โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ช่วงชีวิตหนักอึ้ง “นาวิน ต้าร์” เผยหมดใจถึงการสู้กับ โรคซึมเศร้า

Praew.com

อัพเดต 20 ม.ค. 2563 เวลา 05.11 น. • เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 01.00 น. • Praew

ไอดอล ความคาดหวัง แรงกดดัน  คือคำ 3 คำ ที่อธิบายเรื่องราวการผจญกับ โรคซึมเศร้า ของ นาวิน ต้าร์ – นาวิน เยาวพลกุล ได้ดีที่สุด

หลายปีที่ผ่านมา ชื่อของ “นาวิน ต้าร์” เป็นชื่อที่หลายคนให้ความสนใจ ในฐานะศิลปินยุค 90s ผู้มีใบหน้าหล่อเหลา ละลายใจสาวๆ ทั่วบ้านทั่วเมือง

อีกทั้งยังขึ้นแท่นเป็นไอดอลด้านการศึกษา จากการเรียนจบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หลังจากนั้นยังสามารถคว้าทุนอานันทมหิดลไปเรียนต่อต่างประเทศ จนกลายเป็นด็อกเตอร์แห่งวงการบันเทิงไทย กระทั่งเป็นอาจารย์หนุ่มสุดฮ็อตที่สาวๆ ปรารถนาอยากเรียนด้วยมากที่สุด

แน่นอนว่าทุกคนรู้จักชื่อเสียงของผู้ชายคนนี้เป็นอย่างดี แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าความสมบูรณ์แบบที่ฉาบเบื้องหน้าเอาไว้  แท้จริงแล้วต้องแลกมาด้วยประสบการณ์ที่หนักหนาสาหัส ด้วยการต่อสู้กับ โรคซึมเศร้า ในช่วงชีวิตหนึ่ง ซึ่งเขายินดีที่จะเผยให้ผู้อ่าน แพรวดอทคอม ได้ทราบกันหลังจากบรรทัดนี้

โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า

จะว่าไปชีวิตของคุณก็เรียกได้ว่าเพอร์เฟ็กต์เอามากๆ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คุณป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้คะ

สาเหตุหลักคือผมมีความกดดันสูงมาก จากความคาดหวังของคนรอบตัว ที่มองว่าเป็นนาวิน ต้าร์ แล้วจะล้มไม่ได้ ซึ่งทำให้เรารู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะผมไม่ได้เป็นเด็กเรียนดีมาตั้งแต่แรก แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยดันสอบได้ที่หนึ่งตลอด ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลงคิดว่าตัวเองเก่ง รวมถึงคนอื่นก็คิดแบบนั้นด้วย

แต่จริงๆ แล้วผมยังมีอีกด้านที่ไม่ได้เป็นแบบนั้น ซึ่งกรีดร้องอยู่ในใจตลอดเวลา คือผมเป็นคนที่มี 2 ด้าน อย่างที่เห็นกันคือด้านหนึ่งเป็นเด็กเรียน อีกด้านหนึ่งเป็นนักร้องที่มีความสนุก ความครีเอทีฟ ความรักอิสระ ความเป็นศิลปิน ซึ่งเป็นด้านที่เราละเลยไปในช่วงเวลานั้น จนมาถึงจุดหนึ่งก็กลายเป็นสัญญาณเตือนให้เรารู้ว่าไม่ไหวแล้ว

เกิดอะไรขึ้นคะ

อย่างที่หลายคนทราบกันว่าผมได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ซึ่งเป็นทุนที่มีคุณค่ามาก และทำให้ผมรู้สึกว่าจะเรียนไม่จบไม่ได้เด็ดขาด แต่กลายเป็นว่าทำวิทยานิพนธ์สำหรับจบปริญญาเอกอย่างไรก็ไม่ผ่านสักที

