โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

ดร.ศุภศักดิ์ เงาประเสริฐวงศ์ : “มวยไทยต้องปฏิรูปไม่อย่างนั้นพังทั้งระบบ"

Main Stand

อัพเดต 30 ม.ค. 2563 เวลา 13.53 น. • เผยแพร่ 24 ม.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • อลงกต เดือนคล้อย

“ผมอาจจะอยู่เป็นแกะดำของวงการมวยไทย แต่ผมคิดว่าไอ้การมีอยู่ของแกะดำตัวนี้ มันน่าทำให้คนภายนอกมองสังคมมวยไทยดีขึ้น ผมเชื่อแบบนั้นนะ” 

ลองนึกภาพของใครสักคนที่จะมาทำงานเป็น โปรโมเตอร์มวยไทยอาชีพในบ้านเรา หลายคนอาจมีภาพในหัวเป็น คนที่มีบุคลิกน่าเกรงขาม มากด้วยบารมี อย่างกับหลุดมาจากหนังเจ้าพ่อ 

แต่คนที่อยู่ตรงหน้าเรานั้น ตรงกันข้ามกับ ภาพโปรโมเตอร์ในความคิดของใครๆหลายคน เพราะเขามีบุคลิกดูมีภูมิฐานเป็นนักวิชาการมากกว่า

เขาคือ “ศุภศักดิ์ เงาประเสิรฐวงศ์” อาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์ สาขาการจัดการท่องเที่ยวและบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หรือคนในวงการมวยรู้จักในชื่อ “ดร.น็อต” อันมาจากคุณวุฒิทางการศึกษาและชื่อเล่นของเจ้าตัว 

ผู้ชายคนนี้มีความน่าสนใจ เพราะเขาไม่ใช่เซียนมวย, หัวหน้าคณะ หรือคนที่มีความเกี่ยวข้องกับวงการมวย ที่ผันตัวมาทำงาน “โปรโมเตอร์” แบบที่เกือบทั้งหมดเป็นกัน แต่เขามาจากคนนอกวงการมวย ที่เริ่มต้นจากการเป็นผู้ชมในสนาม ก่อนที่วันหนึ่งจะก้าวเข้ามาทำหน้าที่เป็น “โปรโมเตอร์” จัดการแข่งขันในเวทีมวยลุมพินี 

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยอดผู้ชมในสนามมวย ลดลงอย่างน่าใจหาย  จนส่งผลให้ โปรโมเตอร์ทั้งหลาย ได้รับผลกระทบ และประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก ในฐานะผู้เคยคร่ำหวอดกับแวดวงการเงินและการลงุทน เขามองว่าทางออกเดียวที่จะช่วยให้ “วงการมวยไทย” ดีขึ้นได้ คือ การต้องปฏิรูปและปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคปัจจุบัน 

 

ระหว่างการเข้ามาทำงานในเส้นทางสายวิชาการ กับความชอบในมวยไทย อย่างไหนเกิดขึ้นก่อนในชีวิตคุณ

โอ๊ย ผมชอบมวยไทยมาก่อนเยอะ ผมดูมวยตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ดูตามอากงและคุณพ่อ เริ่มจากดูมวยตู้ (มวยที่มีการถ่ายทอดสด) มวยแห้ง (มวยบันทึกการแข่งขัน) จากนั้นก็ตามคุณพ่อเข้าสนามมวย และหาอ่านหนังสือมวยรายสัปดาห์ 

พอเริ่มโตเป็นวัยรุ่นก็เริ่มไปดูเอง ตั้งแต่สมัยลุมพินียังเป็นวิกสังกะสี บรรยากาศสมัยก่อนคนแน่นมาก ผมก็จะไปนั่งอยู่โซนแม่บ้าน ชั้น 3 ที่ไม่มีคนเล่นการพนันกัน พอเริ่มทำงานมีเงิน ก็ซื้อตั๋วดูอยู่ชั้น 2  

จริงๆ เห็นผมใส่แว่นแบบนี้ ผมไม่ใช่เด็กเนิร์ดนะ ผมเป็นเด็กที่ชอบทำกิจกรรม ชอบดูมวยไทย เพราะมันสนุกตื่นเต้นเร้าใจดี ก็ติดตามมวยมาตลอดในฐานะคนดู ไม่ใช่เซียนมวย 

