โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

ดราม่าหั่นค่าจ้าง นักกีฬาต้องร่วมรับผลทางการเงินจากโควิด-19 ไหม?

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 09 เม.ย. 2563 เวลา 10.40 น. • เผยแพร่ 09 เม.ย. 2563 เวลา 10.40 น.
FILE PHOTO: Champions League - Round of 16 First Leg - Olympique Lyonnais v Juventus
REUTERS/Eric Gaillard/File Photo

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

วิกฤตโควิด-19 กำลังทำร้ายสุขภาพของคนทั่วโลกอย่างหนักหน่วงในเวลานี้ ระหว่างที่รับมือกันแทบทุกวงการต้องปรับตัวเฉพาะหน้า ไม่เว้นแม้แต่โลกกีฬา ส่วนใหญ่ที่เป็นประเภททีมก็เลื่อนโปรแกรมแข่งกันถ้วนทั่วแล้ว ปัญหาหลักคือ รายได้ เมื่อรายได้ขาดหายดังที่เคยเล่ามาแล้ว ปมที่พัวพันตามมาคือ การจ่ายค่าจ้างบุคลากรโดยเฉพาะนักกีฬาที่ดูเหมือนว่าเป็นดราม่าเล็ก ๆ ตามมา

เชื่อว่าหลายชนิดกีฬากระแสหลักซึ่งพึ่งพารายได้ก้อนโตจากค่าตั๋วเข้าชมที่ปกติแล้ว มักมีแข่งขันอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 เกมเป็นอย่างต่ำ แต่เมื่อไม่มีเกมแข่งมานานนับเดือน รายได้ที่หายไปส่งผลกระทบอย่างมาก ในขณะที่สโมสรยังต้องจ่ายค่าจ้างบุคลากรเหมือนกับธุรกิจทั่วไป ในแวดวงลูกหนังเริ่มมีพูดคุยประเด็นนี้ออกมากันสักพักแล้ว

ที่มีข่าวกันก่อนหน้านี้ คือ สโมสรใหญ่บางแห่ง อาทิ ยูเวนตุส จากเซเรีย อา อิตาลี ประเทศที่สถานการณ์การระบาดไม่ค่อยสู้ดีนัก สโมสรมีซูเปอร์สตาร์ค่าเหนื่อยสูงรวมถึงคริสเตียโน่ โรนัลโด้ อยู่ด้วย พวกเขาสามารถทำข้อตกลงกับผู้เล่นและสตาฟโค้ชของทีมได้ ทีมงานยอมตัดลดค่าจ้างเป็นเวลา 4 เดือนในช่วงที่สโมสรไม่มีรายได้จากค่าตั๋วเข้าชม เนื่องจากลีกยังเลื่อนโปรแกรมแข่งออกไปอยู่ กรณีนี้สโมสรแห่งตูรินจะลดค่าใช้จ่ายในส่วนค่าจ้างได้มากถึง 90 ล้านยูโรเลยทีเดียว

ส่วนประเทศที่สถานการณ์โควิด-19 หนักหนาไม่แพ้กันอย่างสเปน สโมสรดังหลายแห่งทยอยเรียงกันตั้งแต่บาร์เซโลนา, เอสปันญอล และแอตเลติโก มาดริด ประกาศลดค่าเหนื่อยของผู้เล่นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในช่วงวิกฤตโรคระบาด ซึ่งส่งผลทางการเงินต่อสโมสรเช่นกัน ผู้เล่นหลายรายรวมถึงลีโอเนล เมสซี ประกาศยอมรับมาตรการหั่นค่าเหนื่อยลงถึงร้อยละ 70

บางสโมสรเผยรายละเอียดด้วยว่า ไม่เพียงแค่ผู้เล่นเท่านั้น มาตรการนี้ยังรวมถึงสตาฟที่ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวกับการกีฬาโดยตรงด้วย ขณะที่บางสโมสรมีนโยบายไม่ลดค่าจ้างของสตาฟนอกเหนือฝ่ายกีฬา แต่จนถึงช่วงสิ้นเดือนมีนาคมสโมสรใหญ่อย่างเรอัล มาดริด ที่มีนักเตะรับค่าเหนื่อยแพงหลายรายยังไม่ปรากฏการตัดสินใจตัดลดเหมือนแห่งอื่น

