โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน: อนาคตของวิทยาศาสตร์ ความหมายของจักรวาล และคุณค่าของความเป็นมนุษย์

a day BULLETIN

อัพเดต 02 มี.ค. 2563 เวลา 12.26 น. • เผยแพร่ 29 ก.พ. 2563 เวลา 02.55 น. • a day BULLETIN
ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน: อนาคตของวิทยาศาสตร์ ความหมายของจักรวาล และคุณค่าของความเป็นมนุษย์

เพราะทุกอย่างบนโลก (รวมถึงนอกโลก) อาจไม่สามารถอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ได้ทั้งหมด แต่วิทยาศาสตร์คือทุกอย่างของโลก (รวมถึงนอกโลกด้วยเช่นเดียวกัน) ทำให้สรรพสิ่งต่างๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์อย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้โดยเฉพาะตัวเรา

        เราอาจจะรู้จักวิทยาศาสตร์ครั้งแรกในฐานะวิชาเรียน แต่ในความเป็นจริงวิทยาศาสตร์คือวิธีคิดจากธรรมชาติที่อธิบายความเป็นไปของเราและโลกอยู่ทุกขณะ และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นก้าวสำคัญของมนุษยชาติ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือการสูญสิ้นของชีวิต

        a day BULLETIN จึงชวน ‘เติ้ล’ - ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ Spaceth.co ผู้หลงใหลในวิทยาศาสตร์ จักรวาล และความเป็นมนุษย์ มาร่วมสนทนาถึงอนาคตของวิทยาศาสตร์

 

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน
ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

ในฐานะที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ คุณมองอนาคตของวิทยาศาสตร์อีก 10 ปีข้างหน้าไว้อย่างไรบ้าง

        อาจจะต้องมองย้อนกลับไปก่อนว่า 10 ปีที่ผ่านมามีการทดลองวิทยาศาสตร์ที่น่าตื่นเต้นมากมาย เราสามารถรู้การมีอยู่ของจักรวาลที่ไกลออกไปมากๆ ขณะเดียวกันก็สามารถมองย้อนลงลึกไปถึงสิ่งเล็กๆ ในระดับอิเล็กตรอนได้ด้วย เรามีองค์ความรู้เรื่องกลศาสตร์ควอนตัม การค้นพบทั้งหมดนี้จะส่งต่อให้เราค้นพบสิ่งใหม่ๆ ต่อไปอีก

        ในมุมมองของเรา สิ่งที่น่าจับตามองในอนาคตมี 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ High Energy Physics หรือฟิสิกส์พลังงานสูง ตอนนี้เครื่องเร่งอนุภาคสามารถทำให้อนุภาคชนกันถึงระดับเทระอิเล็กตรอนโวลต์ หมายความว่าการชนกันของอนุภาคไม่กี่ตัว เกิดเป็นพลังงานมหาศาลได้ ซึ่งจะทำให้ค้นพบอนุภาคและหลักการทางฟิสิกส์ใหม่ๆ อีกเยอะมาก

        เรื่องที่สองคือ มนุษย์จะขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งภายใน 10 ปีข้างหน้า เพราะในปี 2024 นาซามีโครงการนี้ชื่อว่า Artemis ตอนนั้นการสำรวจอวกาศจะกลับมารุ่งเรืองมากอีกครั้ง

        เรื่องที่สาม คือ Biodesign ในหนังสือLife 3.0: Being Human in the Age of Artificial Intelligence ของ แม็กซ์ เทร็กมาร์ก ได้อธิบายระดับชั้นของสิ่งมีชีวิตด้วยการแบ่งเป็น 3 ขั้น ขั้นแรกคือ Biological มนุษย์มีชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยทางชีววิทยาที่อยู่ภายในร่างกาย ขั้นที่สองคือ Cultural มนุษย์พัฒนาวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ต่างๆ เราจึงไม่ได้ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณหรือตามกลไกทางธรรมชาติอย่างเดียวอีกต่อไป และขั้นที่สามคือ Bio-Technological ขั้นสุดท้ายหมายความว่า มนุษย์จะสามารถออกแบบร่างกายให้ก้าวไปถึงขีดจำกัดสูงสุดมากขึ้น อาจไปจนถึงไม่มีขีดจำกัดเลยก็ได้ เพราะทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยี Exoskeleton ใส่อุปกรณ์จักรกลแล้วทำให้ยกของหนักได้มากขึ้น มีรองเท้าที่ทำให้นักวิ่งวิ่งได้ดีขึ้น มีการผ่าตัดต่างๆ ทำให้ผู้ชายเป็นผู้หญิง และผู้หญิงเป็นผู้ชายได้ สุดท้ายเราจะสามารถกำหนดได้ว่าฉันจะมีแรงมากแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับเรื่องที่สอง เพราะหากมนุษย์ไปอยู่บนอวกาศ ก็จะต้องปรับแต่งร่างกายให้สามารถใช้ชีวิตบนดาวดวงนั้น ทนต่อสภาพรังสี ทนต่อแรงโน้มถ่วงที่น้อยกว่าบนโลก ส่วนเรื่อง High Energy Physics จะเป็นองค์ความรู้สำคัญที่ช่วยทำให้มนุษย์ไปถึงจุดนั้นได้เร็วขึ้น ซึ่งก็คือเรื่องที่สองกับสาม