ส่วนงานสอนหนังสือ ผมเพิ่งมาทำเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้นผมเรียนจบปริญญาตรีและโท สายไฟแนนซ์ ด้านการเงิน ก็ทำงานอยู่ในตลาดหุ้น และเคยเขียนพ็อคเกตบุ๊คเกี่ยวกับการเงินการลงทุน ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมวยไทย แต่มวยไทยมันคือสิ่งที่ผมชอบมาตั้งแต่เด็ก

 

แล้วคุณเข้ามาสู่วงการมวย เป็นโปรโมเตอร์จัดการแข่งขันได้อย่างไร 

ผมเรียนจบปริญญาโท ตอนอายุ 26 ปี ก็เริ่มมองต่อไปที่ ปริญญาเอก แต่ว่าที่ผ่านมาเราเรียนเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ และการเงินมา คิดว่าตัวเองน่าจะมีความเชี่ยวชาญพอแล้ว หากเรียนต่อปริญญาเอก ก็อยากไปเรียนอะไรที่น่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเอง  พอดีตอนนั้น ม.ศรีปทุม เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจกีฬาและบันเทิงเมื่อสัก 10 ปีก่อน จึงตัดสินใจเรียนปริญญาเอกด้านธุรกิจกีฬา เพราะเราชอบมวยไทยด้วยส่วนหนึ่ง 

พอเข้าไปเรียน ทุกคนในคลาสเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬาหมดเลย เราเป็นคนเดียวที่มาจากผู้ชม จุดเปลี่ยนมันมาจากการที่ต้องทำงานวิจัยเชิงลึก ผมเลือกทำวิจัยเรื่อง “การพัฒนารูปแบบการจัดการแข่งขันมวยไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาในทศวรรษหน้า” ทำให้ต้องลงไปสัมภาษณ์ คนในวงการ ทั้ง โปรโมเตอร์ นายสนาม ทำให้ได้มารู้จักกับ คุณทรงชัย รัตนสุบรรณ ผ่านทาง ดร.ศิรภพ รัตนสุบรรณ ลูกชายของท่านที่เรียนด้วยกัน 

ผมจึงได้เข้าไปศึกษาดูงาน หรือซัพพอร์ทบางอย่างที่เราพอช่วยได้ เหมือนเป็นทีมงานคนหนึ่งของศึกวันทรงชัย ทีนี้ช่วงเรียนจบปริญญาเอก ก็มีโอกาสจัดมวยเอง เพราะมีผู้ใหญ่คนหนึ่ง ติดต่อให้เราประสานจัดมวย โดยจะถ่ายทอดผ่านทางเคเบิลท้องถิ่น และให้ผมเป็นโปรโมเตอร์  

ปรากฏว่าครั้งแรกจัด 4 คู่ ผลการแข่งขันพลิกทุกคู่เลย ทีมงานก็ชมว่า “ดร.น็อต จัดมวยมีดวงนะ” น่าทำต่อ ผมก็บ้ายุ เลยไปจัดสักระยะหนึ่ง จนผู้สนับสนุนหาสปอนเซอร์ไม่ได้ ก็หยุดไป แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้มาจัดมวย จากนั้นก็มีโอกาสได้มาจัดสล็อตจัดมวยในเวทีมวยลุมพินี ใช้ชื่อศึกว่า “ดร.น็อตมวยไทยซุปเปอร์ไฟท์”

 

บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ หรือมุมมองต่อวงการมวย ต่างกันมากน้อยแค่ไหน เมื่อเปลี่ยนสถานะจากผู้ชมมาเป็นคนจัด 

คนละเรื่องเลย จากหน้ามือเป็นหลังมือ มันไม่ได้เหมือนกับที่เราคิด โอเคเราพอรู้กระบวนการว่า จะจัดมวยต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ก่อนชก วันชก ต้องทำอะไร ปัญหาและอุปสรรคที่เจอ ก็ไม่หนีจากการที่คาดคิดสักเท่าไหร่ แต่พอต้องมาชนจริงๆ มนุษย์มันมีเรื่องสภาพจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย บางครั้งเจอคนไม่ดี คนเห็นแก่ตัว มนุษย์ร้อยคนก็ร้อยอย่าง มันก็มีเครียดบ้าง 

