โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ดราม่าไฮโซขี่เจ็ตสกีไล่ดูวาฬบรูด้า ก็เหมือนกับการขี่มอเตอร์ไซค์ไล่ดูควายป่า! **"ธีรยุทธ" มองสังคมไทยกำลังติดกับดัก ไปไม่ถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะ สังคมการเมืองที่แบ่งเขา แบ่งเรา

Manager Online

เผยแพร่ 15 ต.ค. 2562 เวลา 22.02 น. • MGR Online

ข่าวปนคน คนปนข่าว

**ดราม่าไฮโซขี่เจ็ตสกีไล่ดูวาฬบรูด้า ก็เหมือนกับการขี่มอเตอร์ไซค์ไล่ดูควายป่า! ถึงเวลาทุกฝ่ายจะกำหนดแนวทางดูแล"ของขวัญจากธรรมชาติ"แบบถาวรแล้วหรือยัง?

เรื่องเริ่มจากจังหวัดเพชรบุรี ร่วมกับเทศบาลตำบลหาดเจ้าสำราญ ได้เปิดเทศกาล"ชมวาฬทานปู" ไปเมื่อเร็วๆนี้ โดยทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้จัดให้"ชมรมเรือประมงชายฝั่ง" ที่ผ่านการอบรมให้ความรู้ในการนำนักท่องเที่ยวลงเรือไปชม"วาฬบรูด้า"ในท้องทะเลอ่าวไทย จนกระทั่งมีการเผยแพร่ภาพ"กลุ่มไฮโซ"ขี่เจ็ตสกีเข้าไปในบริเวณดังกล่าว จนเกิดเป็นดราม่าและห่วงใยต่อวาฬบรูด้าในโลกโซเชียลฯ

ต่างฝ่ายก็ต่างว่า นายบุญยอด มาคล้าย นายกเทศมนตรีตำบลหาดเจ้าสำราญ จ.เพชรบุรี เรียกการกระทำของกลุ่มเจ็ตสกี ไม่ถือว่าเป็นการลงไปชมวาฬบรูด้า แต่เป็นการไปไล่วาฬบรูด้าเสียมากกว่า

ทั้งในเรื่องของการใช้ความเร็ว ตลอดจนระยะการเข้าใกล้บรูด้า ผิดไปจากข้อกำหนดที่ทางราชการกำหนดไว้ และ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อวาฬบรูด้าที่กำลังหากินอีกด้วย สิ่งเหล่านี้จะทำให้วาฬบรูด้าหายไป

ข้างฝ่าย ประธานกลุ่มเจ็ตสกีโซไซตี้

กลย์กร จันลอย ก็โพสต์ระบายสิ่งที่ชาวเน็ตระดมด่าทอ โดย เนื้อหาบางส่วน ระบุว่า กลุ่มเจ็ตสกีโซไซตี้มีการพาเพื่อนสมาชิกไปเที่ยว ไปชมความงดงามของธรรมชาติอ่าวไทยนับสิบครั้ง มีการแจ้งชาวคณะอย่างชัดเจนถึงข้อควรปฎิบัติในการชมวาฬ กฎระเบียบต่างๆ

"เหตุการณ์ 13ต.ค กลุ่มได้ขี่เจ็ตสกีจนไปถึงบริเวณที่อยู่ของปลาวาฬบรูด้า โดยเข้าไปด้วยความเร็วช้า ช้าสุดๆ ช้าขนาดที่ ถ้าคนเดิน แซงแน่นอน เราปล่อยเจ็ตสกีไหลไปเรื่อยๆ ชมวาฬแบบระยะไกล ไกลมากๆ ราว400-600เมตร เราอยู่หลังเรือลำใหญ่ เรือนักท่องเที่ยว วิ่งข้างเรือบ้างเป็นบางจังหวะ เราทราบดีว่าถ้าเราขี่แซงไป ขี่ไปไล่ติดวาฬเป็นสิ่งไม่ควรทำ ดังนั้นจึงไม่มีใครทำ ถ้าเราทำจริงไม่ต้องห่วงครับ มีคลิปออกมาตีแผ่ไปนานแล้ว

สรุปให้สั้นๆคือ เราไปท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าตามกฎระเบียบกติกาทุกอย่างทุกประการ ไม่มีการทำอะไรผิดแน่นอน…

เรียกว่าสุภาพที่สุดตั้งแต่เคยไปชมวาฬเลย ผมและเพื่อนสมาชิกกลุ่มนี้รักษาระเบียบดีมากๆ ต้องให้รางวัลเลยด้วยซ้ำ ที่เขาไปชมวาฬแบบสุภาพชนอย่างมีระเบียบ ดันถูกข่าวเท็จมาเล่นงาน"