แต่ถ้ามองมุมกลับ เวลาที่ดำเนินไปข้างหน้าอาจหมายถึงการขับถอยหลัง เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ว่า มนุษยชาติเหลือเวลาเพียงทศวรรษเดียวเท่านั้นที่จะกอบกู้โลกก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ เราอาจต้องเผชิญกับการสูญเสียทรัพยากรและการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ คุณคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ 

        เราไม่รู้สึกว่ามนุษยชาติจะจบลงในอีกสิบปี ร้อยปี หรือแม้กระทั่งพันปีข้างหน้า แต่เรามองเป็นเรื่องที่มนุษย์จะต้องพบกับจุดที่ไม่สามารถย้อนกลับมาได้อีกหรือที่เรียกว่า Point of No Return มากกว่า แล้วมนุษย์ก็จะไม่มีโอกาสศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ หรือพัฒนาวิทยาการต่างๆ ต่อไปได้ เพราะโลก ณ ตอนนี้ ก็บอกเป็นนัยๆ ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราในอนาคต ทั้งภัยพิบัติ สภาพแวดล้อม และโรคระบาดที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน

ในฐานะมนุษย์ ควรตื่นตัวหรือตื่นรู้อย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงด้านวิทยาศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นกับโลกของเรา

        เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมี Learning Curve เป็นของตัวเอง แต่คงบอกได้ยากว่าควรจะตื่นรู้กันขนาดไหน เพราะเราอยู่ในสังคมที่วิทยาศาสตร์ไม่ได้เจริญมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด เรารู้เพียงว่าสิ่งเดียวที่สามารถทำได้ตอนนี้คือปลูกฝังวิธีการคิดและกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ให้ประชากรใหม่ๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นมา สมมติว่าเรามีลูก มีน้อง หรือมีญาติ เราจะคุยยังไงให้เขารู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต หากเราสามารถปลูกฝังพวกเขาให้เติบโตอย่างมีวิธีการคิดแบบวิทยาศาสตร์ สุดท้ายแล้ว กระบวนการคิดจะทำให้เกิดเครื่องเร่งอนุภาค หอดูดาว ดาวเทียม ความรู้ หนทางใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเราทุกคน ดังนั้น การตื่นรู้และตื่นตัวที่ดีที่สุด คือทำให้คนมีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ โฟกัสที่เด็กใหม่ๆ ก็ได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องมาคุยกันอย่างจริงจัง ถามว่าทำไม คุณดูสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำไว้สิ เหตุผล หลักการ ตรรกะผิดเพี้ยนไปหมด โดยเฉพาะผู้ใหญ่ชนชั้นปกครองตอนนี้ ไม่รู้ว่าจะยังฝากความหวังได้อยู่หรือเปล่า จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องช่วยกันทำให้คนรุ่นใหม่ๆ มีกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์

หมายความว่า กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ คือสิ่งที่คุณคาดหวังให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

        กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราหวังให้อย่างน้อยเด็กไทยคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่คิดเลข อย่างเช่น ทำไม ไอแซก นิวตัน ถึงได้เข้าใจหลักคิดเรื่องแรงโน้มถ่วง ทำไมกาลิเลโอถึงพยายามทำความเข้าใจหลักคิดเรื่องวัตถุบนท้องฟ้า ทำไม สตีเฟน ฮอว์กิง ถึงพยายามทำความเข้าใจหลักคิดเรื่องธรรมชาติของหลุมดำ