จริงๆ เป็นคนจัดมวย มันไม่ใช่แค่ว่าเรามีหน้าที่รับผิดชอบแค่วันแข่งวันเดียว มันเริ่มตั้งแต่การประกบคู่มวย 9 คู่ ล่วงหน้า 1 เดือน ใจก็ไม่ค่อยอยู่กับเนื้อตัว เพราะต้องมาห่วงว่านักมวยจะถอนไหม ยิ่งสัปดาห์สุดท้ายแทบจะต้องจุดธูปบนบาน อย่าป่วยอย่าถอนเลย 

พอวันชกก็ต้องมาลุ้นช่วงเช้ามืดว่า ชั่งน้ำหนักผ่านไหม ตอนเย็นลุ้นอีกว่า จะมีนักมวยป่วยหรือเปล่า แล้วเมื่อถึงเวลาชก ก็นั่งลุ้นตั้งแต่คู่ 1-9 ว่าชกสูสีกันไหม 

บางคู่ที่คนดูมองว่าประกบหลุด (ประกบคู่มวยที่ฝีมือไม่เหมาะสมกัน) พอชกจริงๆ มันไม่ขาดลอย มีพลิกล็อกได้ มันก็เป็นความท้าทายของคนจัดมวย เชื่อผมเถอะไม่มีโปรโมเตอร์คนไหนอยากประกบหลุดหรอก อีกอย่างที่ต้องดูถึงคู่สุดท้าย เพราะเราอยากให้กำลังใจนักมวยด้วย

 

มันมีคำพูดว่า “โปรโมเตอร์มวยไทยสมัยนี้จัดมวยมีแต่ขาดทุน” คุณคิดว่ามันมีปัจจัยอะไร ที่เป็นอุปสรรค หรือความยากลำบากในเป็นโปรโมเตอร์มวยไทยยุคนี้ ที่แตกต่างจากตอนที่คุณเป็นแค่ผู้ชม 

สมัยที่ผมเป็นคนดู รูปแบบของออนไลน์ยังไม่มี ความยากของคนจัดมวยไทยในยุคนี้ก็เหมือนกับทุกๆ ธุรกิจคือถูก Disruption (เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าทำลายธุรกิจแบบเดิม) 

ต้องยอมรับก่อนว่า มันมีการพนันเกิดขึ้นจริงภายในสนามมวย คนที่อยากมาพนัน ก็ซื้อตั๋วเข้ามาเล่นในสนาม คนจัดก็ได้ค่าตั๋วเป็นรายได้ แต่ยุคนี้การพนันมันถูกพัฒนาจากเว็บพนันออนไลน์ มาเปิดเป็นกลุ่มไลน์ ให้คนเข้ามาต่อรอง จับชนกัน  3 ต่อ 5 รอง กินค่าน้ำ (เงินส่วนต่างที่เจ้ามือได้) ไป มันทำให้คนส่วนหนึ่งที่ต้องการเล่นพนัน ไม่ต้องเข้าสนามก็ได้ มีมวยหูฟัง เล่นง่าย มีออนไลน์อีก 

เงินมันออกไปอยู่นอกระบบหมด แต่คนลงทุนจัดมวยอย่าง โปรโมเตอร์ ขาดทุนยับเลย แบบนี้โปรโมเตอร์ตายไหม สมมติวันนี้โปรโมเตอร์รายเล็กๆ รวมตัวกันออก เหลือแค่รายใหญ่ๆ สนามมวยอยู่ได้ไหม ก็คงยาก ผมคิดว่ามันควรต้องปฏิรูป จะทำแบบเดิม เหมือนเมื่อ 20 ปีก่อนไม่ได้แล้ว 

 

ต้องปฏิรูปอย่างไร? 

