โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ช็อปปิ้งเดือดวัน "ไพรมเดย์" มหกรรมเซลย้ายสู่โลกออนไลน์

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 21 ก.ค. 2561 เวลา 13.50 น.
for02230761p1

มหกรรมลดราคา “ไพรมเดย์” แบบ 36 ชั่วโมง บนเว็บไซต์อเมซอนจบลงไป โดยมีทั้งคนสุขใจ สมหวัง ตลอดจนศร้าใจ หัวเสีย

“อเมซอน ไพรมเดย์” คือ มหกรรมลดราคาบนโลกออนไลน์ตั้งแต่เที่ยงวันวันที่ 16 ก.ค. ลากยาวต่อเนื่องวันครึ่ง ที่เจ้าพ่อ “เจฟฟ์ เบซอส” ซีอีโออเมซอน ที่กลายเป็นผู้ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ภายหลังจากไพรมเดย์จบลงด้วยยอดขายน่าประทับใจ โดยที่เบซอสเคลมว่า ลดเยอะ ลดแหลก โดยเฉพาะสินค้าจากแบรนด์ดังทุกประเภท

กระแสการจัดมหกรรมลดราคาจนโลกออนไลน์แตกแบบนี้ เราได้เห็นกันบ่อยขึ้น และกลายเป็นวาระระดับชาติในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะไม่ใช่อเมซอนเท่านั้น แต่ “อาลีบาบา” ยักษ์อีคอมเมิร์ซแห่งแดนมังกร ก็มีการจัดลดราคาวันคนโสด 11.11 ที่ทำเงินสะพัดนับล้านล้าน รวมถึงอีกหลายแพลตฟอร์มก็จัดมหกรรมลดราคาในวันเดียวกับของอาลีบาบา ไม่ว่าจะเป็น ลาซาด้า หรือ ช้อปปี้ ก็ตาม

ศึกลดราคาบนออนไลน์กลายเป็นตลาดที่ดุเดือดมากกว่าโลกออฟไลน์ มหกรรมเซลในห้างสรรพสินค้าไม่ดึงดูดใจเหมือนก่อนที่เรียกได้ว่าห้างแตก เพราะผู้บริโภคให้เหตุผลว่า โลกออนไลน์ทั้งสะดวกสบาย มีของให้เลือกมหาศาล ในราคาที่ถูกกว่าในห้าง เพราะผู้ขายตัดต้นทุนไปหลายอย่าง

สำหรับ “ไพรมเดย์” ปีนี้ถือว่าจัดยิ่งใหญ่ แม้ทางอเมซอนไม่เปิดเผยรายได้ แต่มีการคาดการณ์ว่าผู้บริโภคจะช็อปมากถึง 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยแถลงการณ์จากอเมซอนเมื่อวันพุธที่ผ่านมาระบุเพียงว่า ไพรมเดย์ปีนี้ใหญ่กว่า ทั้งงานไซเบอร์มันเดย์, แบล็กฟรายเดย์ รวมถึงไพรมเดย์ปีก่อน ๆ ด้วยจำนวนสินค้ากว่า 100 ล้านชิ้นที่จำหน่ายออกไป

หลายแบรนด์ร่วมใจปล่อยหมัดเด็ด ลดเกินห้ามใจ เช่น พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (P&G) ลด 25% อันเดอร์อาเมอร์ (Under Armour) ลด 40%

ขณะที่ผู้ค้ารายย่อยในอเมซอนนับล้านรายก็ได้อานิสงส์ไปด้วย โดยสามารถทำยอดขายรวมกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ระหว่างช่วงโปรโมชั่น

ไพรมเดย์ปีนี้ยังทำให้เห็นถึงโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เข้มแข็ง รวมถึงหลายปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรมของการขายบนโลกออนไลน์

“บูมเมอแรงคอมเมิร์ซ” ผู้ให้คำปรึกษาการวางกลยุทธ์การขายบนโลกออนไลน์ ให้ความเห็นกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า “การที่อเมซอนและแบรนด์ดังของโลกจับมือกันวางขายสินค้าลดราคา ถือเป็น “จุดแข็ง” ของไพรมเดย์ ซึ่งตัวแบรนด์เองก็ได้ประโยชน์ในการก้าวขารุกสู่โลกอีคอมเมิร์ซมากขึ้น”

