โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ซีพีพร้อมเดินเครื่องผลิตหน้ากากอนามัยอีก1สัปดาห์-รพ.จุฬาฯเป็นศูนย์กลางแจกจ่าย

TODAY

อัพเดต 10 เม.ย. 2563 เวลา 09.57 น. • เผยแพร่ 10 เม.ย. 2563 เวลา 09.23 น. • Workpoint News
ซีพีพร้อมเดินเครื่องผลิตหน้ากากอนามัยอีก1สัปดาห์-รพ.จุฬาฯเป็นศูนย์กลางแจกจ่าย

ทันกำหนด 5 สัปดาห์ดังที่ “เจ้าสัวธนินท์” ประกาศสร้าง รง.ผลิตหน้ากากอนามัย ตั้งเป้า 3ล้านชิ้น/เดือน ก่อนส่งมอบ รพ.จุฬาฯ เป็นศูนย์กลางแจกจ่ายให้ รพ.ทั่วประเทศ

หลังจากนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีนโยบายลงทุน 100 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรีแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน เพื่อใช้ในการป้องกันโรค โดยได้เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 63 ว่าจะใช้ระยะเวลาในการสร้างโรงงานหน้ากากใน 5 สัปดาห์นั้น

ล่าสุดวันนี้ (10 เม.ย. 63) ซึ่งครบกำหนด 5 สัปดาห์ ตามที่นายธนินท์เคยประกาศไว้ “ผู้สื่อข่าวเวิร์คพอยท์” ได้เดินทางไปที่โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อคนไทย ของซีพี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ บริษัท เกษตรภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด (KPI)ที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โดยทางซีพีได้เปิดโรงงานให้สื่อมวลชนเข้าชม บริเวณด้านนอกห้องปลอดฝุ่น (Clean Room) ซึ่งเป็นห้องปลอดเชื้อที่ใช้ผลิตหน้ากาก โดยลงเครื่องจักรครบแล้ว มีเครื่องจักรหลัก 2 ตัว และอีก 1 ตัวสำรอง พร้อมผลิตหน้ากากอนามัย

ทั้งนี้ เหลือเพียงขั้นตอนการขออนุญาตจาก อ.ย. คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตได้ในสัปดาห์หน้า เบื้องต้นตั้งเป้าผลิต 3 ล้านชิ้นต่อเดือน ก่อนส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ โดยมี รพ.จุฬาฯ เป็นศูนย์กลางในการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เมื่อบุคลากรทางการแพทย์มีหน้ากากอนามัยใช้อย่างเพียงพอแล้ว จึงจะแจกจ่ายให้กับประชาชนต่อไป

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนผ่าน vdo conference ว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนกำลังใจให้ทุกคนผ่านวิกฤติ Covid-19 ไปให้ได้ ซึ่งหากวิกฤติยืดเยื้อก็พร้อมเพิ่มทุนสนับสนุนโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ซึ่งเดิมลงทุน 100 ล้านบาท ก็จะเพิ่มการลงทุนให้มากกว่านี้ สิ่งใดที่เครือฯ ทำได้ ก็จะพยายามช่วยเหลือกัน

“ผมขอขอบคุณหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละเพื่อคนไทย ในภาวะวิกฤติโรคระบาดเช่นนี้ รวมทั้งขอขอบคุณทีมงานทุกคนทั้งในไทยและจีน ที่ร่วมฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เพื่อสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อบุคลากรทางการแพทย์และคนไทยได้ทันใน 5 สัปดาห์ ทั้งที่โดยปกติต้องใช้ระยะเวลาถึง 3 เดือน โดยเราวางแผนไว้ว่า หลังวิกฤติโควิด 19 จบลง จะมอบโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยนี้ให้กับ รพ.จุฬาฯ และรายได้จากการจำหน่ายหน้ากากอนามัยหลังหักต้นทุน ซึ่งทางเราจะควบคุมราคาตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เรามอบให้ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาฯ ทั้งหมด”

