โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่น "ภาคใต้" ลด "ยาง-ปาล์ม" ราคาดิ่ง-นทท.จีนหด

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 22 ต.ค. 2561 เวลา 11.27 น.
phu03221061p1

หอการค้าไทย ร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดแถลงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนกันยายน 2561 พบว่าทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ มีการปรับตัวลดลงทั้งหมด โดยเฉพาะภาคใต้ที่มีค่าดัชนีต่ำที่สุด อยู่ที่ 47.3

“รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ครั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของใต้ต่ำสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ ช่วง 4 เดือนแรก ตัวเลขแตะระดับ 50 และค่อย ๆ ลดลงมาจนถึงระดับต่ำสุดเท่าที่เคยสำรวจมา โดยปัจจัยลบสำคัญมาจากความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวลดลง

ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวต่ำอย่างต่อเนื่อง และการขาดแคลนแรงงานผีมือ ขณะที่ปัจจัยบวก คือ การใช้จ่ายของภาครัฐที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภาคใต้

การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง แนวทางที่อยากให้แก้ไข ได้แก่ การกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน จัดตั้งศูนย์วิจัยพืชในท้องถิ่น กระตุ้นราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น โดยเฉพาะยางและปาล์มน้ำมัน

“วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ เป็นภาคที่มีเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดของประเทศ จากปัจจัย คือ

1.พืชผลเกษตรกรรมราคาตกต่ำ โดยภาพรวมด้านเกษตรของภาคใต้มีผลผลิตสูงขึ้น 13% ราคาลดลง 16% ดังนั้น รายได้ของเกษตรกรลดลง 5.4% ทำให้สถานการณ์ภาพรวมเป็นลบทุกเรื่อง

ในส่วนของยางพารา ภาคใต้มีผลผลิต 4 ล้านตัน แต่ราคาตกต่ำเหลือ 39 บาท/กิโลกรัม (กก.) จากที่เคยอยู่ 40-60 บาท/กก. รวมถึงการส่งออกลดลง เพราะจีนนำเข้าลดลง จากที่มีการปลูกที่ สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา

ขณะที่นโยบายให้หน่วยงานรัฐนำยางไปใช้ไม่ขยับเท่าที่ควร ดังนั้น ต้องกระตุ้นให้ท้องถิ่นนำยางไปทำถนนมากขึ้น และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของยางให้มากขึ้น รวมถึงปาล์มน้ำมัน สับปะรด และมะพร้าว ที่ราคาเหลือ 3 บาท/กก. จาก 20 กว่าบาท/กก.

2.การท่องเที่ยวในภาคใต้ชะงัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปกว่า 3 แสนคน เนื่องจากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต นักท่องเที่ยวจีนปะทะกับเจ้าหน้าที่สนามบิน การปิดอ่าวมาหยาอย่างไม่มีกำหนด ส่งผลให้ไม่สามารถขายแพ็กเกจทัวร์ได้ และการจำกัดนักท่องเที่ยวเข้าเกาะสิมิลัน 3 พันคน/วัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดมาเฟียขึ้น

ปัจจุบันไทยมีนักท่องเที่ยวจีนเข้าประเทศ 10 ล้านคน/ปี ค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณ 5 หมื่นบาท สำหรับภาคใต้ ไตรมาส 1 มีนักท่องเที่ยวจีน 9 แสนคน เพิ่มขึ้น 33% ไตรมาส 2 เข้ามา 8 แสนคน เพิ่มขึ้น 32%

ขณะที่ไตรมาส 3 มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเพียง 5 แสนคน หายไป 3 แสนคน หรือลดลง 6% ทำให้ภาคใต้เสียรายได้กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท สำหรับไตรมาส 4 ปกติจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา 15-20% หรือประมาณ 1 ล้านคน

แต่ทั้งนี้ภาพของนักท่องเที่ยวที่ไหลออกไปค่อนข้างหยุดนิ่งแล้ว ถ้าหากรัฐบาลยังไม่มีมาตรการไปเชิญชวน สร้างความมั่นใจ หรือสร้างความปลอดภัย ดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมา จะทำให้สูญเสียรายได้อีก 2.5 หมื่นล้านบาท

หากรวมทั้งไตรมาส 3-4 ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท รวมถึงรัสเซียที่ลดลงถึง 20% ปกติอัตราการเข้าพักในช่วงนี้ 70-80% ตอนนี้เหลือเพียง 50%

ขณะเดียวกันยังคงมีปัจจัยบวกเช่นกัน จากนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เข้ามามากขึ้น แม้การใช้จ่ายต่อหัวจะน้อยกว่า และนักท่องเที่ยวเฉพาะภาคใต้ตอนล่างเท่านั้น เช่น หาดใหญ่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา และสมุย

ประกอบกับการค้าชายแดน 3 ไตรมาสที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 5.47 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ส่งออก 3.2 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าไตรมาส 4 น่าจะยังบวกอยู่ เพราะการค้าผ่านมาเลเซีย ไปสิงคโปร์ หรือประเทศที่ 3 ยังทำได้อย่างต่อเนื่อง ด้านการนำเข้าอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0