อย่างเรื่องการพนัน ก็ต้องให้พวกบรรดากลุ่มไลน์ มวยหู ที่ต้องการเผยแพร่สัญญาณ มาลงทะเบียนกับสนาม หรือตัวแทนกลาง เข้าสู่ระบบก่อน โดยนำกำไรส่วนหนึ่ง มาช่วยเหลือโปรโมเตอร์ด้วย เพราะคนเหล่านี้เขาลงทุน ถ้าไม่มีคนจัด วงการมันก็ล้มนะ แต่คุณแค่ซื้อไพ่ว่ามันจะไม่ล้มแค่นั้นเอง 

ส่วนเว็บพนันออนไลน์แก้ไม่ได้ ใช่ไหม คุณก็ต้องหาตัวกลาง ใครสักคน ที่ไม่ใช่บ่อน มาบริหารจัดการหรือเปิดให้สามารถแทงออนไลน์ในสนามได้ อาจจะกินค่าน้ำ แค่ 5 เปอร์เซนต์ มันก็สามารถดึงดูดนักพนันรุ่นใหม่ได้แล้ว ไม่อย่างนั้น นักพนันรุ่นใหม่ไม่กล้าเข้าสนามหรอก 

เพราะคนรุ่นใหม่เล่นเก่งสู้เซียนมวยไม่ได้ แค่คุณเล่นผิดราคาก็พังแล้ว ไม่เกิน 3 เดือน เลิก ฉะนั้นก็ต้องหาเซียนมวยที่มีจิตอาสา มาช่วยเทรน สมมติพี่คนนี้ ดูแลเด็กใหม่ 4-5 คน สอนวิธีดูหน้าเสื่อ ราคา การทำมือ 

ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถสร้างแฟนประจำได้เลย เพราะมันขาดรอยต่อการเรียนรู้ ไม่ใช่ว่าคนรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นเซียนมวย แต่ถ้าเข้ามาแล้วโดนล้อมกิน ใครจะอยากเข้ามาล่ะ ถามว่าคนรุ่นใหม่ ที่เพิ่งเข้าสนาม ทำสัญญาณมือราคา เป็นกี่คน ?

หรือพวกที่ได้กำไรจากทำกลุ่มไลน์ มวยหู อยากช่วยโปรโมเตอร์ ก็อาจจะเหมาซื้อตั๋วแจกสมาชิกคุณบ้าง เป็นโปรโมเตอร์ เพื่อให้เม็ดเงินตรงนี้ มันเข้าสู่ระบบบ้าง โอเค สนามช่วยลดค่าเช่ามันก็ช่วยโปรโมเตอร์ได้ประมาณหนึ่ง แต่ปัญหาจริงๆ มันเกิดจากการที่คนเข้าสนามน้อยลง โดยมีปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้คนดูมวยมันออกไปอยู่ข้างนอก ก็ต้องหาวิธีแก้และจัดการ 

 

เช่นอะไรบ้างครับ

แยกก่อนนะ ถ้าเป็นคนไทย ปัญหาคือค่าดูมวยไทยมันแพงเกินไป ผมก็พยายามตรึงอยู่นะ แต่หันซ้ายหันขวา เขาขยับไปหมดแล้ว เราก็ต้องขยับตาม วิธีแก้คุณต้องลดค่าตั๋วให้คนรุ่นใหม่ หรือคนทั่วไปที่เข้าสนาม เพื่อมาดูมวย ไม่ใช่เล่นการพนัน ให้ราคาถูกเท่ากับตั๋วชมภาพยนตร์เลย

แยกโซนนิ่งให้ชัดเจน ตั๋วถูกอยู่ตรงนี้ กติกาคือ โซนนี้เล่นการพนันไม่ได้นะ ถ้าทำผิดกติกาตั๋วถูก ก็ต้องออกไปซื้อตั๋วใหม่สำหรับโซนเซียนมวย อย่าเพิ่งคิดว่าทำไม่ได้ ถ้าคิดจะทำจริง  ผมว่าทำได้ ส่วนต่างชาติคุณต้องให้เขามีส่วนร่วมด้วย และทำให้เขาดูมวยไทยรู้เรื่องด้วย 

อันดับแรกต้องมีไกด์สนาม ที่ไม่ใช่ไกด์ทัวร์ เพื่ออธิบายให้ฝรั่งรู้มวยไทย เช่น ยก 1-2  ยังไม่ออกอาวุธกันมาก เริ่มดูสนุกยก 3-4 ถ้ามันยังไม่ขาดลอย ยก 5 ก็จะเป็นยกตัดสิน มันคือ Service Quality (คุณภาพการบริการ) ที่คุณสร้างความประทับใจให้เขา ให้เขาดูมวยไทยสนุกขึ้น 

