โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ช่องว่างรายได้ระหว่างชายและหญิง ที่ส่งผลต่อความเป็นแม่และเมีย และการ ‘เลือก’ ลาคลอดของพ่อ

HealthyLiving

อัพเดต 01 ส.ค. 2562 เวลา 16.41 น. • เผยแพร่ 01 ส.ค. 2562 เวลา 00.00 น. • Healthy Living
dont-worry-600x600 (1).jpg

Gender Pay Gap คือคำคำหนึ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตลอดประวัติศาสตร์ มันคือ ‘ช่องว่างรายได้’ ระหว่างเพศ
พูดง่ายๆ ก็คือ-โดยเปรียบเทียบ, ผู้หญิงมักจะมีรายได้ต่ำกว่าผู้ชายเสมอ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และทำท่าว่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไปในอนาคต
คำถามก็คือ-แล้วทำไมถึงเป็นแบบนี้?
หลายคนอาจคิดว่า การที่ผู้หญิงมีรายได้ต่ำกว่าผู้ชาย เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ กว่าผู้หญิงจะได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับผู้ชายก็เพิ่งเมื่อไม่นานมานี้เอง แม้แต่ผู้หญิงในอเมริกาก็ยังมีสิทธิเลือกตั้งหลังคนผิวสี และผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆ ก็มีจำนวนน้อยกว่าผู้ชายมาก ดังนั้น หลายคนจึงไม่แปลกใจเท่าไหร่ ที่ผู้หญิงจะมีรายได้น้อยกว่าผู้ชาย
แต่น้อยกว่าแค่ไหนเล่า?
เคยมีการศึกษาครั้งใหญ่เมื่อปี 2005 โดย Doris Weichselbaumer และ Rudolf Winter-Ebmer เป็นการศึกษารายได้ของคนจากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก พบว่ารายได้ของผู้หญิงและผู้ชายนั้น มีความแตกต่างกัน กล่าวคือในยุคหกศูนย์ ผู้หญิงโดยเฉลี่ยมีรายได้ต่ำกว่าผู้ชาย 65% และในยุคเก้าศูนย์ ผู้หญิงมีรายได้ต่ำกว่าผู้ชาย 30%
ในยุคหกศูนย์นั้น การจ่ายค่าจ้างให้ผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายถือเป็นเรื่องถูกกฎหมายนะครับ เพราะในสมัยก่อนโน้น บรรทัดฐานของสังคมมองว่าผู้หญิงมีความสามารถในการทำงานน้อยกว่าผู้ชาย ต่อให้เป็นงานแบบเดียวกัน ผู้ชายก็ทำงานมีประสิทธิภาพดีกว่า  แต่ความคิดแบบนี้ค่อยๆ เปลี่ยนไป เมื่อโลกเริ่มเห็นผู้หญิงก้าวขึ้นมารับตำแหน่งสำคัญๆ มากขึ้น
เมื่อสังคมเปลี่ยนไป เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากขึ้น ผู้หญิงก็เริ่มมีรายได้มากขึ้น จนในยุคเก้าศูนย์ ถ้าให้ผู้หญิงกับผู้ชายทำงานแบบเดียวกันในเวลาเท่ากัน ผู้หญิงจะมีรายได้ต่ำกว่าผู้ชายเหลือเพียงราวๆ หนึ่งในสาม และเมื่อก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ก็พบว่าผู้หญิงที่เรียนจบมหาวิทยาลัยในอเมริกา เริ่มมีรายได้สูงกว่าผู้ชายเป็นครั้งแรก และ Gender Pay Gap ก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ แต่เมื่อดูแนวโน้มโดยรวมของทั้งโลกแล้ว ผู้หญิงทั่วไป (ไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงเท่านั้น) ก็ยังมีรายได้ต่ำกว่าผู้ชายอยู่ดี
