โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ดรามาเงิน 5 พัน "เราไม่ทิ้งกัน" คลังต้องจัดให้หนัก กำราบเป็นเยี่ยงอย่าง ** หน้ากากอนามัยหายไปไหน? พาณิชย์สอบเอง เออเอง แล้วมันจะได้อะไร

Manager Online

เผยแพร่ 08 เม.ย. 2563 เวลา 22.04 น. • MGR Online

ข่าวปนคน คนปนข่าว

**ดรามาเงิน 5 พัน "เราไม่ทิ้งกัน" คลังต้องจัดให้หนัก กำราบเป็นเยี่ยงอย่าง ขณะที่ "กลุ่มมีประกันสังคม" แต่ตกเกณฑ์ให้จับตา"หม่อมเต่า" กับกองทุน 4 แสนล้าน !!!

เกิดกระแสดรามาในโลกโซเชียลฯ กรณีเงินเยียวยาผลกระทบโควิด 5,000 บาทล็อตแรก หลังจากรัฐบาลโอนถึงมือผู้ที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือเป็นวันแรก เมื่อมีคนโพสต์ลงโซเชียลฯ ส่วนตัวด้วยความสนุก คึกคะนอง และลองของ

กลุ่มคนที่ว่านี้ บ้างก็ว่า "แค่เศษเงินบนหลังตู้เย็น" บ้างก็ว่าได้มาแบบฟลุ๊คๆ ทั้งที่บอกยกเลิกไปแล้ว หรือมีกระทั่งไม่ได้รับเงินจริง แต่โพสต์ว่าได้มา เพียงเพื่อป่วนสังคมเล่นๆ พอโดนถล่ม ก็แก้ตัวไปน้ำขุ่นๆ… "รู้เท่าไม่ถึงการณ์"

งานนี้ เราๆ ท่านๆ ทราบดี ตั้งแต่มีวิกฤตโควิด-19 รุนแรง และส่งผลกระทบหนักหนาสาหัสในทุกภาคส่วน และยอมรับกันว่าเป็นวิกฤตที่สุดเท่าที่เคยประสบมา เมื่อมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งก็เป็นครั้งแรกเหมือนกันที่หน่วยงานรัฐต้องเซ็ตอัปความช่วยเหลือคนจำนวนมาก และการบริหารจัดการที่ไม่มีเวลาให้ตั้งหลัก

แฟร์ๆ ก็ต้องชม กระทรวงการคลังและเครือข่าย เบื้องหลังการดูแลโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ที่มียอดคนลงทะเบียนถึง 24 ล้านคน

หลังจากระบบ AI ธนาคารกรุงไทย ตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าข่ายได้รับเงินตามคุณสมบัติ ซึ่งมุ่งช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระ รับจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว กิจการส่วนตัว การค้าขาย ประมาณ 3 ล้านคน และยังมีกลุ่มอาชีพอิสระ ที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 39 และ มาตรา 40 อีกจำนวน 5 ล้านคน แล้วก็เริ่มใส่เงินโอนเงินกันไปช่วงนี้เรื่อยๆ

แต่ "ร้อยถี่ก็ยังมีห่าง" จำนวนที่ผ่านการคัดกรองมาก็อาจจะมีคนกลุ่มที่ไม่อยู่ในเกณฑ์หลุดลอดเข้าระบบมาด้วย

ตอนนี้น่าเห็นใจกระทรวงการคลังต้องทำงานแข่งกับเวลา อย่างว่าจำนวนผู้ลงทะเบียนขนาดใหญ่ถึง 24 ล้านราย ถือเป็น "บิ๊กดาต้า" ที่หากคลังตรวจสอบอย่างเข้มข้น แล้วกระบวนการพิจารณาเกิดความล่าช้า ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงได้โอนเงินออกไปให้ก่อน จากนั้นค่อยมาตรวจสอบฐานข้อมูลซ้ำอีกครั้ง และหากพบว่าไม่มีคุณสมบัติแล้ว จะต้องส่งเงินกลับคืนให้กระทรวงการคลัง

