โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ดั่งใจปรารถนา : เมื่อ ‘เสรีภาพ’ ถูกทำให้เป็นตัวร้ายในความสัมพันธ์

The Momentum

อัพเดต 14 ก.ย 2562 เวลา 15.50 น. • เผยแพร่ 14 ก.ย 2562 เวลา 15.49 น. • ณิศวร์ฐิตะ ทองน้อย

In focus

  • ดั่งใจปรารถนาเขียนโดย Susanna Tamaroนักเขียนชาวอิตาเลียน นวนิยายดำเนินไปด้วยจดหมายที่ ‘ยาย’ เขียนถึงหลานสาวเพียงคนเดียวที่ตัดสินใจไปเรียนต่อที่อเมริกา
  • ยายเขียนเล่าถึง ‘อิลาเรีย’ ลูกสาวที่ตายไปแล้ว ลูกสาวที่ไม่ลงรอยกันสักเรื่อง ภาพชีวิตของอิลาเรียคือนักศึกษาหัวขบถแห่งยุค ’70 ที่ท้ายที่สุดก็ไม่แข็งแรงพอจะบินฝ่าลมพายุที่พัดพา
  • เมื่อมองลึกลงไปในบริบทที่กว้างกว่าความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาว เราจะพบว่าความไม่เชื่อมั่นที่ทั้งคู่มีต่อกัน คือบรรยากาศทางความคิดที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมการเมืองในยุคสมัยนั้นอย่างมีนัยสำคัญ 
  • อิลาเรียมองว่าแม่ของเธอคือชนชั้นกลางผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไร ส่วนแม่ของเธอก็มองว่าความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพของหนุ่มสาวเหล่านั้นคือการทำตามอำเภอใจ ฉาบฉวย และมีแต่จะทำให้เสียคน

‘ความรัก’ และ ‘เสรีภาพ’ เป็นสองมโนทัศน์ที่มีความซับซ้อนในตัวเองไม่แพ้กัน เมื่อสองสิ่งนี้มาปฏิสัมพันธ์กัน ลวดลายความซับซ้อนของมันก็ถูกถักทออย่างพิสดารยิ่งขึ้นไปอีกความซับซ้อนดังกล่าวนี้อาจแสดงออกทั้งในด้านที่ทั้งสองสิ่งคอยประคับประคองกันและกัน และในด้านที่ขัดแย้งกันเอง ในด้านที่ขัดแย้งกันนี้เองที่นำมาซึ่งโศกนาฏกรรม โศกนาฏกรรมอันเกิดจากการใช้ความรักเป็นข้ออ้างเพื่อจำกัดเสรีภาพ และโศกนาฏกรรมที่เกิดจากการใช้เสรีภาพเป็นข้ออ้างแทนความรู้สึกลึก ๆ ภายในว่าไม่อาจถมเติมช่องว่างในความสัมพันธ์ระหว่างกันได้

นวนิยายเรื่อง ดั่งใจปรารถนาเขียนโดย Susanna Tamaroนักเขียนหญิงชาวอิตาลี พาเราเดินลัดเลาะเข้าไปในความซับซ้อนของประเด็นเหล่านี้ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาว และความสัมพันธ์ระหว่างยายกับหลานสาว ความสัมพันธ์ที่ทั้งคอยประคับประคอง หน่วงรั้ง และสร้างบาดแผลให้แก่กันและกัน 

นวนิยายเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นในรูปแบบของจดหมาย เป็นจดหมายที่ยายเขียนถึงหลานสาว หลังจากที่หลานสาวของเธอตัดสินใจเดินทางจากบ้านไปเรียนต่อที่อเมริกา เธอใช้ชีวิตอยู่คนเดียวในบ้านหลังใหญ่ และก่อนที่ความตายจะมาเคาะประตู เธอจึงตัดสินใจเขียนเรื่องราวเพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองและประวัติของครอบครัวให้หลานสาวได้รับรู้

เนื้อความในจดหมายทั้งหมดเขียนในลักษณะของการย้อนทบทวนชีวิตที่ผ่านมาและวันวัยที่ล่วงเลย พร้อม ๆ กับบอกเล่าความในใจ ความลับ ความขมขื่น ความรู้สึกผิด ช่องว่างและความไม่ลงรอยกันระหว่างคนต่างรุ่นอายุ เรื่อยไปจนถึงภูมิหลังความเป็นมาของครอบครัวที่หล่อหลอมให้คนแต่ละรุ่นเติบโตมาและเลือกทางเดินชีวิตในเส้นทางที่แตกต่างกันไป