ไม่น่าเชื่อ-ว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันกับความเป็น ‘แม่’ และ ‘เมีย’ อย่างที่เราอาจคิดไม่ถึงด้วย
ถ้าเราเปรียบเทียบผู้หญิงกับผู้ชายที่เริ่มทำงานพร้อมๆ กัน งานเหมือนๆ กัน มีชีวิตคล้ายๆ กัน คือยังโสด ไม่ได้มีครอบครัวอะไร พบว่าแม้จะยังมีช่องว่างรายได้ระหว่างเพศอยู่ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่ เพราะแวดวงการทำงานสมัยนี้ไม่ได้แบ่งแยกเพศหรือคิดว่าผู้ชายทำงานมีประสิทธิภาพสูงกว่าผู้หญิงเหมือนในยุคหกศูนย์แล้ว
แต่กระนั้น พบว่า ‘ช่องว่าง’ ทางรายได้ระหว่างเพศจะเริ่มถ่างกว้างออกทันที เมื่อผู้หญิงแต่งงานและมีลูก
เคยมีการศึกษาเรื่อง The Parental Gender Earnings Gap in the United States โดย U.S. Census Bureau พบว่าเมื่อมีการแต่งงานเกิดขึ้น โดยอัตโนมัติ (แม้กระทั่งในสังคมสมัยใหม่) ผู้หญิงถูกคาดหมาย (และกระทั่งคาดหมายตัวเอง) ให้ต้องดูแลบ้าน ผู้หญิงส่วนใหญ่จึงแบ่งเวลาในการทำงานมาดูแลบ้านช่องห้องหับมากกว่าผู้ชาย เมื่อมีเวลาทำงานน้อยลง รายได้ของผู้หญิงจึงน้อยกว่าผู้ชายไปด้วย ตัวเลขจากการศึกษาที่ว่านี้ บอกว่าผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว จะมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายเฉลี่ย 12,600 เหรียญต่อปี
แต่เมื่อผู้หญิงมีลูก ตัวเลขนี้ยิ่งพุ่งสูงขึ้นกลายเป็น 25,100 เหรียญต่อปี แสดงให้เห็นว่า สาเหตุหลักอย่างหนึ่งของ Gender Pay Gap ก็คือการที่ผู้หญิงใช้เวลาในการดูแลลูกมากกว่าผู้ชาย และ ‘เวลา’ ที่คนเรามีเท่ากันนี้เอง ที่กลายเป็นตัวร้ายอยู่เบื้องหลังช่องว่างทางรายได้ที่ว่า เพราะทันทีที่ลูกเกิดมา ผู้เป็นแม่ก็ ‘ถูก’ คาดหมายว่าจะต้องให้เวลาดูแลลูกไปโดยปริยาย
มีการศึกษาในปี 2013 โดย Pew Research Center พบว่าคนที่เป็นแม่จะใช้เวลาดูแลลูกเฉลี่ยสัปดาห์ละ 10.7 ชั่วโมง และแม้พ่อในปัจจุบันจะใช้เวลาดูแลลูกเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตแล้ว แต่พ่อก็ยังใช้เวลาดังกล่าวเพียง 7.2 ชั่วโมง และพบว่าคนที่เป็นแม่ราว 42% ยอมลดเวลาทำงานลงเพื่อจะมาดูแลลูก ในขณะที่ผู้เป็นพ่อมีเพียง 28% เท่านั้นที่ยอมทำแบบเดียวกัน
หลายประเทศมีกฎหมาย ‘ลาคลอด’ ที่ยาวนาน เช่น นานถึงสามเดือนหรือกว่านั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เป็นแม่ได้ทำหน้าที่ ‘แม่’ ได้เต็มที่ แต่คำถามก็คือ-เพียงแค่นั้นช่วยลดช่องว่างของ Gender Pay Gap ได้มากน้อยแค่ไหน
ฮิลลารี่ คลินตัน เคยบอกว่า-ถ้าผู้ชายเอารูปครอบครัวและลูกๆ มาติดไว้ในห้องทำงาน ผู้คนจะชื่นชมว่าเขาช่างเป็นคนรักครอบครัวเหลือเกิน แต่กลับกัน, ถ้าผู้หญิงเอารูปครอบครัวและรูปลูกๆ มาติดไว้ในที่ทำงาน มักกลับเป็นผลเสีย เพราะผู้คนจะสงสัยว่า-เธอห่วงลูกห่วงครอบครัวมากกว่าห่วงงานหรือเปล่า
