โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ญี่ปุ่นโชว์ "สมาร์ทซิตี้" ตอบโจทย์ ศก.-สังคมสูงวัย

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2561 เวลา 12.12 น.
for03210661p1
ภาพจาก www.yokohamajapan.com
หนึ่งในแผนพัฒนาของรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ในปี 2018 คือการมุ่งสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” ภายใต้ชื่อโปรเจ็กต์ SDGs Future Cities ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้คิกออฟไปเมื่อ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมกับเป้าหมาย 30 เมืองนำร่อง

 

ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ดำเนินนโยบายสมาร์ทซิตี้อย่างจริงจังนับตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งผลักดัน 23 เมืองนำร่องลดคาร์บอน และในปี 2011 ได้ขยับสู่การสร้างสมาร์ทซิตี้ 11 เมือง เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาทั้งภายในประเทศและนานาชาติ

18 มิ.ย.ที่ผ่านมา องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร กรุงเทพฯ, JICA, UNDP และรัฐบาลไทย ได้ร่วมกันจัดงาน “Thailand-Japan Collaboration Seminar: Towards ASEAN Smart City Network Development” ถือเป็นครั้งแรกที่ทางการไทยได้ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสมาร์ทซิตี้จากญี่ปุ่นมาแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่การเริ่มต้นเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในประเทศไทย

ศาสตราจารย์ทสึโยชิ ฟูจิตะ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยระบบสังคมสิ่งแวดล้อม สถาบันด้านการศึกษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และศาสตราจารย์แต่งตั้งพิเศษแห่งสถาบันเทคโนโลยีโตเกียวมาร่วมให้มุมมองว่า ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับสมาร์ทซิตี้ มุ่งเป้าสู่นโยบายโลกเพื่อความยั่งยืน และสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศซึ่งมักมีภัยพิบัติแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง

แผนการสร้างเมืองแห่งอนาคต รัฐบาลญี่ปุ่นดึงจุดเด่นของแต่ละเมือง เช่น “โยโกฮามา” เมืองท่าและอุตสาหกรรมสำคัญ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งใจผลักดันให้เป็น “future city” ใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่ตอบโจทย์ทั้งรองรับการเป็นเมืองผู้สูงวัย (ag-ing society hub) ขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน

พร้อมกับการทรานส์ฟอร์มเมืองโยโกฮามา มีประชากร 3.7 ล้านคน เมืองใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น ให้เป็นเมืองที่มีการจัดการด้านพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนภายใต้ 3 เสาหลัก คือ 1.โยโกฮามา สมาร์ทซิตี้ โปรเจ็กต์ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาพลังงานผ่านความร่วมมือต่าง ๆ

รวมถึงการดึงพลังงานมาจากโซลาร์ และการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 2.สร้างความยั่งยืนด้านที่อยู่อาศัยของประชากร บนความท้าทายของสังคมผู้สูงวัย โดยวางแผนสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนการอนุรักษ์พลังงานและคาร์บอน และ 3.สร้างการดึงดูดความร่วมมือในการพัฒนากับองค์กรทั้งในและต่างประเทศ

หรือกรณี “เมืองชิโมคาวะ” จังหวัดฮอกไกโด ซึ่งรุ่มรวยธรรมชาติ ก็จะถูกผลักดันในฐานะ “สมาร์ทซิตี้ด้านธรรมชาติป่าไม้” โดยดึงภาคอุตสาหกรรม ทรัพยากร และชุมชน มาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตจากทรัพยากรป่าไม้อย่างบูรณาการ

นอกจากนี้ภาคเอกชนของญี่ปุ่นก็มีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนสมาร์ทซิตี้เพื่อความยั่งยืนเช่นกัน อย่างกรณีบริษัท “มิตซูบิชิ” ได้จัดทำแผน Mitsubishi Electric (MELCO) Smart Communities Initiative เพื่อสร้างชุมชนการทำงานที่มีประสิทธิภาพและปราศจากคาร์บอน โดยใช้ระบบสมาร์ทกริดบริหารจัดการพลังงานในชุมชน พัฒนาอาคารสำนักงานที่ใช้พลังงานอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า ตลอดจนนำรถพลังงานไฟฟ้าและสถานีชาร์จมาติดตั้งภายในบริเวณโรงงาน

ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยกำหนดว่าภายในปี 2018 จะมีการพัฒนาสมาร์ทซิตี้เร่งด่วนใน 7 เมือง คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และมีแผนขยายครอบคลุมทั่วประเทศใน 5 ปี ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ลดค่าใช้จ่าย เน้นการมีส่วนร่วมภาคธุรกิจและประชาชน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0