ประธานฯ ยังว่า ในความเป็นจริงไม่มีใครสามารถห้ามเจ็ตสกีเข้าไปชมปลาวาฬได้ เจ็ตสกีมีสิทธิ์ไปชมวาฬบรูด้าเฉกเช่นคนไทยท่านอื่น ถ้าห้ามเจ็ตสกีเข้าไปดูวาฬบรูด้า ก็ต้องห้ามเรือนักท่องเที่ยวทั้งหมดเช่นกัน เจ็ตสกีมีทะเบียน คนขับขี่มีใบนายท้าย ทุกอย่างถูกต้องครบถ้วน กรมเจ้าท่าก็ไม่มีอำนาจใดๆที่จะมาห้าม

แม้กลุ่มเจ็ตสกีจะออกมาอธิบาย เรื่องนี้ก็ยังไม่จบ และต้องชม "ลูกท็อป" นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)ที่ออกมาแอ็กชั่นสั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งออกเรือขอร้องให้หยุดรบกวนวาฬบรูด้าด้วยเจ็ตสกี และ ทำความเข้าใจกับกลุ่มเจ็ตสกีไว้ก่อน

เพราะ เรื่องนี้สำคัญ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติอย่างยั่งยืนนั้น เป็นสิ่งที่สังคมต้องการ ฝูงวาฬบรูด้าที่มาหากินบริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดเพชรบุรีตามฤดูกาลของทุกปี ถือเป็น"ของขวัญที่มีค่าจากธรรมชาติ"

ดังนั้น จึงต้องการความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวที่มาชมฝูงวาฬบรูด้าให้ช่วยกันดูแลรักษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบในการชมฝูงวาฬบรูด้าด้วย การไม่รบกวนวิถีชีวิต ไม่สร้างความตกใจให้ฝูงวาฬบรูด้า เพราะสัตว์เหล่านี้มีพฤติกรรมที่ละเอียดอ่อน

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาโพสต์เรื่องนี้เช่นกันโดยได้ระบุข้อความว่า"ปัจจุบัน วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวน การขี่เจ็ตสกีไล่ดูบรูด้า ก็เหมือนกับการขี่มอเตอร์ไซค์ไล่ดูควายป่า (สัตว์สงวนเช่นกัน) สมควรหรือไม่ ? คงไม่ต้องตอบ

เท่าที่จำได้ หนนี้เป็นหนที่ 3 แล้วที่มีการขี่เจ็ตสกีไล่ดูวาฬ ทุกครั้งจบลงด้วยการตักเตือน ขออภัย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ทำอีกแล้วจ้า หากอยากให้ไปไกลมากกว่าการตักเตือน/ขออภัย

เราคงต้องเริ่มเดินหน้าผมเคยจัดประชุมการท่องเที่ยวชมสัตว์หายากเมื่อ 4 ปีก่อน ได้ข้อสรุปหลายประการ บางส่วนเริ่มนำมาใช้ในลักษณะขอความร่วมมือ ตอนนี้ถึงเวลาที่วาฬบรูด้าและผองเพื่อนกลายเป็นสัตว์สงวนกันครบถ้วนแล้ว เราควรต้องมีการประชุมตกลงเรื่องนี้อย่างจริงจังอีกสักครั้ง ก่อนเดินหน้าไปตามแนวทางที่ตกลงกัน การประชุมทำได้โดยเป็นการร่วมมือระหว่างกรมทะเล/กระทรวงท่องเที่ยว/ผู้ประกอบการ/คณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก

ครั้งก่อนที่เคยจัด (สมัยเป็นสปช.) ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือดีมาก มีประเด็นน่าสนใจเพียบครับ ซึ่งมาตรการไม่ควรใช้แค่วาฬบรูด้า แต่รวมถึงสัตว์หายากทุกชนิด อันที่จริง ใน #มาเรียมโปรเจ็ค ก็มีแผนงานเรื่องการท่องเที่ยวชมพะยูน สิ่งหนึ่งที่ควรเริ่มต้น นอกเหนือไปจากการขอความร่วมมือ คือการลงทะเบียนเรือที่เข้าชมสัตว์หายาก เพื่อการดูแลและแจ้งข่าวตลอดจนมาตรการต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะข้อบังคับ แต่ยังร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ถูกวิธี และการกระจายรายได้ให้คนชายฝั่ง นอกจากนี้ เรายังสามารถออกประกาศต่างๆ ในอำนาจของพรบ.บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลฯ ที่กำหนดมาตรการ ระเบียบข้อห้าม บทลงโทษ ฯลฯ