 ‘ยาย’ ที่เป็นผู้เล่าเรื่องเพียงคนเดียวในเรื่องนี้ บอกกับเราตั้งแต่ต้นว่าความตายได้พราก ‘อิลาเรีย’ ลูกสาวของเธอไป ลูกสาวผู้ปิดตัวเองจากแม่และแทบไม่มีเรื่องไหนเลยที่ทั้งคู่จะลงรอยกัน เธอจากแม่ไปเรียนหนังสือที่ต่างเมือง รับเอาความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองเข้ามาในชีวิต ภาพชีวิตของอิลาเรียคือนักศึกษาหัวขบถแห่งยุค ’70 ผู้ร่วมอยู่ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาในยุคนั้น สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่เพียงพัดพาให้ผู้คนที่มีความคิดเหมือนกันมารวมตัวกันเท่านั้น แต่ลึกลงไปในความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับลูกสาว สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นได้พัดพาพวกเธอให้เหินห่างกันยิ่งขึ้นไปอีก และที่ร้ายยิ่งกว่านั้น มันทำให้เธอมองเห็นหุบเหวเบื้องล่างที่ลูกสาวของเธอกำลังจะพลัดตกลงไป

จากจุดนี้เองที่ผู้เขียนพาเราเดินลัดเลาะเข้าไปในพรมแดนลี้ลับระหว่าง ‘ความรัก’ และ ‘เสรีภาพ’ เมื่อ ยายค่อยๆ เปิดเผยกับเราว่าชีวิตวัยเด็กของเธอเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่เข้มงวด มีพ่อแม่ที่สนใจแต่ภาพชีวิตภายนอก ในขณะที่ชีวิตภายในของเธอกลับตั้งคำถามถึงสิ่งต่างๆ และเรียกร้องสิ่งเติมเต็มอยู่เสมอ จึงอาจกล่าวได้ว่า เพราะเหตุนี้เมื่อเธอมีลูกสาว เธอจึงให้ลูกสาวได้ใช้ชีวิตอย่างมีอิสระเต็มที่ ด้วยหวังว่ามันจะมอบความงอกงามให้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น

แล้วความผิดพลาดเกิดขึ้นตรงไหน? เมื่อต้นไม้ที่ควรจะผลิดอกงอกงาม กลับหงิกงอแคระแกร็นจนตกอยู่ในสภาพที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ ต่อคำถามข้อนี้ ยาย ไม่ได้ให้เบาะแสไว้มากนัก จากคำบอกเล่าของเธอนั้น อิลาเรียเคยบอกว่าพ่อกับแม่ ‘เด็ดปีก’ ของเธอ แต่ความข้อนี้ก็ไม่ถูกขยายความ เราแทบไม่รู้ว่าอิลาเรียเติบโตขึ้นมาอย่างไร มีบาดแผลในใจหรือไม่ ผู้อ่านจะรู้แต่เพียงว่ามีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ทั้งคู่จำเป็นต้องใช้ชีวิตแยกห่างจากกันระยะหนึ่งในตอนที่อิลาเรียยังเด็ก และอีกหนึ่งเหตุการณ์ตอนที่อิลาเรียสงสัยเรื่องพ่อของเธอ นอกเหนือจากสองเหตุการณ์นี้แล้ว ไม่มีเหตุการณ์อื่นใดที่พอจะเป็นเค้าเงื่อนสืบย้อนไปในปมชีวิตได้ จึงคล้ายกับว่าภาพชีวิตของอิลาเรีย (ตั้งแต่ตอนเธอเกิดจนถึงตอนเธอตาย) ถูกฉีกออกมาเขียนถึงแค่บางส่วนจากภาพชีวิตทั้งหมดที่เรามองไม่เห็น

ในขณะที่เธอตระหนักในคุณค่าของการมีเสรีภาพและให้อิลาเรียเลือกทางเดินชีวิตได้อย่างอิสระ อีกด้านหนึ่งเราจะพบว่าเธอไม่เคยเชื่อมั่นในตัวอิลาเรียเลยแม้แต่น้อย ในสายตาของเธอ อิลาเรียนั้นแข็งนอกแต่อ่อนใน ดื้อรั้น แต่ก็ไม่แข็งแรงพอจะประคับประคองตัวเองไปในทางเดินที่เลือกได้ เธอมองว่าลูกสาวของเธอนั้นมีเสรีภาพแต่ก็เลือกไม่เป็น ใช้ชีวิตหุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ เผลอไผลตัดสินใจทำแต่เรื่องที่จะนำความเดือดร้อนมาสู่ชีวิต เหมือนนกน้อยปีกหัก บอบบาง และปกป้องตัวเองไม่ได้ จึงต้องฝากชีวิตไว้กับสิ่งพึ่งพิงทางใจอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ตลอด (เมื่ออุดมการณ์ทางการเมืองอ่อนแรงลง เธอก็ผละไปพึ่งจิตแพทย์) ไม่สามารถบ่มเพาะตัวเองด้วยความแข็งแกร่งจากภายในได้ 

