โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'ดร.พิชาย'ชี้ผลเสียหายสส.เสียบบัตรแทนต้องขจัดออกจากสภาฯพร้อมแนวทางแก้ปัญหา

ไทยโพสต์

อัพเดต 24 ม.ค. 2563 เวลา 00.21 น. • เผยแพร่ 24 ม.ค. 2563 เวลา 00.20 น. • ไทยโพสต์

24ม.ค.63-รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตคณะบดีพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) โพสต์ข้อความบนโพสต์บุ๊ก Phichai Ratnatilaka Na Bhuket  เรื่อง เสียบบัตรแทน พฤติกรรมที่ต้องขจัดออกให้สิ้นซากจากสภาผู้แทนราษฎร มีเนื้อหาดังนี้

การเสียบบัตรแทนส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งแก่ประเทศและสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ๑. ประเทศเสียหาย เพราะ พ.ร.บ. งบประมาณล่าช้าไปอีกอย่างน้อยหนึ่งเดือน จักรกลทางเศรษฐกิจไม่อาจขับเคลื่อนได้อย่างเต็มกำลัง อันเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้ว ให้แย่ยิ่งขึ้นไปอีก ๒. รัฐบาลเสียหาย เพราะ ประชาชนจะมองว่า รัฐบาลขาดสมรรถนะในการจัดการกำกับดูแลพฤติกรรมของสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องเที่ยงธรรม ปล่อยให้กระทำการที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น จนกลายเป็นปัญหาที่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง ๓. สภาผู้แทนราษฎรเสียหาย เพราะว่า ประชาชนจะมองว่า สภาฯ ไม่สามารถจัดระบบการลงคะแนนที่รัดกุม รวมทั้งขาดระบบการตรวจสอบการลงคะแนนที่มีประสิทธิภาพ จนเปิดช่องให้ ส.ส.สามารถกระทำพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญได้ ๔. พรรคการเมืองเสียหาย โดยเฉพาะพรรคที่ ส.ส.ผู้นั้นสังกัด ประชาชนจะมองว่า พรรคการเมืองคัดเลือกคนที่ไร้ความรับผิดชอบ และขาดสติปัญญาในการจำแนกแยกแยะจัดลำดับความสำคัญของการทำหน้าที่ให้มาเป็น ส.ส. ๕. ระบอบประชาธิปไตยเสียหาย เพราะพฤติกรรม ส.ส. ที่ไร้ความรับผิดชอบ และขาดวิจารณญาณในการตัดสินว่าสิ่งใดสำคัญมากสิ่งใดสำคัญน้อย จนสร้างความเสียหายแก่ประเทศ ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายเสื่อมศรัทธาต่อสภาผู้แทนราษฎร และเป็นเหตุให้มีการนำไปเป็นเงื่อนไขของการทำรัฐประหารได้

การแก้ปัญหาควรทำอย่างไร ๑. นักการเมืองทั้งหมดที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ควรแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกจากการเป็น ส.ส. และแถลงขอโทษประชาชน ที่กระทำอันเป็นการสร้างความเสียหายแก่ประเทศ ๒. หากนักการเมืองที่มีพฤติกรรมเช่นนั้นไม่ลาออก พรรคที่สังกัดก็ต้องแสดงความรับผิดชอบโดยลงมติขับออกจากพรรค เพื่อให้พ้นสภาพการเป็น ส.ส. พร้อมกับแถลงขอโทษประชาชน ที่ ส.ส.ในพรรคสร้างปัญหาแก่ประเทศ ๓. หากพรรคการเมืองนั้นไม่ขับออก ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส. อื่น ๆ ที่อยู่ในสภา โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน ควรดำเนินการทั้งมาตรการทางกฎหมายและสังคม เพื่อกดดันให้ ส.ส.เหล่านั้นพ้นสภาพ ๔. และที่ควรดำเนินการควบคู่กันไปคือ รัฐบาล นายกรัฐมนตรีและแกนนำรัฐบาลต้องกดดันให้ พรรคร่วมรัฐบาลที่มี ส.ส.เหล่านั้นสังกัด ดำเนินมาตรการใดก็ตามที่ทำให้ ส.ส. ทั้งหมดที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจนสร้างปัญหาแก่ประเทศ พ้นสภาพจากการเป็น ส.ส. และรัฐบาลต้องขอโทษประชาชนต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ๕. ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะที่เป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ต้องออกมาแถลงขอโทษประชาชน และต้องปรับปรุงระบบการทำงานในเรื่องการลงมติ เพื่อป้องกันไม่ให้ความผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นอีก

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0