มิใช่ต้องเอากม.ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงไปพยายามบังคับใช้เพื่อดูแล เช่น กม.เดินเรือ (ไม่ได้ว่าเรื่องนำไปใช้นะฮะ เพราะไม่มีระเบียบอื่นเลยจำเป็นต้องใช้กม.นี้ แต่ควรจะมีกม.ที่ตรงๆ สักที) ในเรื่องการออกระเบียบ อาจทำได้โดยเร็ว โดยอาศัยอำนาจตามม.17 ของพรบ.ทะเล ให้อำนาจอธิบดีออกได้ทันที แต่ยังไงก็ควรมีการประชุม เพื่อกำหนดแนวทางถาวรต่อไป

เนื่องจากเราทำงานเรื่องนี้ไปบ้างแล้ว ผมเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ในเร็ววัน ให้กำลังใจทุกท่านที่เกี่ยวข้อง และหวังว่าจะเริ่มต้นได้โดยเร็วครับ"

งานนี้สนับสนุน อ.ธรณ์เต็มที่ และต้องเรียกร้องอีกหนึ่งแรงว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องจริงจังกันเสียที.

**"ธีรยุทธ" มองสังคมไทยกำลังติดกับดัก ไปไม่ถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะ สังคมการเมืองที่แบ่งเขา แบ่งเรา มองฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรู เห็นภาวะการเมืองเป็นสงคราม ทางแก้ คือรัฐบาลต้องธำรงความเป็นกลาง แก้ปัญหาปากท้อง พัฒนาคน และหยุดวาทกรรมที่สร้างความแตกแยก

ก่อนหน้านี้ ช่วงเดือนตุลาฯ คอการเมือง ก็จะได้เห็น "อ.ธีรยุทธ บุญมี" ในชุดใส่เสื้อกั๊กไหมพรม ออกมาวิพากษ์สังคมการเมือง พร้อมด้วยถ้อนคำที่ "โดนใจ" จนต้องเป็นข่าวพาดหัวหน้า 1 แต่ช่วงหลัง "อ.ธีรยุทธ" ก็ค่อยๆ ห่างไป ไม่ได้มาเป็นประจำทุกปี โดยเฉาะในช่วงรัฐบาลคสช. ก็ได้เว้นวรรคไป

ปีนี้กลับเข้าสู่ยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง "อ.ธีรยุทธ" ก็กลับมาบรรยายพิเศษอีกครั้ง ในวาระครบรอบ 46 ปี 14 ตุลาฯ ในหัวข้อ "ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย ติดกับดัก ก่อวิกฤติใหม่ประเทศไทย" ซึ่ง หัวข้อนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงสังคมการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน โดยตัดตอนมาตั้งแต่ปี 2557 ที่คสช.เข้าสู่อำนาจ มาจนถึงปี 2562

ซึ่ง"อ.ธีรยุทธ" ให้นิยามว่าเป็น "ยุคติดกับดัก" เพราะผู้นำพยายามจะบอกกับประชาชนว่าเป็น "ยุคประชาธิปไตยที่กินได้" แต่ก็ยังไมพบทางที่จะไปถึงจุดหมายนั้น แม้จะงัดเอานโยบาย"ประชานิยม" มาซื้อใจชาวบ้าน แต่นั่นก็เป็นได้แค่เครื่องมือในการหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น ไม่สามารถเป็นกุญแจที่จะไปสู่เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศได้

นอกจากนี้ ในบริบทการมือง ยังมีสิงที่ อ.ธีรยุทธ เรียกว่า "ความเมือง" (the political) เข้ามาแทน“การเมือง”(the politic) ซึ่งความแตกต่างระหว่าง 2 คำนี้ คือ การเมือง นั้นแม้จะมีความแตกต่างทางความคิด แต่ก็หาข้อสรุปโดยเสียงส่วนใหญ่ได้ แต่"ความเมือง"นั้น เป็นเรื่องการต่อสู้แบบรวมเบ็ดเสร็จ ของกลุ่มคน ซึ่ง มองคนอีกกลุ่มในแง่ เป็นพวกเรา กับศัตรู เป็นการเมืองในเชิงสงคราม ซึ่งมองพวกอื่นเป็นศัตรู ที่ต้องล้มล้าง ทำให้เราได้พบเห็นนักการเมือง กลายเป็น “นักความเมือง” พรรคการเมืองกลายเป็น “พรรคความเมือง” นักวิชาการกลายเป็น “นักโฆษณาความเมือง”ทหาร เป็น “ทหารฝ่ายความเมือง”