หรือทำกิจกรรมให้เขามีส่วนร่วมด้วย สมมติมีการเปิดให้ฝรั่ง กดสลิปแทงมวยในสนามได้ มันก็น่าจะดึงชาวต่างชาติเข้าสนามได้มากขึ้น เพราะว่ามวยไทยดูสนุก มีได้เสียด้วย กีฬาอื่นๆ เขาก็ทำกัน มันเป็นการทำให้เขามีส่วนร่วมกับการดูมวยไทย และอยากเข้ามาชมอีก ไม่ใช่เสียตังค์ซื้อตั๋ว แต่ไม่มีส่วนรวมอะไรเลย นอกจากนั่งดูเฉยๆ กับมองกระดาษใบหนึ่ง ที่มีแค่ชื่อนักมวย และน้ำหนัก ไม่มีข้อมูลอย่างอื่นเลย 

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ นัดที่คนดูเข้าสนามเยอะๆ ส่วนใหญ่จะเป็นแมตช์ใหญ่ๆ ที่มีการแจกรถ แจกทองใช่ไหม ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะมันมีกิจกรรมร่วมกับคนดูไง 

 

ล่าสุดเห็นคุณเอา MMA กับ คิกบอกซิง มาจัดในรายการมวยไทยของคุณ แนวคิดใหม่ๆ เช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ดึงชาวต่างชาติ เข้าสนามของคุณหรือเปล่า

ถูกต้องครับ คือต่อให้เราจัดมวยไทย 9 คู่ดียังไง คนก็ดูไม่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากนัก  ยิ่งจัดมวยดี ยิ่งขาดทุน เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น สมมติจัดมวยดี ดึงนักมวยเก่งๆ มา รายการน่าดูขึ้น ต้นทุนเพิ่มขึ้น 1 แสนบาท แต่เก็บยอดผู้ชมเพิ่มขึ้นมาแค่ 5 หมื่นบาท หรือ ต้นทุนเพิ่มมา 2 แสน เก็บยอดผู้ชมได้เพิ่มมาอีก 1 แสน ขาดทุน 1 แสน

ถ้าเป็นแบบนี้ สู้จัดมวยกลางๆ ไม่ดีกว่าเหรอ เพราะยอดคนดูมันไม่เพิ่มไปกว่านี้หรอก ฉะนั้นผมคิดว่าถ้าเราทำให้ ชาวต่างชาติเข้ามาดูมวยได้เยอะ ในระดับที่โปรโมเตอร์อยู่ได้ไม่ขาดทุน ในอนาคตคนไทยอาจดูฟรีก็ได้ครับ 

ก็ต้องขอบคุณสนามมวยลุมพินีด้วย ที่เปิดโอกาสให้ผมจัดมวยอีกรูปแบบหนึ่ง ที่นำ MMA และ คิกบอกซิง มาจัดร่วมด้วยในรายการ วันนั้นก็มีชาวต่างชาติเข้ามาดูกันเยอะ เพราะเขาตามนักมวยชาวจีนเข้ามา ผมได้มีการคุยกับโปรโมเตอร์คนจีน ก็เป็นนิมิตหมายอันดี ว่าปี 2563 อาจได้จัดแบบนี้อีก 2-3 ครั้ง

 

มีกระแสต่อต้านไหมครับ เรื่องการเอามวยรูปแบบอื่นมาจัดในเวทีมวยไทยที่ศักดิ์ศรีและมีมนต์ขลัง เพราะ MMA และ คิกบอกซิง ก็เป็นกีฬาที่ไม่ได้รับความนิยม และการยอมรับมากนักในวงการมวยบ้านเรา 

ต้องถามก่อนว่า นี่คือเวทีมวยไทย หรือสเตเดียมกีฬา ถ้าเป็นเวทีมวยไทย ก็ใช้จัดมวยสากล หรือมวยสากลสมัครเล่นไม่ได้สิ ถามว่าเราไม่รักมวยไทยหรือเปล่าที่ทำแบบนี้? ผมเชื่อว่าทุกคนที่รู้จัก ดร.น็อต จะรู้ว่า ดร.น็อต รักมวยไทยมาก

