โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

ดาราจะรัก จะเลิกกัน ทำไมต้องออกมาขอโทษประชาชน​?

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 17 พ.ย. 2561 เวลา 01.00 น.

ดาราจะรักจะเลิกกันทำไมต้องออกมาขอโทษประชาชน​? 

ทุกๆครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับความรักของดารา ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเปิดตัวคบกันของคู่รัก กรณีวงแตกของคู่จิ้น กรณีเลิกราหย่าร้าง แต่งงาน ท้องก่อนแต่ง หรือแม้กระทั่งความ #หมดPassion ที่ดารามีต่อคนรักภายหลังการคบหาดูใจกันมาร่วมสิบกว่าปี…เหล่านี้มักจะกลายเป็นประเด็นให้บรรดาชาวโซเชียลได้พูดถึงและแสดงความคิดเห็นอยู่สม่ำเสมอ จนบางครั้ง เราจะได้เห็นดารานักแสดงเหล่านั้นที่ถูกตัดสินว่าเป็นฝ่ายผิดในความสัมพันธ์ต้องออกมาแถลงข่าว “ขอโทษ” ประชาชน เพราะทนแรงกดดันจากโซเชียลไม่ไหว

ทำไมถึงเกิดปรากฎการณ์แบบนี้ขึ้น? มันเป็นสิ่งที่ผิดไหม? หรือเป็นเรื่องธรรมดา?  

 ดาราและความรับผิดชอบต่อสังคม - ชื่อเสียงกับราคาที่ต้องจ่าย   

ดารา นักแสดง ไอดอล ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่สื่อจับตา ไม่ว่าจะทำอะไร ขยับตัวไปทางไหนก็ล้วนแล้วแต่มีคนสนใจ บ้างก็ติดตามชื่นชมสนับสนุน… แต่เสียงนั้นก็มีราคาที่ต้องจ่าย และ ความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่บุคคลอันเป็นที่จับตาของประชาชนนั้นพึงมี ด้วยความที่เป็นบุคคลในสื่อ เมื่อขยับตัวก็ดึงดูดความสนใจจากประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สังคมจะเรียกร้องให้พวกเขาประพฤติดีประพฤติชอบในระดับบรรทัดฐานของสังคมจะพอรับได้

ดาราในฐานะตัวอย่างที่ดีของเยาวชน?

ในหลายๆครั้ง ดารา นักแสดง ถูกวางตัวให้เป็นดั่ง “ตัวอย่างที่ดีของเยาวชน” ซึ่งแม้ส่วนตัวผู้เขียนเองจะมองว่าเป็นกรอบความคิดที่ล้าหลังไปแล้ว เพราะในปัจจุบันนี้เยาวชนก็มีแบบอย่างหรือ Role Model ที่ดีมากมายนอกวัฒนธรรม Celebrity แต่เมื่อมองตามความเป็นจริงแล้ว เราก็ยังได้เห็นเด็กบางคนตั้งใจเรียนเพราะอยากจะเอาอย่างดาราไอดอลที่ตัวเองชอบที่เขาขยันเรียน ขยันทำงานอยู่ เพราะฉะนั้น เราไม่อาจมองเรื่องนี้แยกขาดออกจากกันได้ ดาราส่วนหนึ่งจึงถูกมองว่าอยากให้เป็น “ตัวอย่างที่ดีของเยาวชน” และเมื่อถูกบังคับด้วยกรอบว่า “คุณต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้อื่น” เช่นนี้ พอเกิดมีข่าวเสียหายขึ้นมา…จึงเกิดการเรียกร้องให้พวกเขาออกมาขอโทษประชาชน

รักๆเลิกๆ…เรื่องธรรมดาอินอะไรกันนักหนา?  

ความรัก ความสัมพันธ์นั้นเป็นความรู้สึกสากล ดังนั้นเมื่อเกิดอะไรอะไรขึ้นมาในความสัมพันธ์ของบุคคลที่เป็นที่จับตาของประชาชน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนจะรู้สึก “related” หรือมี “ความรู้สึกร่วม” ที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารที่ได้รับรู้นั้นๆ ซึ่งเป็นหลักจิตวิทยาพื้นฐานของวงการสื่อสารมวลชน เพราะพวกเขาสามารถจินตนาการ “ความรู้สึก” ของความเจ็บปวดสูญเสียคนที่รักได้ ประชาชน “บางส่วน” จึงมักจะออกมาแสดงความความรู้สึก ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่พวกเขาได้รับรู้…ดังนั้นจะไปว่าว่าพวกเขา “อินมาก” ก็ไม่ได้ เพราะอันที่จริง ข่าวสารทุกอย่างนั้นถูกออกแบบมาให้ประชาชน “อิน” อยู่แล้ว 

 ดาราก็คน…อย่าไปสนเรื่องส่วนตัวเขาเลย?  