        ที่จริงมนุษย์เพิ่งจะมาแบ่งปรัชญาธรรมชาติออกเป็นศาสตร์แยกย่อย ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ดาราศาสตร์ เพื่อตอบสนองระบบการศึกษา เรียนอะไรมาก็ไปอยู่ในสายงานนั้น แต่ในยุคสมัยที่จะสร้างไทยแลนด์ 4.0 การแบ่งศาสตร์ชัดเจนเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะเราไม่ได้เรียนเพื่อที่จะไปทำ แต่ต้องรู้ก่อนว่าจะทำอะไร แล้วถึงได้ไปเรียนในหัวข้อหรือศาสตร์นั้นๆ แล้วเอาสิ่งที่เรียนรู้มาทำมาพูดคุยกับเพื่อนๆ อาจารย์ และสังคม สิ่งที่ได้จึงไม่ใช่แค่ระบบการศึกษาที่ดีขึ้น แต่ทำให้เกิดวิธีการคิดแบบวิทยาศาสตร์

        เรื่องนี้เป็นเรื่องประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เพราะประชาธิปไตยต้องเกิดกับกระบวนการคิดที่มันถูกต้อง เคยสงสัยไหมว่าทำไมต้องทำการทดลองสามครั้งก่อนจะยืนยันผลการทดลองนั้นได้ เพราะมันอาจจะเกิดขึ้นจากความบังเอิญก็ได้ ดังนั้น ถ้าผลการทดลองออกมาไม่ตรงกันแค่หนึ่งครั้ง ก็ไม่สามารถสรุปได้

        ทั้งหมดคือกระบวนความคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่เราต้องปลูกฝัง สอนให้เข้าใจเหตุและผล เราเชื่อว่าประเทศไทยข้างหน้าจะก้าวไปสู่จุดที่ทุกอย่างถูกนิยามอย่างชัดเจน แม้ว่าตอนนี้หลายอย่างจะถูกนิยามไม่ชัดเจน ทั้งระบบการปกครอง เศรษฐกิจ ประชาธิปไตย ถูกนิยามอยู่บนความรู้สึกทั้งหมด สิ่งที่เราหวังคือทำอย่างไรให้เรื่องพวกนี้เป็นวิทยาศาสตร์

 

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน
ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

การสื่อสารวิทยาศาสตร์ จะสามารถสร้างบทสนทนาและกระตุ้นหรือขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านวิทยาศาสตร์ต่อไปได้อย่างไร 

        เวลาพูดถึงการสื่อสารวิทยาศาสตร์ หลายคนอาจจะนึกถึงหนังสือหรือวารสารวิชาการ เราและเพื่อนๆ เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้สื่อออฟไลน์เหล่านี้อยู่บนออนไลน์ได้ด้วย จึงเกิดเป็น Spaceth.co ขึ้นมา ช่วงเริ่มต้นเรากังวลว่าคนจะสนใจวิทยาศาสตร์จริงไหม แต่สุดท้ายก็ได้รับคำตอบผ่านคอนเทนต์ที่ทำ เพราะมีคนรออ่านเรื่องวิทยาศาสตร์ไม่น้อยเลย ทำให้เราตั้งใจใช้โซเชียลมีเดียกระจายข้อมูลวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องอวกาศเพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มคนหมู่มากต่อไปเรื่อยๆ จนมีโอกาสได้สัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลก ได้เข้าร่วมงานวิทยาศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ และได้เดินทางไปดูอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด อย่างในประเทศไทยเองก็มีกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่เจ๋งมากๆ เพราะใช้ร่วมทำงานวิจัยระดับโลกมากมาย และกำลังจะมีดาวเทียมวิทยาศาสตร์ดวงแรกของประเทศ ในฐานะคนทำงานสื่อ เราพยายามสื่อสารเรื่องนี้ออกไปให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างบทสนทนาวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของทุกคน ยิ่งเราได้ทำ ก็ยิ่งรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่มีคุณค่าและเกิดประโยชน์กับสังคมจริงๆ

สิ่งที่คุณทำเปรียบเป็นหมุดหมายสำคัญของการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์และอวกาศ คุณอาจเป็นโดมิโนตัวแรกที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย โดยเฉพาะการปลูกฝังวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่คุณย้ำเสมอ

        เราพูดไม่ได้หรอกว่าเรามีความสำคัญขนาดไหน แต่ในใจเรารู้สึกว่าได้ทำในสิ่งที่กาลิเลโอ, ไอแซก นิวตัน, ไอสไตน์ หรือ สตีเฟน ฮอว์กิง ทำ สิ่งที่เราทำไม่ใช่การสร้างหรือการค้นพบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ หรือว่าได้รับรางวัลโนเบล แต่คือการส่งต่อ แค่การได้พูดคุยกับคนเพียง 1 คน ก็แปลว่าเราได้ส่งต่อวิทยาศาสตร์แล้ว ส่งต่อวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ต่อไปเรื่อยๆ 