ดร.น็อต อยากสืบสานอนุรักษ์มวยไทยมาโดยตลอด แต่ถ้าต้องปรับตัว และดึงกลุ่มคนใหม่ๆ เข้าสนามมวย ก็ต้องหาวิธีการ รูปแบบใหม่ๆ มาช่วยด้วย เพราะมวยไทยยุคนี้ ภาพรวมมันไม่เหมือนยุค 20-30 ปีก่อน ที่มีซูเปอร์สตาร์เยอะแยะเต็มไปหมด ทุกวันนี้ซูเปอร์สตาร์ในระดับที่ดึงผู้ชมเข้าสนามได้ มีน้อยมาก 

สุดท้ายมันจะตายทั้งระบบ เพราะนักมวยใหม่ๆขาดแรงจูงใจ เนื่องจากค่าตัวมันตัน หากเมกะมวยไทยสภาพไม่ดี วงจรที่อยู่รอบๆ ก็จะตายกันหมด ในเมื่อนักมวยไทยยังไปต่อย MMA เลย แล้วทำไมจะเอา MMA มาต่อยในรายการมวยไทยไม่ได้ 

 

สิ่งที่คุณประทับใจและหนักใจมากสุด จากการได้มาสัมผัสกับวงการนี้ ในบทบาทโปรโมเตอร์ 

ประทับใจที่สุดคงเป็นตัวคน นั่นคือ นักมวย การมาทำงานตรงนี้ทำให้เราได้เข้าห้องแต่งตัว ได้เห็นเขาดีใจ เสียใจ ร้องไห้ ได้เห็นครอบครัวเขา เรามีพลังใจที่จะทำต่อ เพราะเขาและครอบครัวฝากความหวังไว้ที่เรา เราอาจเป็นโปรโมเตอร์ตัวเล็กๆ แต่เราก็ดีใจที่ยังมีคนจำนวนหนึ่งเชื่อมั่นในตัวเรา เพราะเราเป็นคนจัดมวยที่ไม่มีนอกใน ไม่ได้ทำเพื่อการพนันอยู่แล้ว 

ส่วนปัญหาที่หนักใจสุด ก็คงเหมือนกับทุกๆ ธุรกิจ คือเรื่องคน เพราะพื้นฐานของมนุษย์มันมีความเห็นแก่ตัวอยู่แล้ว แต่หากเราลดความเห็นแก่ตัวลงมา เพื่อส่วนรวมมากขึ้น สังคมมวยก็น่าจะอยู่มากกว่านี้ 

 

ถ้าให้ตอบในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ธุรกิจมวยไทยในวันนี้ ยังน่าลงทุนอยู่ไหม และหากมีใครสักคนเดินมาบอกว่าอยากเป็น โปรโมเตอร์ จะแนะนำกับเขาอย่างไร

ถ้าเขามีแผนการทำธุรกิจที่ดี ก็น่าลงทุน ยุคนี้ ผมเห็นหลายคนประสบความสำเร็จการทำธุรกิจมวยไทย โดยที่พวกเขาเหล่านั้น อาจเข้าสนามมวยลุมพินี ราชดำเนิน ไม่ถึง 5 ครั้งก็ได้ จากการเปิดยิมสอนมวยไทย เพราะเขามีแผนธุรกิจที่ดี เขาก็ได้กำไร

แต่สำหรับอาชีพโปรโมเตอร์ ผมก็คงไม่แนะนำ ที่เรายังทำกันอยู่ เพราะโปรโมเตอร์ส่วนใหญ่ เขามีใจรัก หรือบางคนอาจจะมีเหตุผลอื่นๆ ผมไม่ขอพูดถึงแล้วกัน 

ผมอาจจะอยู่เป็นแกะดำของสังคมมวย แต่ไอ้แกะดำตัวนี้ มันก็น่าจะช่วยทำให้คนภายนอก มองสังคมมวยดูดีขึ้น เพราะอย่างน้อย วงการมวยมันก็ไม่น่ากลัวแบบคนที่ภายนอกคิดเสมอไป มันก็ยังมีคนแบบอยู่  ผมเชื่อแบบนั้นนะ 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0