นี่คือทัศนคติและอคติที่กลายมาเป็นฐานที่มองไม่เห็น ก่อให้เกิดช่องว่างรายได้ระหว่างเพศขึ้น
ในบางประเทศ (เช่นประเทศในแถบนอร์ดิก) และในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา มีแนวคิดที่ ‘แหวกแนว’ อยู่ไม่น้อย นั่นคือใช้วิธีสนับสนุนเชิงบวกอีกแบบหนึ่ง นั่นคือแทนที่จะพยายามผลักดันให้ผู้หญิงลดเวลาในการดูแลลูกหรือดูแลบ้านลง (ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากบรรทัดฐานและกระทั่งรากทางวัฒนธรรมของหลายที่ในเรื่องนี้แข็งแรงมาก) กลับเลยผลักดันให้ ‘ผู้ชาย’ มี ‘เวลา’ มากพอที่จะเข้าไปช่วยผู้หญิงได้
ถ้าผู้หญิงมีการ ‘ลาคลอด’ ได้นานๆ ผู้ชายก็ควรได้ ‘ลาคลอดเพื่อเป็นพ่อ’ (Paternity Leave) เท่าเทียมกับผู้หญิงด้วย
ฟังเผินๆ เหมือนเป็นการเพิ่มสิทธิอำนาจให้ผู้ชายมากขึ้น แต่ที่จริงมีการศึกษาพบว่า ผู้ชายจำนวนมากไม่ค่อยอยากลาไปดูแลลูกสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะถ้าการลานั้นทำให้รายได้ลดลง และ ‘โอกาส’ ที่จะก้าวหน้าในหน้าที่การงานมีน้อยลง มีการศึกษารพบว่า ผู้ชายมากถึง 86% บอกว่า ถึงลาได้ก็ไม่ลาหรอก ถ้าหากว่าไม่ได้ค่าจ้างอย่างน้อย 70% ของที่เคยได้ และมีถึงราว 45% ที่บอกด้วยว่าต้องได้ค่าจ้าง 100% เต็ม
ในไอซ์แลนด์และประเทศในแถบนอร์ดิก Paternity Leave เป็นเรื่องที่มอบให้กับพ่อทัดเทียมกับแม่ คือลาหยุดได้ 3 เดือนเท่ากัน โดยได้ค่าจ้างเต็มเวลา โดยส่วนใหญ่แล้ว การลานี้สามารถผลัดกันได้ แปลว่าจะมีคนดูแลลูกต่อเนื่องได้นานถึงหกเดือน ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลลดช่องว่างรายได้ระหว่างเพศลง จนทำให้ประเทศอย่างไอซ์แลนด์ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความไม่เสมอภาคระหว่างเพศต่ำที่สุด
จะเห็นได้ว่า การมี ‘ชีวิตที่ดี’ เช่นการคิดถึงช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศและพยายามลดช่องว่างนั้น แท้จริงแล้วเป็นเรื่องซับซ้อน แต่หากได้นั่งลงหาสาเหตุและวิธีแก้ปัญหาอย่างถ่องแท้ สุดท้ายเราอาจหาข้อสรุปเป็นวิธีแก้ปัญหา ‘เชิงบวก’ ขึ้นมาได้
ในไทยก็มีกฎหมายลาคลอดของพ่อออกมาแล้วเหมือนกัน แต่คำถามที่น่าถามและน่าศึกษาก็คือ มีผู้เป็นพ่อมากน้อยแค่ไหนที่ใช้สิทธิลานี้ และมีพ่อมากน้อยแค่ไหนที่ลาแล้วไปดูแลลูกจริงๆ เพื่อแบ่งเบาภาระที่ว่าจากผู้หญิง
การแก้ปัญหาวิธีนี้ได้ผลดีในวัฒนธรรมตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคระหว่างเพศมากกว่าที่อื่นๆ
แต่เราไม่อาจคาดเดาได้เลยว่า ในที่ซึ่งฐานทางวัฒนธรรมแตกต่างกัน-ผลลัพธ์ของวิธีการเดียวกันจะเป็นอย่างไร 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0