        เมื่อมองย้อนกลับไป เราขอบคุณทุกอย่างที่มีอยู่ แล้วส่งต่อมาให้เราจนถึงทุกวันนี้ มีประโยคหนึ่งของ ไอแซก นิวตัน กล่าวว่า‘If I have seen further, it is by standing upon the shoulders of giants.’ —ที่ฉันเห็นได้ไกล ก็เพราะว่าฉันยื่นอยู่บนไหล่ยักษ์ เป็นการสื่อว่าจริงๆ แล้วที่เราเรียกนิวตันว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ สิ่งที่เขาทำคือขอบคุณนักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนหน้านั้นที่ทำให้เขาสามารถมองเห็นไปได้ไกล

หากต้องนิยามคำว่า ‘อนาคต’ บนพื้นฐานองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ คุณจะให้ความหมายว่าอะไร

        มีแนวคิดหนึ่งที่เราชอบมาก คือ Determinism ซึ่งอธิบายว่าทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถรู้ได้ด้วยการศึกษาอดีตและปัจจุบัน ดังนั้น อนาคตกำหนดได้ด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต และสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน แต่ปัญหาคือเราไม่รู้อดีตเยอะขนาดนั้น และเราก็ไม่รู้ทุกตัวแปรที่เป็นอยู่ตอนนี้ การจะศึกษาอนาคตหรือบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แปลว่าต้องรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ให้ได้มากที่สุด นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามศึกษาสิ่งที่เป็นตัวแปรในธรรมชาติทั้งหมดให้เป็นปัจจุบัน เพื่อคาดเดาอนาคตให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือทำให้เราสามารถเตรียมตัวรับมือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ แต่สุดท้ายแล้ว อนาคตคือสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเองนับตั้งแต่วันนี้ และนั่นคืออนาคตจริงๆ ที่ไม่ต้องไปทำนาย

 

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน
ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

ถ้าพูดถึงโอกาสและความเป็นไปได้ วิทยาศาสตร์ทำให้เกิดความเป็นไปได้อย่างไร ในแง่มุมไหน

        วิทยาศาสตร์คือธรรมชาติหรือสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้ ฉะนั้น วิทยาศาสตร์มีคำตอบให้คุณแทบจะทุกอย่าง เพียงแต่คุณต้องมีข้อมูลเพื่อนำมาคิดและวิเคราะห์เพื่อให้ได้ความรู้หรือความเป็นไปได้ใหม่ๆ แล้วคุณก็เอาความรู้ตรงนั้นกลับไปเป็นข้อมูลของวิทยาศาสตร์ประกอบการหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ต่อไปอีก แต่สิ่งที่ท้าทายคือ มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้ชั่วนิรันดร์ เราจึงต้องส่งต่อข้อมูลและวิธีการคิดแบบวิทยาศาสตร์ไปเรื่อยๆ ดังนั้น วิทยาศาสตร์สำคัญกับชีวิตเพราะเป็นสิ่งที่เตือนใจว่า เราเป็นใคร เรากำลังทำอะไรอยู่ แล้วเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ในยุคสมัยที่ใครหลายคนต่างพยายามแสวงหาความหมายของตัวตนและการมีชีวิตอยู่ สำหรับคุณ ความหมายและความหวังต่อการมีชีวิต สำคัญกับความเป็นมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับโลกหรือจักรวาลอย่างไร

        มีคำกล่าวหนึ่งที่เราชอบมาก คือ ‘I think, therefore I am.’ —เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่ จริงๆ แล้วเราไม่ได้มีอะไรเลย เราก็แค่ก้อนเนื้อ เป็นแค่เซตของอะตอม อนุภาค และธาตุต่างๆ ที่บังเอิญมารวมกันแล้วเกิดเป็นสิ่งมีชีวิต แต่ถ้าถามว่าเรามีความสำคัญยังไงในแง่ของธรรมชาติ มีอยู่แล้ว เรามีเซลล์สมอง มีโครงสร้างร่างกายที่คล้ายกัน แต่เราคิดต่างกันได้มหาศาลจนทำให้เกิดสงคราม เราคิดเหมือนกันได้มหาศาลจนทำให้เกิดความร่วมมือทั้งในด้านดีและไม่ดี การที่เราคิดแล้วสามารถแชร์ให้กันได้ มันสะท้อนกลับมาหาเราว่าอย่างน้อยเราได้เดินตามรอยเท้าทั้งในมุมของตัวบุคคลเอง และในมุมมองของมนุษยชาติ เราฝากสิ่งนี้ไว้กับจักรวาลแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะมีตัวตนแบบนี้ต่อไปจนกว่าจะตาย

