โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ซาร์ส และการ 'ปิดข่าว' ครั้งใหญ่ แผลในใจที่จีนลืมไม่ลง

The MATTER

อัพเดต 29 ม.ค. 2563 เวลา 08.04 น. • เผยแพร่ 29 ม.ค. 2563 เวลา 03.36 น. • Thinkers

21 มกราคม หนึ่งวันหลังจากคณะกรรมการสาธารณสุขชาติแห่งจีน ประกาศว่า 'โคโรนาไวรัส 2019' สามารถแพร่ระบาดจาก 'คนสู่คน' แอคเคาท์โซเชียลมีเดียรัฐบาลในเว็บไซต์ WeChat ก็ขึ้นข้อความตักเตือนทันที

น่าสนใจก็ตรงที่ว่า 'ข้อความเตือน' ที่ขึ้นนั้น ไม่ใช่เพื่อลดความ 'หวาดกลัว' ของผู้คนในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย และชาวจีนทั่วไปเท่านั้น แต่ยัง 'เตือน' เจ้าหน้าที่รัฐระดับมณฑล ระดับเมือง และระดับท้องถิ่น ว่าใครก็ตามที่จงใจปกปิดข้อมูลการระบาด จะต้องอับอายกับบาปที่ได้กระทำ และจะต้องถูกตรึงบนเสาแห่งความอับอายไปชั่วกัลป์

ข้อความที่สาปแช่งอย่างรุนแรงแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องปกติอย่างแน่นอน เรื่องนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ต้องย้อนหลังกลับไปเมื่อ 17 ปีก่อน ในวันที่จีน ยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง ไม่มีนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ ไม่มีโครงการ Belt and Road และไม่มี 'ทัวร์จีน' มากขนาดนี้

1

2 พฤศจิกายน ค.ศ.2002 มีผู้ติดโรคซาร์สเป็นคนแรก เป็นชาวนาที่เมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง ไม่ไกลจากชายแดนฮ่องกง หลังติดเชื้อ คนไข้เสียชีวิตในเวลาไม่นานนัก อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและโรงพยาบาลในกวางตุ้ง รู้ดีว่ากำลังเผชิญกับ 'โรคระบาด' ชนิดใหม่ เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนา ซึ่งทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง ผู้ป่วยมีไข้สูง รวมถึงมีอาการติดเชื้อที่ปอด และทางเดินหายใจ

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เลือกที่จะปิดข่าวการแพร่ระบาดของโรคร้ายโรคใหม่นี้ ด้วยเชื่อว่าอยู่ในวิสัยที่ภายในมณฑลจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ แม้จะไม่มีข้อมูลมากพอว่าเชื้อไวรัสนั้นมีลักษณะทางกายภาพอย่างไร แพร่ระบาดอย่างไร และจะรักษาด้วยวิธีไหน

หลังผ่านพ้นปีใหม่ ค.ศ.2003 มาไม่นาน โจว พ่อค้าปลา เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลซุนยัดเซ็น ในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ด้วยอาการไข้สูง แม้จะไม่มีการระบุชัดเจนว่าเขาป่วยด้วยโรคอะไร แต่โจวได้รับการขนานนามในภายหลังว่าเขาเป็น 'Super Spreader' หรือผู้ป่วยที่แพร่เชื้อต่อมหาศาล หลังจากโจว เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้น เขาได้แพร่เชื้อต่อไปยังหมอ - พยาบาล รวมอีก 30 คน

ในเวลานั้น รัฐบาลจีนเริ่มได้กลิ่นแล้วว่ามีการแพร่ระบาดทางตอนใต้ของประเทศ แต่ยังเชื่อเหมือนเดิมว่าจะเอาอยู่ และหากสร้างความหวาดวิตก ภายในหมู่คนจีน อาจกระทบกับเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้ง ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะโตมากกว่า 12.2%

