โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"ญี่ปุ่น" แห่ปิด 7-11 เปิดธุรกิจงานศพ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 18 ต.ค. 2562 เวลา 10.13 น. • เผยแพร่ 17 ต.ค. 2562 เวลา 08.39 น.
ญี่ปุ่น-01

“ญี่ปุ่น” เป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลกมานาน ทั้งยังคาดว่าจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างเต็มที่” (super-ageing society) ในอีก 4 ปีข้างหน้า อันเป็นปัจจัยลบที่กระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะ “ธุรกิจค้าปลีก” ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงกำลังการซื้อที่ลดลงจากอัตราการเกิดที่ต่ำกว่า 1 ล้านคนติดต่อกัน

“สถาบันวิจัยยาโนะ” ของญี่ปุ่นเผยผลการศึกษา ในหัวข้อ “จากร้านค้าสะดวกซื้อสู่บ้านงานศพ” ซึ่งเปิดเผยเมื่อปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมครอบครัวขนาดเล็กมานานเกือบทศวรรษ นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นที่อยู่คนเดียวไม่แต่งงานก็มีจำนวนมากขึ้น

โดยสถาบันประชากรแห่งชาติ และหน่วยงานการวิจัยความปลอดภัยสังคมญี่ปุ่น คาดว่าภายในปี 2040 ประชากรที่มีอายุมากขึ้น 65 ปีขึ้นไป จะอาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้นถึง 9 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราว 17.7% ของประชากรสูงอายุทั้งหมดในญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นจากตัวเลขในปี 2018 ที่มีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน

งานวิจัยของยาโนะ ชี้ว่า หนึ่งในธุรกิจที่จะเฟื่องฟูมากขึ้นต่อจากนี้ก็คือ “การบริการจัดงานศพขนาดเล็ก” หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Kazokuso ซึ่งจะมีเพียงครอบครัวและคนสนิทร่วมงาน ต่างจากงานศพโดยทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ขึ้น คนญี่ปุ่นเรียกว่า “Ippanso” โดยให้เหตุผลไม่เพียงแค่ปัญหาสังคมสูงอายุที่รุนแรงขึ้น แต่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกมาตั้งแต่ปี 2010 ส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุการฆ่าตัวตายเพราะความเครียด

นับตั้งแต่ปี 2018 จะเห็นว่าธุรกิจบริการจัดงานศพขนาดเล็กเริ่มได้รับความนิยมมากกว่าขนาดใหญ่ ซึ่งบริการดังกล่าวนี้ชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่า “บ้านงานศพ” ซึ่งในผลการศึกษาได้ยกตัวอย่าง อาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งในจังหวัดคานางาวะ ของบริษัท คานางาวะ คอสโมส บริษัทในเครือของ “ไลฟ์ แอนด์ ดีไซน์ กรุ๊ป” ผู้ให้บริการจัดการด้านคุณภาพชีวิตชั้นนำของญี่ปุ่น

โดยบ้านงานศพของบริษัทรายนี้ที่มีขนาด 200 ตารางเมตร สามารถจุแขกที่มาร่วมงานได้ราว 20-30 คน เทียบกับพิธีกรรมงานศพแบบดั้งเดิมขนาดใหญ่ที่จะมีแขกร่วมงานมากกว่า 100 คน ซึ่งภายในบ้านงานศพจะมีบริการทั้งห้องเก็บศพและห้องอาบน้ำศพ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายต่อการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ไม่ต่างกับพิธีกรรมขนาดใหญ่

ที่น่าสนใจ คือ บ้านงานศพแห่งนี้ได้เซ้งร้านต่อจาก “ลอว์สัน” เชนร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งเปิดในจังหวัดคานางาวะได้เพียง 5 ปี ก่อนที่จะปิดตัวลงเมื่อปี 2017

“ฮิโรฮิโกะ ไอชิ” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ “ไลฟ์ แอนด์ ดีไซน์ กรุ๊ป” ได้กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะขยายธุรกิจบ้านงานศพเพิ่มในอีกหลายจังหวัดในญี่ปุ่น จากที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 60 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มี 14 สาขาที่เซ้งร้านต่อจากร้านค้าสะดวกซื้อที่ปิดกิจการลง