นายศักดิ์ชัย บัวมูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านวิศวกรรมกลางอาหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการผลิต ในฐานะหัวหน้าสายงานด้านวิศวกรรมและการออกแบบกระบวนการผลิตโรงงานหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อคนไทย กล่าวว่า ห้องปลอดเชื้อ (Clean Room) ที่ใช้สำหรับการผลิตหน้ากากอนามัยนั้น เมื่อถึงเวลาดำเนินการผลิตจริง จะมีผู้ดำเนินการในห้องเพียงคนเดียวเท่านั้น เพื่อความสะอาดและปลอดภัยสูงสุด ซึ่งหน้ากากอนามัยของซีพีทุกชิ้นต้องได้มาตรฐาน

“เราได้ร่วมมือกับ สจล ลาดกระบัง ในการใช้ระบบสมองอัจฉริยะ AI ในการตรวจหน้ากากทุกชิ้น เพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน ก่อนจะใช้เครื่องจักรบรรจุลงซอง จากซองลงแพ็ก แพ็กละ 12 ชิ้น จากแพ็กบรรจุลงลัง และจากลังไปเข้าโกดัง ซึ่งต้องอัตโนมัติทั้งหมด ทำให้ทางวิศวกรของซีพีเราต้องออกแบบเครื่องจักรเองบางส่วน เพื่อให้หน้ากากดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นจนจบ นอกจากนี้ ในการติดตั้งเครื่องจักร เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญเจ้าของเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่จีนบินมาไม่ได้ ทางเราจึงต้องทำเอง ติดตั้งเอง จึงแก้ปัญหาด้วยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญผ่าน teleconference ทางไกล โดยใช้ระบบ True Versual World และสามารถติดตั้งได้เองภายใน 4 วัน อย่างมีคุณภาพ” นายศักดิ์ชัย กล่าว

สำหรับวัตถุดิบสำคัญในการผลิตหน้ากากอนามัยครั้งนี้ คือ แผ่นกั้นเชื้อโรค หรือ เมลต์โบลวน์ (Meltblown) ภายในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นวัตถุดิบที่หายากและราคาปรับสูงขึ้นจากภาวะปกติหลายสิบเท่า ทำให้กระบวนการจัดซื้อต้องใช้พลังจากเครือข่ายและพันธมิตรในหลายประเทศ เนื่องจากต้องการให้มีวัตถุดิบผลิตได้อย่างต่อเนื่อง

ตามมาตรฐานการผลิต หน้ากากอนามัยจะประกอบด้วย 3 ชั้น  ชั้นแรกเป็นนอนวูฟเวนชนิดสปันบอนด์ (สีเขียว) เคลือบสารไฮโดรโฟบิกเพื่อเพิ่มสมบัติกันน้ำ ชั้นต่อมาเป็นนอนวูฟเวนชนิดเมลต์โบลวน์ (สีขาว) ใช้ป้องกันเชื้อโรค และชั้นสุดท้ายเป็นนอนวูฟเวนชนิดสปันบอนด์ (สีขาว) โดยนอนวูฟเวนชนิดสปันบอนด์ (spunbond nonwoven)

การก่อสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย นายภูมิชัย ตรัยดลานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจอุปกรณ์การเกษตร 2 บริษัท เกษตรภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด (KPI) ในฐานะหัวหน้าทีมควบคุมการก่อสร้างโรงงานหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อคนไทย กล่าวว่า โรงงานที่ผลิตหน้ากาก จะต้องทำห้องปลอดฝุ่น (Clean Room) ซึ่งต้องทำให้เสร็จใน 3 สัปดาห์ เป็นความยากที่ต้องทำให้ได้ รวมทั้งวางแผนด้านกำลังคน เพื่อให้โรงงานเสร็จสมบูรณ์ตามกำหนดเวลาและได้มาตรฐาน