ตอนนั้นยอมรับเลยว่าเครียดมาก ในขณะเดียวกันที่เมืองไทยก็มีข่าวเกี่ยวกับผมออกมาว่าทำไมยังเรียนไม่จบ ถึงกับมีคำพูดว่าผมได้ทุนเพราะฟลุกหรือเปล่า เพราะชื่อเสียงหรือเปล่า เรียนไม่จบสักทีแบบนี้ รับทุนไปก็เปลืองเปล่าๆ ตัดโอกาสคนอื่น ซึ่งถ้าพูดถึงไซเบอร์บูลลี่ ผมน่าจะเป็นคนแรกๆ เลยที่เจอ

คำพูดเหล่านี้ นอกจากจะเป็นแรงกดดันแล้ว ยังทำลายความมั่นใจของผมอีกด้วย ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นอาจปล่อยวางได้ แต่ผมเป็นคนที่เก็บมาคิด แบกไว้ทุกอย่าง ความคิดที่ว่า ฉันคือความหวังของคนทั้งประเทศ ฉันต้องไปทำหน้าที่นี้เพื่อประเทศชาติ ฉันพลาดไม่ได้ จึงวนอยู่ในหัวตลอดเวลา

แล้วส่งผลออกมาอย่างไรคะ

ปกติผมเป็นคนที่ไม่ค่อยพูดกับใครอยู่แล้ว พอมีอาการผมยิ่งเก็บตัว ช่วงที่หนักที่สุด ผมไม่คุยกับใครเลย 3 เดือน ไม่เจอใคร ไม่รับโทรศัพท์ ถึงขั้นไม่อยากให้ใครมาหา ไม่อยากให้ใครมายุ่ง เรียกว่าปฏิเสธการติดต่อทุกช่องทาง กลายเป็นคนปฏิเสธสังคมไปเลย

โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า

จะว่าไปคุณก็ไม่ใช่คนที่ขาดความรัก ทำไมถึงไม่ร้องขอให้คนที่รักช่วยเหลือล่ะคะ

ตอนนั้นเรื่องความรักคือมองไม่เห็นเลย แม้กระทั่งความรักจากคนที่รักเราอย่างพ่อแม่ ผมก็หาวิธีจัดการไม่ถูก จึงเลือกที่จะไม่ยอมรับโทรศัพท์เขา ส่วนความรักกับคนรักก็เช่นกัน ที่สุดก็ไปต่อไม่ได้ ต้องเลิกกัน

อาการตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้างคะ

อาการของผมคือไม่นอนเลย จึงต้องหาโน่นนี่ทำฆ่าเวลาไปเรื่อยๆ เช่น อ่านหนังสือจบเป็นเล่มๆ เล่นเกมได้วันละ 15 ชั่วโมง รู้สึกไฮแอ็คทีฟอยู่ตลอดเวลา ถามว่าร่างกายเหนื่อยล้าไหม ก็เหนื่อยนะ แต่ไม่รู้สึกเศร้า ตรงข้ามกลับสบายใจมากกว่า เพราะเหมือนกับว่าใจเราได้ไปอยู่ที่อื่น

แต่ตอนนั้นไม่คิดหรอกว่าตัวเองป่วย สมองเลยยังบอกกับตัวเองว่าถ้าจัดการตัวเองได้เมื่อไหร่ก็จะออกไปเอง อารมณ์เดียวกับการที่ไม่ยอมส่งการบ้าน เพราะคิดว่ายังทำได้ไม่ดีพอ

แล้วอะไรคะที่ทำให้รู้ตัว

พ่อพาไปหาหมอครับ หลังจากที่ตัดขาดสังคมไป 3 เดือน อยู่มาวันหนึ่งพ่อก็บินจากเมืองไทยมาเคาะประตูอพาร์ทเม้นท์ ซึ่งถ้าพ่อไม่มาเคาะประตูในวันนั้น ผมก็อาจจะไม่ได้มานั่งอยู่ตรงนี้แล้ว

