โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ชูวิทย์" นอนเรือนจำยาว วืดประกันคดีซุกหุ้น ปกปิดทรัพย์สิน

คมชัดลึกออนไลน์ - ข่าวทั่วไป

เผยแพร่ 21 มิ.ย. 2561 เวลา 10.16 น.

21 มิ.ย.61 - ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 13.00 น. "องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน" นัดพิจารณาคดีครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การรับหรือปฏิเสธ ในคดีหมายเลขดำ อม.26/2561 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ร้อง ยื่นขอให้วินิจฉัย "นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์" อายุ 56 ปี อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ผู้ถูกกล่าวหา ในความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 34 , 119 และขอให้สั่งห้ามผู้ถูกล่าวหาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ซึ่งกรณียื่นบัญชีหรือเอกสารประกอบอันเป็นเท็จนั้น สืบเนื่องจาก ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบทรัพย์สิน กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 2 ส.ค.54 และเมื่อพ้นตำแหน่ง ส.ส.1 ปี วันที่ 8 ธ.ค.57 โดยมีมูลอันควรเชื่อได้ว่า นายชูวิทย์มีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน และจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินร่วมลงทุนภัตตาคารแห่งหนึ่ง มูลค่า 150,000 บาท โดย ป.ป.ช. ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา

โดยวันนี้ "ป.ป.ช." ผู้ร้อง เดินทางมาศาลตามกระบวนการ ส่วน "นายชูวิทย์" ผู้ถูกกล่าวหา เดินทางมาศาล เพียงคนเดียว ไม่มีทนายความ

ทั้งนี้เมื่อถึงเวลานัด องค์คณะฯ ได้อ่านและอธิบายคำร้องของ ป.ป.ช. ให้ "นายชูวิทย์" ผู้ถูกกล่าวหาฟังแล้ว

"นายชูวิทย์" แถลงขอให้การรับสารภาพ พร้อมแถลงเพิ่มเติมว่า ไม่ได้เจตนาที่จะปกปิดบัญชีทรัพย์สินซึ่งร่วมลงทุนกับภัตตาคาร จำนวน 150,000 บาท เนื่องจากมีทรัพย์สินจำนวนมากและได้รายงานอาคาร สถานที่ประกอบกิจการของภัตตาคาร ให้ ป.ป.ช.ทราบแล้ว

ส่วนมูลค่าหุ้นร่วมลงทุนที่ไม่ได้รายงานนั้น คิดว่าผู้ที่ทำบันทึกทรัพย์ให้ตนคงจะตกหล่น ไม่ได้บันทึกรายการดังกล่าวไว้ ประกอบกับในปี 2546 ตนได้โอนหุ้นที่ร่วมทุนกับภัตตาคารดังกล่าวให้กับพนักงานสถานบริการไฮคลาสเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด 2 รายเป็นผู้ถือหุ้นแทน เนื่องจากการขอใบอนุญาตสถานประกอบการ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมให้ใช้ชื่อตนเป็นผู้ประกอบการ ตนจึงให้บุคคลทั้งสองถือหุ้นแทน อีกทั้งหุ้นของภัตตาคารดังกล่าวไม่มีรายได้ จึงเข้าใจว่าไม่ต้องรายงานทรัพย์สินดังกล่าวแก่ ป.ป.ช.

และที่ผ่านมาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองปี 2548 ก็ไม่เคยรายงานทรัพย์สินดังกล่าว ดังนั้นขอให้ศาลนำคำแถลงการรับสารภาพของตนประกอบการใช้ดุลยพินิจพิจารณาโทษด้วย

ขณะที่ "องค์คณะทั้งเก้า" พิจารณาแล้วเห็นว่า "นายชูวิทย์" ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ คดีไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานอีก จึงทำคำพิพากษาในวันนี้ได้ทันที

