โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ดอลลาร์อ่อนค่า คาดวัคซีนสำเร็จ หลายประเทศผ่อนคลายล็อกดาวน์

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 26 พ.ค. 2563 เวลา 10.38 น. • เผยแพร่ 26 พ.ค. 2563 เวลา 10.38 น.
USdollars-426026_960_720-1-728x410

ดอลลาร์อ่อนค่า นักลงทุนคาดวัคซีนสำเร็จ ท่ามกลางการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/5) ที่ระดับ 31.90/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (25/5) ที่ระดับ 3.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ปรับตัวในทิศทางอ่อนค่า หลังนักลงทุนลดการถือครองดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลัง บริษัท โนวาแวกซ์ (Novavax) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาวัคซีนรายใหญ่ของสหรัฐ ออกแถลงการณ์ในวันจันทร์ (25/5) ว่าทางบริษัทได้เริ่มทำการทดลองทางคลินิกเฟสแรกในการใช้วัคซีน NVX-CoV2373 เพื่อต้านไวรัสโควิด-19 โดยคาดว่าจะสามารถทราบผลเบื้องต้นเกี่ยวกับความปลอดภัย และความสามารถในการกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจากการทดลองดังกล่าวในเดือนกรกฎาคมนี้

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนอย่างใกล้ชิด หลังจากนายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐอาจใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อจีน หากจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อควบคุมฮ่องกง โดยข้อร่างมติดังกล่าวจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ซึ่งจะลงมติวันที่ 28 พฤษภาคมนี้

สำหรับปัจจัยในประเทศ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 และในวันพุธนี้ (27/5) คณะกรรมการเฉพาะกิจจะประชุมเพื่อพิจารณาผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมในระยะที่ 3 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.87-31.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/5) ที่ระดับ 1.0908/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (25/5) ที่ระดับ 1.0899/01 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรแข็งค่าหลังจากหลายประเทศในยูโรโซนเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญขยายตัวมากกว่าที่คาด โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนีเผย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 79.5 ในเดือนพฤษภาคม ขยายตัวจากระดับ 74.2 ในเดือนเมษายน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 78.3

นอกจากนี้ ประเทศสเปนซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์โดยจะเริ่มให้โรงแรมเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฎาคม ในส่วนของประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ไปแล้วบางส่วนในวันที่ 11 พฤษภาคม และเริ่มทยอยเปิดสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (24/5) ในส่วนของเฟสสองจะเริ่มอนุญาตให้ร้านกาแฟและบาร์ทยอยเปิดในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาคณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรปในวันพุธนี้ (27/5) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0899-1.0955 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0953/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/5) ที่ระดับ 107.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (25/5) ที่ระดับ 107.73/75 เยน/ดอลลาร์ ในระหว่างวันค่าเงินเยนเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยหลังหนังสือพิมพ์นิกเคอิ รายงานว่า ขณะนี้ทางญี่ปุ่นเริ่มมีการพิจารณานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเป็นจำนวนเงิน 929 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะรวมไปถึงโปรแกรมช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้ยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวานนี้ (26/5) พร้อมทั้งกล่าวเตือนประชาชนว่าควรจะน้อมรับชีวิตใหม่ให้ได้ และหลีกเลี่ยงพื้นที่ 3C ได้แก่พื้นที่ปิด, พื้นที่หนาแน่น และลดการสัมผัสติดต่อ อย่างไรก็ดีรัฐบาลยังคงต้องเฝ้าระวังสูงสุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำระลอกสอง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.68-107.91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.74/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ เดือนพฤษภาคม (26/5), ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐเดือนเมษายน (26/5), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย เดือนเมษายน (27/5), การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหรัฐ ไตรมาส 1/63 (28/5), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐเดือนเมษายน (28/5), ยอดขายบ้านที่รอปิดการขายของสหรัฐ เดือนเมษายน (28/5), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (28/5), ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี เดือนพฤษภาคม (28/5), ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานของสหรัฐ เดือนเมษายน (29/5), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซนเดือนพฤษภาคม (29/5), ดัชนียอดค้าปลีกของญี่ปุ่น เดือนเมษายน (29/5), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือนเมษายน (29/5), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เดือนพฤษภาคม (29/3), ดัชนียอดค้าปลีกของเยอรมนี เดือนเมษายน (29/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.55/+0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.40/+1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0