เมื่อค่อยๆ เปิดแง้มความทรงจำออกมา เราจะพบว่าความรู้สึกผิดของเธอในฐานะแม่ก็คือ เธอเองก็ไม่แข็งแกร่งพอจะกล้า ‘หัก’ กับลูกสาวได้ หลายครั้งที่อิลาเรียแข็งขืน เธอกลับนิ่งเงียบ ไม่รู้จะรับมืออย่างไรมีเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่เธอกล้ายื่นมือเข้าไปในชีวิตของอิลาเรีย แต่ในความหวาดหวั่นต่อความแข็งกร้าวของลูกสาว ยังไม่ทันที่มือนั้นจะได้ห้ามปรามหรือประคับประคอง เธอก็กระถดตัวเองออกมาก่อนเสมอ 

ในความรู้สึกผิดและสับสนนี้ ผู้เขียนได้สอดแทรกเหตุการณ์เล็ก ๆ เหตุการณ์หนึ่งเข้ามาในเรื่อง เช้าวันหนึ่งหลังจากที่เขียนจดหมายไปหลายฉบับแล้ว ยายออกมาเดินเล่นในสวน และพบนกน้อยตัวหนึ่งที่รอดชีวิตจากพายุกระหน่ำเมื่อคืน กำลังนอนตัวสั่นงันงกอยู่ในมุมหนึ่งของสวน เธอจึงเก็บนกน้อยตัวนั้นขึ้นมาแล้วพากลับไปดูแลประคบประหงม เมื่อนกน้อยไม่ยอมกินอาหาร เธอจึงตัดสินใจบีบปากมันออกเพื่อป้อนอาหาร 

หากเรานำเอาเหตุการณ์เล็กๆ นี้มาวางทาบลงบนความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับลูกสาว จะพบว่ามันมีนัยยะเปรียบเปรยกันอย่างชัดเจน ความรู้สึกผิดของเธอในฐานะแม่ก็คือ เธอไม่กล้า ‘บีบปาก’ เพื่อป้อน ‘อาหาร’ ให้กับอิลาเรียหลังจากที่มรสุมได้พัดกระหน่ำชีวิตของอิลาเรียจนย่อยยับ 

ไม่เพียงแต่ความรู้สึกผิดเท่านั้นที่ค่อยๆ ถูกคายออกมา เราจะพบว่าท่าทีและน้ำเสียงของ ยายเมื่อพูดถึงลูกสาวนั้นเจือด้วยความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจอยู่เนืองๆ ที่ชัดเจนที่สุดคือความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่ว่าอิลาเรียไม่เคยมองเห็นคุณค่าของ ‘เสรีภาพ’ ที่เธอมอบให้เลยแม้แต่น้อย แต่กลับมองมันอย่างเคลือบแคลงสงสัยตลอด ในสายตาของอิลาเรีย แม่ของเธอคือ ‘คนอื่น’ เสมอ เป็นคนที่เธอผลักออกไปไว้ในซอกมุมหนึ่งของชีวิต และจะนึกถึงก็ต่อเมื่อจนตรอกที่สุดแล้วเท่านั้น 

เธอไม่เคยเชื่อมั่นในตัวลูกสาว ส่วนลูกสาวก็ไม่เคยเชื่อมั่นในตัวเธอ ในช่องว่างของความไม่เชื่อมั่นในตัวกันและกันนี้เองคือหุบเหวที่ความรักพลัดตกลงไป

เมื่อมองลึกลงไปในบริบทที่กว้างกว่าความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาว เราจะพบว่าความไม่เชื่อมั่นที่ทั้งคู่มีต่อกัน คือบรรยากาศทางความคิดที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมการเมืองในยุคสมัยนั้นอย่างมีนัยสำคัญ(เหตุการณ์ May ’68 ที่ฝรั่งเศส, กระแสความคิดเรื่องเสรีภาพทางเพศ, ขบวนการสตรีนิยม) ในมุมมองที่ทั้งคู่มีต่อกันคือภาพแทนความคิดที่คนรุ่นหนึ่งมีต่อคนอีกรุ่นหนึ่ง อิลาเรียมองว่าแม่ของเธอคือชนชั้นกลางผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไร ส่วนแม่ของเธอก็มองว่าความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพของหนุ่มสาวเหล่านั้นคือการทำตามอำเภอใจ ฉาบฉวย และมีแต่จะทำให้เสียคน

