โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ดักลอบต้องหมั่นกู้ ฝากแบงก์ต้องหมั่นอัพเดท

Money2Know

เผยแพร่ 20 ม.ค. 2562 เวลา 23.00 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
ดักลอบต้องหมั่นกู้ ฝากแบงก์ต้องหมั่นอัพเดท

คนที่ติดตามรายการ “ทีเด็ดลูกหนี้”เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลายคนบอกว่า“งง”ที่ดิฉันกด “ผ่าน”ให้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เพราะนำเงินของนายทุนมาปล่อยกู้นอกระบบ แล้วสุดท้ายถูกโกง เพราะปกติเรา (หมายถึงกรรมการหลายท่าน รวมทั้งดิฉันด้วย) ไม่ปลื้มกับวิธีทำมาหากินด้วยการขูดเลือดขูดเนื้อคนอื่นแบบนี้

เรื่องของเรื่อง คือ ลูกหนี้คนนี้ได้รับการติดต่อจากนายทุนให้เป็นนายหน้าเอาเงินไปปล่อยกู้นอกระบบ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 10ต่อเดือน (เท่ากับร้อยละ 120ต่อปี) ปล่อยได้เท่าไหร่ใช้วิธีหารครึ่ง คือ นายทุนได้ 5 บาท ลูกหนี้ได้ 5บาท รอบแรกปล่อยไปน่าจะราวๆ 5-6หมื่นบาท ยังไม่ได้คืนก็ปล่อยเพิ่มอีกจนกลายเป็นแสน และหลายแสนในเวลาต่อมา เมื่อเรียกเก็บเงินคืนไม่ได้ จากฐานะนายหน้าปล่อยกู้ก็เลยกลายเป็นลูกหนี้ไปเต็มๆ

ดิฉันถามลูกหนี้ในรายการว่า “มีความจำเป็นอะไรต้องทำแบบนี้ เพราะที่เล่าเรื่องของตัวเองมาตั้งแต่ต้น ถ้าไม่มีเรื่องนี้ ก็จะเป็นครอบครัวขนาดกลางๆ ที่มีความสุขไม่น้อย เพราะสามีก็ดี พ่อก็ดี และลูกก็ดี” คำตอบคือ อยากแบ่งเบาภาระของครอบครัว เพราะมีลูกทั้งหมด 4  คน เป็นลูกติดสามี 2 คน  เอาจริงๆ ถ้าไม่ติดว่า เห็นใจสามีที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วย และเด็กๆ อีก 4คน ก็คงกดให้ “ไม่ผ่าน” เหมือนกันค่ะ

ประเด็นที่หยิบเรื่องมาเขียน ไม่ได้อยู่ที่เหตุของการเป็นหนี้ แต่อยู่ที่จุดจบที่ทำให้ลูกหนี้คนนี้ตกรอบ ไม่สามารถผ่านเข้าไปในรอบต่อไปได้ เพราะตามกติกาของรายการเมื่อมีกรรมการกด “ไม่ผ่าน” อย่างน้อย 1คน ลูกหนี้จะต้องเลือกคนที่ให้ผ่านว่าเป็นใคร เลือกถูกก็เข้ารอบ เลือกผิดของตกรอบ ซึ่งลูกหนี้คนนี้เลือกผิด เพราะเมื่อเหลือกรรมการเพียงแค่ 2คน ระหว่าง “พี่ป๋อง-กพล ทองพลับ” กับ “คุณพิศณุ นิลกลัด” เธอยืนยันเลือกคุณพิศณุ จนแม้กระทั่งพิธีกรยื่นข้อเสนอให้เปลี่ยนจากคุณพิศณุเป็นคุณกพล เธอก็ยืนยันที่จะไม่เปลี่ยน

และสุดท้ายคนที่เธอเลือก เป็นคนที่กดไม่ผ่าน เธอก็เลยตกรอบ ไม่ได้ผ่านเข้ารอบต่อไป

สารภาพว่า ตอนอัดเทปรายการวันนั้น ดิฉันไม่ได้คิดอะไรกับการที่ลูกหนี้เลือกผิดและตกรอบ จนกระทั่งมีโอกาสนั่งดูรายการออนแอร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า “อะไรที่ทำให้เธอตกรอบ พลาดโอกาสคว้าเงินไปใช้หนี้อย่างน่าเสียดาย”

เพียงเพราะถ้าดูรายการนี้ตลอด หรือหากว่าไม่มีเวลาดูตลอด ก็น่าจะเคยติดตามอยู่บ้าง จะรู้ว่า ถ้าเหลือกรรมการสองคนสุดท้าย หนึ่งคนให้ผ่าน และอีกหนึ่งคนไม่ให้ผ่าน คนที่ให้ผ่านย่อมต้องเป็น “พี่ป๋อง-กพล”ซึ่งมีสถิติการให้ผ่านเกือบจะ100%

ดิฉันถึงนั่งคิดว่า ไม่ว่าเรื่องอะไรในโลก โดยเฉพาะเรื่อง “การลงทุน”หรือการบริหารจัดการเงินสิ่งที่เราต้องทำเป็นประการแรก คือ “ทำการบ้าน” ค่ะเราต้องรู้จักสิ่งที่เรากำลังจะเผชิญหน้าว่า มันคืออะไร มันเป็นอย่างไร ทำความรู้จักกันไว้ก่อน ส่วนที่จะต้องรู้จักกันอย่างลึกซึ้งถึงขนาดต้องนั่งวิเคราะห์สถิติว่า กรรมการคนไหนให้ผ่านมากที่สุด คนไหนไม่ให้ผ่าน หรือกรรมการคนไหนให้ผ่านด้วยเรื่องอะไร และกรรมการคนไหนไม่ให้ผ่านด้วยเรื่องอะไรมากที่สุด จะลงลึกแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับเราว่าจะจริงจังกับเรื่องนี้แค่ไหน

