงองค์ประกอบ ภรรยาที่ถูกทอดทิ้ง อาชีพและจริยธรรมของครูเป็นเพียงเรื่องที่รอได้ การขืนต้านของหนังมุ่งมั่นแต่ค่อนข้างอ่อนกำลัง หนังต้องพยายามอย่างยิ่งเพื่อจะทำให้คนอื่นนอกจากตัวละครเชื่อว่านี่คือการกลับมาของดิวในคราบของหลิว หนังต้องพยายามอย่างยิ่งที่ที่จะทำให้คนดูเชื่อว่าความรักของหลิวกับครูภพเกิดขึ้นจริง ถึงที่สุด หนังจึงแกว่งไปมาอยู่ระหว่างหนังของ ‘เราสองต่อสู้กับโลกทั้งใบ’ กับ ‘คู่รักเอาแต่ใจที่หนีไปด้วยกัน’ ถึงที่สุด ฉากกระโดดบันจี้จัมพ์ ในหนังถูกทำให้เป็นฉากที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง จนอดคิดไม่ได้ว่าที่หลิวบอกครูภพว่ามันต้องมีทางของมัน เพราะในที่สุด พวกเขาสยบยอมต่อวิถีรักต่างเพศ การเป็นรักร่วมเพศถูกปรับทัศนคติผ่านทางการข้ามเพศของตัวละคร ในขณะที่ปัญหาที่ท้าทายเส้นศีลธรรมกว่าอย่างเช่นความรักของครูกับลูกศิษย์ หรือความเกือบจะ pedophile ของตัวละครไม่ได้ถูกหยิบมาพิจารณาโดยละเอียดเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหนังให้ตัวละครแสดงในแบบของผู้ต้องมนต์มากกว่าผู้ขืนต้านในช่วงท้ายของหนัง 

กลายเป็นว่าฉากที่สำคัญที่สุดจึงกลายเป็นฉากของครูรัชนีที่บอกกับภพว่า เราต้องก้าวข้ามบาดแผลเพื่อใช้ชีวิตต่อไป อันที่จริงหากหนังเลือกจบตรงนี้บทสรุปของหนังก็อาจจะเป็นที่น่าพอใจสำหรับสังคมอนุรักษ์นิยมที่ครูหนุ่มปล่อยศิษย์สาวไปตามทาง กลายเป็นหนังของคนที่ถูกโชคชะตาโบยตี ถูกประเพณีและสังคมทำลายล้าง (การตีความสองแบบนี้สามารถเป็นไปได้ทั้งสิ้น) แต่การที่หนังเลือกจะหัวปักหัวปำต่อไป ซึ่งในทางหนึ่ง ตัวหนังมันไม่แข็งแรงพอที่จะทำให้เชื่อ ก็อาจตีความกลับเป็นการต่อต้านโลกทั้งใบที่กดทับเราลงมา หนทางเดียวที่จะต่อสู้กับมันไม่ใช่การลืม แต่เป็นการไปให้สุดทาง และแน่นอนว่ามันมีค่าใช้จ่ายที่ต้องแลกมา 

นี่อาจไม่ใช่หนังที่ดีที่สุดของ ชูเกียรติ แต่หนังกลับมีภาวะบางอย่างที่ทิ้งตะกอนตกค้างเอาไว้ในความอิหลักอิเหลื่อของมัน และร่องรอยเล็กน้อยเหล่านั้นทำให้เราไม่อยากมองข้ามหนังเรื่องนี้ไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0