โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ดร.เจษฎา สวนกระแสปัญหาความเข้าใจ 3 สารพิษการเกษตร และเหตุผลที่ไม่ควรถูกแบน

THE STANDARD

อัพเดต 16 ต.ค. 2562 เวลา 13.26 น. • เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 13.26 น. • thestandard.co
ดร.เจษฎา สวนกระแสปัญหาความเข้าใจ 3 สารพิษการเกษตร และเหตุผลที่ไม่ควรถูกแบน
ดร.เจษฎา สวนกระแสปัญหาความเข้าใจ 3 สารพิษการเกษตร และเหตุผลที่ไม่ควรถูกแบน

ขณะนี้สาร 3 ชนิด อย่าง สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส กำลังเป็นกระแสให้พูดถึงอยู่ในตอนนี้เป็นอย่างมากบนสื่อออนไลน์ ท่ามกลางการถกกันถึงปัญหาที่แท้จริงว่า สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด อันตรายจริงหรือไม่ อย่างไร และผลกระทบทั้งหมดจะไปตกกับใคร

 

THE STANDARD ได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ จากมุมมองของนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ที่มองสวนหลายหน่วยงานว่า ‘สาร 3 ชนิดนี้ ยังไม่สมควรถูกแบน’

 

ปูพื้นความเข้าใจ ไม่เกี่ยวกับสารทั้ง 3 ชนิด

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของประเด็นการแบนสาร 3 ชนิด คือ เรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ที่ได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียว ไม่รอบด้าน และถูกบิดเบือนไปด้วย เพราะปัจจุบันในกระแสของการรณรงค์ให้แบนสารเคมีทางการเกษตร มีเพียงการอ้างว่า สารเหล่านี้เป็นพิษต่อสุขภาพของผู้บริโภค เกษตรกร ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม ไปในแบบต่างๆ นานา โดยบางที่เหมารวมสาร 3 ชนิด ว่าเป็นยาฆ่าหญ้า ทั้งที่ความจริงคุณสมบัติของสารแตกต่างกัน 

 

ตอนนี้ถึงขนาดที่มีการบอกว่า สารทั้ง 3 ชนิด ทำให้มีผู้ป่วยกว่า 10,000 ราย ขณะที่ศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี มีค่าตัวเลขที่ไม่ได้สูงระดับนั้น หรือการอ้างว่า สารพาราควอตหรือไกลโฟเซตทำให้คนเป็นโรคเนื้อเน่า ซึ่งผลทางด้านการแพทย์ก็ยืนยันว่า ไม่จริง โรคดังกล่าวเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น 

 

“ทุกวันนี้น้อยคนมากที่จะออกมาพูดว่า สารพิษทั้ง 3 ชนิด แต่ละตัวใช้กันอย่างไร และแตกต่างกันอย่างไรบ้าง จนบางทีเกิดการนำความอันตรายของสารพิษชนิดหนึ่งไปอ้างอิงเป็นสารพิษอีกชนิดหนึ่ง จึงทำให้ผู้คนเกิดความสับสนและปักใจเชื่อกันว่า สารพิษ 3 ชนิดนี้ อันตรายเท่ากันหมด”

 

 

ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าเรามานั่งไล่ดูทีละตัวจะพบว่า สารพิษทั้ง 3 ชนิด มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนี้

 

เริ่มจากตัวแรก ‘คลอร์ไพริฟอส’ ถือเป็นยาฆ่าแมลง เป็นสารเคมีทางการเกษตรที่มีไว้ใช้เพื่อกำจัดแมลง และจะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคหากพบสารตกค้าง หากผู้ผลิตผ้าเกษตรกรใช้ไม่ถูกต้อง ซึ่งสารคลอร์ไพริฟอสเป็นสารที่สามารถแบนได้เลย เนื่องจากปัจจุบันมีสารทดแทนชนิดอื่นที่มีพิษต่ำกว่าคลอร์ไพริฟอส ก็สามารถทดแทนกันได้

 

ส่วน 2 ชนิด ที่เป็นประเด็น คือ ‘พาราควอต’ และ ‘ไกลโฟเซต’ 2 ชนิดนี้ มีใช้เพื่อฆ่าหญ้าหรือกำจัดวัชพืช ซึ่งเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีสารตกค้างถึงผู้บริโภค เพราะไม่ได้มีสารตกค้างแบบเดียวกับยาฆ่าแมลง

