โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ซีพีตอบรับ เซ็น‘ไฮสปีด’ ตั้งแง่ส่งมอบ

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 22 ก.ย 2562 เวลา 01.30 น.

ซีพีร่อนหนังสือตอบรับเซ็นสัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน ถึงรฟท. 19 ก.ย.พร้อมเงื่อนไขยิบ 2 เรื่องเดิม ส่งมอบพื้นที่-ดัชนีชี้วัด จำนวนผู้โดยสาร “วรวุฒิ” นัดถกรายละเอียดอีกรอบ

มติคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วันที่ 11 กันยายน 2562 ขีดเส้น 7 วันให้กิจการร่วมค้าเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งหรือกลุ่มซีพีตรวจสอบร่างบันทึกแนบท้ายสัญญาโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หากไม่ติดขัดประเด็นใด จะกำหนดวันลงนามในสัญญาอีกครั้งภายในเดือนกันยายนนี้

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา กลุ่มซีพี ส่งหนังสือตอบรับการลงนามในสัญญา รถไฟเชื่อม 3 สนามบินมายังรฟท. ตามกำหนดเวลา แต่เนื่องจากมีรายละเอียดข้อเสนอค่อนข้างมาก จึงต้องกำหนดวันประชุมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การเซ็นสัญญาจะต้องเกิดขึ้นไม่เกินเดือนกันยายนนี้อย่างแน่นอน

ขณะรฟท.ต้องเร่งเคลียร์พื้นที่ส่งมอบ ซึ่งยังเน้นการผลักดันผู้บุกรุกออกนอกพื้นที่, การบอกเลิกสัญญาเช่าเขตทางกว่า 400 สัญญา, การจัดการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เป็นต้น สำหรับรายละเอียดที่กลุ่มซีพียังเป็นกังวลส่วนใหญ่เป็นเรื่องการส่งมอบพื้นที่ กรณีผู้บุกรุก ซึ่งรฟท.ยืนยันว่า สามารถปฏิบัติได้ตามที่กำหนดในสัญญาแนบท้าย

แหล่งข่าวรฟท.เสริมว่ากลุ่มซีพียังวิตกกังวล 2 เรื่องหลักได้แก่ดัชนีชี้วัดผลงานหรือเคพีไอ หากยอดผู้โดยสารไฮสปีดไม่ได้ตามเป้าอีกทั้งการจัดหาขบวนรถ ไม่ตรงตามเวลา เช่น ขบวนรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ 7-8 ขบวนผู้รับสัมปทานจะต้องถูกปรับ ซึ่งเบื้องลึกยังไม่สามารถตกลงกันได้ เช่นเดียวกับการส่งมอบพื้นที่แนวเส้นทางกลุ่มซีพียังกังวลว่าอาจก่อสร้างไม่ทัน 5 ปี อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มทั้งดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ หาก รฟท.ไล่รื้อผู้บุกรุกไม่ทันตามกำหนดหรืออาจมีผู้บุกรุกใหม่เกิดขึ้นภายหลัง

ขณะรฟท.เองยอมรับว่ายังไม่ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับผู้บุกรุกเพียงแต่ประชาสัมพันธ์กระจายข่าวออกไปให้รับรู้รับทราบ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 400 ครัวเรือน กระจายอยู่ตามเส้นทางทั่วไป มากสุด บริเวณหัวหมาก แต่อนาคต อาจมีบุกรุกเพิ่ม 800-900 ครัวเรือนก็เป็นได้

ซึ่งผู้บุกรุก มักเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้จะไล่รื้อไปแล้ว ก็ อพยพไปที่ใหม่หรือ เข้ามาสร้างสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเดิมในภายหลังหากไม่ติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยดูได้จาก รถไฟชานเมืองสายสีแดงสัญญา 1 ช่วงบางซื่อ-รังสิตเวลาผ่านไปหลายปี ยังคงต้องไล่ผู้บุกรุกต่อ อย่างไรก็ตามรฟท.เขียนเอกสารแนบท้ายโดยขอ เวลา 2 ปีนับจากเซ็นสัญญา

ส่วนความคืบหน้าการเวนคืน ล่าสุดรอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดินจำนวน 12 แปลง ซึ่งจังหวัดฉะเชิงเทรา ถูกกระทบมากที่สุด จำนวน 1 แปลงพื้นที่ 400 ไร่ เพื่อนำไปสร้างสถานีและอู่ซ่อมแต่เบื้องต้นได้เปิดรับฟังความคิดเห็นทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่แล้ว โดย รฟท.ทำบันทึกแนบท้ายสัญญา นับจาก พ.ร.ฎ. เวนคืนบังคับใช้ ระบุชัดเจนว่าจะใช้เวลาเวนคืน 1 ปี 6 เดือน และ บวกเพิ่มอีก 6 เดือนกรณี ชาวบ้านไม่ยอมออกจากพื้นที่โดยเฉพาะ ฉะเชิงเทรา อย่างไรก็ตามการเซ็นสัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบินภายในเดือนกันยายนนี้ ยังไม่นับเป็นการเริ่มต้นการทำงาน แต่จะ เริ่มนับหนึ่ง ตามสัญญาได้ก็ต่อเมื่อการส่งมอบพื้นที่พร้อม ผู้รับสัมปทานสามารถเข้าพื้นที่ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่าหลังจากรฟท. กำหนดให้เครือซีพีให้คำตอบการลงนามรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ภายใน 7 วัน เครือซีพีจะหารือกับพันธมิตรและจะลงนามโครงการนี้แน่นอน

“โครงการดังกล่าวใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จำเป็นต้องได้รับการตัดสินใจจากทุกฝ่าย แต่เมื่อทุกฝ่ายมีความตั้งใจตรงกันแล้วคาดว่าจะไม่มีปัญหา” นายศุภชัย กล่าว 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3507 วันที่ 22-25 กันยายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0