ทีนี้กลุ่มคนที่โพสต์เอาสนุก ลองของก็จะ "งานเข้า" ต้องเจอดีอย่างไม่ต้องสงสัย

"ลวรณ แสงสนิท" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมาเตือนแล้วว่า บรรดาขาป่วน ก๊วนเบียดบังความทุกข์ยากของคนที่ได้รับผลกระทบแสนสาหัสนั้น จะเจออะไรบ้าง…

กระทรวงการคลังจะดำเนินการต่อกลุ่มคนที่มีพฤติกรรม โพสต์แบบ "เฟกนิวส์" จะส่งข้อมูลไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าทำการตรวจสอบ เนื่องจากกรณีดังกล่าว ถือเป็นการนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จ

ส่วนกรณีที่ 2 การโพสต์ข้อความว่าได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลมาแบบฟลุ๊คๆ โดยจะมีการเข้าไปตรวจสอบว่า มีข้อผิดพลาดของระบบในการคัดกรองคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยานั้นอยู่ที่ตรงไหน และหากตรวจพบเจอความผิดพลาดแล้ว กระทรวงการคลังจะดำเนินการเรียกเงินคืนจากบุคคลดังกล่าวต่อไป

ใครที่เจตนาไม่ดี คลังต้องจัดหนักไปเลย กำราบให้ได้ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง!!

แว่วว่า เพื่อทำทุกอย่างให้เคลียร์และเป็นบรรทัดฐานในอนาคต สเต็ปต่อไปของคลัง จะวิเคราะห์ "บิ๊กดาต้า" แจกจ่ายแต่ละกลุ่มที่ลงทะเบียน 24 ล้านคน ที่เข้าเกณฑ์มีใคร และที่ไม่เข้าเกณฑ์เป็นใคร กลุ่มแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร

แม้กระทรวงการคลังพร้อมที่จะจ่ายเงินให้ผู้ลงทะเบียนก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องผู้ลงทะเบียนไม่ตรงตามเกณฑ์ และไม่แน่ใจต้องขอข้อมูลเพิ่ม

จากข้อมูลการลงทะเบียนของผู้ขอใช้สิทธิ์ ฟังว่า คลังได้แยกออกเป็นกลุ่มได้ 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มสีเขียว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผ่านเกณฑ์การรับเงินเยียวยา 2. กลุ่มสีแดง ซึ่งที่เป็นกลุ่มที่มีความชัดเจนในตัวเองว่ามีคุณสมบัติที่ไม่เข้าเกณฑ์ เช่น เป็นแรงงานตาม มาตรา 33 ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งสามารถใช้สิทธิขอรับความช่วยเหลือได้ ที่สำนักงานประกันสังคม หรือเป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องรอรัฐบาลจัดมาตรการเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้ความช่วยเหลือในระยะต่อไป และกลุ่มที่ 3. กลุ่มสีเทา ซึ่งเป็นกลุ่มที่กระทรวงการคลัง ยังไม่มีความแน่ใจ และจำเป็นต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม

ต้องติดตามกันต่อไปว่า คลังจะทำได้ดีแค่ไหน

แน่นอนว่า แนวโน้มว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบน่าจะสูงขึ้นไปอีก คนที่จะเดือดร้อน ก็ต้องมีเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ

เห็นได้จากเวลานี้ จึงมีคำถามและเสียงเรียกร้องจากบรรดาแรงงาน พนักงานขององค์กรธุรกิจ ห้างร้านบริษัทต่างๆ หรือผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ถึงกับ"ว่างงาน" แต่ถูก "ลดเงินเดือน" หรือ "รายได้หาย" โดยสถานการณ์บังคับ

