โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"ญี่ปุ่น" ส่งสัญญาณเที่ยวไทย คาด "กันยายน-ตุลาคม" คืนสู่ภาวะปกติ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 09 ก.ค. 2563 เวลา 05.30 น. • เผยแพร่ 09 ก.ค. 2563 เวลา 03.33 น.
นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น
Photo by JIJI PRESS / JIJI PRESS / AFP

ยังคงอยู่ในช่วงการมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิดสำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวตลาดญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็น 1 ในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

โดยก่อนหน้านี้ ททท.สำนักงานโตเกียวได้ระบุว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นกว่า 58% ยังไม่สนใจออกเที่ยว แต่คาดว่าจะมีการเดินทางท่องเที่ยวกันอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ซึ่งกลุ่มที่คาดว่าจะออกเดินทางก่อนคือ กลุ่มนักธุรกิจ-เอฟไอที ส่วนกรุ๊ปทัวร์นั้นคาดการณ์กันว่าน่าจะเริ่มเดินทางได้ในช่วงต้นปีหน้า

“โยชิอากิ ฟูจิมูระ” ผู้จัดการตลาดสำนักงานโตเกียว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่นถือว่าค่อนข้างนิ่ง มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1.7 หมื่นคน มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มน้อยมาก วันละไม่เกินหนึ่งหลัก ทำให้เชื่อว่าคนญี่ปุ่นจะสามารถออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้แล้วภายในเดือนกันยายนหรือตุลาคมที่จะถึงนี้

นายโยชิอากิ เชื่อว่าหลังจากการกลับมาเปิดบินในเที่ยวบินต่าง ๆ และเส้นทางบินญี่ปุ่น-ไทยซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นบินในเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นจะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งมองว่าเอเย่นต์กลุ่มที่จะเริ่มขายได้ก่อนคือ กลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ กลุ่มแพ็กเกจทัวร์ทั่วไป จากนั้นถึงจะเป็นกลุ่มทัวร์กรุ๊ป

“หากแยกโดยละเอียดนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่คาดว่าจะเดินทางในเดือนกันยายนนี้คือกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มนักเดินทางอิสระ และกลุ่มผู้ที่เดินทางซ้ำ จากนั้นในเดือนพฤศจิกายนจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ กลุ่มเดินทางครั้งแรก FIT ส่วนกลุ่มที่จะเริ่มเดินทางในช่วงมกราคมปีหน้าคือ กลุ่มกรุ๊ปทัวร์ กลุ่มทัศนศึกษา และกลุ่มไมซ์”

58% ยังไม่คิดเรื่องท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้เข้าร่วมกิจกรรมบนแฟนเพจของสำนักงาน ททท.ในญี่ปุ่น พบว่ากลุ่มตัวอย่างกว่า 21.1% คิดจะออกเดินทางท่องเที่ยวภายใน 1 ปีหลังสถานการณ์โควิดสิ้นสุด ส่วนอีก 20.21% คิดจะออกเดินทางท่องเที่ยวหลังจากผ่านไป 1 ปีแล้ว และที่เหลืออีก 58.72% ยังไม่ได้คิดเรื่องการออกเดินทางท่องเที่ยว

จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดพบว่าจุดหมายปลายทางที่ได้รับความสนใจเรียงตามลำดับ ได้แก่ ฮาวาย กวม ยุโรป และเอเชีย

นักท่องเที่ยวโฟกัส 3-Cs

“โยชิอากิ” ยังเชื่อว่าพฤติกรรมนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นหลังโควิด-19 จะหลีกเลี่ยง “เซนมิทซุ” หรือจะให้ความสำคัญกับ 3-Cs อย่าง comfortable หลีกเลี่ยงผู้คนแออัดยัดเยียดในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม รักษาระยะห่างทางสังคม ต้องการห้องเดี่ยวหรือวิลล่าแยกต่างหาก clean-liness ความสะอาดและการฆ่าเชื้อสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกและพนักงาน ทั้งในแหล่งท่องเที่ยวและการเดินทาง และ care ใส่ใจกับรายการแยกเดี่ยวสำหรับอาหารและการขนส่งมากขึ้น

ในช่วงคาบเกี่ยวกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาในไทย 320,098 คน ลดลง 32.57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงมีนาคมที่เกิดวิกฤต

สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวเอาต์บาวนด์สัญชาติญี่ปุ่นที่ลดลงเหลือราว 2.97 ล้านคน ลดลงกว่า54.8% ในไตรมาสแรกของปี