หากกล่าวอย่างรวบรัดที่สุด ภาพที่นวนิยายเรื่องนี้กำลังนำเสนอต่อผู้อ่านก็คือ ความคิดเกี่ยวกับ ‘เสรีภาพ’ สองแบบที่กลายมาเป็นเส้นขนานกัน กล่าวคือ ความคิดที่เน้นเรื่องเสรีภาพจากภายใน กับเสรีภาพในฐานะอุดมการณ์และเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง ในแง่นี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่ลงรอยกันระหว่างอิลาเรียกับแม่ของเธอ คือความไม่ลงรอยที่ถูกต่อขยายออกมาจากความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพทั้งสองแบบที่สวนทางกันนี้ด้วย

แม้ผู้เล่าเรื่องจะไม่ได้กล่าวออกมาตรงๆ แต่ความหมายระหว่างบรรทัดที่ซ่อนไว้ก็คือ ความคิดที่มองว่าอิลาเรียตกเป็น ‘เหยื่อ’ ของเสรีภาพในฐานะอุดมการณ์ทางการเมือง ความพยายามจะชี้ว่าชีวิตที่แตกร้าวพังทลายของอิลาเรียเป็นผลมาจากการรับเอาความคิดเกี่ยวกับเสรีภาพดังกล่าวนี้เข้าไป และความพยายามจะชี้ว่า เมื่อสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงผ่านพ้นไป ด้านมืดของมัน การปล่อยให้คนหนุ่มสาวนักแสวงหาเหล่านั้นจมอยู่กับความพ่ายแพ้ย่อยยับในตัวเอง ต่างคนต่างเสาะแสวงหาเจ้าลัทธิความเชื่อคนใหม่ๆ เพื่อเกาะเกี่ยวตัวเองไปเรื่อยๆ 

มันคือทัศนคติที่มองว่าคนหนุ่มสาวเหล่านั้นกำลัง ‘หลงทาง’ เพราะพวกเขาไม่ได้เดินไปในทางเดียวกันกับที่ตัวเองเลือก 

มันคือความคิดที่เชื่อมั่นแต่ในเสรีภาพของตัวเอง แต่ไม่เคยเชื่อมั่นในการมีเสรีภาพของคนอื่น

กล่าวอย่างถึงที่สุด เพราะเธอไม่เคยเชื่อมั่นในตัวของอิลาเรีย เธอจึงปล่อยให้อิลาเรียล้มลุกคลุกคลานในเส้นทางชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วบอกตัวเองว่านั่นคือเสรีภาพในการใช้ชีวิต เพียงเพื่อหวังว่าในท้ายที่สุดแล้วลูกสาวจะได้รับบทเรียนและซมซานกลับมาซบแทบเท้าเธอเมื่อพบว่าทางที่เลือกเดินไม่อาจเติมเต็มชีวิตได้จริง เธอไม่ได้ให้เสรีภาพเพราะเชื่อว่านั่นคือเสรีภาพ แต่มอบเสรีภาพให้เพื่อที่อีกฝ่ายจะได้เข็ดหลาบกับการมีเสรีภาพของตัวเอง แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น… 

ในฐานะตัวละคร แม้อิลาเรียจะเป็นตัวละครหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญ แต่ภาพของเธอกลับถูกนำเสนอออกมาอย่างแบนราบและขาดมิติ เราจะเห็นแต่เพียงด้านที่อ่อนแอ พ่ายแพ้ และล้มเหลวของเธอ อาจกล่าวได้ว่าตัวตนและเสียงของเธอจะถูกเปล่งออกมาก็ต่อเมื่อ ‘พล็อตเรื่อง’ ของแม่เธออนุญาตให้เธอออกมาเท่านั้น พล็อตเรื่องที่ว่าก็คือ เรื่องของแม่ผู้อาภัพที่ไม่อาจฉุดรั้งลูกสาวจากการทำตัวดื้อรั้นแหกคอกเอาไว้ได้ ภาพของ อิลาเรียที่เราเห็น จึงมีแต่ภาพในแง่ลบที่พล็อตเรื่องของแม่เธอเลือกหยิบมาโจมตีเธอเท่านั้น 

ในชีวิตจริง อิลาเรียตายด้วยอุบัติเหตุ แต่ในเรื่องเล่าของแม่เธอ เธอถูกฆาตกรรม

Fact Box

ดั่งใจปรารถนา (Va’ dove Ti Porta Il Cuore)

Susanna Tamaro เขียน

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงศ์ แปล

สำนักพิมพ์ผีเสื้อ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0