2

แม้รัฐบาลจีนเลือกที่จะปิดข่าว แต่หน่วยงาน 'ข่าวกรอง' ด้านสุขภาพของแคนาดาได้กลิ่นผิดปกติบางอย่าง ปลายเดือนพฤศจิกายนหลังมีการรายงานการเสียชีวิตด้วยเหตุประหลาด แคนาดาได้แจ้งไปยังองค์การอนามัยโลกว่าอาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นที่เมืองกวางโจว องค์การอนามัยโลกขอข้อมูลซ้ำไปยังรัฐบาลจีน 2 ครั้ง ในวันที่ 5 ธันวาคม และ 11 ธันวาคม ​แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง

กว่าที่องค์การอนามัยโลกจะได้รับแจ้งจาก

รัฐบาลจีนอย่างเป็นทางการ ก็ปาเข้าไป 3 เดือน

หลังจากนั้น เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2003 หลังจากผ่านพ้นเทศกาลตรุษจีนไปเล็กน้อย จีนแจ้งว่ามีรายงานการติดเชื้อซาร์สกว่า 305 เคสในเมืองกวางโจว โดยในจำนวนนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อมากกว่า 105 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นการประเมินที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่ดี เพราะตัวเลขในมือพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อซาร์สนั้น มากกว่า 806 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 34 รายเข้าไปแล้ว และที่สำคัญก็คือจีนไม่สามารถจำกัดวงโรคซาร์สให้อยู่ในเมืองกวางโจวได้ แต่โรคนี้ ได้ข้ามแดนไปยังฮ่องกง แล้ว ไม่ใช่จากใครอื่น แต่มาจาก หลิว หมอที่รักษาพ่อค้าปลาในโรงพยาบาลที่เมืองกวางโจวนั่นเอง

3

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2003 หลิวเข้าเช็คอินที่โรงแรมแห่งหนึ่งบนฝั่งเกาลูน จากระบบป้องกันการติดเชื้อที่ต่ำของโรงแรมในเวลานั้น ทำให้แขกของโรงแรมอีกกว่า 23 คน ติดเชื้อซาร์สจากหลิว ก่อนที่เขาจะเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตในวันที่ 4 มี.ค. อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่า 80% ของผู้ติดเชื้อบนเกาะฮ่องกงนั้น มาจาก หลิว เพียงคนเดียว

ไม่เพียงเท่านั้น ยายของหลิว ซึ่งพักในโรงแรมเดียวกัน ยังพาเชื้อซาร์สข้ามทวีป ไปแพร่ต่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่โตรอนโต แคนาดา ส่วนเฉิน นักธุรกิจเชื้อสายจีน - อเมริกัน ซึ่งพักอยู่ห้องตรงข้ามหลิว ก็เดินทางต่อไปยังฮานอย ประเทศเวียดนาม และพาเชื้อซาร์ส ไปติดบุคลากรทางการแพทย์อีกกว่า 38 คน รวมถึง คาร์โล เออบานี (Carlo Urbani) ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านโรคติดต่อขององค์การอนามัยโลกชาวอิตาลี ซึ่งเป็นแพทย์ผู้รักษาเฉิน ก็ติดเชื้อนี้ด้วย

หมอคาร์โล กลายเป็นผู้ที่แจ้งข้อมูลอันมีค่าให้กับองค์การอนามัยโลก ให้ตื่นตัวกับโรคซาร์ส และแนะนำไปยังกระทรวงสาธารณสุขของเวียดนามให้ตั้งระบบคัดแยกแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเฉินในห้องกักกันโรค รวมถึงเซ็ตระบบคัดกรองผู้เดินทางจากฮ่องกง