ด้าน ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการสั่งซื้อเครื่องจักรและวัตถุดิบต่างๆ รวมทั้งเรื่องการขนส่ง กว่าจะดำเนินการได้สำเร็จว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลให้ทุกประเทศมีมาตรการเข้มงวดเรื่องการนำเข้าและส่งออก ซึ่งมีผลต่อการนำเข้าเครื่องจักรผลิตหน้ากากอนามัย ที่เครือซีพีได้ดำเนินการสั่งซื้อจากประเทศจีน รวมถึงปัญหาเรื่องการจัดหาวัตถุดิบที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ประกอบกับสถานการณ์การบินจากประเทศจีนที่มีจำนวนเที่ยวบินลดลงกว่า 70% และมีกำหนดการที่ไม่แน่นอน ทำให้ต้องปรับแผนการขนส่งเครื่องจักรกันแบบวันต่อวัน

“เครื่องจักรผลิตหน้ากากต้องไปต่อคิวโรงงานที่มีคิวผลิตเครื่องจักรยาวเหยียด และทุกประเทศแย่งกันหมด ซึ่งตามโจทย์ของคุณธนินท์ เครื่องจักรต้องทันสมัย เป็นแบบอัตโนมัติ ดังนั้น เครื่องที่สั่งมาจะทำงานต่อเนื่องได้วันละ 3 กะ แล้วใช้กำลังคนเพียงกะละ 3 คน นอกจากนี้ ตลอดการเตรียมการขนส่ง เราถูกยกเลิกเที่ยวบินไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง เพราะความเข้มงวดในการส่งออก ทำให้ต้องวางแผนรายวัน ซึ่งเราพบว่ามีเที่ยวบินว่างที่ซีอาน ทำให้ต้องลากเครื่องจักรโดยใช้รถบรรทุกจากโรงงานกว่า 1,700 กม. เพื่อไปขึ้นเครื่อง แต่พอไปถึงก็ถูกยกเลิกเที่ยวบินอีก หรืออย่างวัตถุดิบตัวที่ใช้กรองชื่อว่า เมลโบรนด์ (Meltblown) ซีพีใช้เครือข่ายทั่วโลกในการตามหาวัตถุดิบที่หายาก ขาดตลาด ราคาแพง ซึ่งเราถูกยกเลิกออเดอร์กว่า 20 ครั้ง เพราะหลายประเทศเริ่มเข้มงวดด้านการส่งออก ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ไม่ง่ายเลย” ดร.ธีระพล กล่าว

นอกจากนี้ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ยังให้ข้อคิดในภาวะวิกฤติเช่นนี้ทิ้งท้ายไว้ว่า ในยามวิกฤติต้องคิดว่าจะทำอย่างไร จะรับมืออย่างไร ตนผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้รุนแรงกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเป็นโรคระบาดทั่วโลก ลองหาทางออกที่พอจะทำได้ เช่น ร้านอาหารอาจไม่ต้องจ้างพนักงานออก แต่เปลี่ยนมาส่งอาหารให้ผู้บริโภคถึงที่ โดยให้พนักงานที่อยู่ว่างๆ เป็นผู้ส่ง และสอบถามผู้บริโภคถึงสิ่งที่ต้องการเพิ่มเติม ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่เขาต้องการ หากทางร้านหาให้เขาได้ครบ พร้อมไปส่งถึงที่ ในภาวะที่ไม่มีใครอยากออกจากบ้าน เขาจะนึกถึงเราก่อนเป็นคนแรก และแม้ในวันหน้าทุกอย่างจะดีขึ้นก็ต้องไม่ประมาท ความสำเร็จควรดีใจได้เพียงวันเดียว นั่นคือดีใจเพียงวันเดียวพอ วันต่อๆ ไปต้องคิดหาทางรับมือและคิดไว้เสมอว่า หากเกิดวิกฤติขึ้นอีกจะทำอย่างไร จะรับมืออย่างไร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0