โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ซีเมนต์สนใจลงทุนรถไฟแทรม หัวลำโพง-มหาชัย วงเงิน 3 หมื่นล้าน

ไทยโพสต์

อัพเดต 18 ธ.ค. 2561 เวลา 02.41 น. • เผยแพร่ 18 ธ.ค. 2561 เวลา 02.41 น. • ไทยโพสต์

 

คมนาคมเนื้อหอมซีเมนต์สนใจลงทุนระบบรถไฟรางเบาหัวลำโพง-มหาชัย วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท รฟท.ล็อควันประกาศผลผู้ชนะไฮสปีด 3 สนามบิน 24 ธ.ค.นี้ เรียกซีพีเจรจาซองพิเศษ ก่อนสรุปผลไม่เป็นทางการสัปดาห์นี้

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด(มหาชน) หรือ CHO เปิดเผยว่าได้นำผู้บริหารบริษัท ซีเมนส์โมบิลิตี้ จำกัด และกลุ่มผู้บริหารบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมืองเข้าหารือกับ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างทบทวนความเหมาะสมและความคุ้มค่าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-มหาชัย เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากชานเมืองเข้ามายังรถไฟฟ้าสายหลักของกรุงเทพควบคู่ไปกับการแก้ปัญหารถติดตามนโยบายของรัฐบาล

นายสุรเดช กล่าวว่าเบื้องต้นได้เสนอทางเลือกใหม่ให้กับกระทรวงคมนาคมไปทบทวนความเหมาะสมในการยกเลิกโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงดังกล่าวและก่อสร้างรถฟ้ารางเบา(แทรม) ทดแทน โดยทางบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมืองและประชาชนท้องถิ่นต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดลงทุนโครงการดังกล่าวเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน แพราะเห็นว่าจะเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนในการเข้าสู่ศูนย์กรุงเทพฯได้อย่างสะดวก รวดเร็วด้วยระบบขนส่งมวลชนที่รัฐบาลมีแผนดำเนินการ 

อย่างไรก็ตามภาคเอกชนบริษัทสมุทรสาครพัฒนาเมืองมีความพร้อมที่จะลงทุนโครงการดังกล่าว เช่นเดียวกับทางบริษัท ซีเมนส์โมบิลิตี้ จำกัด นั้นแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนด้วยกัน หลังจากที่ตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จ.ขอนแก่น นอกจากนั้นยังพร้อมจัดระบบฟีดเดอร์ด้วยรถเมล์โดยสารรูปแบบสมาร์ทบัสทันสมัยเข้าไปให้บริการและเป็นระบบฟีดเดอร์เชื่อมเข้าถึงแต่ละสถานีของรถไฟฟ้ารางเบาในแต่ละพื้นที่ได้อีกด้วย

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่าโครงการรถไฟสายสีแดงช่วงหัวลำโพง-มหาชัยมีระยะทางทั้งสิ้น 38 กม. โดยการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบานั้นจะมีต้นทุนก่อสร้างเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท/กม. ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแบบก่อสร้าง ดังนั้นมูลค่าการลงทุนโครงการดังกล่าวทั้งงานโยธาและระบบจัดหารถนั้นจะมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ด้านแหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)กล่าวว่าความคืบหน้าการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน วงเงิน 2.15 แสนล้านบาทนั้นภายหลังจากที่เอกชนทั้งสองรายผ่านคุณสมบัติซองราคา แล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนของการเปิดยื่นซองพิเศษซึ่งเป็นการเสนอเงื่อนไขเพิ่มเติมคล้ายซองเทคนิคพิเศษในการตัดสินผลแพ้ชนะประมูล ในสัปดาห์นี้รฟท.จะเริ่มเชิญเอกชนที่เสนอราคาต่ำกว่าเข้ามาเจรจาก่อน คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งส์ จำกัด และพันธมิตร หากการเจรจาจบลงด้วยดีไม่มีปัญหาก็จะคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะโครงการทันที แต่ถ้าหากยังเจรจาไม่จบจะเชิญกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) เข้ามายื่นข้อเสนอต่อไป

อย่างไรก็ตามหากทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดีนั้นรฟท.ได้กำหนดวันประกาศผลอย่างเป็นทางการพร้อมเปิดเผยข้อมูลข้อเสนอด้านตัวเลขทั้งหมดในวันจันทร์ที่ 24 ธ.ค.นี้ ทั้งนี้น่าจะทราบผลอย่างไม่เป็นทางการในวันศุกร์ที่ 21 ธ.ค.นี้ ภายหลังจากคณะกรรมการคัดเลือกประชุมสรุปผลกันแล้วเสร็จ  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0