เราอาจสามารถพูดได้ว่า “ดาราก็คน” แน่นอนว่าพวกเขามีรัก โลภ โกรธ หลง เช่นเดียวกับมนุษย์ปุถุชนธรรมดา เมื่อเกิดประเด็นดราม่าขึ้นมา หลายๆคนอาจจะออกมาพูดว่า เรื่องส่วนตัวของเขาอย่าไปยุ่งเลยโฟกัสที่งานดีกว่าซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถมองเรื่องส่วนตัวที่มีผลกระทบต่อ “ภาพลักษณ์” ของดาราศิลปินแยกขาดจาก “งาน” ของพวกเขา เพราะวงการนี้ทำงานเกี่ยวกับ “ภาพลักษณ์ และ ชื่อเสียง” ภาพลักษณ์ของพวกเขาจึงเป็นดั่ง “ผลิตภัณฑ์” ชนิดหนึ่งของดารานักแสดงที่ผู้เสพสื่อ ทั้งแฟนคลับ และประชาชนเลือกที่จะ “ซื้อ” ไม่ว่าจะเป็นด้วยความรู้สึก หรือด้วยเงินที่ใช้ไปในการติดตามสนับสนุน หากภาพลักษณ์ที่นักแสดงสื่อออกไปไม่ตรงใจตลาด ประชาชนก็จะ “ไม่ซื้อ”  ผลิตภัณฑ์ของเขา ซึ่งการ “ไม่ซื้อ” ในที่นี้ อาจหมายถึงแรงสนับสนุนในเรื่องของผลงานต่างๆด้วย และเมื่อกระแสความนิยมของพวกเขาตกลง…นักแสดงบางประเทศถึงกับว่าจ้าง “Image Maker” หรือ “ที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์” เพื่อดูแลภาพลักษณ์ของพวกเขาต่อประชาชนให้ดูดีอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพราะภาพลักษณ์ของพวกเขามีมูลค่า เมื่อมีข่าวเสียหายออกมาจนทำให้พวกเขาไม่เป็นที่นิยมของประชาชน ก็ย่อมจะกระทบต่อการตัดสินใจเลือกจ้างงานของผู้ว่าจ้างที่มีต่อพวกเขาด้วย จึงสรุปได้ว่า เราไม่อาจมองว่า “เรื่องส่วนตัว” ที่มีผลต่อภาพลักษณ์นั้นจะสามารถแยกขาดจาก “งาน” ของพวกเขาได้เลย  

 คนของประชาชน = กระโถนสาธารณะ?  

แน่นอนว่าการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่ย่อมเกิดขึ้นได้ในสังคมประชาธิปไตย เมื่อเกิดเรื่องอะไรที่เป็นข่าวที่กระจายไปสู่ประชาชน ก็ย่อมมีผู้คนออกมาแสดงความคิดเห็น แต่เราในฐานะประชาชนเองก็ควรแยกแยะการกระทำ ระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์กับการด่าทอ คุกคาม หรือที่เรียกว่า “Hate Speech” คุณมีสิทธิ์ที่จะไม่ชอบการกระทำของดารานักแสดงเหล่านั้น และมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นเหล่านั้น โดยไม่เกิดความคุกคามต่อสิทธิของผู้อื่น พึงระลึกไว้เสมอว่า คนของประชาชนไม่ใช่กระโถนสาธารณะพวกเขามีสิทธิ์จะใช้ชีวิต พวกคุณมีสิทธิ์จะวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่ของคุณ แต่เมื่อใดที่การวิพากษ์วิจารณ์ล้ำเส้นไปสู่จุดที่เกิดการคุกคามต่อพื้นที่ส่วนตัว (เช่น คอมเมนต์ในอินสตาแกรมส่วนตัวของดารานักแสดงที่ค่อนข้างหนาตาในช่วงที่เกิดประเด็นดราม่าใดๆขึ้นมาก็ตาม) ก็ควรจะพิจารณาตัวเองได้แล้วว่ามัน “เกินไป” ไหม…เพราะเมื่อคุณวางโทรศัพท์มือถือ ปิดคอมพิวเตอร์ นอนหลับ คุณอาจกำลังทำให้ใครบางคนนอนร้องไห้อยู่ก็ได้ 

โดยสรุปแล้วก็คือ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณจะมี “ความรู้สึกร่วม” กับข่าวรักๆเลิกๆของดารา ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “เรื่องส่วนตัว” ของดาราจะมีผลกระทบกับ “งาน” ของพวกเขาและกระแสสังคมที่สนับสนุนพวกเขา และไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณจะออกมาพูดถึงมันหรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ เพราะนั่นเป็นลักษณะที่ดีของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย แต่การวิพากษ์วิจารณ์และการให้ความสนใจข่าวสารนั้นๆ ควรเป็นไปด้วย “ความพอดี” และ “ไม่คุกคาม” สิทธิในการดำรงชีวิตของใคร…แม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นดาราศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมายแค่ไหนก็ตามที…

ภาพประกอบ

https://hilight.kapook.com/view/180242

https://www.tvpoolonline.com/content/681723

https://www.sanook.com/news/7151730/gallery/1464626/

https://www.matichon.co.th/entertainment/news_1085399

https://www.tvpoolonline.com/content/733228

https://women.kapook.com/view202048.html

https://world.kapook.com/pin/5a83f4384d265a059c8b4567

https://women.kapook.com/view201937.html

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0