 

“สำหรับพาราควอตในนานาประเทศที่มีการแบนพาราควอตกัน เนื่องจากพบว่า มีความเป็นพิษในการบริโภคค่อนข้างเยอะ เพราะเมื่อทานเข้าไปจะรักษาได้ยาก ทำให้ผู้คนนิยมใช้ในการดื่มเพื่อฆ่าตัวตาย ซึ่งอันนี้มันไม่ใช่ประเด็นที่พบการตกค้างอยู่ในพืชผลทางการเกษตร เพราะยาฆ่าหญ้า 2 ชนิดนี้ เป็นยาแบบเผาไหม้ เพราะฉะนั้นเมื่อยาฆ่าหญ้าอย่างพาราควอตและไกลโฟเซตไปถูกต้นพืชไหนก็ตามที่เป็นใบพืชสีเขียวก็จะไหม้ตายหมดเลย ดังนั้น จึงไม่มีเกษตรกรคนไหนไปฉีดใส่ผลผลิตให้เสียเปล่าแน่นอน

 

“ตัวสุดท้ายคือ ไกลโฟเซต เป็นยาฆ่าหญ้าที่มีความเป็นพิษต่ำมาก หากเปรียบเทียบคือ มีฤทธิ์ต่ำกว่าเกลือแกงด้วยซ้ำในปริมาณที่เท่ากัน สารพิษที่ถูกเหมารวมว่าอันตราย ซึ่งความน่าสนใจอีกอย่างเกี่ยวกับสารพิษชนิดนี้คือ ไม่มีประเทศไหนในโลกนี้แบนกัน” 

 

สิ่งเหล่านี้ก็เลยทำให้เกิดกระแสตามมาว่า หากยาฆ่าหญ้า 2 ชนิดนี้ ถูกแบนขึ้นมาจริงๆ เท่ากับบีบให้การเกษตรที่แพงกว่าแต่คุณภาพแย่กว่า หรือมีความเป็นพิษไม่ต่างกัน ส่วนตัวจึงเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมถึงผูกเหมารวมสารพิษทั้ง 3 ชนิดนี้ ทั้งที่มีค่าความเป็นพิษและคุณภาพเชิงเกษตรที่ต่างกัน

 

ดังนั้น หากต้องการที่จะแบนจริงๆ ควรมีข้อมูลประกอบจากหลายฝ่ายที่รอบด้าน และออกมาบอกกับผู้คนว่า 3 สารชนิดนี้ต่างกัน ยกตัวอย่าง คลอร์ไพริฟอสแบนได้เลย เพราะอันตรายจริงๆ ส่วนพาราควอต ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนมีการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด ขณะที่ไกลโฟเซตไม่มีความจำเป็นต้องแบน เพราะอุตสาหกรรมการเกษตรทั่วโลกก็มีการใช้กัน ซึ่งถ้าแยกเรื่องเหล่านี้ได้ เราก็จะพอมองออกว่า การแบนสารพิษไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับสารทั้งหมดก็ได้

 

 

ข้อดี-ข้อเสีย หากการแบนเกิดขึ้นจริง

ในภาพรวมของข้อดีที่เกิดจากการแบนสาร 3 ชนิดข้างต้นนั้น รศ.ดร.เจษฎา ระบุว่า ข้อดีที่เกิดขึ้นคือ ภาพรวมที่มีต่อการลดการใช้สารเคมี โดยเฉพาะสารที่อาจมีการนำเข้ามาในปริมาณที่สูง แต่ในเชิงรูปธรรมไม่เป็นอย่างนั้น เพราะการทำแบบนี้เปรียบเสมือนการนำเครื่องมือทางการเกษตรของเกษตรกรออกจากมือพวกเขาไป

 

ส่วนข้อเสียก็ชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกจากประเด็นนี้คือ เกษตรกรอันเป็นผู้ใช้สารเหล่านี้ เพราะในอนาคตพวกเขาอาจจะต้องเสียเงิน เพื่อซื้อยากำจัดวัชพืชในราคาที่สูงขึ้น แต่คุณภาพต่ำลง ซึ่งอาจจะลุกลามไปกระทบเรื่องของผลผลิตทางการเกษตร ที่พาให้กระทบต่อผู้บริโภคอาจต้องซื้อสินค้าบริโภคที่สูง และยังอาจลามไปถึงภาคสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย 