แม้ตอนนั้นจะยังรู้สึกไม่อยากคุยกับใครก็ตาม แต่พ่อมาถึงแล้วทั้งคนก็ต้องพูดหน่อยแหละ ซึ่งพอได้คุยกันก็รู้สึกดีขึ้นบ้าง แม้จะยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ และพ่อนี่แหละที่ชวนให้ไปหาหมอด้วยกัน ผลคือในใบตรวจระบุว่าผมป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

พอได้หาหมอแล้วอาการดีขึ้นไหมคะ

พอไปหาหมอก็ได้กินยา ซึ่งยาช่วยให้อาการดีขึ้นประมาณหนึ่ง หลังจากนั้นผมตัดสินใจกลับเมืองไทย ซึ่งช่วยได้มาก เพราะพอกลับมาแล้วก็ได้เชื่อมต่อกับสังคม ได้หากิจกรรมที่ช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นทำ เช่น ปั่นจักรยาน เล่นกีฬา ออกกำลังกาย บวกกับพอได้ทำร่วมกับคนกลุ่มใหม่ๆ ด้วย ทั้งหมดนี้ช่วยทำให้ดึงความรู้สึกของเราขึ้นมาได้

ผมกลับมาอยู่เมืองไทยได้หนึ่งปี ก็รู้สึกว่าอาการป่วยของตัวเองดีขึ้น เริ่มมองเห็นเป้าหมายของตัวเองชัดขึ้น จึงตัดสินใจบินกลับไปทำวิทยานิพนธ์ต่อ โดยครั้งนี้ผมสามารถทำเสร็จภายในปีเดียว ขนาดโปรเฟสเซอร์ยังแปลกใจ เพราะคิดว่าผมจะไม่กลับไปแล้วเสียอีก

โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า

คุณได้เรียนรู้อะไรจากวิทยานิพนธ์เวอร์ชั่นที่ผ่านกับไม่ผ่านบ้างคะ

พอกลับไปดูวิทยานิพนธ์ที่ส่งไปในแต่ละครั้ง ก็ทำให้เห็นถึงการเดินทางของความคิดของผมนะ เพราะตั้งแต่เวอร์ชั่นแรกจนถึงเวอร์ชั่นสุดท้าย สะท้อนให้เห็นว่าการคิดทุกอย่างให้เป็นเรื่องง่ายนั้นดีที่สุด

อย่างวิทยานิพนธ์ที่ไม่ผ่าน จริงๆ แล้วก็ดีมากนะ แต่เป็นวิทยานิพนธ์ที่พออ่านแล้ว กลับไม่มีใครเข้าใจเลย จำได้ว่าวิทยานิพนธ์ฉบับนั้นมี 30 หน้า 280 สมการ ซึ่งเยอะและยาก แต่ความซับซ้อนนั้นกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่า เพราะไม่มีใครเข้าใจ สุดท้ายแล้ววิทยานิพนธ์ฉบับไฟนอลที่ทำให้ผมเรียนจบ มีสมการอยู่แค่ 3 สมการเท่านั้น ที่เหลือเป็นการอธิบายหมดเลย

ย้อนกลับไปที่บอกว่าคุณมี 2 ด้าน ถึงตอนนี้บอกตัวเองได้หรือยังคะว่าชอบด้านไหนมากกว่ากัน

ช่วงที่สับสน ผมเคยคิดถึงขั้นที่ถามตัวเองว่า ทุกวันนี้เราได้อยู่ในสถานะที่สามารถทำตามศักยภาพของตัวเองได้ดีที่สุดแล้วหรือยัง เราเสียโอกาสอะไรไปบ้างไหม แต่มาถึงวันนี้ผมเข้าใจแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องเก็บมาคิดมาก ควรภูมิใจกับตัวเองในทุกๆ เรื่องจะดีกว่า แล้วทำทุกอย่างให้ดีที่สุด