สำหรับในปี 2562 ที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยกว่า 1.8 ล้านคน เติบโต 9.96% และเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 4 รองจากเกาหลี จีน และไต้หวัน โดยนักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยสูงสุดเดือนมีนาคม-เมษายน และสิงหาคม

ส่วนกลุ่มเป้าหมายดั้งเดิมของไทยในตลาดญี่ปุ่นมีหลากหลาย ตั้งแต่กลุ่มผู้หญิงโสด กลุ่มผู้หญิงแต่งงานแล้ว กลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มนักเรียน-นักศึกษา

นอกจากนั้นยังมีเซ็กเมนต์ใหม่ที่น่าสนใจและมีศักยภาพเหมาะแก่การทำตลาด อย่างกลุ่มโอยาริชิ หรือวัยรุ่นที่ผู้ปกครองมีฐานะดี กลุ่มกิ๊กเวิร์กเกอร์ หรือผู้ที่ทำงานประจำและงานเสริมไปพร้อมกัน รวมถึงกลุ่มแฟลชแพ็กเกอร์ หรืออดีตนักเดินทางแบ็กแพ็กเกอร์ที่ใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อความสะดวกสบายและประสบการณ์ที่หลากหลายขึ้น

เอเย่นต์ย้ำเลือกคู่ค้ามาตรฐาน

ด้าน “มาซาโนบุ คานิ” ผู้จัดการทั่วไป”เอชไอเอส” ผู้ให้บริการสินค้าและบริการนำเที่ยวรายหนึ่งของญี่ปุ่นระบุว่า ปัจจุบันบริษัทกลับมาเปิดให้บริการหน้าร้านสำหรับจำหน่ายสินค้าและบริการทางด้านท่องเที่ยวแล้วกว่า15 สาขา หรือ 10% ของหน้าร้านทั้งหมด เพื่อเริ่มรับจองรายการนำเที่ยวที่ออกเดินทางในเดือนตุลาคม 2563-มีนาคม 2564 ได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้ผ่านหน้าร้านและออนไลน์ พร้อมให้ความสำคัญกับมาตรการทางด้านสุขอนามัยสูงที่สุด

“ความเสี่ยงในการติดเชื้อมักจะเกิดจากการรวมตัวกันในจำนวนมาก ๆ การสัมผัส และการอยู่ในพื้นที่ปิด บริษัทจึงกำหนดมาตรฐานและให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันทางด้านสุขอนามัยอย่างเต็มที่ ครอบคลุมไปถึงมาตรฐานของพาร์ตเนอร์ที่จะร่วมงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน โรงแรม รถขนส่ง และอื่น ๆ ใช้ทั้งมาตรการรักษาระยะห่างและระมัดระวังในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยว”

“มาซาโนบุ” บอกด้วยว่า บริษัทจะเลือกโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และบริการขนส่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสมาคมท่องเที่ยวญี่ปุ่นและรัฐบาลไทยเป็นลำดับแรก กำหนดให้กลุ่มเดินทางมีจำนวนระหว่าง 2-6 คน และไม่ร่วมเดินทางกับกรุ๊ปอื่น ๆ พร้อมทั้งรักษาระยะห่างตลอดเวลา ตั้งแต่การนอน รับประทานอาหาร และการท่องเที่ยว

หวั่นต้นทุนพุ่ง

นอกจากนั้นจะร้องขอไปยังผู้ประกอบการของไทยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการยกเลิกการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากสถานการณ์ไม่สามารถกำหนดได้และเพื่อเป็นการดึงดูดใจลูกค้าส่วนเรื่องที่ยังกังวลคือ ต้นทุนในการประกอบการที่กำลังเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความพร้อมจะเดินทางในช่วงเวลานี้อย่างกลุ่มเยาวชน ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงอย่างกลุ่มผู้สูงอายุอาจมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการติดเชื้อจนเลือกไม่เดินทางในระยะเวลาอันใกล้

สำหรับคู่แข่งของประเทศไทยในช่วงหลังจากโควิด-19 ได้แก่ เวียดนาม เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง ฯลฯ โดยเฉพาะคู่แข่งในหมู่บีชรีสอร์ตอย่างเมืองดานัง เวียดนาม เกาะเซบู ฟิลิปปินส์ หรือเกาะกวม สหรัฐอเมริกาซึ่งมีเที่ยวบินตรงจากญี่ปุ่นทั้งหมด มาลุ้นกันต่อว่ากันยายน-ตุลาคมนี้”ญี่ปุ่น” จะออกเดินทางได้ตามคาดการณ์หรือไม่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0