ด้านอเมซอนก็ชัดเจนว่ายอดขายสินค้าและลูกค้าที่มากขึ้น ทั้งระบุว่าในวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกชั้นดี หรือ “ไพรมเมมเบอร์ชิป” มากกว่าวันไหน ๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่งโดยปกติแล้ว อเมซอนมีไพรมเมมเบอร์กว่าล้านคนทั่วโลกที่แอ็กทีฟอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไพรมเมมเบอร์เท่านั้นมีสิทธิ์ซื้อสินค้าวันไพรมเดย์

นักการตลาดทั่วโลกมองว่า นอกจากค่าสมาชิกไพรมเมมเบอร์แล้ว อีกหนึ่งรายได้หลักในวันไพรมเดย์ของอเมซอน คือ “การขายโฆษณา”

“เจเรมี ฮูลล์” รองประธานบริษัท IProspect บริษัทดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งระบุว่า มีการเปิดประมูล “คีย์เวิร์ดการเสิร์ช” ซึ่งจะทำให้แบรนด์นั้นเด้งขึ้นมาอันดับแรก เมื่อไพรมเมมเบอร์ค้นหาสินค้าเกี่ยวข้อง หลายแบรนด์เลือกจ่ายค่าโฆษณาให้อเมซอน เพื่อให้ขึ้นมาเป็นตัวเลือกบนหน้าเว็บไซต์อันดับแรก ๆ ทำให้หลายแบรนด์มีการจ่ายเงินค่าโฆษณามากขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงปกติ

อย่างไรก็ตาม หลายชั่วโมงแรกของการจัดแคมเปญลดราคา อเมซอนเกิดปัญหาเว็บล่ม ทั้งเข้าเว็บไม่ได้ ตลอดจนลูกค้าเพิ่มสินค้าเข้าไปในตะกร้าช็อปปิ้งไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า อาจจะเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ด้วย “บอต” ที่ถูกส่งมาป่วน ทำให้การไหลเวียนข้อมูลติดขัด เพราะบางทีบอตเข้ามาใช้งานเว็บมากถึง 75% โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ค้าย้ายไปขายช่องทางอื่นแทน หรือเป็นบอตที่เข้ามาระงับคลังสินค้าบนสต๊อกของอเมซอน ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องที่เจอได้บ่อยเมื่อเว็บไซต์ใหญ่ ๆ จัดงานลดราคา

อีกหนึ่งปัญหาที่อเมซอนเผชิญ คือ พนักงานคลังสินค้าในเยอรมนี โปแลนด์ และสเปน ประท้วงหยุดงานในวันที่เริ่มไพรมเดย์ เนื่องจากไม่พอใจสัญญาจ้าง โดยมองว่า เจ้าของอเมซอนร่ำรวยขึ้นจากการทำลายสุขภาพของพวกเขา ขณะที่อเมซอนระบุว่า ได้ลงทุนกว่า 15,000 ล้านยูโรทั่วยุโรป และสร้างงานประจำกว่า 65,000 ตำแหน่ง นับตั้งแต่ 2010 เป็นต้นมา โดยยืนยันว่าพนักงานทำงานในที่ที่ปลอดภัย ด้วยค่าแรงที่แข่งขันได้ ตั้งแต่วันแรกที่อเมซอนรุกยุโรป

การเซลล์ปีนี้ เพิ่มเวลาจากปีก่อน 6 ชั่วโมง และขยายการขายเพิ่มใน 4 ประเทศ ทำให้พนักงานไม่พอใจเพราะทำงานเพิ่มขึ้น แม้ว่าอเมซอนจะปฏิเสธว่าจ่ายค่าแรงอย่างเป็นธรรมแล้วก็ตาม โดยพนักงานประจำได้มากถึง 12.22 ยูโรต่อชั่วโมง

ขณะที่เทรนด์ช็อปปิ้งบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในวันลดราคา คงยังมาแรงฉุดไม่อยู่ไปอีกนาน ซึ่งทางอเมซอนก็คงต้องปรับวิธีการทำงาน เพื่อหาจุดพอใจสำหรับทุกฝ่าย เว็บไซต์ Statistic คาดการณ์ว่า ยอดขายอีคอมเมิร์ซปี 2018 ทั่วโลก จะสะพัดอยู่ที่ 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนจะพุ่งขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2021 ที่ 4.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0