ถึงวันนี้คุณมีมุมมองเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอย่างไรบ้าง

ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าไม่เหมือนกับความเศร้าโศกนะ เพราะความเศร้าสามารถหายไปได้เมื่อมีเรื่องดีๆ เข้ามา เราสามารถหยุดความเศร้าโศก ความเสียใจได้ แต่โรคซึมเศร้าเป็นอาการที่เราไม่สามารถหยุดความเศร้าได้ แม้ภายในใจจะอยากหยุดมันมากแค่ไหนก็ตาม

นั่นก็เพราะเราไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ และถึงแม้ว่าผมจะผ่านมันมาได้แล้ว แต่ผมก็ยังมองว่าโรคนี้ไม่เคยปราณีใคร ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ ซึ่งตอนนี้ผมอยู่ในสถานะที่เรียกว่ารู้เท่าทัน และไม่อยากกลับไปอยู่ในจุดนั้นอีก

การรู้เท่าทันของผมเป็นเหมือนภูมิคุ้มกัน ส่วนครอบครัวเป็นเหมือนเกราะที่คอยป้องกันไม่ให้ผมหลงเดินเข้าไป และอีกอย่างที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากโรคซึมเศร้าได้ ก็คือการปรับมายด์เซ็ตใหม่ เปลี่ยนสังคมใหม่ พบเจอผู้คนใหม่ๆ ซึ่งถ้าถามว่าคนที่เคยเป็นแล้ว จะมีโอกาสกลับไปเป็นอีกได้ไหม ก็ขอตอบเลยว่าได้ ดังนั้นเราจึงควรเรียนรู้วิธีระมัดระวัง และรู้เท่าทันโรคนี้

โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า

ตอนนี้เป็นคุณพ่อแล้ว คิดว่าจะนำประสบการณ์นี้ไปสอนลูกไหมคะ

สิ่งสำคัญเลยคือผมจะสอนให้ลูกรู้จักคำว่า “แพ้” สอนให้เขาแพ้ให้เป็น อยากให้เขาเข้าใจว่าทุกคนมีโอกาสแพ้ได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามในชีวิต และผมจะแพ้ต่อหน้าลูกเลยด้วย เพราะการเป็นพ่อหรือการเป็นผู้ใหญ่ ไม่จำเป็นต้องชนะเด็กเสมอไป ซึ่งผมเชื่อว่าจะช่วยให้ลูกเข้าใจคำว่า “น้ำใจนักกีฬา” ได้ดีขึ้นด้วย

เป็นการสอนให้เขารู้จักกับความผิดหวังด้วยหรือเปล่าคะ

ผมอยากให้เขารู้จักทั้ง 2 ด้านเลยนะ ทั้งความสมหวังและความผิดหวัง เพราะบางครั้งความสมหวังก็อาจไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงเสมอไป รวมถึงแก้วแหวนเงินทองก็อาจไม่ใช่ความสุขของชีวิต ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับการปลูกฝังความคิดที่มีคุณภาพให้กับเขามากกว่า เพื่อให้เขามีทัศนคติที่ดี มีสุขภาพจิตที่แข็งแรง และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

ถึงบรรทัดนี้ แพรวดอทคอม เชื่อว่าประสบการณ์ในการก้าวข้ามโรคซึมเศร้าของผู้ชายคนนี้ น่าจะเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้กับหลายๆ คนได้ โดยเฉพาะคนที่กำลังเผชิญทุกข์กับโรคนี้อยู่ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนรอบข้างก็ตาม

ส่วนใครที่คิดถึงผลงานของเขา ก็สามารถติดตามผลงานล่าสุดกันได้เลยในละครเรื่อง “ทะเลแปร” ซึ่งออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 22.00 น. ทาง AMARIN TV HD ช่อง 34

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียง : อรจิรา ยิ้มอยู่

ภาพ : จักรพงษ์ นุตาลัย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0