กลุ่มคนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นกลุ่มใน 24ล้านราย ที่ลงทะเบียนในเว็บ "เราไม่ทิ้งกัน" แต่น่าจะโดนคัดออก และที่ไม่ได้ลงทะเบียนอีกจำนวนมากยังเคว้งคว้าง เพราะไม่อยู่ในเกณฑ์ระบบขอใช้สิทธิ์ จากกระทรวงแรงงาน ที่ดูแลประกันสังคม

ถ้าเป็นไปตามนโยบาย "เราไม่ทิ้งกัน" จริงๆ คนกลุ่มนี้ควรสามารถใช้สิทธิขอรับความช่วยเหลือได้ ที่สำนักงานประกันสังคม

ว่ากันว่า กองทุนประกันสังคมตอนนี้ มีเงินอยู่กว่า 4 แสนล้านบาท

เงินที่พวกเขา และนายจ้างถูกหักเข้ากองทุนกว่า 4 แสนล้านบาท สมควรหรือยังที่จะนำมาเยียวยาช่วยเหลือกันหรือไม่

ย้ำอีกที หากเราจะไม่ทิ้งกันจริง … งานนี้ก็ต้องรอดูฝีมือ "หม่อมเต่า" ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ว่าจะดำเนินการอย่างไร ?

** หน้ากากอนามัยหายไปไหน? พาณิชย์สอบเอง เออเอง แล้วมันจะได้อะไร… ถ้าจะให้เคลียร์ ให้สังคมยอมรับ เรื่องควรจะไปจบที่ "ดีเอสไอ" หรือเปล่า !!

หน้ากากอนามัย ถือว่าเป็น "ด่านแรก" ในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ปัญหาการขาดแคลน ก็ยังคงมีมาต่อเนื่องตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ทั้งในส่วนที่ใช้กับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล และในส่วนของประชาชนทั่วไปที่ต้องการซื้อหาไว้ใช้ …

ย้อนเวลาไปช่วงปลายเดือนมกราคม ที่ช่วงนั้นไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" รมว.พาณิชย์ ก็ยกทีมไปตรวจโรงงานผลิต พร้อมแถลงข่าวสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า หน้ากากอนามัยไม่ขาดแคลนแน่ … มีโรงงานขนาดใหญ่ที่ผลิตอยู่ 11โรง กำลังการผลิตโดยรวมวันละ 1.2 ล้านชิ้น และยังมีในสต๊อกอีก 200 ล้านชิ้น เพียงพอที่จะใช้ไปได้อีก 4-5 เดือนสบายๆ…

แต่หลังจากนั้นแค่ 2-3 วัน หน้ากากอนามัยเริ่มหายไปจากท้องตลาด ราคาแพงขึ้น กระทรวงพาณิชย์จึงได้ประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ให้ขายในราคาชิ้นละไม่เกิน 2.50 บาท … คราวนี้ หน้ากากอนามัยเลยหายไปจากท้องตลาดแบบหาซื้อไม่ได้เลย แต่ไปโผล่ในตลาดมืด ตลาดออนไลน์ ในราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว…

เมื่อเป็นเช่นนี้ "กระทรวงพาณิชย์" ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องตกเป็นจำเลยของสังคม เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง… ขณะเดียวกันก็มีการขุดคุ้ย มีการแฉว่า มีนักการเมือง ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับพ่อค้า ทำการกักตุนหน้ากากอนามัยเพื่อหาประโชน์ โดยไม่สนใจถึงความเดือดร้อน ความเป็นความตายของประชาชน …จน"ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องสั่งย้าย "วิชัย โภชนกิจ" อธิบดีกรมการค้าภายใน เข้ากรุที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมให้กระทรวงพาณิชย์ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง …

"บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ จึงได้ตั้ง "สุพพัต อ่องแสงคุณ" รองปลัดปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน โดยมีตัวแทนจาก ตำรวจ คณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมเป็นกรรมการสอบสวน …กรรมการชุดนี้ ตั้งขึ้นเมื่อประมาณกลางเดือน มี.ค. สังคมก็เฝ้ารอว่าผลสอบสวนจะออกมาเมื่อไร ผลสอบจะเป็นอย่างไร…