        แต่เราสามารถมีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์ในแง่ของความคิดได้ ถามว่านักปราชญ์สมัยก่อนอย่างอาริสโตเติลและเพลโต ทำไมพวกเขายังคงอยู่ถึงทุกวันนี้ราวกับมีชีวิต เพราะพวกเขาอยู่ในสมอง อยู่ในกระบวนการคิดของเรา หรือนักวิทยาศาสตร์อย่างพีทาโกรัส สิ่งที่เคยเกิดขึ้นอยู่ในหัวของเขาเมื่อหลายพันปีก่อนถูกปลูกฝังเข้ามาในหัวเรา ทุกวันนี้เรามองสามเหลี่ยม เราก็จะนึกถึงพีทาโกรัส เพราะว่าวิธีการคิดของเขา นั่นแหละความหมายของการมีชีวิตอยู่ เราอาจจะจำคนที่แข็งแรงที่สุดในยุคกรีกโบราณไม่ได้ เราอาจจะจำหญิงสาวที่สวยที่สุดในยุคกรีกโบราณไม่ได้ แต่เราจำนักคิดที่มีความคิดล้ำที่สุดในยุคกรีกโบราณได้ เพราะมันไม่ใช่หน้าตา ไม่ใช่ร่างกาย แต่มันคือปัจเจก คือสิ่งที่อยู่ในหัวเรา และนั่นคือสิ่งที่มีค่าที่สุดในการมีอยู่

หากมองไปยังจักรวาลอันกว้างใหญ่ โลกเป็นแค่เพียงจุดเล็กๆ ในจักรวาล ฉะนั้น การมีหรือไม่มีอยู่ของโลกรวมถึงตัวเรามีความหมายกับจักรวาลหรือใครสักคนเพียงใด

        การมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของโลกอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญกับจักรวาล แต่ปัจจัยสำคัญคือ Observe หรือผู้สังเกต ใครที่อ่านงานเขียนวิทยาศาสตร์บ่อยๆ มักจะเจอคำนี้ ตัวเราเป็นผู้สังเกต มีผู้สังเกตที่นั่งอยู่รอบๆ ตัวเรา เราต่างเป็นผู้สังเกตที่อยู่บนดาวเคราะห์ดวงเดียวกัน แล้วเราก็แชร์ความรู้สึกให้กัน ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการเอาสิ่งที่เราสังเกตมาพูดคุย เขารู้สึก เขาคิดอะไร เขาอยากทำอะไร แล้วเกิดเป็นความรู้ร่วมขึ้นมา ดังนั้น การศึกษาไม่ใช่แค่การมองมาที่ตัวเราอย่างเดียว แต่คือการมองไปที่สิ่งที่อยู่ไกลตัวมากๆ แล้วมองย้อนกลับมาที่ตัวเรา นี่คือสิ่งที่มีค่าที่สุด เราบอกไม่ได้หรอกว่าเรามีค่ากับจักรวาลมากแค่ไหน แต่เราบอกได้ว่าการศึกษาจักรวาลมีค่ากับตัวเราแค่ไหน กับสิ่งที่เราเป็นอยู่แค่ไหน

 

SCIENTIFICA

        คอลัมน์นี้เกิดขึ้นมาด้วยความรู้สึกที่มีต่อข้อมูลข่าวสารในทุกวันนี้ กล่าวคือเวลาเสพข่าวหรืออ่านคอนเทนต์อะไรก็ตาม ความรู้วิทยาศาสตร์คือสิ่งที่จำเป็นมาก แต่ที่น่าเศร้าคือสื่อหลายแห่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ เพราะให้ความสำคัญกับอารมณ์และอัตวิสัยมากกว่า Spaceth.co จึงอยากสื่อสารประเด็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องอวกาศเท่านั้น แต่เป็นเรื่องวิทย์ๆ ในชีวิตประจำวันหรืออยู่ในกระแสสังคมด้วยมุมมองที่พวกเขามีต่อโลกในอนาคตด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0