โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ณัฐวุฒิ" ย้อนห้วง 2 เหตุการณ์ ประกาศ พ.ร.ฎ.ยุบสภาเพื่อเลือกตั้ง ชวนเข้าคูหา 24 มี.ค. เอาเผด็จการลงจากอำนาจ

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 24 ม.ค. 2562 เวลา 03.25 น.
S__65282077

วันที่ 24 มกราคม 2562 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และประธานคณะกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคไทยรักษาชาติ ได้โพสต์ข้อความในลงเฟซบุ๊กสาธารณะภายหลังที่เมื่อวานนี้ ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งและในช่วงบ่าย ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกมาแถลงข่าวถึงกำหนดการและประกาศให้ 24 มีนาคม 22562 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า หลายคนดีใจ รู้สึกว่าประเทศไทยมีความหวัง หลังมีประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งและกกต.แถลงกำหนดวันลงคะแนนเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทันที

ก่อนจะคิดกว้าง มองไกล ไปกว่านี้ ขอชวนย้อนอดีตเพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการก้าวไปข้างหน้า

ในห้วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง เราเคยมีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภากำหนดวันเลือกตั้ง 2 ครั้ง ซึ่งปลายทางไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอำนาจเผด็จการ

24 กุมภาพันธ์ 2549 รัฐบาลทักษิณประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภา กำหนดวันเลือกตั้ง 2 เมษายน

9 ธันวาคม 2556 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภา กำหนดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557

ทั้ง 2 ครั้งอยู่ในสถานการณ์ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของมวลชนฝ่ายหนึ่ง ขณะที่อีกฝ่ายให้การสนับสนุน ประวัติศาสตร์ฉายซ้ำที่คนส่วนใหญ่ยังจำได้ คือ พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง มีความเคลื่อนไหวหลายด้านสมคบคิดสัมพันธ์กัน จนการเลือกตั้งเป็นโมฆะแล้วจบลงที่การรัฐประหาร

ในโลกของความเป็นจริง การมีวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจึงไม่ใช่หลักประกันอันใดเลย หากขบวนการขัดขวางล้มการเลือกตั้งยังขับเคลื่อน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงปัจจุบันยังมีความพยายามของคนกลุ่มนี้

2 ครั้งที่เป็นโมฆะ รัฐบาลรักษาการอยู่ในสภาพบอบช้ำทางการเมือง อำนาจที่กฎหมายให้ไว้อย่างจำกัดถูกกำจัดแทบหมดสิ้นจากอำนาจนอกระบบที่มีอิทธิพลมากกว่า แม้พยายามอย่างที่สุดให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้า แต่ก็เกินกำลังที่จะปกป้องการเลือกตั้งไว้ได้

ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับรัฐบาลนี้ที่มีอำนาจไม่จำกัด ออกกติกาเอง ปลดกรรมการได้ จะยกเลิกการเลือกตั้งเสียก็ได้ และผู้นำรัฐบาลเตรียมจะเป็นผู้เล่นในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีอย่างที่รู้กันมาตลอด

แต่หากลึกสุดใจของผู้มีอำนาจคือไม่อยากเลือกตั้ง สิ่งเดียวที่จะมีพลังผลักดันการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นได้จริงและสำเร็จราบรื่น คือ การสรุปบทเรียนร่วมกันของสังคมไทยว่าการปฏิเสธกลไกของระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ทางออกของประเทศ ถึงที่สุดการหาข้อยุติของความขัดแย้งก็ยังต้องกลับมาที่การเลือกตั้ง

หวังใจเป็นที่สุดว่าขบวนการล้มเลือกตั้งซึ่งยังมีอยู่จะอ่อนกำลังลง พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ชักแถวกันออกมาแสดงความพร้อมจะไม่บอยคอต ไม่ขัดขวาง

แม้กติกานี้จะยิ่งกว่าอัปลักษณ์แต่ก็เป็นทางออกเดียวที่จะนำพาบ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตยโดยสันติ ถึงจะเสียเปรียบหรือเสี่ยงจะพ่ายแพ้ฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องลงสนามสู้ แพ้ชนะอยู่ที่ประชาชน แต่ถ้าไม่มีเลือกตั้งประเทศไทยจะแพ้และเสียหายไม่สิ้นสุด

คำว่า”เลือกตั้ง” ต้องไม่พร่าเลือนเลื่อนลอยเหมือนคำว่า “ปรองดอง” หรือ “ปฏิรูป”

ถ้าวันเลือกตั้งไม่ใช่การคืนอำนาจให้ประชาชน แต่หมายถึงวันเวียนเทียนอำนาจเพื่ออยู่ต่อของคนบางกลุ่ม

24 มีนาคม ก็ต้องไม่หมายถึงแค่วันลงคะแนน แต่คือวันลงจากอำนาจของเผด็จการ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0