ล่าสุดมีรายงานว่า คณะกรรมการฯ ได้สรุปผลสอบส่งให้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. แต่ก็ยังไม่มีคำสั่งการใดๆ ออกมา

แว่วว่า คณะกรรมการได้ตั้งประเด็นในการตรวจสอบว่า การบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ของศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย กระทรวงพาณิชย์ ในช่วงที่ "วิชัย โภชนกิจ" อธิบดีกรมการค้าภายใน ดำเนินการร่วมกับ อย. องค์การเภสัชกรรม มี"ช่องโหว่" จนนำไปสู่การกักตุน และส่งออกหรือไม่

ปรากฏว่า จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ รวมถึงสอบถามจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่าตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น. ที่มีการส่งเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน และทหาร ไปเฝ้าที่โรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ทั้ง 11 แห่ง "ไม่มีช่องโหว่" ที่จะทำให้หน้ากากที่ผลิตได้ในแต่ละวัน หลุดลอดออกไปได้ … แต่อาจจะมีช่องโหว่ ในช่วงหลังเวลา 17.01 น. ที่เจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน และทหารกลับไปแล้ว ทางโรงงานอาจจะผลิตต่อ และแอบขายหลังโรงงานให้กับพ่อค้าตามใบสั่ง ซึ่งเสนอราคาให้สูงกว่าผลิตส่งให้กระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งตอนนั้นทางโรงงานได้แจ้งกำลังการผลิตเพียงวันละ 1.2 ล้านชิ้น แต่ต่อมาบอกว่า มาสามารถเร่งการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 ล้านชิ้น และจะเพิ่มเป็น 2.8 ล้านชิ้นในเร็วๆนี้

เห็นชัดว่า ผลการตรวจสอบในครั้งนี้ ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่บุคคล ที่เป็นนักการเมือง ข้าราชการ โยงไปถึงพ่อค้า ซึ่งน่าจะอยู่ในขบวนการหาประโยชน์กักตุนหน้ากากอนามัย หรือตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้ที่เกี่ยวข้อง … แต่ดูเหมือนจะโยนความผิดไปที่โรงงานผู้ผลิตให้รับไปเต็มๆ ฝ่ายเดียว

ก็คงต้องจับตาว่า "ปลัดกระทรวงพาณิชย์" จะแถลงผลสอบออกมาว่าอย่างไร จะมีข้าราชการ หรือนักการเมือง หรือบุคคลใด มีส่วนต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้หรือไม่ …และสังคมจะยอมรับในผลสอบครั้งนี้หรือไม่ !!

เพราะตั้งแต่เริ่มตั้งกรรมการสอบ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงปรามาสแล้วว่า กระทรวงพาณิชย์ ตั้งคนของตัวเอง มาสอบคนของตัวเอง แล้วผลสอบมันจะได้อะไร !! …โดยเฉพาะถ้าในที่สุด ผลสอบออกมาว่า คนของกระทรวงพาณิชย์ ยังคงลอยนวล สังคมย่อมคาใจแน่นอน

ทางที่ดี "รัฐมนตรีจุรินทร์" ในฐานะผู้กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ ควรส่งเรื่องนี้ ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาดำเนินการ รับเป็นคดีพิเศษ …ไม่ว่าผลสรุปออกมาอย่างไร เชื่อว่าจะได้รับการยอมรับจากสังคม

อย่าลืมว่า เรื่องหน้ากากอนามัยนี้เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศชาติ เป็นเรื่องความเป็นความตายของประชาชน ใครที่หาประโยชน์บนความเดือดร้อนของประชาชน ต้องได้รับการลงโทษ ไม่มีละเว้น ไม่มีลูบหน้าปะจมูก … เมื่อจะสอบแล้วต้องไปให้สุด… "ดีเอสไอ" คือคำตอบสุดท้าย !!

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0