“ลูกค้ากว่า 80% เลือกใช้บริการที่นี่ เพราะ 1.ต้องการงานศพที่มีขนาดกะทัดรัดประหยัดต้นทุน และ 2.บ้านงานศพมีโลเกชั่นที่สะดวกสบาย ใกล้แหล่งชุมชน” พร้อมกล่าวเพิ่มว่า “ร้านค้าปลีกในญี่ปุ่นประสบปัญหาหลายสาขาไม่สามารถทำกำไรได้ ซึ่งในที่สุดต้องปิดกิจการลง ดังนั้น เราจึงมองหาร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์ที่สามารถซื้อกิจการต่อได้” นายไอชิกล่าว

รายงานของสถาบันวิจัยยาโนะ ยังระบุว่า มีผู้ให้บริการจัดงานศพอีกหลายรายในญี่ปุ่น เช่น บริษัท โอ๊ก ฮิลล์
ฟูเนอรัล โฮม แอนด์ เมโมเรียล ปาร์ก ที่เลือกซื้อกิจการต่อร้านค้าสะดวกซื้อที่ปิดตัวลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะบริษัทสามารถประหยัดต้นทุนในการก่อตั้งร้านใหม่ได้ถึง 50% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด

นอกจากนี้ เจ้าของร้านเทียร์ “นาโอะยะ มาสึมุระ” อีกหนึ่งผู้ให้บริการบ้านงานศพในเขตคันไซ กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ขนาดร้านค้าสะดวกซื้อที่ดึงดูดให้ธุรกิจเข้าไปเซ้งกิจการต่อ แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าของธุรกิจ เช่น ลานจอดรถ ระบบประปาและไฟฟ้า ห้องน้ำ หรือแม้แต่ห้องเล็ก ๆ สำหรับนอนพักกลางวัน ส่วนโลเกชั่นของร้านค้าสะดวกซื้อยังง่ายต่อการขนส่งสิ่งของต่าง ๆ ด้วย

ที่น่าสนใจรายงานการศึกษาของสถาบันวิจัยยาโนะ ได้ระบุอีกว่าสถานการณ์ของธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในญี่ปุ่นจะยิ่งดำมืดขึ้นอีก เพราะแนวโน้มประชากรญี่ปุ่นที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยชี้ว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แถลงการณ์ของยักษ์ใหญ่ 2 เชนร้านค้าสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น และลอว์สัน” สะท้อนให้เห็นอนาคตที่ไม่สดใสของอุตสาหกรรมนี้ได้เป็นอย่างดี

โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา “เซเว่นอีเลฟเว่น” ได้ประกาศแผนการปรับตัวธุรกิจ ทั้งการลดชั่วโมงการให้บริการจาก 24 ชั่วโมง เหลือเพียง 16 ชั่วโมง/วัน และได้ทดลองใช้ในบางสาขาในญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้ประกาศแผนการขยายสาขาใหม่เพียง 900 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่มีแผนขยายสาขาน้อยกว่า 1,000 แห่ง ทั้งนี้ ความเป็นจริงตัวเลขดังกล่าวจะเป็นการชดเชยสาขาที่ปิดตัวไปแล้ว 750 สาขาในญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ นั่นหมายความว่า เซเว่นอีเลฟเว่นจะขยายสาขาเพิ่มเติมในปีนี้เพียง 150 แห่งเท่านั้น

ในขณะที่ “ลอว์สัน” ที่โดยปกติจะขยายสาขาราว 700 แห่ง แต่ในปีนี้ในคำแถลงการณ์กลับชะลอการเปิดสาขาใหม่ออกไป และมุ่งการทำกำไรให้กับสาขาที่เหลือในญี่ปุ่นแทน

ทั้งนี้ รายงานของสถาบันวิจัยแห่งนี้ ระบุว่า ในปี 2020 แม้ว่าหลายคนได้คาดหวังว่าจะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น จากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่โตเกียว

อย่างไรก็ตาม ยังคงประเมินว่าจะมีร้านค้าสะดวกซื้ออีกหลายแห่งในญี่ปุ่นที่จะปิดตัวลงในปีหน้ามากกว่า 1,500 สาขา ซึ่งเมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา “เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิ้ง โค” ประกาศเตรียมจะปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรแล้ว ตั้งเป้า 1,000 สาขา รวมถึงเลิกจ้างพนักงาน 3,000 คน ภายใน 3 ปีข้างหน้า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0