แม้มีรายงานว่า ประธานสโมสรกับกัปตันได้ข้อตกลงว่า สโมสรจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับค่าจ้างของนักเตะเนื่องจากบอร์ดเชื่อมั่นในสถานะการเงินของทีม แต่เชื่อว่าการตัดสินใจเช่นนี้จะส่งผลต่อการเงินของสโมสรไม่น้อยเลย สื่อบางแห่งวิเคราะห์กันว่า ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อก็มีแววจะต้องเปลี่ยนแปลงกันอีกครั้ง

นั่นคือสถานการณ์ในสเปนและอิตาลี ซึ่งมีผู้ติดเชื้ออันดับต้น ๆ ของโลก สถานการณ์ของพวกเขาค่อนข้างชัดเจนต่อการตัดสินใจ แต่ในกรณีประเทศอื่นในยุโรปที่เพิ่งเริ่มเห็นสัญญาณความเสี่ยงที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น พวกเขายังไม่สามารถหาแนวทางที่แน่ชัดได้ดังเช่นในอังกฤษ

อังกฤษเลื่อนโปรแกรมแข่งออกไปเช่นเดียวกัน การแพร่ระบาดอาจไม่สาหัสเท่าสเปนและอิตาลี แต่สถานการณ์การเจรจาหามาตรการบรรเทาความเสียหายทางการเงินของสโมสรอังกฤษ ช่วงต้นเดือนเมษายนเริ่มมีสัญญาณอุณหภูมิระอุขึ้นบ้าง เมื่อสมาคมนักฟุตบอลอาชีพออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนว่า พวกเขาอยากให้ใช้การยืดเวลาชำระออกไปมากกว่าการหั่นลดค่าเหนื่อย หากยืดออกไปแล้วยังไม่สามารถชำระได้ก็ค่อยมาเจรจากันอีกรอบ

แต่ในการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนพรีเมียร์ลีกกับตัวแทนผู้อำนวยการของสมาคม ความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายยังไม่ตรงกันในบางข้อ พรีเมียร์ลีกยังมองว่า อยากให้กลุ่ม “สหภาพ” นักฟุตบอลยอมรับการลดค่าเหนื่อยเหตุผลประการสำคัญ คือ พรีเมียร์ลีกมองว่าผลกระทบจากสถานการณ์ต่อระบบการเงินค่อนข้างหนัก ประเมินกันว่ารายได้ที่ขาดหายไปจากการถ่ายทอดสด ค่าตั๋ว และรายได้จากเกมแข่งอื่น ๆ รวมแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า 750 ล้านปอนด์ แต่อย่างน้อย พรีเมียร์ลีกยังเห็นสัญญาณบวกว่า กลุ่มสมาคมนักฟุตบอลอาชีพมีมุมมองว่า ผู้เล่นจะต้องร่วมแบ่งรับแบ่งสู้ผลกระทบทางการเงินที่ส่งผลต่อสโมสรในภาพรวมด้วย

ระหว่างที่ยังมีข้อถกเถียงนี้ ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ ออกแถลงการณ์ว่า สโมสรจะลดค่าจ้างของผู้อำนวยการและสตาฟที่ไม่เกี่ยวกับการกีฬารวม 550 ชีวิต ในสัดส่วนร้อยละ 20 แต่ผู้เล่นค่าเหนื่อยแพงของสโมสรยังจ่ายเต็มเท่าเดิม ทำให้เกิดคำถามถึงจุดยืนของกลุ่มนักเตะในทีม ในแง่การรับผิดชอบแบ่งรับแบ่งสู้ผลกระทบทางการเงินต่อสโมสรสเปอร์สเป็น 1 ใน 4 สโมสรพรีเมียร์ลีกที่มีมาตรการลักษณะนี้

สโมสรที่เหลืออาจไม่ค่อยโดนวิจารณ์มากเท่าสเปอร์ส ที่ทุกวันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งสโมสรขนาดใหญ่ของลอนดอนได้แล้ว ผู้เล่นหลายรายรับรายได้รวมหลักสิบล้านปอนด์ต่อปี ขณะที่เจ้าของสโมสรเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีแถวหน้าของโลก กรณีนี้แม้แต่อดีตกุนซือและนักเตะสเปอร์สยังวิจารณ์มาตรการของสโมสรด้วย

ในช่วงที่ผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดกระจายไปทุกหนแห่ง ยังไม่นับถึงอนาคตข้างหน้า วันนี้เองเชื่อว่าการหันหน้ามาคุยกันและหาทางออกแบบ “ร่วมด้วยช่วยกัน” แบบตรงไปตรงมาและมีเหตุผลรับฟังได้ เขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ น่าจะเป็นคำที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในแง่กีฬาหรือภาคไหนของสังคมก็ตาม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0