 

แต่คนที่ไม่เสียผลประโยชน์เลยคือ พ่อค้านายทุน เพียงแค่เปลี่ยนจากการขายสารชนิดหนึ่ง เปลี่ยนไปเป็นสารชนิดหนึ่งเท่านั้น แถมยังได้กำไรเยอะชัดเจน และจะทำให้เห็นพ่อค้าหน้าใหม่เข้ามาสู่ตลาดขายสารใหม่ๆ อีกเยอะ

 

 

ข้อเสนอถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแบนสาร 3 ชนิด

“ผมพยายามฝากถึง คุณอนุทิน ชาญวีรกูล, มนัญญา ไทยเศรษฐ์ และคนรอบข้างว่า การที่บอกว่าเป็นผู้บริหารไม่ต้องรู้ทุกเรื่องก็ได้ (พูดถึงประเด็นที่มีการตอบโต้กับ BIOTHAI) ไม่ต้องอ่านงานวิจัยทุกเรื่องก็ได้ ซึ่งมันไม่จริง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบต่อเกษตรกรนับแสนคน หรือมากกว่านั้นก็คือหลักล้านคน”

 

ผลกระทบจากประเด็นการแบน 3 สารพิษ มันเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ดังนั้นก่อนที่จะดำเนินการอยากจะให้ศึกษาข้อมูลให้รอบด้านเสียก่อน การที่ไปตีขลุมว่า ทั้ง 3 สาร เป็นพิษ โดยที่ต้องแบนทันที มันสะท้อนค่อนข้างชัดว่า คุณไม่มีความรู้จริง เกี่ยวกับเรื่องนี้ นั่นแปลว่า คุณได้ความรู้จากรอบข้าง ซึ่งเป็นความรู้เพียงฝั่งเดียว และตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องลุกขึ้นมาฟังความเห็นจากคนอื่นๆ โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรอันเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบที่สุด เพื่อตัดสินข้อมูลบนความรู้ของวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง 

 

“อยากให้เขาได้มองกันดีๆ ว่า สารเหล่านี้มันแตกต่างกัน จะแบนโดยการเหมารวมไม่ได้ เพราะประเด็นนี้ควรมองแยกเป็นทีละตัว เช่น สารชนิดไหนก็ตาม หากมีสารทดแทนให้เกษตรกรใช้ที่ดีกว่า ก็สามารถดำเนินการแบนทันที ส่วนสารตัวไหนที่ยังหาสารทดแทนที่ดีกว่าไม่ได้ ก็ต้องลองใช้วิธีการจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด

 

“ดังนั้น ก่อนที่เราจะเริ่มแบนสารเหล่านี้ เราควรจะพิจารณาจากข้อมูลที่อุดมไปด้วยความจริง และไม่แบนไปโดยที่อาศัยข้อมูลเท็จหรือบิดเบือนความจริง แม้จะมีบางองค์การบอกว่า สารเหล่านี้เป็นสารก่อมะเร็ง แต่ก็ยังคงมีองค์การบนโลกนี้อีกไม่น้อย รวมไปถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) สารเหล่านี้เป็นสารที่ใช้ได้อย่างปลอดภัย ฉะนั้น เราควรยืนอยู่บนพื้นฐานที่ระดับสากลเขาใช้กันเป็นแนวทางเดียวกันทั้งโลก อย่าใช้เพียงแค่อารมณ์และความรู้สึกในการแบน เพราะสุดท้ายคนที่เดือดร้อนคือ คนที่แทบจะไม่ได้ออกเสียงต่อประเด็นนี้อย่างเกษตรกร” รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าแบน 3 สารพิษ ยังคงเป็นสิ่งที่ประชาชนและนักวิชาการหลายฝ่ายต้องจับตามองกันต่อไปว่า ภายในสิ้นปี 2562 สารเหล่านี้จะถูกยกเลิกแบบที่ 51 ประเทศทั่วโลก ทำกันได้หรือไม่ หรือมาตรการดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป ก่อนเดินเข้าสู่ปีที่ 3 และปีต่อๆ ไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด

 

 

ภาพ: Jessada Denduangboripant/Facebook 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0