ระบบคิดแบบ "ความเมือง" ทำให้ความขัดแย้งขยายตัวน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากความขัดแย้ง เหลือง-แดง ซึ่งเป็นเรื่องชนชั้นล่าง ชั้นกลางในชนบท กับชนชั้นกลาง ชั้นสูงในเมือง ต่อมาเพิ่มประเด็นความเป็นภาค เป็นเผด็จการ-ประชาธิปไตย การเลือกตั้งหลังสุด ก็เพิ่มประเด็น คนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ ความคิดเก่า-ความคิดใหม่ ชาติมหาอำนาจเอง ก็ แสดงจุดยืนชัดเจนคือ ชาติตะวันตกหนุนฝ่ายเสื้อแดง จีนหนุนฝ่ายอนุรักษ์กับทหาร ความขัดแย้งขยายตัวมาตลอด บ่งชี้ว่า รัฐบาลกับทหาร จัดการกับวิกฤติการผิดพลาด จนอาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่ร้ายแรง

"อ.ธีรยุทธ" มองว่า ประเทศไทย เคยเกิดความขัดแย้งแบบ "พวกเรา-ศัตรู" เพียงหนเดียว คือ การสร้างความคิดฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป และถือนักศึกษาเป็นภัยคอมมิวนิสต์ที่ต้องฆ่า แต่“ระบบความเมือง”ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีการเคลื่อนไหวกว้างขวาง จากหลายฝ่ายในสังคม ทั้งฝ่ายมวลชน การใช้สื่อออนไลน์ เฟกนิวส์ สื่อทางการ นัก

เคลื่อนไหว นักกฎหมาย หน่วยราชการ กองทัพ กระบวนการศาลฯ ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น เป็นวิกฤตใหม่ ที่ควรกังวล และทุกฝ่ายต้องช่วยกันคลี่คลาย…

วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่ไม่มีทางแก้ไข แต่การจะแก้ไขนั้น "อ.ธีรยุทธ" บอกว่า สังคมควรมองสถานการณ์ให้กระจ่าง ตั้งสติ อยู่ตรงกลาง หรือเสริมพลังทางบวก เสริมความรู้สึกแบบเพื่อน มิตร ลดกระแสพวกเรา-ศัตรู ที่เกิดขึ้น

ขณะที่ฝ่ายรัฐ ต้องธำรงความเป็นกลาง ไม่เข้าไปร่วมการใช้ “ความเมือง”เข้าทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะถ้าหน่วยรัฐเข้าร่วม เป็นฝักฝ่ายด้วย ก็จะสร้างความขัดแย้ง หวาดกลัว เหมือนรัฐบาลกำลังประกาศภาวะสงคราม หรือ ความเป็นศัตรูกับประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งกับบ้านเมือง

"อ.ธีรยุทธ" มองรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงรัฐประหารว่า มีผลงานจับต้องได้ คือโครงการเมกะโปรเจกต์ และการรักษาความสงบ ส่วนการปฏิรูประบบ การสร้างความสมานฉันท์ ไม่เกิด พอมาถึง "รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์" ที่มาจากการเลือกตั้ง เลยยิ่งทำงานลำบากกว่าเดิม การที่รัฐบาลจะอยู่รอดได้นั้น ต้องจัดสรรผลประโยชน์ ให้ทุกกลุ่มการเมือง กลุ่มทุนใหญ่ ภารกิจหลักของรัฐบาลก็เลยกลายเป็นการดำเนินนโยบายโครงการให้กับกลุ่มทุนใหญ่ เป็นรัฐบาลทหาร เพื่อกลุ่มธุรกิจใหญ่

รัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์" จะหลุดจากกับดักตรงนี้ได้ อย่างแรก คือ แก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้านให้ได้ แม้จะแก้ยากก็ต้องทุ่มเท อย่างที่สอง คือ การเพิ่มคุณภาพของคนในทุกวัยในด้านการศึกษา พัฒนาทักษะใหม่ อาชีพใหม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

อีกอย่างที่ "อ.ธีรยุทธ" ยกขึ้นมาพูดโดยแสดงถึงความเป็นห่วงคือเรื่อง "วาทกรรม" สร้างภาพฝ่ายตรงข้ามเป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นศัตรูตัวร้าย ที่นับวันจะสร้างความขัดแย้งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และคนที่จะลดความรุนแรงจากวาทกรรมเหล่านี้ คือผู้ที่กุมอำนาจอยู่ อย่าง "พล.อ.ประยุทธ์" เพราะท่าน มีบารมี และมีฐานที่ให้การสนับสนุน หากท่านออกมาพูดด้วยความเป็นผู้ใหญ่ ให้ภาพสงบ เรียบร้อย นุ่มนวล ปล่อยวางบางเรื่องบ้าง อย่าไปตอบโต้แบบทำลายล้างทุกเม็ด ความรุนแรงก็จะลดลงไปได้

เหล่านี้คือภาพสะท้อนสังคมการเมือง ยุค”รัฐบาลลุงตู่” ในมุมมองของ”อ.ธีรยุทธ”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0