โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ดอกเบี้ยเฟด…ปัจจัยเขย่าตลาดถึงสิ้นเดือน

Money2Know

เผยแพร่ 20 ก.ค. 2562 เวลา 03.04 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
ดอกเบี้ยเฟด…ปัจจัยเขย่าตลาดถึงสิ้นเดือน

ตลาดหุ้นและตลาดเงินทั่วโลกยังเผชิญกับความผันผวนตามกระแสข่าวการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จนกว่าผลการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค.จะประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ

ขณะนี้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยถึง 0.50% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ โดยตลาดหุ้นและตลาดเงินได้ปรับตัวรับข่าวไปแล้ว แต่เมื่อมีกระแสข่าวออกมาว่าอาจปรับลดเพียงแค่ 0.25% ตลาดหุ้นและตลาดเงินก็ขยับตาม

แต่ที่แน่ ๆ การประชุมเฟดครั้งนี้คงลดดอกเบี้ยตามคาดการณ์ แต่จะเท่าไรนั้นต้องติดตามผลการประชุม เพราะจากความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดที่ออกมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ย้ำมุมมองที่ตลาดคาดการณ์ไว้

หากติดตามความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดและจากการประชุมครั้งก่อน จะเห็นว่าให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อและอัตราการจ้างงาน ซึ่งมุมมองการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเช่นเดียวกัน

เฟดจะลดดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหนจึงขึ้นกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาและการคาดการณ์ข้างหน้า

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.ค. หลังจากขยับขึ้นช่วงแรก แต่เมื่อมีข่าวว่าเฟด อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.25% แทนที่จะปรับลดลง 0.5%

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,154.20 จุด ลดลง 68.77 จุด หรือ -0.25% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,976.61 จุด ลดลง 18.50 จุด หรือ -0.62% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,146.49 จุด ลดลง 60.75 จุด หรือ -0.74%

ตลาดปรับตัวลง หลังหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า เจ้าหน้าเฟดหลายรายระบุว่าพร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมนโยบายในวันที่ 30-31 ก.ค.นี้ แต่ยังไม่ได้เตรียมที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงถึง 0.5%

เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group ล่าสุดชี้ว่า มีโอกาสเพียง 22.5% ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.50% ในการประชุมสิ้นเดือนนี้

ก่อนหน้านั้น เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group ชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 59% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50%

ด้านตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้น โดยนักลงทุนยังขานรับการคาดการณ์ในตลาดอีกครั้งว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในเดือนนี้ โดยดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,508.70 จุด เพิ่มขึ้น 15.61 จุด หรือ +0.21%

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้น จากการคาดการณ์ที่ว่าเฟด จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50%  โดยดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.12% ปิดที่ 387.25 จุด ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,552.34 จุด เพิ่มขึ้น 1.80 จุด หรือ +0.03%

ขณะที่ ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,260.07 จุด เพิ่มขึ้น 32.22 จุด หรือ +0.26% และ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,508.70 จุด เพิ่มขึ้น 15.61 จุด หรือ  +0.21%

สำหรับตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า (22-26ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,725 และ 1,715 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,745 และ 1,765 จุด ตามลำดับ

ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา (25-26 ก.ค.) การทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 2/62 ของบริษัทจดทะเบียนไทย รวมถึงความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/62 ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิ.ย. รวมถึงดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนก.ค. 

ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นตลาดไทยฟื้นตัวกลับมาปลายสัปดาห์โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,735.10 จุด เพิ่มขึ้น0.20% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 58,192.36 ล้านบาท ลดลง 13.43% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มขึ้น 0.18%จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 375.18จุด

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลต่อความไม่แน่นอนในประเด็นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังปธน. ทรัมป์ เปิดเผยว่าการเจรจายังคงไม่คืบหน้า และยังเตือนว่าอาจมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค โดยมีแรงหนุนจากถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขานิวยอร์กที่มีท่าทีเปิดรับโอกาสของการปรับลดดอกเบี้ยขณะที่ นักลงทุนยังรอติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล

การเคลื่อนไหวคาาเงินบาทในสัปดาห์หน้า (22-26 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.60-30.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนมิ.ย. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนในตลท.

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ประกอบด้วย ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป รวมถึงสถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน

เงินบาทกลับมาแข็งค่าปลายสัปดาห์โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสถานะการขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยฟื้นกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดัน ทั้งจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด และจากถ้อยแถลงของประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมสิ้นเดือนก.ค. นี้

นอกจากนี้ รายงานของ IMF ที่ระบุว่าเงินดอลลาร์ฯ มีมูลค่าสูงเกินจริง ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ (19 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 30.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (12 ก.ค.)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0