โดย "องค์คณะ" พิเคราะห์คำร้อง , เอกสารประกอบคำร้อง และคำให้การผู้ถูกกล่าวแล้ว เห็นว่า "นายชูวิทย์" ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินหนี้สิน และเอกสารอื่นของตนเอง กับของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แก่ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับจากวันเข้ารับตำแหน่ง , วันที่พ้นตำแหน่ง และวันที่พ้นตำแหน่งมาแล้ว 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ม.32 , 33

ซึ่งผู้ถูกกล่าวหา เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินในการดำรงตำแหน่ง ส.ส. ครั้งที่ 1 และ 2 มาแล้ว ย่อมทราบดีว่า ผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินฯ ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด แต่ผู้ถูกกล่าวหายื่นรายการแสดงทรัพย์สิน โดยไม่แสดงรายการเงินลงทุนกับภัตตาคารแห่งหนึ่ง มูลค่า 150,000 บาท โดยชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ว่า ได้โอนหุ้นให้พนักงานสถานประกอบการไฮคลาสฯ ไปก่อนกำหนดการยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน

โดยกรณีดัวกล่าวขัดกับคำให้การของพนักงานสถานประกอบการไฮคลาสฯ ทั้ง 2 รายว่า พยานเป็นเพียงพนักงานของสถานประกอบการไฮคลาสฯ และมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหาเพื่อยื่นเรื่องขอใบอนุญาตสถานประกอบการเท่านั้น แต่ "นายชูวิทย์" ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริง

ดังนั้นพฤติการณ์จึงเชื่อว่า "นายชูวิทย์" ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้ถือหุ้นของภัตตาคารที่ร่วมลงทุน แต่มีเจตนาไม่แสดงรายการทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีหน้าที่ยื่นบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินหนี้สิน ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อใช้ตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ

พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่า "นายชูวิทย์" ผู้ถูกกล่าวหา จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ครั้งที่ 2

"องค์คณะ" จึงมติพิพากษาว่า "นายชูวิทย์" จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการ ป.ป.ช. ม.32 , 33 ให้จำคุก 2 เดือน ตาม ม.119

ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 เดือน แต่ผู้ถูกกล่าวหาเคยต้องโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 3220/2549 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งรับโทษจำคุกเกิน 6 เดือน โดยไม่ใช่คดีประมาทหรือลหุโทษ และเพิ่งพ้นโทษมาไม่เกิน 5 ปี จึงไม่อาจรอการลงโทษได้

นอกจากนี้ศาลยังมีคำสั่ง ห้าม "นายชูวิทย์" ผู้ถูกกล่าวหา ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 9 ธ.ค.56 ที่พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ครั้งที่ 2 ด้วย ตามพ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ม.34 วรรคสอง

ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว ญาติ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,00 บาท ขอปล่อยชั่วคราว "นายชูวิทย์" ระหว่างอุทธรณ์

กระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. "องค์คณะ" พิจารณาแล้ว คดีนี้"นายชูวิทย์" ผู้กล่าวหาให้การรับสารภาพ ขณะที่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน คดีจึงไม่อาจรอการลงโทษได้ ดังนั้นองค์คณะฯ มีมติไม่ให้ปล่อยชั่วคราวเพราะจำเลยอาจหลบหนี

ทั้งนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จึงควบคุมตัว "นายชูวิทย์" ขึ้นรถเรือนจำ ไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ "องค์คณะทั้ง 9 คน" ที่พิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว ประกอบด้วย 1.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา 2.นายประมวญ รักศีลธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 3.นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 4.นายบุญไทย อิศราประทีปรัตน์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา 5.นายชลิต กฐินนะสมิต ผู้พิพากษาศาลฎีกา 6.นายเสมอดาว เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผู้พิพากษาศาลฎีกา 7.นายชัยชนะ ตัญจพัฒน์กุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา 8.นางคำนวน เทียมสอาด ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และ 9.นายกีรติ กาญจนรินทร์ พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0