แต่หลังจากนั้นไม่นาน หมอคาร์โลก็เสียชีวิตด้วยโรคซาร์ส โดยรู้ตัวว่าป่วยระหว่างอยู่บนไฟลท์บินระหว่างเวียดนาม – กรุงเทพฯ พร้อมกับนำตัวเอง แยกจากผู้โดยสารคนอื่นๆ ทันที ทันทีที่เครื่องลงที่สนามบินดอนเมือง เขาก็เข้าไปรักษาในห้องปลอดเชื้อ และเสียชีวิตหลังจากนั้นในเวลาไม่นาน

แขกที่เข้าพักในโรงแรมแห่งนี้อีกหลายคน ยังพาเอาเชื้อไปแพร่ที่ไต้หวันและสิงคโปร์ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่เชื้อซาร์ส ใน 2 ประเทศนี้ น่าเสียดายที่ช่วงเวลานั้น ทั่วโลกยังไม่รู้ว่าซาร์สคืออะไร และต้องรับมือกับโรคระบาดนี้อย่างไร เพราะจีนเพิ่งจะแจ้งองค์การอนามัยโลกล่วงหน้าไม่กี่วันก่อนหน้านั้นเอง…

ปัจจุบัน โรงแรมนี้ในฮ่องกง กลายเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ ต้นกำเนิดของการแพร่เชื้อซาร์สไปทั่วโลก แม้จะถูกเปลี่ยนมือเจ้าของ และเปลี่ยนชื่อไปแล้ว

แต่โรงแรมแห่งนี้ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ

มีแต่เลขห้องของหลิว ที่เปลี่ยนเป็นเลขห้อง จาก 911 เป็น 913 เท่านั้นเอง…

4

12 มีนาคม ค.ศ.2003 องค์การอนามัยโลก ประกาศว่ามีโรคทางเดินหายใจลึกลับไม่ทราบแหล่งกำเนิด ในเวียดนามและในฮ่องกง รวมถึงได้รับแจ้งว่าพบผู้ต้องสงสัยที่จะติดเชื้อทั้งในสิงคโปร์ จีน และแคนาดา ทั่วเอเชียเริ่มมีการ 'ตรวจไข้' ในสนามบิน ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยรัฐบาลไทย ได้เริ่มออกประกาศเตือนให้ 'เลี่ยง' การเดินทางไปยังจีน ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม และสิงคโปร์ ณ เวลานั้น ไทยเป็นประเทศที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเลยแม้แต่คนเดียว มีเพียงหมอคาร์โลเท่านั้น เป็นผู้เสียชีวิตรายเดียว

แต่สถานการณ์ทั่วโลก กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฮ่องกงกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อขนาดใหญ่ อพาร์ตเมนท์แห่งหนึ่งบนฝั่งเกาลูน มีผู้ติดเชื้อซาร์สรวมมากกว่า 321 ราย เมืองใหญ่ของจีนอย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ เริ่มพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากทั้งกวางโจว และจากฮ่องกง

ต้นเดือนเมษายน ค.ศ.2003 เจียง หยันหยง แพทย์ทหารและสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ให้สัมภาษณ์ Wall Street Journal ว่ามีการ 'ปิดข่าว' ครั้งมโหฬาร ทั้งการระบาดในปักกิ่ง และการระบาดทั่วจีน โดยเกี่ยวกันกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค รายงานของสื่อต่างชาติกลายเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้นายกเทศมนตรีปักกิ่งลาออกจากตำแหน่ง และ รมว.สาธารณสุขของจีน ต่างก็ลาออกในวันเดียวกัน รัฐบาลจีนเปลี่ยนทิศทางในการจัดการกับโรคซาร์สอย่างเปิดเผยและโปร่งใสมากขึ้น พร้อมกับสร้าง 'โรงพยาบาลสนาม' ขนาดใหญ่ที่กรุงปักกิ่ง เพื่อรองรับผู้ป่วยโดยใช้เวลาก่อสร้างเพียงไม่กี่สัปดาห์