อย่างน้อยที่สุด การรู้จัก รู้ทั้งเขาและรู้ทั้งเรา ก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียทรัพย์ และเพิ่มโอกาสการรักษาทรัพย์ไว้ได้มากขึ้นค่ะ

ประเด็นที่สอง ลูกหนี้คนนี้อาจจะเคยรู้มาบ้างแล้วว่า รายการเป็นแบบนี้ กรรมการเป็นแบบนี้ แต่เธออาจจะ “มั่นใจมากเกินไป” และความมั่นใจที่ว่า กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เธอตกรอบอย่างน่าเสียดาย

ในโลกของการลงทุนหรือการจัดการเรื่องเงินก็เหมือนกันค่ะ หลายครั้งเรามั่นใจเกินไปจนทำให้เกิดผลเสียหายตามมา บางอย่าง “มั่นใจ” ได้ แต่ต้องไม่มั่นใจมากเกินไป

เหมือนกับเรื่องนี้ ที่หลายคนคงได้ติดตามข่าวที่คุณป้าท่านนึงฝากเงินไว้กับธนาคารแห่งหนึ่ง โดยที่ไม่ได้อัพเดทเงินในบัญชีเลย จนกระทั่งผ่านไปเป็นปีนำสมุดคู่ฝากไปอัพเดทอีกที เงินฝากจำนวน 2แสนกว่าบาทก็หายไปเกือบหมดแล้ว หลังจากที่ลูกของคุณป้านำเรื่องนี้มาโพสต์ลงในโซเชียล แน่นอนว่า คอมเม้นท์ส่วนใหญ่ก็หนักไปทางลบว่า ต่อไปนี้จะไว้ใจใครได้ ขนาดฝากแบงก์ เงินยังหาย และ ฯลฯ

ถามว่า เป็นเรื่องน่าตกใจหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า น่าตกใจค่ะ เพราะเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีการทุจริตประพฤติมิชอบของธนาคาร สะท้อนถึงจิตสำนึกด้านต่ำของพนักงานคนนั้น และสะท้อนถึงความหละหลวมในขั้นตอนปฏิบัติงานและการกำกับดูแลของธนาคารที่บริหารจัดการ “เงินคนอื่น” ทั้งนั้น

แต่เรียนตามตรงว่า ดิฉันไม่เห็นด้วยสำหรับคนที่บอกว่า แบบนี้ก็พึ่งใครไม่ได้ ใครจะกล้าฝากเงินไว้กับแบงก์ เพราะหนึ่ง เราต้องไม่ลืมว่า สุดท้ายแล้ว เมื่อพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ธนาคารจะดำเนินการคืนเงินทุกบาททุกสตางค์ให้เรา ถ้าเราไม่มั่นใจระบบธนาคาร แล้วถอนเงินกลับไปเก็บที่บ้าน เวลาถูกขโมย ถึงตำรวจจับขโมยได้ ก็ใช่ว่า เราจะได้เงินคืนครบทุกบาทเหมือนฝากแบงก์นะคะ

ขนาดโจรปล้นแบงก์ หอบเงินลอยนวล เงินฝากของคุณก็อยู่เหมือนเดิม หรือแม้แต่บัญชีของคุณถูกแฮกเกอร์ถอนเงินไปจนเกลี้ยง ธนาคารเจ้าของบัญชีก็ต้องรับผิดชอบคืนเงินให้คุณอยู่ดี หรือสอง กรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ แบงก์เจ๊ง เราก็ยังมีสถาบันประกันเงินฝากทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝากให้เราตามเงื่อนไขที่กำหนด

เพียงแต่ “ความมั่นใจ” นี้ อย่ามีจนมากเกินไป เมื่อนำเงินฝากแบงก์แล้ว ก็หมั่นอัพเดทตรวจสอบว่า เงินยังอยู่ ดอกเบี้ยยังเข้าปกติดีอยู่ใช่หรือไม่ เดือนละครั้งหรือสองเดือนให้ลูกหลานนำสมุดไปอัพเดทที่ตู้อัตโนมัติหรือที่เคาน์เตอร์ธนาคารก็ได้ ใครใช้ระบบโมบายแบงกิ้งหรืออินเทอร์เน็ตแบงกิ้งก็สามารถอัพเดทได้ตลอดอยู่แล้ว ก็ช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่งค่ะ

ดิฉันเคยนำเงินก้อนไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำระยะ24เดือน แบงก์จะจ่ายดอกเบี้ยเข้าบัญชีออมทรัพย์ทุกเดือน ถึงจะเดือนละไม่กี่บาท ดิฉันยังแวะไปอัพเดทดอกเบี้ยออมทรัพย์ทุกเดือน เพราะมันบ่งบอกว่า “เงินต้น” ยังอยู่ดีมีสุขในจำนวนที่เท่าเดิม

ดักลอบต้องหมั่นกู้ ฝากเงินแช่ช่องฟรีซกับแบงก์นานๆ ก็ต้องหมั่นอัพเดทค่ะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0