แต่นั่นก็ดูเหมือนจะสายไปแล้วเพราะแต่ละวัน มีผู้เสียชีวิตด้วยไวรัสซาร์ส มากขึ้นมากกว่าวันละ 20 – 30 คน ทั่วโลก โดยสิ้นเดือนเมษายน ค.ศ.2003 มีผู้เสียชีวิตรวม 133 คน มีผู้ติดเชื้อกว่า 1,500 คน

5

เวลานั้น ไทยเป็นประเทศเดียวที่ยัง 'เอาอยู่' ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเปิดเวทีประชุมอาเซียนบวกจีนว่าด้วยการจัดการโรคซาร์ส ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีข้อสรุปว่าจะร่วมมือในระดับ 'รัฐบาล' ของแต่ละประเทศมากขึ้น รวมถึงคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าออกนอกประเทศอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่ให้ซาร์สแพร่ข้ามแดนอีก

เพราะในเวลานั้น 'ซาร์ส' เป็นโรคติดต่อข้ามแดนโรคแรกๆ ที่เกิดในภูมิภาค และมีสเกลผู้ป่วยหลักพันคนในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่คนข้ามพรมแดน ไปมาหาสู่กันง่ายๆ แน่นอน มาตรการจากซาร์สกลายเป็นรากฐานของการตรวจคัดกรองและกักกันโรค ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาไม่ว่าจะเป็นโรคอีโบล่า เมอร์ส และโคโรนาไวรัส 2019 ในเวลาต่อมา

พร้อมกันนั้น องค์การอนามัยโลก ยังส่งคนไป 'สำรวจ' ที่มา พร้อมกับร่าง 'ไกด์ไลน์' คร่าวๆ จนสามารถยุติการแพร่เชื้อได้ชะงักงัน 1 เดือนหลังจากนั้น หลังจากมีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 299 คน ฮ่องกงไม่พบผู้ติดเชื้อซาร์สรายใหม่ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่องค์การอนามัยโลก ประกาศว่าไม่มีผู้ติดเชื้ออีกต่อไป

ต้นปี ค.ศ. 2004 หลังจากคลื่นลมสงบ

มีการสรุป 'ตัวเลข'​ การระบาดของโรคซาร์ส

โดยจีนเป็นประเทศที่ 'เจ็บหนัก' ที่สุดคือมีผู้เสียชีวิตรวมมากกว่า 349 ราย มีผู้ป่วยรวมมากกว่า 5,328 ราย และทั้งหมดนี้ ฮ่องกงกลายเป็นพื้นที่ที่มีอัตราผู้เสียชีวิตสูงสุด คือมากถึง 17% จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนแคนาดานั้น มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 44 ราย คิดเป็น 18% ของจำนวนผู้ป่วย และสิงคโปร์มีผู้เสียชีวิต 33 ราย คิดเป็น 14% ของจำนวนผู้ป่วย เท่ากับไต้หวัน

เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่มาตรการควบคุมโรคของฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ต่อโคโรนาไวรัส 2019 จะ 'เข้ม' มากกว่าประเทศอื่น

ที่น่าสังเกตก็คือ ระยะเวลาที่การระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้าง และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในปริมาณเท่าตัวนั้น ล้วนเป็นช่วงเวลาให้หลังการ 'ปิดข่าว' จากรัฐบาลจีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ประเทศปลายทางไม่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้ถูกวิธี นำไปสู่การติดเชื้อเป็นวงกว้าง และกว่าจะจับทางทัน ไวรัสซาร์สก็กระจายไปทั่วโลก

ประวัติศาสตร์เมื่อ 17 ปีที่แล้ว จึงสอนพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า ไม่ควรทำแบบเดิมซ้ำอีก และหากจะทำผิดพลาดซ้ำด้วยการปล่อยไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วโลก ก็คงไม่มีประเทศไหน พร้อมที่จะให้อภัยอีกต่อไป…

อ้างอิงจาก

China’s response to the coronavirus shows what it learned from the Sars cover-up

In Pictures: Hong Kong during the 2003 SARS epidemic

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0